Trick or Treat! จะหลอกหรือจะเลี้ยงดีเอ่ย สำนวนในช่วงเทศกาล วันฮาโลวีน (Halloween) ที่เราคุ้นเคยกันดี ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันประจำปีที่แตกต่างทางวัฒนธรรม ทั้งยังชวนให้เราคิดถึงเรื่องราวสยองขวัญและสนุกสนานไปพร้อมกัน แต่ก่อนที่ทุกคนจะสนุกสนานแบบหลอน ๆ แต่งตัวเป็นผีสาวพราวเสน่ห์หรือผีหล่อสุดเท่ห์ ก็ขอให้เบรกเอี๊ยดกันไว้ที่บทความนี้กันก่อน

เพราะในวันฮาโลวีนในปีนี้ เรามีโรคกลัวหรือ Phobia ที่หลายคนไม่คาดคิดมาบอกต่อให้ทำความรู้จักกันแบบไม่ Trick เพราะสมมติถ้าเราไปเจอกลุ่มคนนี้เข้า เราจะได้ Treat ได้อย่างเข้าอกเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะมาพูดถึง Samhainophobia หรือ โรคกลัวฮาโลวีน นั่นเอง

เอ๊ะ! โรคกลัวแบบนี้มีอยู่จริงด้วยเหรอ เก็บความสงสัยเหล่านี้มาไขให้กระจ่างกันได้เลย!

Samhainophobia โรคกลัวฮาโลวีน โรคนี้มีอยู่จริง

Samhainophobia แต่เดิมมีรากศัพท์มาจาก Samhain Festival เทศกาลโบราณของกลุ่มชาวเคลต์ ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณทวีปยุโรปตอนกลาง ได้แก่ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ คอร์นวอลล์ เกาะแมนและบริตตานี ที่ได้มีการฉลองเมื่อราว 2,000 ปีก่อน โดยเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าของชาวเคลต์ พวกเขามีความเชื่อว่าวันที่ 31 ตุลาคม จะเป็นวันที่โลกมนุษย์และโลกวิญญาณมีช่องทางที่เปิดถึงกัน ฉะนั้นมนุษย์จึงจะต้องแต่งกายเป็นผีเพื่อไม่ให้วิญญานเข้ามาสิง หรือยึดร่างของตัวเองไป และยังถือว่าเป็นวันที่แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาและฤดูกาลอีกด้วย จากช่วงฤดูที่มีแสงแดดยาวนาน เข้าสู่ช่วงฤดูที่มืดหรือมีอากาศหนาวเข้ามาแทนที่

สาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากปมภายในใจ

เด็กเล็กมักจะมีอาการปรากฎมากกว่าผู้ใหญ่ และจะเป็นในช่วงเทศกาลฮาโลวีนของทุกปี ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการหวาดกลัวหรือวิตกกังวลเมื่อพบเห็นบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวันฮาโลวีนโดยตรง เพราะเด็กช่วงปฐมวัยหรืออนุบาลยังไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่ไม่เป็นความจริงได้

อีกทั้งอาจเกิดจากการที่เคยโดนผู้อื่น เช่น ผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว พาเข้าสู่เกมฮาโลวีนที่เจ้าตัวยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเรื่องหลอก ไม่ว่าจะเป็น ถูกจัดให้นั่งอยู่ในความมืดเพื่อเล่าเรื่องผีให้ฟัง ถูกคนสวมหน้ากากหรือแต่งกายเป็นผีแกล้งทำให้ตกใจ กลัว และร้องไห้ จนเกิดอาการฝังใจ เนื่องจากความกลัวกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรง และเกิดเป็นโรคกลัวฮาโลวีนในที่สุด

อาการของโรคกลัวฮาโลวีน

หายใจลำบาก หายใจถี่และเร็ว เหงื่อออกตลอดเวลา ร้อนวูบวาบโดยไม่เกี่ยวข้องกับอากาศ คลื่นไส้ ปากแห้ง ตัวสั่น เจ็บที่หน้าอก พูดออกมาไม่เป็นคำ จับใจความไม่ได้ รู้สึกชา คล้ายโดนอะไรกัดต่อย โดยรวมของอาการจะคล้ายกับภาวะหวาดกลัวหรือโรคกลัวอื่น ๆ ซึ่งความรุนแรงของอาการจะแสดงออกมาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

วืธีการรับมือและรักษา โรคนี้ต้องมีทางออก

สำหรับการรับมือหรือรักษาโรคกลัวฮาโลวีน สามารถทำได้หลากหลายวิธี มีดังนี้

การศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเอง เป็นขั้นตอนแรกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ประสบความกลัวขั้นเล็กน้อยที่ต้องการเผชิญหน้ากับโรค โดยศึกษาหาข้อมูล สืบค้นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเทศกาลฮาโลวีน และเรียนรู้ ทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น

การฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยให้สามารถควบคุมสติ ความนึกคิดหลังจากที่เผชิญหน้ากับความกลัว ความวิตกกังวลภายในจิตใจได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยทำให้ผ่อนคลาย ปลดปล่อยความกลัว ใช้สติและเหตุผลนำตัวเองมากขึ้น

การพบจิตแพทย์และจิตบำบัด การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเมื่อตัวเองไม่สามารถรับมือได้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการบำบัดด้วยความรู้และความเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองที่อยู่ในขอบเขตของผู้เชี่ยวชาญโดยตรง และทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรับประทานยา เพราะว่าโรคกลัว ส่วนหนึ่งเกิดจากสารเคมีในสมองบางอย่างทำงานผิดปกติ ดังนั้นจึงสามารถกินยาตามคำแนะนำของแพทย์ไปควบคู่เพื่อบรรเทาอาการ และคลายความกังวลลงเพื่อที่จะทำให้สามารถทำจิตบำบักได้มากยิ่งขึ้น

โดยโรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ตราบเท่าที่เราพยายามที่จะเรียนรู้ อดทน ทำให้ตัวเองรู้สึกสนุก ค่อย ๆ ปล่อยวางความกลัว และเรียนรู้ที่จะมีความกล้าออกมาทีละนิด เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตัวเองเป็น

ถึงแม้ว่าโรคกลัวฮาโลวีนหรือ Samhainophobia จะเป็นโรคที่ไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเป็นทุกข์และกังวลเกี่ยวกับโรคกลัวที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ เนื่องจากขอบเขตของการเป็นโรคกลัวนั้นกว้างจนสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อและทุกคน ฉะนั้นจึงหวังว่าบทความนี้จะสามารถส่งต่อหรือบอกต่อให้ทุกคนที่อ่านได้เรียนรู้ เพราะทุกโรคมีที่มาที่ไป และเราจะเข้าใจคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา AD552 Creative Portfolio, BR202 Scriptwriting, BR203 Broadcast Production Design ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563

Writer & Graphic

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’