หนังสือการ์ตูนในประเทศไทยกำลังได้รับความนิยมลดน้อยลงจริงหรือ ?

จากแบบสอบถามภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เก็บข้อมูลวันที่ 30 กันยายน-5 ตุลาคม 2563 จำนวน 2,170 คน พบว่าคำตอบอันดับสองของผลตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 23 เลือก “หนังสือการ์ตูน” เป็นหมวดหมู่หนังสือที่ทำหัวใจปังปุริเย่ได้มากที่สุด

ส่วนข้อมูลจาก Manga Plus by Shueisha แอปพลิเคชันลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ชูเอย์ฉะ เผยว่า ประเทศไทยมียอดการอ่านมังงะถูกลิขสิทธิ์ในเครือโชเน็นจัมป์รายสัปดาห์มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าในยุคสมัยนี้ หนังสือการ์ตูนก็ยังได้รับความนิยมอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง

ในบทความนี้ เรายังคงพูดคุยกับ พี่บู๊-คุณณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์ ฝ่ายประสานงานการตลาด บริษัท รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง จำกัด ที่เราคุ้นกันในนาม สำนักพิมพ์รักพิมพ์ (Luckpim) ตัวแทนจัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนและนวนิยายแปลจากลิขสิทธิ์ประเทศญี่ปุ่นที่อยู่แนวหน้าวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนมานานถึง 14 ปี ซึ่งเราจะเจาะลึกสภาวะวิกฤติที่ทั่วทั้งวงการหนังสือการ์ตูนต้องเผชิญ และกลยุทธ์รับมือของสำนักพิมพ์ที่สามารถหาอ่านได้ที่นี่ที่เดียว!

ปล. สำหรับใครที่ยังไม่ได้ติดตามอ่านตอนแรก ทางเราขอแปะลิงก์ขายกันด่วน ๆ ไว้ตรงนี้

> ‘ในวันที่สายลมเปิดทางให้ผู้อ่านมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง’ คุยกับ ‘LUCKPIM’ สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนรุ่นใหม่ขวัญใจนักอ่านสายญี่ปุ่น ตอนแรก: http://baankluayonline.bu.ac.th/culture-manga-luckpim-01

สำนักพิมพ์(ทยอยปิดตัว) – หนังสือการ์ตูน(ความนิยมน้อยลง) – นักอ่าน(พฤติกรรมเปลี่ยนไป)

เริ่มต้นจากเรื่องสำนักพิมพ์ที่ทยอยปิดตัวลง พี่บู๊ให้ความเห็นว่าเกิดปัจจัยเบื้องต้นเหมือนกับที่พูดไปในบทความตอนแรกคือ สภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบัน และพฤติกรรมของเหล่านักอ่านที่เปลี่ยนไป เราจะเห็นว่าเทรนด์การเสพสื่อและเทคโนโลยีเปลี่ยนไปทำให้ผู้คนซื้อหนังสือรูปเล่มลดลงและหันไปอ่าน E-Book กันมากขึ้น ดังนั้นสำนักพิมพ์ใดที่ยังไม่มีการปรับตัวทำ E-Book ขึ้นมา ก็อาจลำบากจากเดิมเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องตัวเลือกของหนังสือการ์ตูนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน เพราะเนื้อหาหรือแนวเรื่องที่แต่ละสำนักพิมพ์เลือกนำเข้ามาในประเทศไทยเริ่มมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากต้นทางอย่างประเทศญี่ปุ่นที่มีแนวเรื่องประเภทคล้ายกันออกมามากขึ้น หลายเรื่องอาจสนุกไม่เทียบเท่ายุคก่อนหน้านี้ หรือมีแนวเรื่องที่ทำให้โดนใจคนอ่านลดน้อยลง ซึ่งความนิยมของนักอ่านเองก็จะเปลี่ยนไปตามเทรนด์ ตามยุคสมัยและช่วงเวลาอีกเช่นกัน ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์ที่จะต้องเฟ้นหาและสำรวจกระแสอยู่เสมอ

“ความเชื่อมโยงที่ชัดเจนที่สุดของสำนักพิมพ์และนักอ่านคือเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภค แน่นอนว่าถ้าไม่มีนักอ่าน จนถึงจุดหนึ่งเราก็คงไม่มีสำนักพิมพ์มาถึงทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเป็นการเกื้อกูลกัน ในส่วนของสำนักพิมพ์เราก็ทำในสิ่งที่นักอ่านอยากจะอ่านออกมา ส่วนนักอ่านเองก็ได้ซื้อในสิ่งที่อยากจะอ่านจากทางสำนักพิมพ์ที่ผลิตออกมาเช่นกัน”

วันที่ หนังสือ = สินค้า (ที่เกือบจะ) ฟุ่มเฟือย

พี่บู๊เล่าให้เราฟังว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน หนังสือก็อาจจะถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นกัน เนื่องด้วยเหตุผลขั้นพื้นฐานว่าหนังสือไม่ใช่ปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ดังนั้นการที่ผู้คนจะเลือกซื้อหรือไม่เลือกซื้อจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอด ซึ่งในเรื่องการผลิต สำนักพิมพ์จะดูความเหมาะสมของแต่ละเรื่องนั้น ๆ ถ้าเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูง ก็จะผลิตจำนวนมากขึ้นเพื่อตอบสนองจำนวนนักอ่าน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมรองลงมา ไปจนถึงเรื่องที่มีต้องการของตลาดไม่มากนัก ก็อาจจะลดจำนวนการผลิตลงมา โดยทั้งหมดทั้งมวล สำนักพิมพ์จะปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดหนังสือ

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างราคาหนังสือกับสภาพเศรษฐกิจ พี่บู๊เอ่ยว่ามีส่วนเป็นอย่างมาก เพราะในทุก ๆ ปี ต้นทุนในการผลิตหนังสือรูปเล่มทั้งมังงะและไลท์โนเวลจะยิ่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาหนังสือที่จัดจำหน่ายสูงขึ้นตาม โดยปัจจัยมาจากค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ ค่าใช้จ่ายดำเนินการแปล ค่าใช้จ่ายด้านการตีพิมพ์ เป็นต้น

และอย่างที่เราทราบกันดีว่า ราคาหนังสือที่แพงมากขึ้นในปัจจุบันนั้นไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชากรในประเทศ และยังไม่เอื้อต่อผู้คนที่มีใจรักการอ่านอีกด้วย ฉะนั้นบางคนอาจจะเลือกซื้อเฉพาะหนังสือเล่มที่ตัวเองชอบหรือบางคนอาจจะไม่ซื้อเลย ซึ่งใดใดล้วนส่งผลต่อรายได้ของสำนักพิมพ์ทั้งหมด

“จริง ๆ ผมมองว่าหนังสือ ไม่เฉพาะหนังสือการ์ตูนหรือหนังสืออะไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเราแทบจะตลอดเวลา เช่นเดียวกับการอ่านที่บางทีไม่ต้องเป็นหนังสือก็ได้ เป็นใบปลิว ป้ายบิลบอร์ด ก็คือการอ่านเหมือนกัน แต่ในส่วนของหนังสือที่มีลักษณะรูปเล่ม มันเป็นไลฟ์สไตล์ของบุคคลมากกว่า บางคนชีวิตก็อยู่กับหนังสือเลยทั้งวัน อ่านหนังสืออย่างเดียว สะสมหนังสือเป็นงานอดิเรก ผมว่าทุกวันนี้ยังมีคนที่สะสมหนังสืออยู่ มันจึงไม่ถึงกับเป็นสินค้าที่ฟุ่มเฟือยขนาดนั้น แต่เหมือนเป็นงานอดิเรกทางเลือกของแต่ละคนเสียมากกว่า”

ประสบปัญหาครั้งใหญ่ โควิด-19 วิกฤติการณ์สะเทือนวงการหนังสือ

เมื่อเราถามถึงหัวข้อนี้ พี่บู๊บ่นอุบเลยว่าสำนักพิมพ์รักพิมพ์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก เนื่องจากช่วงที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้น ตรงกับช่วงที่มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอย่างพอดิบพอดี โดยสุดท้ายเมื่อตารางการจัดงานถูกยกเลิก ทางสำนักพิมพ์จึงต้องปรับรูปแบบทันที โดยมีการนำหนังสือทั้งหมดมาจัดจำหน่ายทางออนไลน์ 100%

สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายทางออนไลน์ 100% คือเกิดปัญหาหลายประการจากการที่สำนักพิมพ์เตรียมพร้อมไม่มากพอ เนื่องจากปกติสำนักพิมพ์ไม่เคยวางจำหน่ายหนังสือจำนวนมากบนช่องทางออนไลน์ พี่บู๊เล่าว่าถ้าใครเคยไปงานหนังสือจะเห็นว่าแถวต่อคิวของบูธสำนักพิมพ์รักพิมพ์ยาวมาก และยาวอยู่หลายวัน เมื่อลองเปรียบว่ากลุ่มลูกค้าจำนวนนั้นมาต่อคิวซื้อหนังสือในเว็บไซต์ สิ่งที่เกิดขึ้นข้อแรกเลยคือ เว็บไซต์ล่ม ข้อถัดมาคือ เรื่องของการส่งสินค้าที่ล่าช้า จากกำหนดการจัดส่งภายใน 7 วัน ยืดเยื้อกันไปเกือบเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น ทั้งหมดเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการที่สำนักพิมพ์ไม่ได้ประเมินสถานการณ์ไว้ และนับว่าเป็นช่วงที่ประสบปัญหาหนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

จากกรณีที่เกิดผิดพลาดในการสั่งซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์ข้างต้น เราพบว่ามีกลุ่มนักอ่านหลายคนเกิดความกังวลหรือกลัวต่อการสั่งซื้อหนังสือของทางสำนักพิมพ์รักพิมพ์ในครั้งถัดมา ส่วนนี้พี่บู๊กล่าวว่าสำนักพิมพ์ต้องยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ โดย ณ เวลานี้ กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงระบบเพื่อให้มีความเสถียรยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันแต่ว่ายังคงหาวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้การขนส่งเป็นไปได้อย่างรวดเร็วจากแต่ก่อน และถ้าทุกอย่างออกมาเป็นรูปธรรมแล้ว ทุกคนก็คงจะได้เห็นกันในเร็ววันนี้

“ในเรื่องของรายได้จากร้านหนังสือรอบนอกหลาย ๆ เจ้าที่มีปิดไปบ้าง มีทั้งปิดบริการชั่วคราว และปิดตัวลงไปเลยจากสถานการณ์โควิด-19 ร้านหนังสือจึงมีหายไปส่วนหนึ่ง แต่พอถึงช่วงที่เริ่มคลายตัว สถานการณ์เริ่มกลับมาดีขึ้น ห้างก็กลับมาเปิด ร้านหนังสือบางส่วนก็เริ่มกลับมาเปิด อะไรหลายอย่างจึงเริ่มไปต่อ เริ่มปรับตัวขึ้นมาได้อีกครั้ง”

แม้ว่าร้านหนังสือจะลดน้อยลง แต่ช่องทางออนไลน์กลับเพิ่มมากขึ้น

“เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียไปในตัว ข้อดีคือเราสามารถสื่อสารกับผู้อ่านหรือลูกค้าได้โดยตรง เราสามารถส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้เลย ถ้าในกรณีที่หนังสือมีความผิดพลาดหรือหนังสือเสียขึ้น เราก็สามารถเปลี่ยนและแก้ไขให้ลูกค้าได้เลย และเรื่องของรายได้ที่ทางสำนักพิมพ์จะได้รับโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง

แต่ข้อเสียก็อย่างเช่น หลาย ๆ ระบบจะต้องมีการปรับและแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและด้วยความที่เทรนด์ของโลกมีการเปลี่ยนไปตลอดเวลา อย่างเมื่อก่อนเราอาจจะส่งด้วยบริการขนส่งในไทยเจ้าเดียว แต่ปัจจุบันมีบริการขนส่งเปิดใหม่เป็นจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เราก็ต้องปรับตัวเพื่อเข้าหาเขาเช่นกัน และเพื่อตอบสนองต่อความเร็วในความต้องการของลูกค้ามากขึ้น”

พลิกวิกฤติวงการหนังสือให้เป็นโอกาส โปรเจกต์ Digital Printing On-Demand

หลังจากที่พูดคุยกันมาได้สักพัก พี่บู๊ก็เล่าถึงโปรเจกต์ Digital Printing On-Demand หรือ “การผลิตหนังสือตามสั่ง” กลยุทธ์ใหม่ล่าสุดของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ เกิดขึ้นจากปัจจัยที่ต้องการให้หนังสือบางเรื่องที่มียอดการตีพิมพ์ไม่สูงมากพอ ได้มีหนทางไปต่อและสามารถเดินหน้าทำต่อให้มากที่สุด โดยจากปกติที่ต้องพิมพ์หนังสือให้ถึงจำนวนขั้นต่ำหลายพันเล่มเพื่อความคุ้มทุน จนประสบปัญหาในแง่ของการสต็อกและบริหารจัดการที่สำนักพิมพ์จะต้องอุ้มสต็อกหนังสือไว้จำนวนมาก ซึ่งอาจจะใช้เวลา 2 – 3 ปีกว่าจะมีลูกค้ามาซื้อไปจนหมด ทว่าตอนนี้เมื่อนำกลยุทธ์การผลิตหนังสือใหม่ตามที่ผู้อ่านสั่งซื้อเข้ามา ไม่ว่าจะมีคำสั่งซื้อ 100 เล่ม 10 เล่ม หรือเพียง 1 เล่มก็ตาม ทางสำนักพิมพ์สามารถดำเนินการจัดทำได้ทันที อีกทั้งยังมีความแตกต่างจากระบบการสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์ทั่วไป เพราะไม่มีการกำหนดเวลาในการสั่งซื้อ โปรเจกต์นี้จึงจะอยู่ไปจนกว่าสำนักพิมพ์และผู้อ่านจะจากกันไป

“จาก โจทย์ที่ว่าหนังสือเกือบ ๆ จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มันจึงไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อในช่วงเวลา ณ เดี๋ยวนั้น เพราะฉะนั้นโปรเจกต์ Digital Printing On-Demand จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน เช่น ณ เวลานี้ เรายังไม่อยากซื้อ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน เราไม่ซื้อหนังสือตอนนี้ ผ่านไปอีก 2 – 3 เดือนก็หมดแล้ว และหาไม่ได้อีกแน่ ๆ แต่ถ้าเป็นโปรเจกต์นี้ ไม่ว่าเราอยากจะซื้อเมื่อไหร่ ถ้ายังมีอยู่ในรายการเว็บไซต์ของเราก็สามารถกดสั่งได้เสมอ”

อย่างไรก็ตาม หนังสือจากโปรเจกต์ Digital Printing On-Demand จะมีราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 บาท ในหนังสือมังงะ และ 30 บาท ในไลท์โนเวล มีระยะเวลาในการผลิตและจัดส่งประมาณ 30 วัน เนื่องจากเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้ทางสำนักพิมพ์กำลังทยอยส่งหนังสือเรื่องเก่า ๆ ขึ้นชั้นในเว็บไซต์อีกครั้ง ทั้งเรื่องที่เริ่มจะขาดตลาด เรื่องที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ล็อตใหม่ทว่ากลับเป็นที่ต้องการขึ้นมา โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการที่สำนักพิมพ์รับฟังความเห็นจากผู้อ่านโดยตรง ก่อนที่จะนำไปดำเนินการพูดคุยกับสำนักพิมพ์ต้นสังกัดญี่ปุ่นอีกครั้ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งในเรื่องราวดี ๆ ที่พี่บู๊เอ่ยว่า เราอาจจะได้เห็นหนังสือบางเรื่องที่ได้จบไปเมื่อหลายปีก่อนกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง และผู้อ่านสามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าต้องการที่จะสั่งซื้อกี่เล่ม หรือต้องการจะสั่งซื้อเมื่อใด

การละเมิดลิขสิทธิ์ ปัญหาคาราคาซังที่ขาดความรู้และความเข้าใจ

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทุกสำนักพิมพ์ล้วนประสบพบเจอ รวมไปถึงสื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ์ตูนเช่นกัน พี่บู๊ออกปากว่า เมื่อทางสำนักพิมพ์รักพิมพ์พบเจอปัญหานี้จะพยายามประณีประนอมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากบางครั้งผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นเยาวชนอาจจะทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฉะนั้นแรกเริ่มจึงตักเตือนและพูดคุย ครั้นตักเตือนจนถึงที่สุดแล้วจึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปัญหาการละเมิดสิขสิทธิ์นั้นเกิดขึ้นเสมอและมีจำนวนมาก เราถามกับพี่บู๊ว่าไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปมีส่วนเอื้อต่อการเกิดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ พี่บู๊ตอบว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะสาเหตุหลักของปัญหาที่แท้จริงคือ การขาดความรู้และความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์อย่างทั่วถึง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับหนังสือการ์ตูนเท่านั้น หลายคนมีความเข้าใจว่าอินเทอร์เน็ตเป็นอิสระสำหรับทุกคน ก่อนที่จะพูดถึงประเด็นรองลงมาอย่างการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างสะดวกสบาย และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

พี่บู๊จึงมองว่าสังคมไทยควรจะต้องมีการให้ความรู้และความเข้าใจขั้นพื้นฐานกับผู้คนมากกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อทุกคนใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตผลงานมากขึ้น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ก็จะลดน้อยลงอย่างแน่นอน

ออนไลน์-ออฟไลน์ โมเดลการตลาดเสมือนจริงของรักพิมพ์

พี่บู๊กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางการตลาดของสำนักพิมพ์รักพิมพ์กำลังดำเนินการทั้งในส่วนของออนไลน์และออฟไลน์ หรือ On-Ground ควบคู่กันไป โดยส่วนของออนไลน์ช่วงนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีความเสถียรมากที่สุด แน่นอนว่าออนไลน์ไม่ใช่เพียงแต่ E-Book เท่านั้น ยังรวมไปถึงการจัดจำหน่ายหนังสือรูปเล่มผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์และการใช้งานของบรรดาผู้อ่านและลูกค้าของสำนักพิมพ์ให้ได้มากที่สุด

ในส่วนออฟไลน์ หรือ On-Ground อย่างงานอีเวนต์ของสำนักพิมพ์ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา งานหนังสือต่าง ๆ ตั้งแต่งานเล็กไปจนถึงงานใหญ่ก็พึ่งจะเริ่มกลับมาจัดได้ไม่นานนัก ซึ่งส่วนใหญ่การตลาดของสำนักพิมพ์รักพิมพ์จะจัดทั้งสองด้านควบคู่กันไป กล่าวคือ เมื่อมีงานหนังสือเกิดขึ้น ธรรมชาติของนักอ่านที่สะดวกในการเดินทางมางานก็จะมาเลือกซื้อหนังสือด้วยตัวเอง ทว่าการเลือกซื้อทางออนไลน์ก็จะให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน

ดังนั้นสำนักพิมพ์จึงพยายามรังสรรค์ให้การเลือกซื้อหนังสือทางเว็บไซต์ออนไลน์ในช่วงเดียวกับงานหนังสือกลายเป็นงานอีเวนต์จริง ๆ ขึ้นมา อาทิ โปรโมชันพิเศษ การลดราคา การแถมของที่ระลึกเมื่อซื้อหนังสือครบยอดที่กำหนดเช่นเดียวกับภายในงาน อีกทั้งเมื่อมีหนังสือเล่มไหนวางขายภายในงาน ก็จะมีวางขายบนเว็บไซต์พร้อมกัน โดยมีข้อแตกต่างเล็กน้อยคือจำนวนของหนังสือที่วางขาย และการจับฉลากสุ่มรางวัล Lucky Draw

นอกจากนี้ ในการให้ความสำคัญกับการโปรโมตทางสื่อโซเชียลมีเดียของสำนักพิมพ์ พี่บู๊กล่าวว่า

“ด้วยความที่ทุกวันนี้ การใช้สื่อในปัจจุบันของทางลูกค้าค่อนข้างไปอยู่ในโซเชียลมีเดียแล้ว การโปรโมตทางออนไลน์ก็นับเป็นช่องทางหลักที่ใช้ในการโปรโมต เกิน 80% ทั้งทางเพจเฟซบุ๊ก หรือทางเพจพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่เราได้มีการไปขอความร่วมมือในการโปรโมตไว้ ถือว่าเป็นช่องทางหลักในปัจจุบัน ถ้าไม่นับการออกอีเวนต์นาน ๆ ครั้ง”

ไม่หยุดพัฒนา! การคาดการณ์และตั้งรับต่อทุกสถานการณ์ที่จะเกิดต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์เพื่อตั้งรับสถานการณ์ล่วงหน้าของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ต่อจากนี้ พี่บู๊เอ่ยว่าได้มีการเตรียมพร้อมในระดับหนึ่ง โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบการจัดจำหน่ายทางออนไลน์ให้เสถียรมากขึ้น และมีการเพิ่มระดับการตอบรับแก้ไขปัญหาให้แก่ลูกค้าอย่างดีมากยิ่งขึ้น

ด้านงานอีเวนต์ก็พยายามจัดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากมีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองเกิดขึ้นมาอีกครั้ง การจัดอีเวนต์งานหนังสือที่เป็นรายได้ส่วนหนึ่งของสำนักพิมพ์จะต้องหยุดชะงักตัวลงอีกครั้ง ซึ่งสิ่งที่จะทำได้มีเพียงการตลาดในฝั่งของออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นสำนักพิมพ์จึงโฟกัสหรือเน้นการพัฒนาไปในส่วนของช่องทางการสั่งซื้อทางออนไลน์ พร้อมทั้งยังคาดการณ์ต่อไปว่าจะสามารถพัฒนาหรือตั้งรับสิ่งใดได้อีกบ้าง

โดยผลตอบรับจากการจำหน่ายหนังสือทางออนไลน์ในปัจจุบัน พี่บู๊บอกว่าสามารถแยกออกได้เป็นสองส่วน ได้แก่ ยอดขาย และ คอมเมนต์จากลูกค้าหรือนักอ่าน ในส่วนยอดขายทุกวันนี้จะอยู่ในสถานการณ์ที่คงตัว ยอดไม่ได้ตกหรือลดลงจากเดิมมาก แต่ถ้าเป็นช่วงที่มีการจัดงานอีเวนต์ออไลน์ ผู้คนก็จะมาเลือกซื้อด้วยตัวเองเพื่อสัมผัสความรู้สึกของงานหนังสือเสียมากกว่า นั่นอาจจะทำให้ยอดขายทางออนไลน์ลดลงไปบ้าง แต่ถ้านับตั้งแต่ช่วงที่เริ่มจำหน่ายทางออนไลน์มาจนถึงตอนนี้ ยอดขายก็อยู่ในระดับที่คงตัวเลยทีเดียว

ส่วนของคอมเมนต์จากลูกค้าหรือนักอ่าน สำนักพิมพ์ได้รับคำติชมและคำแนะนำค่อนข้างเยอะ ซึ่งได้รับฟังทั้งส่วนดี และส่วนไม่ดีที่ต้องการให้สำนักพิมพ์หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องปรับปรุง โดยหลังจากที่ได้รับทราบแล้วก็อาจจะต้องใช้เวลาในการจัดการระบบ ทรัพยากรบุคคล ตัวสินค้าต่าง ๆ ที่ต้องมีการปรับปรุงอีกสักระยะหนึ่ง และเมื่อถึงจุดที่คงตัวแล้วสำนักพิมพ์เชื่อว่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ถอนสมอ กางใบเรือ วงการหนังสือการ์ตูนยังต้องไปต่ออย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เมื่อถึงช่วงสุดท้ายของการพูดคุย เราถามพี่บู๊ถึงมุมมองต่อวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนหลังจากนี้ว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้มากน้อยอย่างไร พี่บู๊กล่าวว่า ธุรกิจสำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนยังคงพัฒนาต่อไปได้ไกลกว่านี้ สังเกตได้จากรูปแบบการขายแนวใหม่ ๆ ในปัจจุบัน

หากลองนึกย้อนกลับไปสัก 5 ปี หรือ 10 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครนึกภาพออกว่า วันหนึ่งเราจะได้อ่านหนังสือการ์ตูนผ่าน E-book หรือแพลตฟอร์มออนไลน์มากมายบนโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร ต่อไปในอนาคตเราจะได้เห็นรูปแบบการขายหนังสือการ์ตูนทั้งเป็นหนังสือและตัว E-books ในรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น จากที่ได้เกริ่นไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าทางสำนักพิมพ์รักพิมพ์ก็มีโปรเจกต์ Digital Printing On-Demand หรือการซื้อหนังสือแพ็กคู่ ที่ผู้อ่านสามารถสั่งซื้อรูปเล่มหนังสือเพื่อเก็บสะสมและอ่าน E-book ไปพร้อมกันได้ ดังนั้นต่อไปธุรกิจหนังสือการ์ตูนอาจจะหันไปในทิศทางการเป็นของสะสม และส่วนดิจิทัลก็จะมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเช่นกัน

“สิ่งที่คาดหวังในอนาคตตอนนี้ หลาย ๆ อย่างในสำนักพิมพ์ก็มีการปรับตัวและปรับแก้ไขอยู่ แน่นอนว่าทุกครั้งที่เราเห็นกลุ่มลูกค้า นักอ่านที่มีการคอมเมนต์ มีการบ่นตำหนิเข้ามา ทุกเสียงของทุกคอมเมนต์ที่มีการแจ้งหรือพูดถึง มีการพูดคุยทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางเราเองก็รับฟังไว้เสมอและหาแนวทางในการแก้ไข ซึ่งแนวทางการแก้ไขอาจจะไม่เกิดขึ้นใน 1-2 วัน แต่ต่อจากนี้จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไปจนถึงถึงจุดที่วันหนึ่ง เราจะสามารถสื่อสารตรงกับผู้อ่านได้มากขึ้นกว่านี้ สื่อด้วยข้อความ หนังสือ หรือสินค้าที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ตรงมากกว่านี้ นี่คือในอนาคตที่เราคาดหวังไว้” พี่บู๊บอกกับเราทิ้งท้าย

ภายหลังจากนี้ เราเชื่อเหลือเกินว่าสำนักพิมพ์รักพิมพ์จะสามารถไปต่อได้ราวกับเรือเดินสมุทรที่ไม่หวั่นเกรงต่อกระแสลมพายุที่ก่อตัวขึ้นในวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูน ตราบเท่าที่สำนักพิมพ์ยังคงตั้งรับต่อทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่หยุดที่จะพัฒนากลยุทธ์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในวงการหนังสือการ์ตูนที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ อนาคตที่ลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนจะอันตรธานหายไปคงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันอย่างแน่นอน

สำนักพิมพ์ พนักงาน นักอ่าน มุมมองต่องานหนังสือ สุดยอดบิ๊กอีเวนต์ของเหล่าคนที่มีใจรักในการ์ตูนญี่ปุ่น

Reference & Bibliography

สำนักพิมพ์รักพิมพ์, บริษัทรักพิมพ์ พับลิชชิ่ง จำกัด

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR412 Individual Study Section 4221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Graphic

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน