กลุ่มแกนนำนักศึกษา ประธานภาควารสารศาสตร์ ม.กรุงเทพ สามรุ่นยืนยัน  ‘เจอาร์ยังไม่ตาย’ พร้อมชี้ผู้เรียนต้องปรับตัวตามสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป

การเรียนรู้ด้าน ‘วารสาร ฯ ตายแล้วหรือยัง’ เป็นคำถามที่ได้ยินบ่อยในแวดวงการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องจากการเข้ามาของสื่อออนไลน์ อันเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้สื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เกิดความความเปลี่ยนแปลง ปรับตัว พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ก้าวเข้าสู่พื้นที่ออนไลน์ เพื่อเข้าถึงผู้อ่านในโลกยุคดิจิทัลให้มากขึ้น

บ้านกล้วย ได้สัมภาษณ์ กลุ่มแกนนำนักศึกษา ประธานภาควารสารศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 และประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัล ประจำปีการศึกษา 2562 และ 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อสำรวจแนวคิดเกี่ยวประเด็นดังกล่าว

นายปราณ บรรณาธรรม อดีตนักศึกษาประธานภาควารสารศาสตร์ ปี 2560 ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ปราณ บรรณาธรรม อดีตนักศึกษา ประธานภาควารสารศาสตร์ ปี 2560 ศิษย์เก่าคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปัจจุบันทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารเอสไควร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของวงการวารสารศาสตร์ เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เพราะมีการรับข้อมูลข่าวสารผ่านออนไลน์มากกว่าการรับสารในช่องทางดั้งเดิม ดังนั้นองค์กรสื่อจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข่าวสารจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อออนไลน์ ส่งผลไปยังการปรับหลักสูตรวิชาวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชนในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ  ทั้งนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็กลับมาทบทวนการจัดการเรียนการสอนด้านวารสารศาสตร์ และมุ่งเน้นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยไม่ยึดติดกับช่องทางในการสื่อสาร แต่มีหัวใจสำคัญที่เน้นการผลิตเนื้อหา ซึ่งเมื่อสำเร็จศึกษา จะเป็นบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถรอบด้าน 

สำหรับ กรณีที่มีการตั้งคำถามว่า ‘วารสารศาสตร์ตายแล้วหรือยัง’ อดีตนักศึกษาประภาคภาควารศาสตร์ ประจำการศึกษาปี 2560 กล่าวว่า งานทางด้านวารสารศาสตร์ยังไม่ได้สูญหาย เพราะเราให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่อง นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ นายปราณ ยืนยันว่า นักวารสารศาสตร์ยังคงเป็นหัวใจหลักสำคัญในการนำเสนอข่าวสาร เนื่องจากผ่านการบ่มเพาะจากรายวิชาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นบุคลากรด้านการสื่อสารมวลชนที่มีคุณภาพตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ คำนึงถึงความถูกต้อง และรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของการเป็นผู้ส่งสาร

“สิ่งที่ควรระลึกถึงเสมอ คือความมีคุณภาพของนักผลิตคอนเทนต์ ในเมื่อจบจากสาขาทางด้านวารสารศาสตร์แล้ว เราควรผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ ความจริง ความซื่อตรง และมีความรับผิดชอบต่อสังคม”  นายปราณ บรรณาธรรม กล่าว 

นายกิตติภูมิ นิ่มเนียม นักศึกษาประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัล ประจำปีการศึกษา 2562

ด้าน กิตติภูมิ นิ่มเนียม นักศึกษาประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัล ประจำปีการศึกษา 2562  มีความเห็นสอดคล้องกับประธานภาควารสารศาสตร์ ปี 2560 ที่มองว่า วารสารศาสตร์ในอดีตและปัจจุบัน ต่างกันที่ช่องทางการสื่อสาร ซึ่งแก่นจริง ๆ ยังคงใช้ความรู้และความสามารถแบบเดิมที่ถูกดึงออกมาจากตัวนักศึกษา โดยผู้เรียนต้องปรับตัวในการเรียนรู้ และสามารถใช้สื่อนำเสนอเนื้อหาในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ยังมองว่าการได้ใช้สื่อใหม่ มีความง่ายและสะดวกรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ ทำให้เราสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งสำคัญคือคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ สำหรับวารสารศาสตร์ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จึงต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ถึงนวัตกรรมใหม่

“วารสารศาสตร์ คือ การรู้จักนำเสนอข้อมูล รู้จักเล่าเรื่อง เราเล่าเรื่องผ่านสื่อหลากหลาย ทั้งการเขียน การถ่ายภาพ การทำคลิปวิดีโอ การทำงานด้านกราฟฟิค ขึ้นอยู่ว่านักวารสารศาสตร์จะเลือกนำเสนอผ่านสื่อรูปแบบใด ดังนั้นการเรียนรู้การผลิตเนื้อหา และการเข้าใจของผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายกิตติภูมิ นิ่มเนียม กล่าว 

ขณะที่ ฐิติกานต์ สัตยาภักดีวงศ์ นักศึกษาประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัล ปี 3 ได้เปิดเผยว่า ในรุ่นของเรามีการเรียนที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง มีการได้ทำคอนเทนต์ลงเฟซบุ๊กแฟนเพจ BU HUB, บ้านกล้วยออนไลน์ ได้ฝึกทำงานจริงตั้งแต่ยังเรียน เหตุผลที่เข้ามาเรียนสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัลนั้น เพราะตนเองชอบอ่าน ชอบเขียน และยังชอบเรียนภาษาที่สาม โดยเฉพาะภาษาจีน จึงมีความคิดว่าอยากจะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่ง และใช้ภาษาจีนที่ตนเองเรียนมาประกอบด้วย

นางสาวฐิติกานต์ สัตยาภักดีวงศ์ นักศึกษาประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัล ปี 3

การเรียนของรุ่นพี่กับรุ่นตนเอง มีความแตกต่างค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันได้มีปรับบทเรียนแทบทั้งหมดให้เข้ากับยุคดิจิทัล โดยมีสื่อออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการศึกษา เนื่องจากผู้บริโภคมีการเปลี่ยนรูปแบบการเสพสื่อ จากหนังสือเป็นช่องทางออนไลน์ หลักสูตรใหม่จึงปรับเข้าหาโลกออนไลน์มากขึ้น

ส่วนประโยคที่ว่า ‘วารสารศาสตร์กำลังจะตาย’ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากถือเป็นแค่การปรับตัวของวงการวารสารศาสตร์ให้เข้าสู่ยุคออนไลน์มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการปรับตัวเพื่อพัฒนาให้อยู่รอดและเป็นไปในทิศทางที่ดี อีกทั้งการเรียนวารสารศาสตร์มีการพัฒนาหลายทักษะที่สำคัญ เช่น การเรียนเขียนข่าว การเขียนในสื่อหลากหลายประเภท การเขียนทางออนไลน์ มีทั้งเนื้อหาหนักเบา ในด้านอื่น ๆ การตัดต่อ การถ่ายภาพ ทำกราฟฟิค เราต้องทำให้ได้ทุกอย่าง นักข่าวในปัจจุบันก็ไม่ได้ทำเพียงเเค่เขียนข่าว แต่ต้องมีทักษะในด้านอื่น ๆ ประกอบกัน เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด และนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพสู่สังคม 

“เราได้เรียนรู้ทฤษฎี และยังได้ลงมือทำจริง โดยส่วนตัวมองว่าการเรียนรู้เทคโนโลยีที่เป็นสื่อใหม่ ไม่ได้แสดงว่าสื่อเก่าตายไปแล้ว แต่คือการปรับตัวและพัฒนาวิชาชีพให้ดีขึ้น อย่างปัจจุบันนักข่าวคนเดียวก็ต้องมีทักษะทั้งการเขียนข่าว การคิด การจับประเด็น มีความรู้เรื่องสังคม มองโลกกว้างขึ้น ความรู้ด้านภาษาก็จำเป็น และเพิ่มเติมทักษะอื่น ๆ ที่รอบด้าน เพื่อยกระดับงานให้มีคุณภาพสูงสุด และเป็นประโยชน์ต่อผู้รับสารและสังคมต่อไป”

ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้นักวารสารศาสตร์อยู่รอดต่อไปในสนามสื่อได้ก็คือการทำงานด้วยใจรัก พร้อมตระหนักถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ  คำนึงถึงความถูกต้อง และรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ เพื่อสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ประกอบอาชีพในอนาคต และยืนยันถึงบทบาทการเป็น นักวารสารศาสตร์ หรือ นักเล่าเรื่องสังคม ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต 

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

หัวหน้ากองบรรณาธิการบันเทิงบ้านกล้วย ชอบอาหารการกินเป็นชีวิตจิตใจ ร้านใหม่เปิดที่ไหนเราต้องตามไปที่นั่น ชอบเสพข่าวสนุก ๆ เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับตัวเอง พร้อมแล้วที่จะเขียนข่าวเล่าเรื่องให้ผู้อ่านได้สนุกไปด้วยกัน

Photographer

ชอบทำงานเบื้องหลัง เล่าเรื่องผ่านภาพแทนการเขียน มีความสุขที่ได้ทำงานที่รัก และชอบเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้คิดไอเดียในการทำงาน