เราน่าจะเคยได้ยินข่าวการตายของสัตว์ทะเลจากขยะพลาสติกอยู่บ่อย ๆ ความจริงแล้วปัญหาขยะเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายตระหนัก ทำให้ประชาชน หรือชุมชนหันมาจัดกิจกรรมเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้จัดกิจกรรม จิตอาสาพายเรือเก็บขยะ เพื่อดูแลรักษาความสะอาดให้กับคูคลองในบริเวณชุมชน
“การลดใช้ถุงพลาสติก เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ต้องรอใคร” คุณน้าชวลิต สัมธรรมสกุล เจ้าของร้านสี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์ กล่าวกับเราอย่างเป็นกันเองถึงการริเริ่มพายเรือเก็บขยะและเป็นผู้ก่อตั้งกิจกรรมจิตอาสาพายเรือเก็บขยะ ที่มีเอกลักษณ์การพายเรือ โดยมีแมวแสนรู้อย่าง เจ้าส้มแป้น นั่งเรือเป็นเพื่อนคู่ใจ
นอกจาก ‘เจ้าส้มแป้น’ จะนั่งเรือเป็นเพื่อนคู่ใจให้กับน้าชวลิตแล้ว ส้มแป้นยังมีความสามารถพิเศษแตกต่างจากสัตว์ที่กลัวน้ำที่สุด เพราะสามารถว่ายน้ำข้ามฝั่งได้ จนทำให้ร้านสี่แยกหัวตะเข้ คาเฟ่ แอนด์ เกสท์เฮ้าส์ เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
การที่น้าชวลิตต้องพายเรือเป็นประจำ และสังเกตเห็นขยะในแม่น้ำลำคลอง จึงมีความคิดที่จะเก็บขยะ น้าชวลิตบอกว่า “เริ่มจากการต้องพายเรือไปซื้อของที่ตลาดเป็นกิจวัตรประจำวัน จึงทำให้เกิดความคิดอยากจะลองพาแมวลงเรือไปด้วย ทั้งที่รู้ว่าแมวเป็นสัตว์ที่กลัวน้ำที่สุด พอพาลงบ่อยจนเขาเกิดความเคยชิน จึงทำให้เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ การเก็บขยะเพิ่งจะเริ่มช่วง 1-2 ปีหลัง ที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับถุงพลาสติก หรือขยะตามแม่น้ำริมคลองที่ลอยมาติดฝั่ง และก็ได้แนวทางจากคนอื่นที่เก็บเป็นประจำ ไม่ว่าจะเก็บบนบก หรือพายเรือ”
“ตอนแรกคิดว่าเรื่องขยะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อพายเรือไป ขยะก็ลอยมา จึงลองเก็บดู คนคิดว่าเราเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ทำอะไรไม่ได้มาก พอทำเป็นชีวิตประจำ ไม่ใช่แค่เก็บ จากคนที่เคยทิ้ง เขาเห็น เขาก็รู้สึกเขินอายที่จะทิ้ง ทำให้พฤติกรรมของคนในชุมชมเปลี่ยนไป เราคิดว่ามันไม่ใช่แค่พายเรือเก็บอยู่คนเดียว นอกจากเราพายเรือเก็บแล้ว คนในชุมชนที่จะทิ้งขยะลงคลอง หันมาเก็บตามไปด้วย” แค่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ที่น้าชวลิตหันมาเก็บขยะก็ส่งผลถึงพฤติกรรมของคนชุมชนได้
สิ่งที่น้าชวลิตทำไม่ได้หวังชื่อเสียงเงินทองหรือการเป็นที่ยอมรับ แต่ทำให้เกิดความสุขใจจากภายใน “เราคิดว่า สิ่งที่เราเก็บคนเดียว รู้คนเดียวในสิ่งที่ทำ สามารถเป็นประโยชน์ และถ้ามีคนเห็น เราอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนลุกขึ้นมาทำเพื่อตัวเอง เพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม คิดว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อคนที่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ไม่ต้องรอใคร”
บางคนอาจจะไม่สะดวกใจเรื่องการเก็บขยะ หันมาลดการใช้ถุงพลาสติกแทน และสิ่งที่สำคัญทิ้งขยะให้ถูกที่ “ทุกคนสามารถทำได้ไม่ต้องรอใคร” น้าชวลิต สัมธรรมสกุล กล่าวก่อนจบบทสนทนาอีกครั้ง
จากประสบการณ์ที่พายเรือไปเก็บขยะกับคุณน้า เราพบว่าขยะที่สร้างปัญหาแก้ไขได้ แค่เริ่มจากตัวเรา เริ่มจากการลด เลิกใช้พลาสติก หรือนำพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ เน้นใช้ของที่ย่อยสลายได้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์