หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดตาม Youtube ช่อง LDA World ของนางฟ้าแห่งวงการไอทีอย่าง พี่เฟื่อง – เฟื่องลดา สรานี สงวนเรือง คุณอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเจ้าของรอยยิ้มสดใสคนนี้ด้วย เพราะเธอเพิ่งเข้าไปเป็นน้องใหม่ในวงการไอที หนึ่งในสาว LDA-Ladies of Digital กลุ่มผู้หญิงที่นำเสนอสาระความรู้จากโลกไอทีให้เป็นเรื่องง่าย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

เจ้ารอยยิ้มสดใสที่เรากำลังกล่าวถึงนี้ คือ พี่โบนัส-ชญาภา มูลลักษณ์ หรือ โบนัส LDA ศิษย์เก่าจากภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ก้าวเข้าไปทำงานด้านไอที กับ บริษัท ฟลอริช ดิจิทัล จำกัด บริษัทเกี่ยวกับการผลิตสื่อออนไลน์เกี่ยวกับไอที ในตำแหน่ง Assist Project Manager เป็นงานแรกหลังเรียนจบ

พี่โบนัสเล่าให้ฟังเริ่มแรกว่า เธอไม่ได้เป็นคนรู้ลึกเรื่องไอทีมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามา เธอก็ไม่รอที่จะกระโจนเข้าหาเพื่อ ‘คว้าโอกาส’ จากคนที่ไม่ได้รู้ลึกเรื่องไอที สู่การทำงานเบื้องหน้าและเบื้องหลังในสายไอที จึงมีความท้าทายเกิดขึ้นระหว่างทางมากมาย เราขอชวนติดตามประสบการณ์ของพี่โบนัส ในฐานะรุ่นพี่ม.กรุงเทพ ที่เข้าไปเรียนรู้งานด้าน IT 

จุดเริ่มต้นสู่การทำงานสายไอที

เส้นทางการเข้าสู่การทำงานของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะเริ่มจากการส่งเรซูเม่หรือใบสมัครเข้าไป แต่สำหรับพี่โบนัส เธอบอกกับเราถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานของเธอว่า “โชคดีมาก ๆ ที่มีพี่ที่รู้จักมาชวน เขาบอกว่าพอดีพี่เฟื่องลดากำลังหาน้อง ๆ เข้าไปร่วมงานด้วย เลยถามว่าตอนนี้โบนัสว่างอยู่ไหม และสนใจไหม”

“ช่วงนั้นพี่เป็นเด็กจบใหม่พอดี และก็ยังไม่ได้มีแพลนว่าอยากไปทำงานที่ไหน ก็เลยสรุปว่าลองไป เพราะตอนนั้นมีอะไรเราก็ลอง ลองหมดเลย”

จากการตัดสินใจที่จะ ‘ลอง’ ก็ทำให้สเต็ปต่อไปเกิดขึ้น “พอลองไป ก็คือได้ไปแคสต์หน้ากล้อง โดยได้รับโจทย์ว่า ถ้ามีสินค้าหนึ่งที่น้องอยากจะสื่อสารออกไปให้คนได้เห็นได้รู้ สินค้านั้นจะเป็นอะไร น้องจะสื่อสารอย่างไร และจะนำเสนอด้วยวิธีการแบบไหน”

“ช่วงที่ไปแคสต์ พี่เป็น Honda Smart Idol รุ่นที่ 25 อยู่พอดี ซึ่งก็เคยทำหน้าที่แนะนำและอธิบายเกี่ยวกับสินค้ามาบ้างแล้ว และตอนนั้นพี่ดู Product Honda HR-V อยู่ พี่ก็เลยเอาความรู้ที่พี่มีตอนนั้นพูดไป” พี่โบนัสใช้ประสบการณ์ที่มี มาต่อยอดกับโอกาสที่กำลังได้รับ ซึ่งคนที่มาดูแคสต์ในวันนั้นคือพี่เฟื่องลดา พี่โบนัสบอกเราว่า พี่เฟื่องลดาเป็นคนที่มีความสามารถในการมองคนออก มีสายตาที่จะมองได้ว่าเด็กคนนี้มีแววหรือไม่ 

หลังจากแคสต์เสร็จ ก็มีเรื่องที่พี่โบนัสจำได้แม่นและประทับใจมาก “น้องคนนี้เหมือนพี่มากเลย” คือประโยคที่พี่เฟื่องลดาพูดถึงพี่โบนัสหลังจากแคสต์เสร็จ “ตอนนั้นคือพี่ดีใจมาก จากที่ตื่นเต้นอยู่ ก็ทำให้ตื่นเต้นไปอีก”  พี่โบนัสเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นด้วยสีหน้าและแววตาที่เราสัมผัสได้ว่าเต็มเปี่ยมด้วยความดีใจจริง ๆ 

“แต่หลังจากการแคสต์วันนั้นก็ทางบริษัทก็เงียบไปประมาณ 2-3 เลย พี่ก็คิดว่าคงไม่ได้แล้วแหละ ก็เลยหานู่นนี่ทำไปเรื่อย ๆ”

“จนสุดท้ายมีพี่จากบริษัทโทรมาบอกว่า เดี๋ยวพี่จะส่งของไปให้รีวิว ให้น้องทำสคริปต์มาให้หน่อย”

จากโจทย์แรกสู่โจทย์ที่สอง ก็ยังสร้างความตื่นเต้นและท้าทายให้กับพี่โบนัสอีกครั้ง โดยของที่ได้รับมาเพื่อรีวิวนั้น คือ ‘แว่น VR’ พี่โบนัสเล่าให้ฟังต่อทันทีเลยว่า “พี่ไม่ได้รู้ลึกเรื่องไอทีมาก่อน หลังได้ได้แว่น VR มา พี่ก็เริ่มตั้งแต่ Research หาข้อมูล ก่อนจะมาเป็นสคริปต์ และก็ไปลองอัดคลิปจริงกับพี่เฟื่อง ซึ่งผลสุดท้ายคลิปนั้นก็ได้เผยแพร่ เป็นคลิปแรกของพี่เลย”

แต่ความท้าทายยังไม่จบลงแค่นี้ เพราะหลังจากที่อัดคลิปเสร็จวันนั้น พี่โบนัสก็ได้การบ้านมาต่ออีก โจทย์ใหม่คือการเขียนบทความเกี่ยวกับ Google Chromecast “ตอนนั้นพี่ก็นึกในใจ เอ้า Google Chromecast คืออะไรอีก” พี่โบนัสหัวเราะปิดท้ายหลังจากพูดประโยคนี้จบ เราเองก็อดที่จะหัวเราะไปด้วยไม่ได้ 

หลังจากพี่โบนัสส่งบทความไปก็ผ่านไปอีกประมาณเกือบเดือน จึงได้รับการติดต่อกลับมาว่า “น้องโบนัสมาเริ่มงานได้เลยนะ” เป็นอีกครั้งที่เราได้เห็นสีหน้าและแววตาที่ดีใจของพี่โบนัสในขณะที่พูดประโยคนี้

จากจุดเริ่มต้นในการกล้าที่จะลองในตอนนั้นของพี่โบนัส ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ร่วมงานกับ LDA World 

เรียนรู้งานสายไอที

“ก่อนหน้านี้ พี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไอทีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของพี่ ด้วยความที่เราก็ใช้ชีวิตปกติ เล่นสมาร์ทโฟน ใช้แอปพลิเคชัน โดยที่ไม่ได้ไปโฟกัสว่ามันคือไอที แต่สุดท้ายแล้วพฤติกรรมหรือสิ่งที่เราใช้ มันก็เชื่อมโยงกับไอที กลายเป็นว่ารู้ตัวอีกทีไอทีก็อยู่เข้ามาอยู่ในความสนใจของเราเองโดยไม่รู้ตัว” พี่โบนัสเล่าให้ฟังถึงพื้นฐานเรื่องไอที

สิ่งที่พี่โบนัสเล่าให้ฟังนี้ เรารู้สึกตามเลยว่าจริง มนุษย์เรากับไอทีถูกเชื่อมเข้าหากันโดยบางครั้งเราเองก็ลืมไปว่าอยู่บนโลกไอที อย่างในขณะที่เรากำลังพิมพ์บทความนี้ และในขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้ หมายความว่าพวกเรากำลังอยู่ในโลกไอที ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 

พี่โบนัสเล่าให้ฟังต่อถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจไอทีมากขึ้น คือการได้เข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยผู้คนที่สนใจเรื่องไอที เรื่อง Gadget ต่าง ๆ  เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เราได้รู้จักไอทีลึกและเพิ่มมากขึ้น

ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูลสำคัญมาก

หนึ่งทักษะสำคัญของนักสื่อสารเรื่องไอที ที่มาเป็นอันดับแรกสำหรับพี่โบนัสคือ ทักษะการค้นคว้า “ต้องบอกก่อนว่าข่าวของไอที ถ้าเราไม่ไปหามัน น้อยมากที่มันจะมาหาเรา ด้วยความที่มันเกิดขึ้น และมัน go fast ตลอดเวลา ถ้าช้าแม้แต่นิดเดียวมันก็ไปแล้ว คือมันก็อยู่ของมัน มันเปรียบเหมือนเส้นตรงเส้นหนึ่ง ที่เราก็คือแค่เห็นมัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปจับมัน นั่นแหละคือเราได้เข้าถึงมันแล้ว ก็เลยรู้สึกว่าทักษะการค้นคว้าหรือการหาความรู้สำคัญมาก ๆ ซึ่งจริง ๆ มันน่าจะสำคัญกับทุก ๆ เรื่องแหละ ไม่ใช่แค่ไอที ” 

“ถ้าเราไม่ออกไปค้นคว้า ไม่ลองกด Search เราก็จะไม่มีทางรู้มัน” พี่โบนัสขยายความถึงความสำคัญของการค้นคว้าให้เราฟัง ซึ่งทักษะที่เธอกำลังพูดถึงนี้ ก็คือทักษะที่เธอใช้ข้ามผ่านทุกบททดสอบ ก่อนจะมาทำงานนี้เช่นกัน

ความสนุกของโลกไอที โลกที่ Go Fast ตลอดเวลา

“ความสนุกของวงการไอทีคือมันมีเรื่องใหม่ตลอดทุก ๆ ชั่วโมง ทุก ๆ นาที หรือบางครั้งมันจะมีเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นแทบทุก ๆ วินาทีจากทั่วโลก ความสนุกมันเลยอยู่ตรงที่ว่าเราต้องคอยจับมันให้ทัน และคอยหามันให้เจอ ถ้าเราเจอ แล้วเราไปได้ไว เราก็คือไปได้ไกลเลย” 

โลกไอทีเป็นอีกโลกที่มีศัพท์หรือชื่อเรียกเฉพาะที่เยอะมาก การจะนำเสนอเรื่องราวไอทีเพื่อให้คนดูทั่วไปได้เข้าใจง่าย ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของคนที่เป็นนักสื่อสาร “ก่อนอื่นการที่จะเข้าใจไอทีได้ต้องเข้าใจคำศัพท์ไอทีก่อน อย่างเช่น เรื่องสมาร์ทโฟน พี่ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สมาร์ทโฟนตัวนี้นะคะ ใช้ชิปเซ็ต adreno 8610 มันก็จะเป็นศัพท์ที่ลึกลงไปแล้ว คนก็อาจจะงง ชิปเซ็ตคืออะไร ชิปเซ็ตทำงานยังไง มีรอมและแรมเท่าไหร่ รอมและแรมเอาไว้ทำอะไร แล้วมันต่างกันยังไง ซึ่งมันก็จะยากตรงนี้”

“มันเหมือนกับเราเรียนภาษาอังกฤษ หรือเรียนภาษาต่างชาติเลยค่ะ ไอทีมันก็เป็นอีกภาษาหนึ่ง ที่เราต้องเข้าใจว่าภาษาหรือคำศัพท์ตรงนี้มันแปลว่าอะไร พี่รู้สึกว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ยาก แต่ถ้ามันผ่านไปได้ มันก็จะเป็นอะไรที่สบายมาก” พี่โบนัสเล่าถึงความยากของภาษาไอที

หนึ่งคนสำคัญที่เป็นแบบอย่างในการแปลงภาษาเทคโนโลยีที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่ายสำหรับพี่โบนัสคือพี่เฟื่องลดา “เรื่องการย่อยเรื่องยากให้เข้าใจง่ายอันนี้พี่เฟื่องได้สอนพี่ตั้งแต่เข้าไปทำงานแรก ๆ เลย คือด้วยความที่พี่เฟื่องเป็นคนที่เล่าเรื่องยากให้เข้าใจง่ายได้ง่ายมาก ๆ เราก็ต้องศึกษาวิธีตรงนั้น ต้องหาวิธีที่จะทำยังไงก็ได้ ที่จะทำให้คนที่เขาไม่รู้ ที่เขาเป็น 0 ขึ้นมา 1 หรือ 0.5 ก็ยังดี”

“ส่วนถ้าย่อยเรื่องยากอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คำศัพท์ เราก็จะใช้วิธีโดยการนึกว่าเรากำลังเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่ต้องประดิษฐ์คำ แต่เน้นให้เข้าใจ” 

จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน ประสบการณ์คือวัตถุดิบที่ได้นำมาใช้จริง

พี่โบนัส คือหนึ่งในตัวแทนของเด็กจบใหม่ ที่เพิ่งเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน เราจึงตั้งคำถามถึงสิ่งสำคัญที่ควรเก็บเกี่ยวให้มากที่สุดในช่วงมหาวิทยาลัย และเราก็ได้คำตอบจากพี่โบนัสว่า “คำเดียวเลยค่ะ คือคำว่าประสบการณ์ คำว่าประสบการณ์มันสำคัญ แบบว่าสำคัญมาก ๆ เลยนะ ประสบการณ์ในที่นี้หมายถึงถ้าน้องเจออะไรในมหาวิทยาลัย น้องออกไปทำเลย น้องออกไปใช้ชีวิต ไปลองทำมัน ให้น้องได้รู้ว่า สิ่งนี้มันเกิดผลอะไรกับน้อง น้องทำแล้วน้องเป็นยังไง น้องเก็บความรู้สึกในการที่ได้ออกไปทำงาน ทำกิจกรรม รวมถึงกิจกรรมในการเรียน เก็บมาให้ครบเลย แล้วจำกระบวนการในการทำงาน จำกระบวนการในการทำกิจกรรมเอาไว้”

“พอมาถึงจุดนี้ พี่รู้สึกว่าทุก ๆ อย่างที่เราเคยทำมาตอนเรียน ประสบการณ์ที่เราได้เก็บมาตั้งแต่เราเรียน มันสามารถเอามาใช้กับชีวิตการทำงาน หรือชีวิตของความเป็นผู้ใหญ่ได้หมดเลย เหมือนมันต้องใช้คำว่า การที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ ก็ต้องมาจากประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างเดียว ประสบการณ์ที่แย่บางทีมันจะสอนให้เราได้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีขึ้นด้วย”

จริง ๆ เมื่อได้พูดคุยมากับพี่โบนัสจนถึงประเด็นสุดท้าย เราไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเธอคนนี้จึงเป็นคนที่สดใส และเหมาะกับโลกไอที เพราะเธอคือคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ เช่นเดียวกับโลกไอที ที่ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งเปลี่ยนแปลง และคนที่ไม่หยุดเท่านั้น ที่จะเท่าทันไอที

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก