อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยยังอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ?

เมื่อลมเปลี่ยนทิศนำพายุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็จะต้องแปรผันไปตามทิศทางใหม่ที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษมานี้ ไม่ว่าจะเป็นวงการอุตสาหกรรมไหน ๆ ก็ต่างต้องอาศัยกลยุทธ์มากมายในการปรับตัวให้ทันต่อสายลมแห่งโลกาภิวัตน์หรือยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และสั่นคลอนธุรกิจรายใหญ่ไปจนถึงรายย่อยมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเรานึกถึงวงการ อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ อีกหนึ่งธุรกิจท่ามกลางปราสาทธุรกิจมากมายที่ถูกสายลมแห่งโลกาภิวัตน์เข้าปะทะอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราจึงจะเห็นว่าจนถึงตอนนี้ก็มีหลายต่อหลายสำนักพิมพ์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างทันท่วงทีและทยอยปิดตัวลง ไม่ก็อาศัยฟางเส้นสุดท้ายรอวันพังทลายในไม่ช้า

ในแวดวงสำนักพิมพ์นำเข้าและจัดจำหน่ายหนังสือประเภท มังงะ หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อเรียกของ หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น และ ไลท์โนเวล นวนิยายการ์ตูนญี่ปุ่นเองก็เช่นเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่เคียงคู่กับผู้ที่มีใจรักการอ่านรุ่นเยาว์ไปจนถึงรุ่นเก๋ามากมายตลอดหลายสิบปี มีทั้งหลายสำนักพิมพ์ที่หยุด และอีกหลายสำนักพิมพ์ได้ไปต่อ การปรับตัวรูปแบบใดกันที่จะทำให้เหล่าสำนักพิมพ์ยังคงสามารถอยู่เคียงข้างนักอ่านจนถึงทุกวันนี้

ในบทความนี้ เราจะชวนเหล่านักอ่านสายการ์ตูนญี่ปุ่นมาพูดคุยกับ พี่บู๊-คุณณัฎฐ์ธรณ์ ทวีมงคลสวัสดิ์ ฝ่ายประสานงานการตลาด บริษัท รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง จำกัด ที่เราคุ้นชื่อกันดีในนาม สำนักพิมพ์รักพิมพ์ (Luckpim) ตัวแทนจัดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนและนวนิยายแปลจากลิขสิทธิ์ประเทศญี่ปุ่น ที่คร่ำหวอดอยู่แนวหน้าวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนมานานถึง 14 ปี ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการสื่อสารและเข้าใจผู้อ่านอย่างถึงที่สุด

LUCKPIM สำนักพิมพ์รุ่นใหม่ จับกระแสไว ครองใจนักอ่าน

ก่อนอื่นเลย พี่บู๊เกริ่นว่าจุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์เกิดขึ้นจากผู้บริหารที่มีความรู้ทางด้านงานพิมพ์โดยเฉพาะและมีความชื่นชอบทางด้านการ์ตูนญี่ปุ่น จึงเกิดความสนใจที่จะริเริ่มจัดตั้งสำนักพิมพ์ที่นำเข้าลิขสิทธิ์การ์ตูนญี่ปุ่นแปลไทยขึ้นมาและดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

ด้านการเลือกลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนที่น่าสนใจของสำนักพิมพ์ พี่บู๊เล่าให้เราฟังว่า ส่วนหนึ่งจะดูจากกระแสและยอดขายในประเทศญี่ปุ่น โดยมีฝ่ายบรรณาธิการที่คอยแนะนำเรื่องที่น่าสนใจ เรื่องที่ตรงกับคาแรกเตอร์ของสำนักพิมพ์ และอีกส่วนหนึ่งจะดูจากแอปพลิเคชันอ่านการ์ตูนลิขสิทธิ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการส่งต้นฉบับตัวอย่างเข้ามาให้ดู หรือนำเสนอ แนะนำเรื่องอื่น ๆ ของนักวาด นักเขียนที่สำนักพิมพ์เคยรับลิขสิทธิ์ไปแล้ว ซึ่งทางสำนักพิมพ์จะพิจารณาเรื่องนั้น ๆ ประกอบกับกระแสที่พูดถึงในประเทศไทย เช่น กระแสในประเทศไทยช่วงนี้พล็อตเกิดใหม่ต่างโลกกำลังได้รับความนิยม (เรื่องราวตัวละครที่ไปเกิดใหม่ในโลกแฟนซีแต่ยังมีความทรงจำจากโลกเดิมอยู่) ทางสำนักพิมพ์ก็จะเจาะจงแนวนี้มากยิ่งขึ้น หรือช่วงที่มีกระแสงานของ อาจารย์อิโต้ จุนจิ ปรมาจารย์การ์ตูนแนวสยองขวัญ ได้รับความนิยม สำนักพิมพ์ก็จะหันไปนำงานแนวนั้นเข้ามา

นอกจากคาแรกเตอร์หนังสือจะโดนใจ การถูกสร้างเป็นแอนิเมชันเองก็สำคัญ !?

เมื่อนึกถึงอัตลักษณ์หรือคาแรกเตอร์ของหนังสือที่นักอ่านสามารถเดาได้ทันทีเมื่อเห็นเนื้อหาว่าสำนักพิมพ์รักพิมพ์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จะต้องเป็นการ์ตูนแนวโรแมนติกคอมเมดี้ ชีวิตในรั้วโรงเรียน หรือแนวแฟนตาซี โดยตัวอย่างเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ได้แก่ เจ้าสาวผมเป็นแฝดห้า (五等分の花嫁 5-toubun no Hanayome) สะดุดรักยัยแฟนเช่า (彼女、お借りします Kanojo Okarishimasu) เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว (転生したらスライムだった件件 Tensei Shitara Suraimu Datta Ken) เป็นต้น

สาเหตุที่หนังสือของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นมังงะหรือไลท์โนเวลได้รับความสนใจเป็นอย่างมากนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ได้รับการทำเป็นแอนิเมชันในช่วงเวลานั้น โดยพี่บู๊อธิบายว่า อย่างขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่นี้ ก็เป็นช่วงที่เรื่องสะดุดรักยัยแฟนเช่ากำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการพูดถึงในโลกอินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งมีการสตรีมมิ่งถูกลิขสิทธิ์ผ่านทางบริษัท Dex อีกด้วย

การ์ตูนหลายเรื่องของรักพิมพ์ก็เช่นเดียวกัน อย่างในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บริการสตรีมมิ่งที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ก็มีการฉายอนิเมะ หรือแอนิเมชัน (Animation) อย่างเรื่องสารภาพรักกับคุณคางุยะซะดี ๆ ~สงครามประสาทความรักของเหล่าอัจฉริยะ~ (かぐや様は告らせたい ~天才たちの恋愛頭脳戦~ Kaguya-sama wa Kokurasetai) ฉายและยังได้รับความนิยมอยู่ รวมไปถึงเรื่องที่แม้ฉบับมังงะจะอวสานไปแล้วอย่างเจ้าสาวผมเป็นแฝดห้า ทว่าแอนิเมชันยังมีกำหนดที่จะฉายออกมาก็ทำให้ยังได้รับความนิยมอยู่ แต่อาจจะน้อยกว่าช่วงที่หนังสืบจบใหม่ ๆ

พี่บู๊กล่าวว่า การฉายแอนิเมชันสามารถกระตุ้นความนิยม และส่งผลต่อยอดการผลิตของหนังสือเรื่องนั้น ๆ ได้ ไม่เฉพาะกับสำนักพิมพ์รักพิมพ์สำนักพิมพ์เดียวเท่านั้น ในหลายครั้งที่มังงะหรือไลท์โนเวลได้รับการประกาศจัดทำหรือฉายเป็นแอนิเมชัน ความสนใจของผู้อ่านและผู้ชมจะมีมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นคนที่เคยอ่านเรื่องนี้มาก่อนอาจเกิดความรู้สึกที่ต้องเก็บหนังสือให้ครบเพราะเนื้อหาในแอนิเมชันมีการลงรายละเอียดที่น้อยกว่า ด้านคนที่ชมแอนิเมชันอาจต้องการจะรู้ว่าเนื้อเรื่องต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ เนื่องจากบางครั้งก็มีกรณีที่แอนิเมชันมีเพียงภาคเดียว ไม่มีการทำต่อ หรือภาคต่อไปต้องรออีกหนึ่งปี เป็นไปได้หลายอย่าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมยอดการขาย

จุดเด่นคือการปรับสไตล์ทันยุคสมัย จุดขายคือคุณภาพกระดาษไร้ที่ติ

เมื่อพูดถึงสำนักพิมพ์รักพิมพ์ แน่นอนว่าเหล่านักอ่านจะต้องนึกถึงสำนักพิมพ์ที่เป็นที่เลื่องลือในเรื่องคุณภาพกระดาษที่มีผิวสัมผัสน่าหลงไหลตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสำนักพิมพ์เลือกใช้กระดาษ Green Read ซึ่งเป็นกระดาษสีครีมที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติประเภทพืชถึง 90% มีคุณสมบัติในการช่วยถนอมสายตา ในการผลิตหนังสือ เนื่องจากกระดาษชนิดนี้สามารถตัดแสงกระจายและลดแสงสะท้อนลงกว่ากระดาษทั่วไปถึง 15% และแม้สำนักพิมพ์จะใช้กระดาษคุณภาพดีเช่นนี้มาตลอด 14 ปี ทว่าราคาหนังสือกลับไม่สูงหรือโดดจนเกินไปเมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์อื่น

พี่บู๊อธิบายว่า จุดเด่นของสำนักพิมพ์รักพิมพ์คือการให้ความสำคัญกับคุณภาพงานพิมพ์ คุณภาพกระดาษ และคุณภาพหนังสือ สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารตั้งแต่ริเริ่มตั้งสำนักพิมพ์ขึ้น ผนวกกับการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ โดยปัจจุบันทางสำนักพิมพ์ได้พยายามผลิตหนังสือออกมาให้ใกล้เคียงกับชุดสะสม เพิ่มอัตราส่วนของหนังสือการ์ตูนมากยิ่งขึ้น พัฒนาจากหนังสือจากแนวเฉพาะกลุ่มสู่แนวที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนทั่วไปมากขึ้น และมีการเลือกคำนำเรื่องที่มีความทันสมัยในช่วงเวลานั้น ๆ

ด้านงานพิมพ์ สำนักพิมพ์มีการพัฒนางานพิมพ์อยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องเครื่องจักรหรืองานตีพิมพ์ใหม่ ๆ ที่จะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ในทุก ๆ วัน กระดาษและเครื่องจักรจะมีปัญหาเรื่องการเสื่อมสภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคลากรในสำนักพิมพ์จึงจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีปัจจัยการควบคุมมาตรฐานการตีพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ที่จะแฝงไปด้วยความละเอียดอ่อน อาทิ กระดาษที่พิมพ์ในล็อตที่มีระยะเวลาห่างกัน หมึกที่ใช้งาน เครื่องจักร อุณหภูมิและสภาพอากาศที่แปรผัน ทั้งหมดล้วนมีส่วนทำให้คุณภาพหนังสือการ์ตูนแตกต่างกันออกไป

“พอมีการใช้กระดาษที่มีคุณภาพดีขึ้น แน่นอนว่าต้นทุนในส่วนของการตีพิมพ์จะต้องเพิ่มมากขึ้นด้วย และจะส่งผลต่อราคาที่จะเพิ่มขึ้นไป แต่ขณะนี้สำนักพิมพ์ก็พยายามศึกษาในเรื่องของราคาไม่ให้สูงไปมากกว่า”

ความถี่การวางจำหน่ายที่ไม่มีวันหยุดพัก กับการจำกัดจำนวนบ็อกเซ็ต

พี่บู๊เล่าว่า ภาพรวมของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ในทุกเดือนจะมีกำหนดการวางจำหน่ายหนังสืออยู่ที่ประมาณ 22 – 25 เล่ม อาจจะเพิ่มหรือลดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ซึ่งวิธีการวางแผนจัดจำหน่ายแต่ละเรื่องในแต่ละเดือนจะต้องดูจากช่วงเวลาที่ได้รับต้นฉบับจากสำนักพิมพ์ต้นสังกัด และขั้นตอนการดำเนินงานส่วนต่าง ๆ อาทิ ขั้นตอนการแปล การทำกราฟิก การลบตัวอักษรในช่องคำพูด การใส่คำพูด เป็นต้น โดยกรณีเร็วสุดจะใช้ระยะเวลาทำประมาณ 3 – 4 เดือนต่อหนึ่งเล่ม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละเรื่อง

และอีกหนึ่งจุดเด่นของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ในตอนนี้คือการทำกล่องชุดสะสม หรือ บ็อกเซ็ต (Boxset) สำหรับหนังสือเรื่องนั้น ๆ พี่บู๊กล่าวว่า บ็อกเซ็ตเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในหลายสำนักพิมพ์ อย่างทางสำนักพิมพ์เองได้ริเริ่มทำขึ้นมาในภายหลัง เนื่องด้วยกระแสเรียกร้องจากเหล่านักอ่านที่ติดตามหนังสือ ซึ่งบ็อกเซ็ตแต่ละเรื่องที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่จะต้องผลิตแบบจำนวนจำกัด เพื่อจัดจำหน่ายให้สำหรับนักสะสมโดยเฉพาะ

“สาเหตุที่ต้องจำกัดจำนวน ส่วนหนึ่งเป็นข้อตกลงกับทางต้นสังกัด เพราะทุกครั้งในการผลิต เราไม่ใช่ผู้ผลิตเอง จะต้องไปคุยกับผู้ผลิตด้านนอก ในเรื่องที่ได้รับความนิยมมาก ก็สั่งผลิตมาก เรื่องที่ได้รับความนิยมน้อยกว่า ก็สั่งผลิตน้อยลงมา แต่ก็จะพยายามให้อยู่ในขอบเขตที่พอดีกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มแรก”

หันหางเสือเดินหน้าต่อ เมื่อสายลมของเหล่านักอ่านเริ่มเปลี่ยนทิศ

เราได้พูดคุยกับพี่บู๊ถึงการปรับตัวที่สำนักพิมพ์ต้องเผชิญก่อนที่จะได้ทราบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวมากขึ้น คือ สภาพของเศรษฐกิจ และ พฤติกรรมของเหล่านักอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป

ในยุคสมัยนี้ วิธีการเสพสื่อหรือการอ่านของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน ยกตัวอย่างการอ่านหนังสือรูปเล่มที่ลดน้อยลง เปลี่ยนมาอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) มากยิ่งขึ้น ทางสำนักพิมพ์เองก็จะต้องปรับตัวแปรผันตามเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกหลายข้อด้วยกันที่ส่งผลให้ผู้คนซื้อหนังสือรูปเล่มน้อยลง อาทิ สภาพที่อยู่อาศัย พื้นฐานที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ทั้งนี้ วิธีการปรับตัวของสำนักพิมพ์จะมีการออกอีเวนต์พูดคุยกับนักอ่านเพื่อรับทราบความคิดเห็น และรับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านหนังสือ โปรโมชัน สต็อกสินค้า ส่วนใดที่สามารถปรับได้ก็จะปรับทันที หรือส่วนที่ต้องใช้ระยะเวลาก็จะค่อย ๆ พูดคุย หาแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงของฝ่ายที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนถัดไป

เกลียวคลื่นลูกใหม่ E-Book ช่องทางที่เพิ่มเข้ามาท่ามกลางยุคสมัยที่โลกเปลี่ยนไป

เมื่อเราเจาะจงถึง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book (Electronic Book) หนังสือที่สร้างขึ้นจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีลักษณะเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เปิดอ่านคล้ายหนังสือจริง อีกหนึ่งรูปแบบของหนังสือที่สามารถเห็นได้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยปกติ E-Book สามารถอ่านได้ผ่านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ อาทิ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น ซึ่งสะดวกต่อการพกพามากกว่าหนังสือรูปเล่ม

พี่บู๊เล่าว่า ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและกระแสต่าง ๆ ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปช่วงหลายปีก่อน ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่รวดเร็ว นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ยังไม่ก้าวหน้าและถูกใช้อย่างแพร่หลาย ฉะนั้นการอ่านและการเสพสื่อจึงเปลี่ยนรูปแบบไปตามเวลา แต่เพราะว่าผู้คนยังมีความต้องในการอ่านอยู่ จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Book ขึ้นมา

E-Book เป็นช่องทางใหม่ที่เกิดขึ้น ซ้ำยังกลายเป็นหนึ่งในสื่อประเภทใหม่ที่เราเห็นกันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา สำนักพิมพ์จะขายหนังสือในแบบของรูปเล่มที่จับต้องได้ ทว่าการขาย E-Book ที่เพิ่มเข้ามาในตอนนี้เป็นการแปลงรูปเล่มที่มีให้มาอยู่ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทน อย่างเมื่อก่อนที่หลายคนไม่เคยคาดคิดเลยว่าในอนาคตจะมีแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) สำหรับดูซีรี่ส์ ภาพยนตร์หรือแอนิเมชันกันทั่วไป การอ่านหนังสือการ์ตูนในตอนนี้ก็เช่นเดียวกันที่เราสามารถเลือกอ่านมังงะหรือไลท์โนเวลผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เกิดใหม่ ทั้งหมดล้วนเป็นช่องทางที่ทำให้เข้าถึงผู้อ่านในยุคปัจจุบันได้มากยิ่งขึ้น

พี่บู๊กล่าวว่าในทุกวันนี้ สำนักพิมพ์รักพิมพ์พยายามที่จะขายหนังสือทั้งในแบบรูปเล่มและ E-Book ควบคู่กัน ทว่าในการพูดคุยขอลิขสิทธิ์สำหรับจัดทำ E-Book นั้น พี่บู๊อธิบายว่า ไม่ใช่หนังสือทุกเล่มที่จะได้รับการอนุมัติทันที เนื่องจากทางต้นสังกัดที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีความเข้าใจในการจัดจำหน่าย E-Book มากนัก ฉะนั้นจึงจะมีบางเรื่องที่สามารถนำมาจัดทำได้ และบางเรื่องที่ยังไม่สามารถทำได้

โดยลิขสิทธิ์ในการจัดทำ E-Book จะแตกต่างออกไปจากลิขสิทธิ์ในการผลิตรูปเล่มปกติ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละต้นสังกัด บางต้นสังกัดอาจให้ผลิตเป็นรูปเล่มก่อน แล้วจึงออก E-book ตามมาภายหลัง ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาพูดคุยก่อนจะนำมาขายในรูปแบบ E-book ให้มากขึ้น ซึ่งอาจจะใช้เวลาสักเล็กน้อยในการให้ต้นสังกัดทำความเข้าใจว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีเทรนด์ในการเสพสื่อ การอ่านหนังสือที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว

พี่บู๊เล่าเพิ่มเติมว่า ประเทศญี่ปุ่นในตอนนี้เองก็มีทั้งหนังสือรูปเล่มและ E-book ไม่แตกต่างจากบ้านเรา แต่เนื่องด้วยความอนุรักษ์นิยมของเหล่านักอ่านและการเป็นต้นฉบับผลงานจึงสามารถจัดจำหน่ายรูปเล่มได้มากกว่า เราจะเห็นว่ายอดจำหน่ายหนังสือการ์ตูนหลายเล่มในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถทะลุหลักล้านเล่มได้ ขณะเดียวกันในประเทศไทยอาจจะอยู่ที่หลักร้อยไปจนถึงหลักพัน นาน ๆ ครั้งถึงจะมีจำนวนหลักหมื่น ด้านของ E-book ในไทยเองก็เพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และ ณ ปัจจุบันก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

จริงหรือไม่ E-Book เป็นหนังสือไร้ต้นทุนการผลิต (ก็ไม่เห็นต้องตีพิมพ์นี่นา)

หลายคนอาจเข้าใจว่าการจัดทำ E-Books ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตีพิมพ์หรือต้นทุนการผลิตเหมือนการผลิตรูปเล่ม ฉะนั้นจะขายในราคา 10 – 20 บาทก็ได้ พี่บู๊เล่าว่าในความเป็นจริงนั้น การจัดทำ E-Book จะมีค่าบริหารจัดการต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ การนำไปฝากจำหน่ายในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะมีค่าบริการจัดการที่แตกต่างกันออกไป ส่วนแบ่งของช่องทางการชำระเงินออนไลน์ (Payment Gateway) ค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ ค่าดำเนินการแปล ค่าจัดการต่าง ๆ ที่ทีมงานจะต้องทำในหลังบ้านสำนักพิมพ์

โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายในการจัดทำรูปเล่มและ E-Book จึงแทบไม่ต่างกันมากนัก เพราะเมื่อตัดค่าดำเนินการตีพิมพ์ออกไป ก็จะมีค่าดำเนินการแพลตฟอร์มเข้ามาแทน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายผ่าน Google Play Store และ App Store อีกด้วย ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความเข้าใจและการเก็บเปอร์เซ็นที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างนโยบายของทาง Apple ที่จะเก็บค่าบริการส่งออกผ่านดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 30% เพราะฉะนั้นส่วนแบ่งจึงจะถูกตัดทอนออกไปตามข้อกำหนดที่ตกลงกับแต่ละแพลตฟอร์ม และจะมีค่าใช้จ่ายสูงในส่วนของผู้อ่าน

ค่าใช้จ่ายที่ใช้หลังบ้านแทบไม่ต่าง การควบคุมราคาเพื่อเหล่านักอ่าน

หลังจากที่ได้รู้ถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการวางขาย E-Book ที่แทบไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และนำมาตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับสำนักพิมพ์อื่น ๆ เราพบว่าสำนักพิมพ์รักพิมพ์สามารถตั้งราคาของ E-Book ให้มีราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าปกของหนังสือรูปเล่มทั้งในส่วนมังงะและไลท์โนเวลได้ถึง 25 – 38 % เลยทีเดียว

พี่บู๊อธิบายว่า องค์ประกอบแรกคือสำนักพิมพ์พยายามจะผลักดันส่งเสริม E-Book ให้เป็นที่สนใจโดยทั่วไป จึงได้มีการตั้งราคาที่ไม่สูงมากนัก และองค์ประกอบที่สอง E-Book ในตอนนี้นอกจากที่จะมีการขายในตลาดออนไลน์อย่าง Meb, Comico, Ookbee แล้ว ยังมีแพลตฟอร์มใหม่อย่าง MangaQube อีกด้วย โดย MangaQube เป็นพาร์ตเนอร์เสมือนร้านค้าตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าของสำนักพิมพ์รักพิมพ์ ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ปกติจะอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์หรือเว็บบราวเซอร์ ให้สามารถเลือกซื้อหนังสือรูปเล่มและ E-Book ได้ อีกทั้งในกรณีที่เลือกซื้อเป็น E-Book ก็จะมีการใช้งานควบคู่ไปกับแอปพลิเคชันที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับนักอ่านโดยเฉพาะ

ดังนั้นสำนักพิมพ์จะเน้นการกระจายไปในหลายแพลตฟอร์มเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งการควบคุมราคาของสำนักพิมพ์จะเน้นไปในส่วนของรูปเล่มเสียมากกว่า เนื่องด้วยต้นทุนส่วนหนึ่งไปอยู่ที่หนังสือรูปเล่มแล้ว ฉะนั้นส่วนของ E-Book จะมีการตัดสัดส่วนต้นทุนการพิมพ์ออกไปได้ ส่งผลให้การควบคุมราคาสามารถคุมได้ดีกว่า

“เราพยายามคุมราคาให้ทั้งทางฝั่งของ E-Book และทางรูปเล่มมีราคาที่สอดคล้องและสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะตอนนี้เอาจริง ๆ จะมีเรื่องที่เริ่มขายในรูปแบบใหม่เป็นการขายเป็นแพ็กคู่ ทั้งรูปเล่มและ E-Book ไปด้วยกัน ซึ่งบวกราคาอีกนิดหน่อยลูกค้าก็จะสามารถได้ E-Book ไปเพื่ออ่านและได้ตัวรูปเล่มไปเพื่อเก็บสะสมได้ ในตอนนี้ก็มีทำไปบ้างและในอนาคตก็อาจมีหลาย ๆ เรื่องที่ได้ทำแบบนี้ด้วย”

เส้นทางคู่ขนานที่วายุพัดพาไป การคงอยู่ของหนังสือรูปเล่มและ E-Book

พี่บู๊ให้ความเห็นว่า การมีอยู่ของ E-Book สามารถช่วยสนับสนุนยอดขายหนังสือรูปเล่มได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากในทุกวันนี้ หนังสือการ์ตูนรูปเล่มกำลังจะกลายเป็นของสะสม การอ่าน E-Book จะช่วยให้เราสามารถอ่านที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งที่อ่าน E-Book จบแล้ว นักอ่านส่วนหนึ่งก็อาจมีความต้องการในการเก็บรูปเล่มต่อ ทางสำนักพิมพ์จะต้องพยายามทำหนังสือออกมาให้มีความเป็นของสำหรับสะสมมากยิ่งขึ้น ฉะนั้น E-Book จึงมีส่วนช่วยทำให้ลูกค้ามีความต้องการซื้อรูปเล่มเพื่อสะสมเสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม  เทคโนโลยีทุกอย่างที่เปลี่ยนไปจะสามารถทำให้มังงะและไลท์โนเวลไปต่อในรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนเราอ่านหนังสือเล่ม คราวนี้เราอาจจะอ่านเป็น E-Book แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่หนังสือรูปเล่มจะยังคงไม่หายไปในเร็ววันอย่างแน่นอน ตอนนี้ก็จะเป็น Physical กับ Digital ควบคู่กันไป นี่คือทิศทางที่มองว่ารูปเล่มหนังสือการ์ตูนในอนาคตจะกลายเป็นสิ่งสะสม ส่วนด้านการอ่านผ่านระบบดิจิทัล เมื่อถึง ณ จุดหนึ่งก็จะไปวัดกันที่คุณภาพและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่จำหน่ายหนังสือแทน พี่บู๊เอ่ยต่อ

และเมื่อเราถามว่าวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนยังไปต่อได้อีกหรือไม่

“ยังไปต่อแน่นอน” พี่บู๊กล่าวด้วยความมั่นใจ

ในตอนต่อไป เราจะชวนนักอ่านทุกคนไปร่วมพูดคุยกับพี่บู๊ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสำนักพิมพ์ หนังสือการ์ตูน และนักอ่าน การประสบปัญหาวิกฤติช่วงโควิด-19 ของสำนักพิมพ์และกลยุทธ์ที่ใช้ในการบริหารจัดการของสำนักพิมพ์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูน

สำหรับใครที่สนใจติดตามอ่านตอนต่อไป เราแปะลิงก์กันไว้ตรงนี้

> ฝ่าวิกฤติพลิกกลยุทธ์กับการปรับตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด’ คุยกับ ‘LUCKPIM’ สำนักพิมพ์หนังสือการ์ตูนรุ่นใหม่ขวัญใจนักอ่านสายญี่ปุ่น ตอนจบ: http://baankluayonline.bu.ac.th/culture-manga-luckpim-02

สำนักพิมพ์ พนักงาน นักอ่าน มุมมองต่องานหนังสือ สุดยอดบิ๊กอีเวนต์ของเหล่าคนที่มีใจรักในการ์ตูนญี่ปุ่น

Reference & Bibliography

สำนักพิมพ์รักพิมพ์, บริษัท รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง จำกัด

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR412 Individual Study Section 4221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Graphic

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน