การ์ตูนญี่ปุ่น แอนิเมชันจากญี่ปุ่น อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย เด็กไทยหลายคนเติบโตมากับการ์ตูนญี่ปุ่น และมีเหล่าฮีโร่เป็นแรงบันดาลใจ ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นอีกหนึ่งคนที่ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นชีวิตจิตใจ เราขอชวนคุยถึง แอนิเมชัน กันดั้ม (Gundam) เรื่องราวการต่อสู้ของหุ่นยนต์ขนาดยักษ์ มาเจาะลึกถึงที่มาที่ไปของแอนิเมชันแนวนี้ไปพร้อมกัน
รู้จักกับ Real Robot
ก่อนอื่นผู้เขียนขอแนะนำ อนิเมะแนว Robot เป็นหนึ่งในแนวยอดนิยมที่แตกแขนงออกมาเป็นอีกหลายแนว สมัยก่อนอนิเมะแนวหุ่นยนต์ที่ได้รับความนิยมมากคือ Super Robot เนื้อเรื่องจะดำเนินโดยพระเอกบังคับหุ่นยนต์ออกไปต่อสู้กับองค์กรร้ายและหุ่นยนต์จะมีพลังพิเศษหลุดโลก
อนิเมะแนวนี้ที่รู้จักกันมาก อย่างเช่น เทตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28 (Tetsujin 28) อนิเมะขาว-ดำในปี ค.ศ.1963 หรือการ์ตูนในช่วงที่เริ่มมีโทรทัศน์สีอย่าง หุ่นรบอภินิหาร (Mazinger Z) ในปี ค.ศ.1972 จนเวลาล่วงเลยเข้าสู่ปี ค.ศ.1979 อนิเมะได้ถูกพัฒนาเรื่อยมา จึงทำให้อนิเมะหุ่นยนต์เกิดแนวใหม่ขึ้นอีก นั่นก็คือแนว Real Robot เมื่อหุ่นมีความสมจริงและเน้นหลักการทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น รวมถึงรับรู้เทคนิคระบบขับเคลื่อนต่าง ๆ หุ่นยนต์ในเรื่องเปรียบเสมือนยุทโธปกรณ์ในสงครามเป็นอาวุธสีเทาที่ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่าใช้อย่างไร ซึ่งสร้างความแปลกใหม่ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก
เรื่องราวต่อไปนี้ ผู้เขียนจึงขอเจาะลึกถึงตำนานของ กันดั้ม (Gundam) อนิเมะแนว Real Robot ที่ประสบความสำเร็จทั้งทางซีรีส์ หนังสือการ์ตูน นิยาย รวมไปถึงของเล่นอย่างกันพลา (Gunpla) พลาสติกโมเดลที่เป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน
ปฐมบทของกันดั้ม
เรื่องราวของ “กันดั้ม” เกิดขึ้นที่โลกกับอวกาศ คือยุคสมัยที่มนุษย์โลกบุกเบิกอวกาศอย่างจริงจัง ด้วยประชากรบนโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้รัฐบาลของโลกหรือที่ในเรื่องเรียกว่า สหพันธ์โลก เริ่มแผนการสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ โดยรูปแบบนั้นสร้างเป็นโลกจำลองทรงกระบอกประกอบด้วยกระจกนับไม่ถ้วน เรียกว่า โคโลนี่ และแต่งตั้งศักราชใหม่เรียกว่า ศักราชอวกาศ หรือ Universal Century (ใช้ตัวย่อว่า U.C.)
ความสนุกของเรื่องเริ่มปรากฎเมื่อ พวกที่อาศัยอยู่บนอวกาศ ได้ทำการเรียกร้องเอกราชขอแยกตัวจากโลกเพราะเกิดความขัดแย้งทางขั้วอำนาจกับความเชื่อเรื่อง นิวไทป์ มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่สามารถหลุดพ้นจากแรงดึงดูดและพระเจ้าได้ โดยหลังจากนั้นไม่นานทางอวกาศก็ได้ตั้งตนเป็น สาธารณรัฐซีอ้อน และประกาศสงครามกับสหพันธ์ที่ อาศัยอยู่บนโลก อย่างชัดเจน ทำให้เกิดสงครามขึ้น โดยแต่ละโคโลนี่ก็แบ่งพรรคแบ่งฝ่าย
ขณะนั้นเองทางซีอ้อนและสหพันธ์ก็ได้สร้างหุ่นรบเพื่อนำไปใช้เป็นอาวุธเรียกว่า Mobile Suit จนนำไปสู่เรื่องราว ’สงคราม 1 ปี’ และในช่วงเวลานั้นเองเด็กหนุ่ม อามุโร่ เรย์ ที่อาศัยอยู่ในโคโลนี่ 7 โคโลนี่ขึ้นตรงกับสหพันธ์ มีประกาศให้อพยพผู้คน ในระหว่างหลบหนีนั้นเองที่ทำให้เขาได้พบกับกันดั้มหุ่นรบสีขาวและการต่อสู้ของเด็กหนุ่มก็ได้เริ่มตันขึ้น ส่วนชื่อ Gundam นั้นมาจากชื่อหุ่นรบรุ่นใหม่ของสหพันธ์หรือเรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า Mobile Suit Gundam
กันดั้มให้อะไรมากกว่าที่เราคิด
กัมดั้มภาคแรกที่ทำให้ผู้เขียนเริ่มดูอย่างจริงจังคือ The Origin ภาคที่บอกเรื่องราวก่อนเกิดสงครามหนึ่งปี และด้วยความตัวอนิเมะสามารถตีแผ่อะไรออกมาได้หลายอย่าง มีทั้งความสมจริง กลยุทธ์ในสงคราม แนวคิดปรัชญา เรื่องราวเข้มข้น แม้แต่ตรงจุดที่สหพันธ์ปราบปรามยิงน้ำใส่ผู้ชุมนุมของซีอ้อน เป็นเหมือนเห็นความจริงสะท้อนผ่านอนิเมะและทำให้รู้สึกว่า Gundam ไม่ใช่เพียงแค่อนิเมะเท่านั้น
แฟนกันดั้ม (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) ได้กล่าวว่า มันคือปรัชญาสงครามและด้วยการดำเนินเนื้อเรื่องในอวกาศทำให้กัมดั้มเป็นเหมือนกับการทำนายอนาคตของมวลมนุษย์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเราไม่รู้ว่าในภาคอนาคตจะเจอกับอะไรบ้าง การอพยพผู้คนขึ้นไปอยู่อาศัยบนอวกาศอาจจะเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
เมื่อได้ยินแบบนั้นทางเราจึงลองค้นหาข้อมูลก็พบว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘โคโลนี่’ นั้นได้มีต้นแบบมาจากจินตนาการของนักวิทยาศาสตร์ เจราล เค.โอนีล ซึ่งเทคโนโลยีในอนาคตอาจสามารถทำได้ ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็เริ่มก้าวไกลไปมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศอเมริกา รัสเซีย หรือจีน ต่างศึกษาเรื่องของอวกาศอย่างต่อเนื่อง
เราจะทิ้งหัวใจความเป็นคนไม่ได้
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยเสริมเติมแต่งให้เนื้อเรื่องมีความเป็นปรัชญามากขึ้นคือ การกระทำและคำพูดของตัวละครเหมือนให้เราได้ฉุกคิดและเรียนรู้ไปกับมัน เช่น ตอนที่ บานาจ ลิงซ์ พระเอกจากภาค ยูนิคอร์นกันดั้ม (Gundam Unicorn) พูดกับกัปตันของซีอ้อน เมื่อสงครามเริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นตอนที่ ‘แฟนกันดั้ม’ ท่านที่ได้กล่าวไปแล้วแนะนำกับผู้เขียน
บานาจพูดว่า “ถึงจะไม่เข้าใจ ถึงจะมีเรื่องเศร้ามากมายก็ตาม แต่คนเราจะทิ้งหัวใจความเป็นคนไม่ได้…” เพราะสำหรับพวกเรา เพราะเป็นมนุษย์ถึงได้รู้จักยับยั้งชั่งใจมีความเห็นอกเห็นใจ นั่นทำให้เราได้พัฒนาและอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าทิ้งมันไปคงเกิดแต่ความขัดแย้งไม่มีวันสิ้นสุด
ประโยคที่สะเทือนใจ
“จะบอกว่าตัวเองเห็นนรกมาแล้วก็เลยจะเอามายัดเยียดใส่คนอื่นอย่างนั้นเหรอ” คำพูดนี้เป็นคำพูดของ บานาจ ลิงซ์ เช่นเดียวกัน ซึ่งพูดตอนอยู่ในระหว่างสงครามของซีอ้อนกับสหพันธ์ โดยฝ่ายกัปตันฝั่งซีอ้อนได้บอกเป็นนัยว่า สหพันธ์เองก็ทำไม่ต่างกันกับสงครามในคราวที่แล้ว ทำให้เขาต้องสูญเสียทั้งภรรยาและลูกไป
แต่คำพูดนี้ของบานาจที่ทำให้กัปต้นซีอ้อนฉุกคิดขึ้นมา เชื่อว่ามนุษย์เราเมื่อเจอเรื่องไม่ดีมา คงไม่อยากให้คนสนิทหรือเพื่อนต้องมาเจอแบบที่เราเจอแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่บอกว่ากันดั้มเปรียบเสมือนสงครามปรัชญาเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนมีความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับแฟนกันดั้ม
แต่ทั้งหมดทั้งมวลอยากจะบอกว่านอกจากจะพูดถึงปรัชญาแล้ว กันดั้มยังทำให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของความรุนแรง ที่จบลงด้วยความรุนแรงอย่างแท้จริง เหตุนี้เองสงครามจึงวนเวียนไม่มีวันสิ้นสุด ทำให้เรื่องราวของกันดั้มไม่ได้จบแค่เฉพาะช่วงสงครามหนึ่งปีเท่านั้น แต่ยังมีภาคแยกย่อยออกมาอีกมากมาย อย่างภาค 0083: War in the pocket, 0083: Stardust memory, Zeta Gundam นั้นดำเนินเรื่องหลังช่วงสงครามหนึ่งปี หรือการบอกเล่าเหตุการณ์ที่จุดชนวนทำให้เกิดสงครามกับภาค The Origin
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วและอยากสัมผัสกับ “โลกของกันดั้ม” มากขึ้นอีก สามารถดูอนิเมะแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทาง Flixer แอปพลิเคชั่นในเครือของ DEX ได้เลย และแนะนำว่าดูตั้งแต่ภาค Origin ต่อด้วยภาค First หรือที่เรียกกันว่า Mobile Suit Gundam 0079 รับรองว่าจะได้อรรถรสเพิ่มขึ้นสามเท่าแน่นอน!
เรื่องราวของกันดั้มสำหรับผู้เขียนจึงเป็นมากกว่าเรื่องเล่าหรือแอนิเมชัน เพราะกันดั้มให้มากกว่าความบันเทิง ทำให้เราเรียนรู้ชีวิต การต่อสู้ ความหมายของการใช้ชีวิต และเข้าใจความเป็นมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
Reference & Bibliography
- แฟนกันดั้ม ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง
- Hobby Japan Co.,LTD. Mobile Suit Z Gundam A New Translation –Legend of Z- (พิมพ์ครั้งที่ 1). บริษัท อินเตอร์แร็กทีฟ บีซีเนส จำกัด. หน้า 42-43, สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.amazon.com/Mobile-Suit-Gundam-NEW-TRANSLATION-Legend/dp/4894254611
- (2019). Real Robot กับ Super Robot แตกต่างกันอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://www.semmys.org/real-robot-กับ-super-robot-แตกต่างกันอย่างไร
- The Momentum. (2018). Gundam: Real Robot กับการสร้างกระแสคิดแบบ Enlightenment Rationality. สืบค้น 9 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://themomentum.co/theories-of-manga-gundam
- กันดั้ม. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://th.wikipedia.org/wiki/กันดั้ม
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์