ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ‘ผู้พิการทางสายตา’ เพิ่มมากขึ้นจากในอดีต ด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันเพื่อรองรับความต้องการในส่วนที่ผู้พิการทางด้านสายตาบกพร่อง ช่วยให้ผู้พิการทางด้านสายตาใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับคนปกติทั่วไป  

แอปพลิเคชันเหล่านี้มีจุดประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกันออกไป เช่น Pannana เป็นแอปพลิเคชันเสียงบรรยายภาพจากหนังหรือละคร Be My Eyes ที่เชื่อมต่อผู้พิการทางด้านสายตากับกลุ่มอาสาสมัครผ่านวิดีโอคอล และ BlindTool เป็นแอปที่เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางด้านสายตาสามารถเปิดกล้องส่องไปยังวัตถุที่ต้องการทราบ ตัวแอปพลิเคชันจะสามารถระบุได้ว่าวัตถุนั้นคืออะไร

จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันช่วยเหลือผู้พิการทางสายตามีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากในอดีตที่ผู้พิการทางสายตาต้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีจิตอาสาโดยตรงเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้พิการทางด้านสายตาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยมีแอปพลิเคชันเหล่านี้เป็นตัวช่วย

อินเทอร์เน็ตกับผู้พิการทางสายตา

เราได้มีโอกาสไปสอบถาม คุณรณชัย (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) ผู้พิการทางสายตาวัยทำงาน คุณรณชัย กล่าวว่าในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้พิการทางสายตาเป็นอย่างมาก เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในด้านต่าง ๆ ทั้งการติดต่อกับเจ้าหน้าที่จิตอาสา รวมถึงใช้ในการเรียน การทำงาน ไปจนถึงด้านการใช้ชีวิตประจำวัน

สมาร์ตโฟนไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) หรือแอนดรอยด์ (Android) จะมีฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาใช้งานอยู่แล้ว เช่น ฟังก์ชันวอยซ์โอเวอร์ระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS Voiceover) ที่ตั้งค่ามาจากโรงงานแบบสำเร็จ และทางด้านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะใช้ระบบของกูเกิล (Google) และทอล์คแบค (Talkback) ที่สามารถระบุสิ่งที่อยู่บนหน้าจออินเทอร์เฟซผ่านทางเสียง ทำให้ผู้พิการทางด้านสายตารับรู้ได้ว่าสิ่งที่หน้าจอกำลังแสดงผลอยู่คืออะไร และต้องกดตรงไหนบ้าง ทำให้ปัจจุบันนี้ผู้พิการทางด้านสายตาสามารถใช้อินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชันได้เกือบเทียบเท่ากับคนทั่วไป 

ผู้พิการทางด้านสายตาสามารถใช้แอปพลิเคชันได้เหมือนกับคนทั่วไป ไม่ใช่เพียงแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้พิการทางด้านสายตาเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้แอปพลิเคชัน ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเมสเซนเจอร์ได้อีกด้วย

แอปพลิเคชันมีส่วนช่วยผู้พิการทางสายตา

จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าในปัจจุบันมีแอปพลิเคชันช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะนักพัฒนาทำให้แอปพลิเคชันมีความหลากหลายและสะดวกสบายมากขึ้น เช่น แอปพลิเคชัน Be My Eyes ที่จะเชื่อมต่อผู้พิการทางสายตากับกลุ่มอาสาสมัครโดยวิธีการวิดีโอคอล ทำให้ผู้พิการทางสายตาสามารถพูดคุยกับจิตอาสาได้แบบเรียลไทม์ เมื่อต้องการสอบถามข้อสงสัยแอปพลิเคชันจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังอาสาสมัครและทำการจับคู่สัญญาณ 

คุณรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวแล้วตัวเองไม่เคยใช้แอปพลิเคชันนี้ แต่ได้ยินจากเพื่อน ๆ หรือรุ่นน้องพูดคุยกันว่าสามารถใช้งานได้สะดวก และเหมาะกับผู้พิการทางสายตาที่อยู่ลำพังเป็นอย่างมาก

หนึ่งเสียงจาก 'ผู้พิการทางด้านสายตา' ถึง 'ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน'

คุณรณชัย มีความเห็น อนาคตอยากให้มีแอปพลิเคชันเกี่ยวกับรถโดยสารประจำทางที่คอยแจ้งเตือนสถานะการเดินทางของรถโดยสาร และอยากให้ตัวรถมีการแจ้งเตือนว่ามีผู้พิการทางสายตารออยู่ เพราะบางครั้งตามป้ายรถสาธารณะก็ไม่มีผู้คน

โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนออกนอกสถานที่น้อยลงทำให้ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นและไม่สามารถรับรู้ได้ว่ารถโดยสารประจำทางสายใดกำลังจะมาถึง อีกทั้งยังอยากให้รถโดยสารประจำทางทุกคันมีจุดจอดรถระบุไว้แบบใช้เสียงเพิ่มขึ้น อยากให้นักพัฒนาแอปพลิเคชันเข้ามาศึกษา และเรียนรู้การใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตามากขึ้น เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้พิการทางสายตาอย่างจริงจัง

ถึงแม้แอปพลิเคชันในปัจจุบันยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่เราต้องขอบคุณนักพัฒนาแอปพลิเคชันทุกคนที่ออกมาพัฒนาแอปพลิเคชันเหล่านี้ให้กับผู้พิการทางสายตา ทำให้การพึ่งพาตัวเองของผู้พิการทางด้านสายตาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใกล้เคียงกับผู้ที่มีสายตาปกติมากยิ่งขึ้น 

เราเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีแอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือผู้พิการเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน จากการที่เราได้เห็นนักพัฒนาไม่เคยหยุดพัฒนาแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้อง หากนับจากอดีต หลากหลายแอปพลิเคชันได้เติบโตขึ้นมากมาย และนักพัฒนาไม่ได้เพียงแค่พัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางสายตาเพียงอย่างเดียว แต่ยังคงพัฒนาแอปพลิเคชันที่จะช่วยเหลือผู้พิการรูปแบบอื่น และแอปพลิเคชันยังสามารถมีประโยชน์ต่อคนทั่วไปอีกด้วย

Reference & Bibliography

  • คุณรณชัย (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) ผู้พิการทางสายตาวัยทำงาน
  • 5 Application ช่วยเหลือผู้พิการเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน. สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2564 จาก, https://bit.ly/3bkednq

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Graphic

เป็นคนที่ชื่นชอบและรักในการเขียน (ทวิต) มาก