ในปัจจุบันนวัตกรรมต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ แม้แต่ ‘การถ่ายภาพ’ ที่ทุกคนต่างก็สามารถถ่ายภาพได้ทันที เพียงปลายนิ้วสัมผัสสมาร์ตโฟนก็สามารถได้รูปถ่ายอย่างที่เราต้องการ เพื่อไปอัปโหลดบนโลกออนไลน์ หรือบางคนที่มีฝีมือก็จะใช้กล้องตัวใหญ่อย่าง DSLR หรือกล้องตัวเล็กแต่ความสามารถไม่เล็กอย่าง Mirrorless ต่างก็พัฒนาขึ้นเพื่อความสบายของผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมบางอย่างที่เคยล้าสมัยไปอย่าง ‘กล้องฟิล์ม’ ก็กลับมามีบทบาทและเป็นแฟชั่นของวัยรุ่นยุคนี้

การที่กล้องฟิล์มได้กลับมามีบทบาทอีกครั้งสามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย และที่เห็นได้ชัดคือเกิดจากผู้มีชื่อเสียง ได้เลือกหยิบกล้องฟิล์มมาใช้ในชีวิตประจำวันทำให้เกิดกระแสนิยมขึ้น ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งคือผู้ที่ชื่นชอบกล้องฟิล์มเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้เริ่มมีการให้ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์มากขึ้น ทำให้วัยรุ่นในสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้กล้องฟิล์มได้หวนกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง

นอกจากนั้นในยุคสมัยที่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างกล้องดิจิทัล ก็ออกแบบรูปลักษณ์และผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้งานให้มีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่การทำงานรวมไปถึงการเอื้อมถึงของราคามีความแตกต่างกัน ในเรื่องของราคากล้องดิจิทัลที่เลียนแบบกล้องฟิล์มมีราคาที่ค่อนสูงกว่ากล้องฟิล์มทั่วไป แต่กล้องฟิล์มบางรุ่นก็มีราคาที่สูงกว่ากล้องดิจิทัล

เนื่องจากกล้องฟิล์มบางประเภทมีกลไกลและรูปร่างที่แตกต่างจากกล้องฟิล์มทั่วไปและกล้องดิจิทัล จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้องฟิล์มบางประเภทมีราคาที่สูงขึ้น

แม้ว่ากลไกกล้องฟิล์มและดิจิทัล มีความแตกต่างกัน แต่ก็มีบางส่วนที่คล้ายกันอีกด้วย เมื่อเวลาที่เราได้ลั่นชัตเตอร์ไปเรียบร้อยแล้ว การถ่ายภาพจากกล้องฟิล์มนั้นจะเห็นภาพที่ถ่ายได้ก็ต่อเมื่อเราเอาฟิล์มที่ใช้งานจนหมดไปล้างที่ร้านรับล้างภาพ ตัวฟิล์มจึงจะปรากฏภาพขึ้นมาให้เห็น ซึ่งแตกต่างจากดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ทันทีจากหลังกล้อง และมีตัวเก็บความจำที่เรียกว่าเมมโมรี่การ์ด ซึ่งเก็บความจุได้มากกว่าฟิล์มหลายเท่า

ส่วนภาพที่ได้ออกมาจากกล้องฟิล์ม จะมีเสน่ห์ของสีภาพจากตัวฟิล์ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของฟิล์มในแต่ละยี่ห้อ แต่กล้องดิจิทัล ภาพที่ได้ออกมาบ้างก็จบที่หลังกล้อง บ้างก็เอาไปต่อยอดโดยการแต่งให้ดูมีสีสันมากขึ้น ในด้านของราคาเนื่องจากกล้องฟิล์มมีราคาที่ต่ำกว่าดิจิทัล จึงทำให้เป็นที่นิยมมากของหมู่วัยรุ่นในปัจจุบัน อีกทั้งยังให้เสน่ห์ความเป็นยุค 80s มากกว่าดิจิทัลที่ดูทันสมัยอีกด้วย

พี่ออฟ-คุณจิตตาภา แสงสุวรรณโต งานอดิเรกคือการถ่ายภาพ และได้ใช้งานทั้งกล้องฟิล์มและกล้องดิจิทัล เล่าให้ฟังว่า การที่เลือกใช้กล้องฟิล์มในการถ่ายภาพ เป็นเพราะความชื่นชอบในเสน่ห์ของกล้องฟิล์ม และรู้สึกว่าการกดชัตเตอร์เพียงหนึ่งครั้งจะต้องใช้เวลากับการคิดวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางและความเพียงพอของแสง การเลือกชนิดม้วนฟิล์มให้สอดคล้องกับภาพที่ต้องการ

และอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเสน่ห์ของกล้องฟิล์มคือการใช้เวลาในกระบวนการล้างฟิล์ม ขั้นตอนนี้เป็นความรู้สึกที่ตั้งตารอของคนที่ใช้กล้องฟิล์มเพราะว่าไม่สามารถรู้ได้ว่าภาพที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ภาพที่ได้จากม้วนฟิล์มออกมา ก็สามารถเป็นภาพดิจิทัลได้ก็ตาม แต่ความรู้สึกที่ได้กลับแตกต่าง

จากบทสัมภาษณ์ที่มีชื่อเรื่องว่า คณิน นวลคำ: ชายผู้พัฒนาตนเองได้เพราะกล้องฟิล์ม เขียนโดย กัญญาภัค ทิศศรี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าถึงเรื่องราวของ พี่เมฆ-คุณคณิน นวลคำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้หลงรักกล้องฟิล์ม และใช้งานกล้องฟิล์มกว่า 20 ปี ได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันมีกล้อง DSLR ออกมาหลากหลายรุ่น แต่ตัวเขาเองก็ยังคงเลือกที่จะถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม เนื่องจากการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มจะต้องผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์ และวางแผน การดูทิศทางของแสงรวมไปถึงขั้นตอนการล้างฟิล์ม สีของฟิล์มที่เลือกใช้มีผลกับภาพที่จะได้ และช่วงเวลาที่ต้องลุ้นว่าภาพที่ได้จะเป็นอย่างที่หวังไว้หรือไม่ ทำให้รู้สึกถึงความท้าทาย ซึ่งเขาไม่ได้ถ่ายกล้องฟิล์มเพียงเพราะเป็นกระแส แต่ใช้เพื่อแก้นิสัยที่ชอบถ่ายภาพไปอย่างไม่จำกัดของตน

เช่นเดียวกับ พิม-ธศิรภร สุดชา และเดียร์-บุษกร เทพทอง นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เลือกใช้กล้องฟิล์มในการบันทึกภาพของตนเอง เพราะหลงใหลในความคลาสสิคของภาพถ่ายที่ได้จากกล้องฟิล์ม ทั้งสองคนยังชอบถ่ายภาพ และบันทึกภาพการท่องเที่ยวด้วยกล้องฟิล์ม ถึงแม้จะเห็นภาพช้ากว่ากล้องดิจิทัล แต่คุ้มค่ากับการรอคอย และยังเป็นการฝึกฝนการรอคอยจังหวะเวลาในการถ่ายภาพ และต้องใส่ใจกับภาพทุกภาพก่อนที่จะกดชัตเตอร์

หลายคนอาจสงสัยว่า กล้องฟิล์มที่เราเห็นมากมายตามท้องตลาด มีชื่อเรียกและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป และเพื่อให้คนที่เล่นกล้องฟิล์มมือใหม่ได้รู้จักกับกล้องฟิล์มมากขึ้น ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับกล้องฟิล์ม 5 แบบ โดยอ้างอิงจากบทความที่มีชื่อว่า “ก้าวสู่โลกอะนาล็อค กับหลากหลายเรื่องราวที่คนรัก (กล้อง) ฟิล์มต้องรู้!”

01 : SLR (Single Lens Reflex Camera)

01 : SLR (Single Lens Reflex Camera) กล้องฟิล์มที่คนรุ่นก่อนคงจำกันได้ดี เป็นกล้องที่ใช้งานไม่ยากนัก ภายในตัวกล้องมีกระจกสะท้อนรับภาพ รูปร่างสุดคลาสสิค เหมาะกับคนรักกล้องเป็นชีวิตจิตใจ

02 : Rangefinder

02 : Rangefinder กล้องฟิล์ม 35mm พิเศษด้วยการมองภาพที่แยกผ่าน Viewfinder มีคุณสมบัติคือภาพจากเลนส์มุ่งเข้าสู่ฟิล์มโดยตรง Leica M คือกล้องที่ป๊อปปูล่าร์

03 : Half Frame ขอขอบคุณภาพจาก Film Camera 789

03 : Half Frame กล้องฟิล์ม 35mm เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เพราะสามารถถ่ายภาพได้เฟรมเป็นจำนวนมาก ที่คุ้นชื่อกันคือ กล้อง Lomo 

04 : Compact Camera ขอขอบคุณภาพจาก Film Camera 789

04 : Compact Camera กล้องขนาดเล็ก ใช้งานง่าย แค่ใส่ฟิล์มก็ถ่ายได้เลย ใครที่ชอบเดินทางเหมาะกับกล้องประเภทนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังหาซื้อฟิล์มได้ง่ายและยังมีผลิตอยู่ ได้แก่ Kodak และ Fuji

05 : Twin Lens Reflex กล้องฟิล์มที่สวยแปลกด้วยรูปทรง น่าสะสมเป็นอย่างมาก เราคงเคยเห็นกล้องแบบนี้ในภาพยนตร์แนวคลาสสิค พกพาแล้วเท่ไปอีกแบบ

ในเวลานี้กล้องฟิล์มจะเป็นที่แพร่หลายมากในกลุ่ม เด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ บ้างก็ใช้เพื่อตามกระแส บ้างก็เพราะชื่นชอบในความเป็นกล้องฟิล์ม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้กล้องฟิล์มได้กลับมาอีกครั้ง อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจกล้องฟิล์มสามารถเดินหน้าไปต่อได้ดีอีกด้วย ถึงอย่างนั้นในอนาคตก็ไม่มีใครรู้ว่าจะหายไปอีกไหม แต่ความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งเราเคยได้รู้จักกับกล้องดังกล่าวจะอยู่กับเราตลอดไป

Reference & Bibliography

  • คณิน นวลคำ: ชายผู้พัฒนาตนเองได้เพราะกล้องฟิล์ม, ICT Media Silpakorn University, สืบค้นเมื่อ 19  พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=596#.XfCGnJMzaM-
  • ก้าวสู่โลกอะนาล็อก กับหลากหลายเรื่องราวที่คนรัก (กล้อง) ฟิล์มต้องรู้, BKKMENU, สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.bkkmenu.com/eat/stories/all-about-film.html
  • Film Camera 789 ยินดีต้อนรับทุกท่าน เราขายกล้องฟิล์มสภาพดี สมบัติผลัดกันเล่น ราคาน่าคบ : ) https://www.facebook.com/filmcamera789

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer

คำกล่าวของ Leonardo da Vinci บอกไว้ว่า การมีความรู้เพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่พอ เราต้องรู้จักนำมาใช้ และการมีความตั้งใจอย่างเดียวนั้น ยังน้อยไป เราต้องรู้จักลงมือทำ

Writer

ไม่ได้อยากเป็นนักเขียน แค่อยากเล่าเรื่อง แต่เรื่องที่เล่าส่วนใหญ่จะใช้การเขียน

Photographer

มีความฝันอยากเป็นช่างภาพ ได้ท่องเที่ยวไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แต่เพิ่งได้พบว่าการเขียน เหมือนการได้พบสิ่งใหม่ และอยู่เพียงแค่ปลายปากกาของเราเท่านั้นเอง