ศูนย์บริการโลหิตฯ เผย เลือดยังขาดคลังในบางช่วง สาเหตุจากการบริจาคที่ไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้เลือดคงคลังขาดในบางช่วง ด้าน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เห็นความสำคัญ จัดโครงการบริจาคโลหิตเคลื่อนที่เพื่อกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในทุกปีการศึกษา

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงสภาวะเลือดคงคลังในช่วงที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ยังคงขาดแคลนเลือดบางหมู่โลหิตบางช่วงเวลา สาเหตุหลักมาจากการบริจาคที่ไม่สม่ำเสมอของผู้บริจาค แม้จะมีจำนวนของผู้บริจาคที่เพิ่มขึ้น แต่จำนวนความต้องการเลือดของผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตามหลักการขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้กำหนดเป้าหมายในการจัดหาโลหิตให้ได้ 3 เปอร์เซนต์ ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ จากข้อมูลจำนวนประชากรไทยพบว่า ประเทศไทยที่มีประชากรจำนวนราว 65,479,453 คน จึงจำเป็นต้องจัดหาโลหิตให้ได้ปีละ 2,500,000 ยูนิต เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ แบ่งจัดเก็บโดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน 700,000 ยูนิตต่อปี และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 13 แห่ง พร้อมโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ จำนวน 1,800,000 ยูนิตต่อปี 

สำหรับการจัดหาโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ โดยเฉลี่ยจะต้องจัดหาให้ได้วันละ 2,000 ยูนิต แบ่งออกเป็นการจัดหาภายในสถานที่ 1,000-1,300 ยูนิต และหน่วยเคลื่อนที่ 1,000-1,200 ยูนิต จึงจะเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติที่ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในประเทศ

รวมทั้งจัดเก็บเลือดในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน โดยแบ่งสัดส่วนของความจำเป็นต้องใช้โลหิตเป็น 2 ส่วน คือ 77 เปอร์เซนต์ สำหรับผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญสียโลหิตเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ การผ่าตัด เลือดออกในกระเพาะอาหาร ตกเลือดหลังคลอดบุตร เป็นต้น และอีก 23 เปอร์เซนต์ สำหรับผู้ป่วยโรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากสาเหตุอื่น ๆ โรคเกล็ดเลือดต่ำ โรคขาดปัจจัยการแข็งตัวของเลือด หรือฮีโมฟีเลีย เป็นต้น 

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า แต่ละโรงพยาบาลยังมีความต้องการใช้โลหิตเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าแต่ละปีจะมีผู้บริจาคโลหิตเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความต้องการโลหิตเพิ่มมากขึ้น ปีละ 8-10 เปอร์เซนต์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จึงรณรงค์โดยจัดโครงการและกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้ผู้บริจาคโลหิตเพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิตมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ระบุกลุ่มเป้าหมายหลักในการบริจาคโลหิตมี 3 กลุ่มดังนี้ 

กลุ่มแรก กลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งเริ่มต้นเป็นผู้บริจาคโลหิต โดยต้องสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนเหล่านี้ ให้ถือว่าการบริจาคโลหิตเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม 

จากสถิติของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในปี 2561 พบว่า การบริจาคโลหิตในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ 17-25 ปี มีจำนวน 126,890 คน คิดเป็น 32.21 เปอร์เซนต์ ของกลุ่มผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด บริจาคโลหิต 1 ครั้งต่อปี จำนวน 218,143 คน คิดเป็น 55.37 เปอร์เซนต์ จึงต้องรณรงค์ให้เยาวชนเพิ่มความถี่ในการบริจาคโลหิตจากปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง จนถึงปีละ 4 ครั้ง เพื่อให้มีปริมาณโลหิตสำรองเพียงพอสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤติต่าง

กลุ่มที่สอง กลุ่มผู้บริจาคประจำที่มีสุขภาพแข็งแรง บริจาคต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 70 ปี

กลุ่มสุดท้าย กลุ่มประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง แต่ยังไม่เคยบริจาคโลหิตเชิญชวนรณรงค์ให้บริจาคโลหิต เริ่มเป็นผู้ให้และคงไว้ให้เป็นผู้บริจาคโลหิตประจำสม่ำเสมอทุก 3 เดือน

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีกลุ่มเยาวชนอายุ 17-25 ปี อยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักในการบริจาคโลหิต ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิตเพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วย จึงร่วมกับโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช หนึ่งในโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิต ของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ จัดหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่เข้ามารับบริจาคภายในมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอในทุกปีการศึกษา

อาจารย์ประชา สมนาค อาจารย์ประจำแผนกพัฒนากิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

อาจารย์ประชา สมนาค อาจารย์ประจำแผนกพัฒนากิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เริ่มมีการเปิดให้หน่วยบริการโลหิตจากโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดชเข้ามารับบริจาคโลหิต เมื่อประมาณ 10 ปีแล้ว ด้วยจุดประสงค์ที่อยากกระตุ้นให้นักศึกษา และบุคคลากรภายในมหาวิทยาลัยได้เห็นความสำคัญของการบริจาคโลหิต และเป็น Center หรือศูนย์กลางที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการบริจาค เพื่อที่จะไม่ต้องเดินทางไปไกลเพื่อบริจาคโลหิต

อาจารย์ประชา กล่าวต่อว่า “การรับบริจาคเลือดภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะจัดขึ้นประมาณ 10 ครั้งต่อปี ซึ่งใจจริงอยากจะจัดทั้งปี แต่จะติดกับช่วงที่ปิดภาคเรียน จึงไม่สามารถจัดทั้งปีได้ เลยต้องมีบางช่วงที่เว้นไป โดยผู้บริจาคส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักศึกษา”

แผนกพัฒนากิจกรรมนักศึกษา ยังได้ให้ข้อมูลสถิติ โครงการบริจาคโลหิตของมหาวิทยาลัยกรุงเทพในช่วงปีการศึกษา 2561-2562 ดังนี้ 

ปีการศึกษา 2561 ตั้งเป้าผู้บริจาคโลหิตไว้ จำนวน 560 คน มีผู้ประสงค์บริจาคโลหิต จำนวน 1,107 คน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว มีผู้ผ่านเกณฑ์บริจาคโลหิตได้ จำนวน 626 คน และผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 484 คน เนื่องจากสาเหตุเลือดจาง รวมไปถึงไม่ผ่านเกณฑ์การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย

ส่วนในปีการศึกษา 2562 เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562 ตั้งเป้าผู้บริจาคโลหิตไว้ จำนวน 210 คน มีผู้ประสงค์บริจาคโลหิต จำนวน 345 คน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว มีผู้ผ่านเกณฑ์บริจาคโลหิตได้ จำนวน 208 คน และผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ 137 คน โดยมีสาเหตุเช่นเดียวกัน

นักศึกษาที่สนใจบริจาคโลหิตที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตหลัก (Main Campus) สามารถติดตามข้อมูลประกาศการบริจาคโลหิตได้ทางอีเมล์ของนักศึกษา และประกาศจากแผนกพัฒนากิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

การรับบริจาคโลหิตเคลื่อนเป็นอีกช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มที่ต้องการบริจาคโดยตรง และอาจเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้เกิดการบริจาคที่สม่ำเสมอมากขึ้น ประกอบกับมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคโลหิตให้คนรับรู้ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ตัวผู้บริจาคโลหิตเองก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวก่อนการบริจาคโลหิตให้ดี รักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ และสามารถบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อไปได้

การบริจาคโลหิตในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กระตุ้นให้คนหันมาบริจาคโลหิต ข้อมูลจากเว็บไซต์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้เชิญชวนให้ประชาชนบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอ

แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคโลหิต

ผู้ที่จะบริจาคโลหิต ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ งดอาหารไขมันสูง งดเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ งดสูบบุหรี่ งดยาปฏิชีวนะ และเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ศึกษาข้อมูลการเตรียมตัวบริจาคเลือดจากเว็บไซต์ของศูนย์บริจาคโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

สอบถามข้อมูลศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และจัดหาผู้บริจาคโลหิต ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ถนนอังรีดูนังต์ โทร. 0 2256 4300, 0 2263 9600-99 ต่อ 1101, 1760 และอ่านรายละเอียดได้ที่ https://blooddonationthai.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก