ในเดือนมิถุนายนของทุกปี ถือเป็นเดือนที่เรียกว่า Pride Month หรือ เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการเฉลิมฉลอง โบกธงสีรุ้งที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ เดินขบวนสนับสนุนหรือทำแคมเปญต่าง ๆ เพื่อหวนรำลึกเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพแห่งความเท่าเทียมและทัดเทียมของชาว LGBTQ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เราขอร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศด้วยการแนะนำ 20 ภาพยนตร์ LGBTQ ที่ควรค่าแก่การดูในปี 2020 พร้อมรายละเอียดเรียกน้ำย่อยก่อนไปรับชม

NOTE: ภาพยนตร์ที่จะแนะนำต่อไปนี้ มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในบางเรื่องจึงอาจจะไม่ได้เน้นที่เรื่องราวความรักเป็นเนื้อหาหลัก แต่สนับสนุนความหลากหลายของเพศในแต่ละบทบาทเฉกเช่นภาพยนตร์ทั่วไป

Love, Simon อีเมลลับฉบับไซมอน (2018)

“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้พบความรักที่ยิ่งใหญ่”

Love, Simon อีเมลลับฉบับไซมอน ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสือขายดีอย่าง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda ของ เบ็คกี้ อัลเบอร์ทัลลิ กำกับโดย เกร็ก เบอลานติ เขียนบทโดย ไอแซค แอปเทคเกอร์ และเอลิซาเบธ เบอร์เกอร์ จากทีมผู้สร้าง The Fault In Our Stars ดาวบันดาล ที่เคยสร้างความประทับใจไว้มากมาย

เรื่องราวเล่าถึง ไซมอน สไปเออร์ เด็กหนุ่มไฮสคูลวัย 17 ปี ที่เติบโตมาในครอบครัวที่แสนจะสมบูรณ์แบบ มีเพื่อนที่รัก มีสังคมในรั้วโรงเรียนที่ดี ทว่าเขากลับมีความลับที่ยากจะบอกผู้อื่น เพราะไซมอนเป็นเกย์และกำลังประสบปัญหาที่จะแสดงออกถึงตัวตนของเขากับคนรอบตัว

‘Dear Blue, I’m just like you’ (เฮ้บลู, ฉันเป็นเหมือนนาย) คือประโยคทักทายที่แฝงไปด้วยความหมาย และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เมื่อไซมอนได้สมัครแอ็กเคานต์นามแฝงของตัวเองอย่าง ‘Jacques’ เพื่อพูดคุยกับ ‘Blue’ แอ็กเคานต์นิรนามท่ีประกาศว่าตัวตนว่าเป็นเกย์บนเว็บไซต์กอสซิปของโรงเรียน จุดเริ่มต้นการพูดคุยผ่านการพิมพ์อะไรง่าย ๆ อย่างการแลกเปลี่ยนเรื่องราว ก่อเกิดเป็นความรักที่ตัวไซมอนเองก็ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมชั้นนิรนามอย่าง Blue เป็นใคร

สิ่งที่ Love, Simon สื่อออกมาได้อย่างดีเยี่ยมคือการซื่อสัตย์กับตนเอง และการใช้ความกล้าที่จะแสดงออกมา หลายครั้งที่เรามักจะเห็นว่าการเปิดเผยตัวตนหรือ coming out มักจะมาพร้อมกับฉากดราม่า นั่นเพราะกรอบสังคงยังคงสร้างความเจ็บปวดในการเป็นเพศที่สาม ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายใจ ความคาดหวัง และความเปลี่ยนแปลง ซึ่งในความเป็นจริง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยตัวตนเมื่อพร้อม ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความรักที่ยิ่งใหญ่โดยไม่จำกัดบรรทัดฐานเพียงแค่ชายหญิง เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะรัก และเรามีสิทธิ์ที่จะเป็นในโลกที่หลากหลายนี้

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/hZXWm-9tJT4

The Half of It รักครึ่ง ๆ กลาง ๆ (2020)

“ความรักไม่ใช่การอดทน เมตตา และถ่อมตน ความรักคือความยุ่งเหยิง เลวร้าย เห็นแก่ตัว และกล้าหาญ มันไม่ใช่การตามหาอีกครึ่งหนึ่งของชีวิต แต่มันอยู่ที่ความพยายาม การไขว่คว้า และความล้มเหลว”

The Half of It รักครึ่ง ๆ กลาง ๆ ภาพยนตร์ต้นฉบับจาก Netflix กำกับโดยผู้กำกับหญิง อลิซ อู๋ อเมริกันเชื้อสายไต้หวัน ที่เคยสร้างชื่อจากผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Saving Face หาพ่อใหม่ให้แม่ของฉัน ในปี 2005 โดย The Half of It ได้คว้ารางวัล Best U.S. Narrative Feature ในเทศกาลภาพยนตร์ Tribeca Film Festival เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เรื่องราวเล่าถึง เอลลี่ ชู เด็กสาวชาวอเมริกันเชื้อสายจีนวัย 17 ปี ที่ใช้สมองอันชาญฉลาดของตัวเองในการรับจ้างเขียนรายงานส่งอาจารย์ในโรงเรียนไฮสคูล เพื่อเป็นรายได้จุนเจือเธอกับพ่อที่เป็นพนักงานประจำสถานีรถไฟเล็ก ๆ ในเมืองที่วันหนึ่งมีรถไฟผ่านเพียงแค่สองครั้ง ทว่าวันหนึ่ง พอล เด็กหนุ่มนักกีฬาธรรมดา ได้มาจ้างให้เอลลี่เขียนจดหมายสารภาพรักเพื่อที่จะส่งไปให้ แอสเตอร์ ดาวโรงเรียนที่ทั้งสวยและเพอร์เฟกต์ ถึงแม้ว่าเอลลี่จะยอมช่วยเพราะเห็นแก่รายได้ในคราแรก แต่มิตรภาพระหว่างเอลลี่กับพอลก็มีเพิ่มขึ้น รวมไปถึงเส้นขนานระหว่างความรักของเอลลี่กับแอสเตอร์ที่ก่อตัวขึ้นมา

ภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกได้ว่าถ่ายถอดออกมาในมุมมองของ อลิซ อู๋ อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะตัวเธอเป็นเลสเบี้ยนที่เติบโตมาในสังคมจีน-อเมริกัน เหมือนกับตัวละคร เอลลี่ ชู อย่างไม่ผิดเพี้ยน เห็นได้จากการถ่ายทอดเรื่องราวในมุมมองของคนเอเชียในสังคมอเมริกันที่มักจะถูกตราหน้าว่าฉลาดแต่ไม่น่าเป็นมิตร สันโดด และแปลกประหลาด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ  และเนื้อเรื่องก็จะชวนและพาเราไปทำความเข้าใจความรู้สึกในช่วงเวลาหนึ่งของสามตัวละครหลักอย่าง เอลลี่ พอล แอสเตอร์ และหาคำตอบอีกเสี้ยวหนึ่งไปพร้อมกับการ coming of age ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/ZJYnyl3OPk0

Call Me by Your Name เอ่ยชื่อคือคำรัก (2017)

“Call me by your name, and I’ll call you by mine.”

Call Me by Your Name เอ่ยชื่อคือคำรัก ภาพยนตร์กระแสแรงที่กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน รวมไปถึงได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์เมื่อปี 2018 อีกด้วย โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายโรแมนติกของ อังเดร เอซิแมน ผ่านฝีมือการกำกับของลูกา กัวดาญิโน และถ่ายทอดออกมาผ่านมุมมองกล้องฟิล์ม 35 มม. โดยฝีมือของผู้กำกับภาพชาวไทย สยมภู มุกพร้อมดี

เรื่องราวเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของอิตาลีเมื่อปี 1983 เมื่อบ้านของ เอลิโอ เด็กหนุ่มวัย 17 ปี เชื้อสายอเมริกันอิตาเลียน-ยิว ต้องเปิดรับแขกนักศึกษาชาวอเมริกันวัย 24 ปี อย่าง โอลิเวอร์ เพื่อมาเป็นผู้ช่วยในงานวิจัยของพ่อเป็นเวลา 6 สัปดาห์ แลกกับการที่จะช่วยดูแลและปรับแก้ไขวิทยานิพนธ์ให้สมบูรณ์ในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

“Call me by your name, and I’ll call you by mine.” (เรียกผมด้วยชื่อของคุณ และผมจะเรียกคุณด้วยชื่อของผม) เป็นหนึ่งในประโยคเด็ดของเรื่องที่ชวนให้สับสนแต่เต็มไปด้วยความรักและถวิลหาเป็นอย่างมาก ยกคำอธิบายจากปรัชญากรีกที่อริสโตเติลได้บันทึกคำสอนของโสกราตีสเอาไว้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์นั้นถูกสร้างมาให้มี สี่แขน สี่ขา หนึ่งศีรษะ สองใบหน้า ก่อนจะถูกจับแยกออกจากกัน และตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตัวเองให้เจอ ดังนั้นการเรียกชื่อแทนอีกฝ่ายด้วยชื่อของตัวเอง จึงเป็นการสื่อถึงการเป็นครึ่งหนึ่งในชีวิตและจิตวิญญาณของกันและกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดออกมาได้ดีคือจังหวะการดำเนินเรื่องที่เป็นธรรมชาติ มีโทนอารมณ์ที่หลากหลาก เริ่มด้วยเจือปนกับความอยากรู้อยากเห็นและความสับสนในการค้นหาตัวเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไปจนถึงความร้อนแรง ความหลงใหลที่แสนละมุน รวมถึงความงดงามขององค์ประกอบรวมทั้งภาพ ดนตรี และตัวละคร แฝงมุมมองในด้านความรักและความเข้าใจของคนในครอบครัว ปรุงแต่งออกมาให้มีสุนทรียภาพที่น่าประทับใจจนเปรียบเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/ODkicyYrMwA

Carol รักเธอสุดหัวใจ (2015)

“ทุกอย่างหมุนเวียนมาบรรจบกัน แล้วเมื่อถึงเวลานั้น ฉันอยากให้เธอหวนรำลึกถึงฉัน”

Carol แครอล รักเธอสุดหัวใจ ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนิยาย The Price of Salt ที่วางขายในปี 1952 บรรจงแต่งโดย แพตทริเซีย ไฮสมิธ ในนามปากกา แคลร์ มอร์แกน โดยในฉบับภาพยนตร์ที่ได้ผู้กำกับอย่าง ท็อดด์ เฮย์เนส มาถ่ายทอดผลงานจนสามารถส่งภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 5 สาขา และงานออสการ์มากถึง 6 สาขา

เรื่องราวเล่าถึงความรักต้องห้ามในกรุงนิวยอร์คยุค 1950 เป็นยุคที่แน่นอนว่าสังคมยังไม่เปิดกว้างและยอมรับวิถีความรักของคนเพศเดียวกัน แครอล เป็นหญิงสาวสายสังคมที่แต่งงานแล้ว และกำลังจะหย่า ได้พบกับ เทเรซ พนักงานสาวประจำห้างสรรพสินค้าโดยบังเอิญระหว่างที่เธอหาซื้อของขวัญให้กับลูกสาว ถึงแม้ว่าตัวของเทเรซจะมีแฟนหนุ่มอยู่แล้ว แต่นั่นก็ยากที่จะละสายตาจากแครอล นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่สังคมไม่เข้าใจของเธอทั้งสองคน

เพราะว่าตัวบทของภาพยนตร์เล่าถึงยุค 50s ที่ผู้คนในสังคมยังไม่เปิดรับ same-sex relationship หรือแม้กระทั่งตัวของผู้หญิงในยุคนั้นเองก็ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมหรือเทียบเท่าผู้ชาย เนื้อเรื่องจึงพยายามสอดแทรกรายละเอียดย่อย ๆ ที่สะท้อนรูปแบบความคิดและสังคมในยุคสมัยนั้นออกมาได้อย่างแนบเนียน อาทิ sexual stereotype ที่สังคมปลูกฝังมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่อย่างการที่เป็นผู้หญิงจะต้องเล่นตุ๊กตา หรือการที่ถึงแม้ตัวแครอลและเทเรสจะมีสถานะหรือบทบาทแตกต่างกันมากขนาดไหน แต่สิ่งที่ทั้งสองคนเหมือนกันนั่นก็คือ การที่เธอทั้งคู่เป็นเหมือนตุ๊กตา หรือเครื่องประดับ ให้กับสามีและแฟน เป็นเพียงตัวประกอบในสังคมชายเป็นใหญ่เท่านั้น

นอกจากนี้ การดำเนินเนื้อเรื่องความสัมพันธ์ของแครอลและเทเรซอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังชวนให้เราตั้งตาดูความเติบโตและการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต่อ ยิ่งเอ่ยชื่อนักแสดงหลักว่าเป็น เคต แบลนเชตต์ และรูนีย์ มาร่า สองนักแสดงที่ฝากผลงานการแสดงไว้บนเวทีระดับโลกมากมายยิ่งไม่แปลกใจเลย อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้มีองค์ประกอบภาพสไตล์วินเทจที่สวยงามมาก เพราะเอ็ดเวิร์ด ลาคแมน ผู้กำกับภาพยังเลือกใช้กล้องซุปเปอร์ฟิล์ม 16 มม. ในการกำกับผลงานให้ออกมาตรงใจผู้คนนับไม่ถ้วน

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/8jKKnhgI30o

The Imitation Game ถอดรหัส อัจฉริยะพลิกโลก (2014)

“ในบางครั้งคนที่ไม่มีใครคาดคิด ก็อาจจะสามารถทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน”

The Imitation Game ถอดรหัส อัจฉริยะพลิกโลก ภาพยนตร์ผลงานผู้กำกับฝีมือดี มอร์เท่น ทิลดัม โดยดัดแปลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ อลัน ทัวริง วีรบุรุษสงครามที่มีส่วนในการไขรหัสลับของฝ่ายเยอรมันนาซีอย่าง อีนิกม่า และพลิกกลับมาให้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2

เรื่องราวเล่าถึงยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่ออังกฤษกำลังจะแพ้สงครามกับเยอรมมี  หนทางเดียวในการที่จะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ได้ คือต้องอาศัยความอัจฉริยะของนักคณิตศาสตร์ระดับโลกอย่าง อลัน ทัวริง ในการแกะรหัสอีนิกม่าของฝ่ายนาซี แต่แล้วอะไรหลายอย่างกลับตาลปัตร เขาถูกหมายหัวและกลายเป็นอาชญากร เพียงเพราะสาเหตุที่ว่าเขามีรสนิยมรักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามและผิดกฎหมายในประเทศอังกฤษ

ภาพยนตร์ถ่ายทอดเรื่องราวความอัจฉริยะของ อลัน ในการแก้ปริศนา ถอดรหัส และการประดิษฐ์คิดค้น มีการเน้นถ่ายทอดลักษณะนิสัย ชีวิตส่วนตัวของเขาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยหนุ่ม อีกทั้งยังสามารถหยิบประเด็นการเป็นกลุ่มคนเพศที่สาม ความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกีดกันทางเพศ หรือ gender stereotypes เป็นประเด็นที่ดราม่ามากในสมัยนั้นมาเล่าในเชิงกระชากอารมณ์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีการแฝงเรื่องเพศให้กับสตรี โดยมีการดัดแปลงตัวละคร โจน คลาร์ก ที่ตัวจริงเป็นเพียงหญิงสาวแสนธรรมดามากลายเป็นตัวละครที่มีความพิเศษและโดดเด่นในเรื่อง เป็นตัวแทนผู้หญิงในสมัยที่ผู้หญิงยังถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านการทำงาน และไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมให้ทำงานในตำแหน่งสำคัญทัดเทียมผู้ชาย

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/F1VZM4aqisc

Let It Snow อุ่นรักฤดูหนาว (2019)

“ฉันอยากจะเป็นเหมือนเธอ เธอเปิดเผยตัวตนแล้ว และเธอมั่นใจ เธอเท่จนน่ากลัวเลยล่ะ”

Let it Snow อุ่นรักฤดูหนาว ภาพยนตร์ต้นฉบับจาก Netflix แนวคริสต์มาสโรแมนติกคอเมดี้ ที่อ้างอิงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันที่รวมรวมเรื่องราวความรัก​ไว้ในเรื่องเดียวกัน เขียนโดย จอห์น กรีน มอรีน จอห์นสัน และ ลอเร็น ไมราเคิล ผ่านการกำกับภาพยนตร์โดย ลุค​ สเนลลิน

เรื่องราวเล่าถึงเมืองเล็ก ๆ เต็มไปด้วยหิมะที่แสนจะเงียบเหงา เมื่อพายุได้พัดเข้ามาในวันคริสต์มาส เรื่องราวความรักในรูปแบบต่าง ๆ ของเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งก็กำลังจะเปลี่ยนไป

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงเพิ่มเติมจากฉบับนวนิยายคือการหยิบยกเรื่องของ ดอร์รี่ เด็กสาวที่ทำงานในร้าน Waffle Town สถานที่ศูนย์กลางของเรื่อง กับ เคอร์รี่ หนึ่งในเชียร์ลีดเดอร์สาวตัวจี๊ดที่นั่งสังสรรค์อยู่กับเพื่อน ๆ ในร้าน Waffle Town มาสานต่อให้เป็นเรื่องราวความรักรูปแบบเควียร์ (Queer) โดยทั้งคู่ต่างชอบพอกัน ทว่าสิ่งที่เคอร์รี่ปิดบังเอาไว้คือเธอไม่ได้เปิดเผยสถานะ หรือ coming out ว่าเธอมีรสนิยมชอบพออย่างไรกับเพื่อนในกลุ่ม นั่นทำให้ดอร์รี่ที่ทั้งเปิดเผยสถานะชัดเจน มีความมั่นใจ เมื่อเข้าหาเคอร์รี่ท่ามกลางเพื่อน ๆ ของเธอกลับถูกเมินเฉย และนั่นก็สร้างความสับสนในใจให้กับเธอทั้งคู่

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือนำความรักของเควียร์เพิ่มเข้ามาในเนื้อเรื่อง ซึ่งตัวผู้เขียนนวนิยายหลักเองก็มองว่ามันน่าพึงพอใจที่จะให้ดอร์รี่และเคอร์รี่เป็นตัวแทนวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะสังคม LGBTQ ยังคงต้องการแรงสนับสนุน ให้กำลังใจ เพื่อที่จะเอาชนะคำวิจารณ์จากผู้อื่น

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/3Hy_n7OlvrM

3 Generations / About Ray เรื่องของเรย์(2016)

“ฉันเป็นพี่ชายของเธอ ใช่ ประมาณนั้น เพราะว่าฉันเกิดในร่างของผู้หญิง”

3 Generations หรืออีกชื่อหนึ่ง About Ray เรื่องของเรย์ ภาพยนตร์ดราม่าที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ชายข้ามเพศที่นำแสดงโดย แอล แฟนนิ้ง นาโอมิ วัตต์ และซูซาน ซารันดอน ผ่านการกำกับของ เกบี เดลลาล ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเลือกเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา จนเป็นที่เลื่องลือจากผู้ชมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการแสดง

เรื่องราวเล่าถึง เรโมน่า เด็กสาวที่ค้นพบตัวเองว่าตัวเองคือผู้ชายที่อยู่ในร่างผู้หญิง และตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ชายอย่างสมบูรณ์ โดยใช้ชื่อ เรย์ แต่ก่อนที่จะเข้ารับการแปลงเพศ แม็กกี้ ผู้เป็นแม่จะต้องกลับไปหาอดีตสามี หรือพ่อแท้ ๆ ของเรย์ เพื่อให้เขายินยอมให้เรย์สามารถเปลี่ยนเพศตามกฎหมายได้ ส่วนดอลลี่ ยายของเรย์ซึ่งเป็นเลสเบี้ยน ก็มีความรู้สึกยากที่จะยอมรับได้ว่าเรย์จะกลายเป็นหลานชายของเธอแทน

SS120514TG_0326.NEF

การดำเนินเรื่องที่มีศูนย์กลางคือเรย์ ห้อมล้อมด้วยแม่และยาย สามตัวละครนี้จะพาเราไปพบกับมุมมองความคิดของคนในแต่ละยุค ช่วงวัยที่แตกต่างกัน นี่คือภาพยนตร์ครอบครัวที่แต่ละคนจะต้องเผชิญหน้ากับตัวตนของตัวเองเพื่อเรียนรู้ที่จะยอมรับ ทำความเข้าใจสิ่งที่เรย์กำลังเผชิญ และพิสูจน์ความแข็งแกร่งในฐานะครอบครัว เพื่อค้นพบการยอมรับและการเข้าใจซึ่งกันและกันในท้ายที่สุด

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/fnmEyfdzv_4

Moonlight มูนไลท์ (2016)

“เมื่อถึงจุดหนึ่ง นายต้องตัดสินใจดี ๆ ว่านายอยากโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหน อย่าปล่อยให้ใครมาตัดสินใจแทนนายเด็ดขาด”

Moonlight มูนไลท์ ภาพยนตร์ดราม่าที่ดัดแปลงมาจากบทละครของ ทาเรลล์ อัลวิน แม็คเครนี่ย์ เรื่อง In Moonlight Black Boys Look Blue โดย Moonlight ถือว่าเป็นสุดยอดภาพยนตร์ที่สามารถคว้ารางวัล “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” บนเวทีออสการ์ปี 2017 มาครองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ผิวดำเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ อีกทั้งได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ และติดอันดับหนังแห่งปีของสมาคมนักวิจารณ์ทั่วโลก รวมผู้กำกับ แบร์รี่ เจนกิ้นส์ ก็ยังได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้กำกับผิวดำคนแรกที่ได้รางวัล “ผู้กำกับยอดเยี่ยม” จากสถาบันนักวิจารณ์แห่งชาติอเมริกา

เรื่องราวเล่าถึง ไชรอน เด็กหนุ่มผิวดำที่ต้องดิ้นรนกับชีวิตที่เติบโตมาพร้อมกับการถูกรังแก สังคมอันธพาล และยาเสพติด และในขณะที่ความรู้สึกส่วนลึกของเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังคิดเกินเลยกับเพื่อนสนิทชายที่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก

ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของไชรอนโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ใช้นักแสดง 3 คนมารับบทเดียวกันในแต่ละวัย เพื่อเล่าพัฒนาการตามวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นเล่าถึงคนชายขอบที่ไม่ได้รับการดูแล เป็นชายผิวดำที่เป็นชนชั้นล่าง อีกทั้งยังเป็นเกย์ ถึงแม้ดูเผิน ๆ Moonlight จะมีเนื้อหาและประเด็นที่ค่อนข้างหนัก ทว่าตัวบทสามารถเล่าออกมาในโทนที่นุ่มนวล ไม่ได้เน้นประเด็นเรื่องผิวสีหรือเรื่องการเป็นเกย์เท่านั้น แต่ยังสำคัญกับวิถีการเติบโตและการเลือกทางเดินชีวิตของมนุษย์ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/KHx92cojUw8

The Danish Girl เดอะ เดนนิช เกิร์ล (2015)

“เมื่อคืนฉันฝันงดงามมากเลยเกอร์ด้า ฉันฝันว่าฉันเป็นทารกตัวน้อย ๆ แม่อุ้มฉันไว้ แล้วเรียกชื่อฉัน แม่เรียกฉันว่า ลิลี่…”

The Danish Girl เดอะ เดนนิช เกิร์ล ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงเกี่ยวกับชีวประวัติของ ไอนาร์ เวเกเนอร์ บุรุษคนแรกของโลกที่แปลงเพศกลายเป็นสุภาพสตรี หรือผู้ชายข้ามเพศ กำกับโดย ทอม ฮูเปอร์ โดยดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันที่เขียนโดย เดวิด อีเบอร์ชอฟฟ์

เรื่องราวเล่าย้อนกลับไปในปี 1926 ไอนาร์ และเกอร์ด้า เวเนเกอร์ สามีภรรยาจิตรกรวาดภาพชาวเดนมาร์กที่อยู่กินมาด้วยกันเป็นเวลา 6 ปี จะกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง เกอร์ด้าขอร้องให้ไอนาร์ สามีของเธอช่วยสวมเสื้อผ้าสตรีเพื่อเป็นนางแบบให้กับภาพวาดของเธอ และเล่นสนุกด้วยการให้เขาปลอมตัวเป็น ลิลี่ เอลเบ และแกล้งบอกว่าเป็นญาติของตัวเอง ไอนาร์ทำตามโดยไม่อิดออด และมันกลายเป็นต้นกำเนิดที่จุดประกายให้เขาค้นพบอีกด้านหนึ่งของตัวเขาเองที่ถูกซ่อนอยู่ข้างในมาเนิ่นนาน

AppleMark

ถึงแม้ว่านักแสดงหลักที่รับบทไอนาร์, ลิลี่ อย่าง เอ็ดดี้ เรดเมย์ จะเป็น cisgender (คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศตรงกับเพศสภาพ) ทว่าฝีมือการแสดงไม่ว่าจะเป็นสีหน้า แววตา น้ำเสียง มันน่าทึ่งมากที่เขาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละครออกมาอย่างดีเยี่ยม แต่ที่น่าชื่นชมไม่แพ้กันคือบทบาทการแสดงของ อลิเซีย ลิกันเดอร์ ที่รับบทเกอร์ด้า ภรรยาผู้แบกรับหลายสิ่งหลายอย่างในวันที่สามีของตัวเองเปลี่ยนไป เกอร์ด้าพยายามเอาสามีคนเดิมของตนกลับมา แต่เมื่อรู้ว่ามันเกินกำลัง เธอก็แข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือและเข้าใจให้เขาได้เป็นในสิ่งที่เขาต้องการ เข้าใจในคนรัก และอยู่เคียงข้างจนถึงวาระสุดท้าย

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/jHABPL5Bni0

Blue Is The Warmest Color วันที่หัวใจกล้ารัก (2013)

“ความรักมันไม่จำกัดเพศหรอกนะ เธอรักใครก็ได้ที่เธอรัก”

Blue Is The Warmest Color วันที่หัวใจกล้ารัก ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายภาพชื่อดัง Le bleu est une couleur chaude (Blue Is the Warmest Color) ของ จูลี มาโรห์ ร่วมทุนสร้างระหว่างประเทศฝรั่งเศส สเปน และเบลเยี่ยม ผ่านการเขียนบทและกำกับโดย แอบเดลลาทิฟ เคชิช จนได้รับรางวัลปาล์มทอง เทศกาลหลังเมืองคานส์ 2013

เรื่องราวเล่าถึงความรักครั้งแรกของ อเดล เด็กสาวไฮสคูลอายุ 15 ปี ที่ได้สัมผัสและรู้จักความรู้สึกที่เรียกว่ารักจริง ๆ ตอนที่เธอได้เจอกับ เอ็มม่า นักศึกษาสาวลุคห้าว ย้อมผมสีฟ้า หลงไหลในงานศิลปะ ความรู้สึกที่ปะทุขึ้นอย่างเร่าร้อน เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน แรงปรารถนา นำพาให้ทั้งคู่ดำเนินไปท่ามกลางช่วงวัยและความคิดที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้น

ตัวบทภาพยนตร์ค่อย ๆ ดึงอารมณ์ของผู้ชมจากน้อยไปมาก ได้เห็นพัฒนาการของความสัมพันธ์ การแบกรับอะไรบางอย่างไว้ในใจ การก้าวผ่านช่วงวัย (coming of age) และสังคมแวดล้อมของทั้งคู่ มาจนถึงความแตกต่างและความไม่ลงรอยกัน เปรียบเหมือนดอกไม้ที่แตกหน่อ พลิบาน โรยรา ส่วนฉากที่น่าสนใจคือฉากที่อเดลและเอ็มม่าได้มาร่วมเดินขบวนพาเหรดเกย์ในกรุงปารีส ซึ่งคนที่มาร่วมงานต่างเป็นคนที่ต้องการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังภาพยนตร์เรื่องนี้กลับถูกตีแผ่และเป็นเครื่องการันตีความเจ็บปวดของสองสาวนักแสดงหลัก อย่าง อเดล เอ็กโคปูลอส และ ลีอา เซย์ดูซ์ ที่ได้ออกมาเผยว่าพวกเธอโดนผู้กำกับละเมิดสิทธิด้วยการสั่งให้ทั้งคู่ถ่ายฉากเลิฟซีนร่วมเพศซ้ำ ๆ ไปมา เป็นเวลากว่า 10 วัน โดยมีทีมงานผู้ชายอยู่เต็มห้อง อีกทั้งยังมีพฤติกรรมข่มขู่และสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งฉากนี้ได้ปรากฏอยู่ตัวภาพยนตร์ยาวถึง 10 นาที ถูกกำหนดให้ออกมาผ่านมุมมองของผู้ชาย (male gaze) ราวกับสื่อลามกแฟนตาซีที่ถูกทำออกมาเพื่อสนองความบันเทิงของผู้กำกับชาย พอรู้ที่มาและเบื้องหลังภาพยนตร์แบบนี้ หลายคนก็อาจจะไม่อยากจะดูเลย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในเรื่องได้มอบมุมมองความรักที่ทำให้เราเติบโตเช่นเดียวกัน (แนะนำให้กดข้ามฉากนี้เพื่อลดความกระอักกระอ่วนใจ)

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/Qev0qAjS29g

Beach Rats บีช แรทส์ (2017)

“ผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร”

Beach Rats บีช แรทส์ ภาพยนตร์ดราม่าอเมริกัน แนวสำรวจตัวตนและขับเคลื่อนทางเพศ กำกับโดย เอลิซา ฮิตต์แมน และเคยคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ Sundance

เรื่องราวเล่าถึง แฟรงค์ ชายหนุ่มที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในบรู๊กลิน โดยคำว่า Beach Rat เป็นคำที่ใช้เรียกคนว่างงานที่วัน ๆ เอาแต่เที่ยวเตร่อยู่ตามชายหาด ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งตัวของแฟรงค์ เขาคือ beach rat ตัวจริง ทั้งไม่เรียนหนังสือ ไม่ทำงาน เที่ยวกับเพื่อนฝูงตามย่านบรู๊กลินไปวัน ๆ จีบสาว เล่นกีฬา ลงทะเล สูบกัญชา ไม่ก็เมามายอยู่ในผับ กิจวัตรของเขาวนเวียนอยู่เท่านี้ หากปัญหาใหญ่ที่ถาโถมในใจคือเขาไม่รู้ว่าเพศสภาพของตัวเองคืออะไรกันแน่

“I don’t really know what I like” (ผมเองก็ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอะไร) คือความสับสนของตัวแฟรงค์ภายในเรื่อง เขาเป็นผู้ชายที่จีบสาวเป็น มีแฟนสาวเป็นตัวเป็นตน และในขณะเดียวกัน แฟรงค์ก็ยังมีประสบการณ์และสนใจผู้ชาย นัดเจอกับเกย์ในเว็บไซต์หาคู่ที่เขาชอบเข้าไปดู ทว่าเขาก็ยังไม่อาจยอมรับได้อย่างชัดเจนว่าตัวเองเป็นเกย์

บทของภาพยนตร์ทำให้เห้นได้อย่างชัดเจนเลยว่า ตัวแปรหลัก ๆ ที่ทำให้แฟรงค์สับสนได้แก่ สภาพแวดล้อม สังคม เพื่อนรอบตัว และครอบครัว ทุกอย่างหล่อหลอมตัวตนของเขาให้ยากที่จะตัดสินใจว่าตัวเองเป็นอะไร ความคาดหวังของครอบครัวที่มีต่อลูกผู้ชาย การยอมรับภายในกลุ่มเพื่อนที่คบ ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เสรีมากขนาดไหน แต่สถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะถูกความกดดันในสังคมหล่นทับและความสับสนในใจยังคงมีให้เห็นได้เสมอ ซึ่งมันเป็นช่วงของเควียร์ที่จะต้องค้นหาและยอมรับตัวเองให้ได้

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/2SuRX_Y5fII

The Way He Looks มอง เห็น รัก (2014)

“พวกเราควรที่จะพูดในสิ่งที่เรารู้สึกออกมาโดยที่ไม่ต้องเก็บมันเอาไว้”

The Way He Looks มอง เห็น รัก ภาพยนตร์แนวดราม่าโรแมนติกที่พัฒนามาจากหนังสั้นเมื่อปี 2010 อย่างเรื่อง I Don’t Want to Go Back Alone ผ่านฝีมือการกำกับของ แดเนียล ริเบย์โร ซึ่งแดเนียลได้พูดถึงความคิดริเริ่มในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า “เพศวิถีของคนเรามักจะเกี่ยวข้องกับการมองเห็น พูดง่าย ๆ ว่าเราต้องเห็นคน ๆ หนึ่งเสียก่อน ถึงจะรู้สึกสนใจหรือดึงดูดเข้าหาคน ๆ นั้น การเลือกให้คาแรกเตอร์หลักของเรื่องเป็นคนตาบอดจึงทำให้เกิดคำถามที่น่าขบคิดขึ้นมาว่า การที่เราจะชอบเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน มันเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเรา หรือมันมาจากภายนอกกันแน่”

เรื่องราวเล่าถึง เลโอนาร์โด เด็กหนุ่มผู้บกพร่องทางการมองเห็นโดยกำเนิด มีเพื่อนสนิทสาวหนึ่งคนอย่าง จีโอวานา ที่นอกจากจะเป็นเพื่อนสนิทที่สนิทและเข้าใจมากที่สุดแล้ว เธอยังเป็นผู้ปกป้อง เป็นนำทาง และมีใจให้กับเลโอนาร์โดอีกด้วย ทว่าวันหนึ่ง เมื่อ กาเบรียล นักเรียนชายที่ย้ายเข้ามาใหม่และได้เข้ามาทำความรู้จักกับทั้งสองคน นานวันเขาก็ทำให้ความรู้สึกของเลโอนาร์โดไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

บรรยากาศของภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้เน้นไปที่เรื่องของการสะท้อนสังคมแต่เป็นการเติมเต็มในส่วนที่ขาด สื่อถึงความรักบริสุทธิ์อย่างจริงใจ และสวยงาม ระหว่างคนสามคน คนหนึ่งเปรียบเหมือนเรือที่ลอยคออยู่ท่ามกลางทะเลยามค่ำคืน คนหนึ่งเป็นแสงไฟคอยชี้นำทิศทางที่ทั้งมุ่งมั่น อบอุ่น และอีกคนหนึ่งเป็นสายลมโชยไปมาอยู่เคียงข้าง พร้อมที่จะพาเรือไปพบกับจุดหมายใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน ซึ่งจุดนี้ผู้กำกับอย่าง แดเนียล สามารถถ่ายถอดเรื่องราวนี้ออกมาได้ดีอย่างที่พูดเอาไว้

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/7t1La9hArkQ

The Handmaiden ล้วงเล่ห์ลวงรัก (2016)

“ไม่มีผู้หญิงคนไหนมีความสุข เมื่อถูกใช้กำลังครอบครอง”

The Handmaiden ล้วงเล่ห์ลวงรัก ภาพยนตร์ดราม่าสัญชาติเกาหลีที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนวนิยาย Fingersmith (เล่ห์รักนักล้วง) โดยมีการดัดแปลงนวนิยายจากเหตุการณ์ในกรุงลอนดอนช่วงศตวรรษที่ 19 มาเป็นประเทศเกาหลีช่วงปี 1930 ยุคที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมญี่ปุ่นในฉบับภาพยนตร์ ผ่านผลงานการกำกับของ ปาร์คชานวุค

เรื่องราวเล่าถึง ซุคฮี เด็กสาวที่เติบโตมากับการเป็นนักล้วงกระเป๋า โดยเธอได้รับคำลั่งจาก ฟูจิวาระ หัวหน้ากลุ่มมิจฉาชีพให้เธอไปรับหน้าที่เป็นสาวใช้ของ ฮิเดโกะ หญิงสาวญี่ปุ่นสูงศักดิ์ผู้มีสมบัติมหาศาล เพื่อล่อลวงและสนับสนุนให้ฮิเดโกะตกหลุมรักเขาให้ได้เพื่อที่จะฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เพียงคนเดียว ซึ่งในขณะเดียวกันคุณลุงของฮิเดโกะอย่าง โคซุกิ เองก็หวังจะได้แต่งงานกับเธอเช่นกัน

เนื้อหาของภาพยนตร์ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเหมือนในนวนิยายเดิม ได้แก่ ส่วนแรกเล่าถึงมุมมองความเป็นอยู่ของซุคฮี จนเธอได้เข้ามาเป็นรับหน้าที่เป็นสาวรับใช้ของฮิเดโกะ ส่วนที่สองเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตของฮิเดโกะที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าเธอกับคุณลุงโคซุกิ ไปจนถึงความสัมพันธ์ลับที่กำลังค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นของฮิเดโกะกับซุคฮี และส่วนสรุปที่เต็มไปด้วยการใช้กลอุบายร้อยเล่ห์ในการเอาชนะอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ที่แสนจะจอมปลอม

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดมุมมองออกมาให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยรวมงานภาพที่ใช้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก มีการเลือกใช้เลนส์ anamorphic มุมกว้างในการครอบคลุมภาพในสถานที่ปิดทึบให้ดูกว้างขวาง และยังจัดคฤหาสน์ให้ถูกปกคลุมไปด้วยบรรยากาศที่ความอึดอัด น่าค้นหาและชวนติดตาม

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/-tD6nHXChus

Gayby Baby ครอบครัวของฉัน (2015)

“คนที่เลี้ยงดูคุณมา และทำให้คุณเป็นคุณอย่างทุกวันนี้ คือครอบครัวของคุณ”

Gayby Baby ครอบครัวของฉัน ภาพยนตร์สารคดีครอบครัว ผลงานกำกับโดย มายา นิวเวลล์ ซึ่ง Gayby เป็นคำที่ไว้ใช้เรียกลูก ๆ ของคู่รัก LGTBQ

เรื่องราวเล่าถึงเด็ก 4 คนจาก 4 ครอบครัว อีโบนี่ กัส แกรห์ม และแมตต์ เด็กชายเด็กหญิงวัย 11 – 12 ปี ที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็น LGTB ความสงสัย ความสับสนในหัวใจของเด็ก ๆ ในวันที่ผู้คนมากมายถกเถียงกันว่าครอบครัวต้องประกอบด้วยชายหญิงเท่านั้นหรือไม่ คู่รักเพศเดียวกันไม่มีวันเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ อะไรกันแน่คือนิยามที่แท้จริงของคำว่าครอบครัว สารคดีจะพาเราไปได้ยินเด็ก ๆ ผู้ยืนอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเหล่านี้ และเปล่งความคิดของพวกเขาผ่านเสียงของตัวเขาเอง

ภาพยนตร์เสนอมุมมองความรักของ 4 ครอบครัวที่แตกต่างจากครอบครัวปกติทั่วไป ครอบครัวของอีโบนี่ มีแม่ที่เป็นเลสเบี้ยน การเผชิญหน้ากับความอึดใจกับเพื่อนรอบข้างทำให้เด็กหญิงตั้งมั่นที่จะเรียนร้องเพลงอย่างหนักเพื่อสอบเข้าอีกโรงเรียนที่อาจเปิดรับสังคม LGBT มากกว่า ครอบครัวของกัส เด็กชายที่มีแม่เป็นเลสเบี้ยนเช่นกัน เขากำลังอยู่ในวัยที่ชื่นชอบการใช้พลัง และชื่นชอบมวยปล้ำ ซึ่งแม่ ๆ มองความรุนแรงจะทำให้เขาเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวหรือไม่

ครอบครัวของแกรห์ม เด็กชายที่พูดไม่ได้เพราะครอบครัวที่อุปถัมภ์เขาก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนภาษาให้ เมื่อเขาได้มาอยู่กับครอบครัวใหม่ที่มีพ่อเป็นเกย์ เขาต้องเรียน พูด อ่านภาษาอังกฤษ และยังต้องปรับตัวรับสังคมใหม่ อย่าไรก็ตามแกรห์มก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความรัก และครอบครัวของแมตต์ เด็กชายที่อาศัยอยู่กับแม่สองคน แม่ของเขาศรัทธาในศาสนาแต่โบสถ์กลับบอกว่าแม่ของเขาทำผิดต่อพระเจ้า เขาจึงตั้งคำถามและสงสัยในการรักเพศเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาทั้งเรื่องทำให้ผู้ชมได้เห็นมุมมองและความคิดของเด็กทั้ง 4 คน ที่เฉลียวฉลาด โตกว่าวัย และเป็นตัวของตัวเอง

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/j0uT81suDYQ

A Fantastic woman แด่ผู้ชายที่รัก (2017)

“การบอกลาคนรักเมื่อเขาตายเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนไม่ใช่เหรอ”

A Fantastic woman แด่ผู้ชายที่รัก ภาพยนตร์ชิลีเจ้าของรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศปี 2018 ที่กำกับโดย เซบาสเตียน เลลิโอ

เรื่องราวเล่าถึง มารีน่า นักร้องสาวประเภทสองผู้มีพรสวรรค์ในการร้องเพลงพบรักกับ ออลันโด หนุ่มใหญ่ที่อายุห่างกับเธอมากกว่า 20 ปี จนกระทั่งออร์แลนโด้กลับเสียชีวิตลงอย่างกระทันหันด้วยโรคร้าย ในขณะที่มารีน่าอยู่ในอาการโศกเศร้า เธอต้องเผชิญหน้ากับความเกลียดชังจากครอบครัวของออร์แลนโด และตำรวจที่สงสัยในสาเหตุการตายของเขา มารีน่าจึงต้องกัดฟันลุกขึ้นสู้ต่ออุปสรรคเพื่อให้เธอได้บอกลาคนรักเป็นครั้งสุดท้าย

ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถจับประเด็นความหลากหลายทางเพศมาพูดถึงในเชิงลึก และสะท้อนปัญหาอคติที่ยังคงแฝงอยู่ในสังคม และเป็นอุปสรรคต่อความรัก ถึงแม้ทุกวันนี้จะดูเหมือนว่าเพศที่สามได้รับการยอมรับแล้วก็ตาม โดยภรรยาเก่าของออร์แลนโดและลูกชายได้ทวงคืนสิทธิทุกอย่างในตัวผู้ตายไปจากเธอ รวมถึงสิทธิในการร่วมงานศพ ทำให้มารีน่ากลายเป็นตัวประหลาดในมุมมองของคนอื่น และถ่ายทอดความเจ็บปวด ความเดียวดายของผู้หญิงข้ามเพศได้อย่างมีชั้นเชิง เธอจึงต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง ว่าเธอต่อสู้มาทั้งชีวิตเพื่อที่จะเป็นผู้หญิง และเธอทำให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเธอคือผู้หญิงที่พิเศษเพียงใด

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/AoZDgByDIoA

Handsome Devil หล่อ ร้าย เพื่อนรัก (2016)

“นายใช้เวลาทั้งชีวิตที่จะเป็นใครสักคน แล้วเมื่อไหร่กันที่จะได้เป็นตัวเอง”

Handsome Devil หล่อ ร้าย เพื่อนรัก ภาพยนตร์แนว coming of age อีกเรื่อง ที่กำกับโดย จอห์น บัตเลอร์ โดยเรื่องราวเล่าถึง เน็ด เด็กหนุ่มที่เรียนในโรงเรียนประจำชายล้วนที่ทุกคนให้ความสำคัญกับกีฬารักบี้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เน็ดสนใจ เน็ดโปรดปรานดนตรีท่ามกลางยุคสมัยที่ถูกกรอบสังคมตัดสินว่าเน็ดเป็นแกะดำ และถูกเพื่อนในโรงเรียนรังแก จนกระทั่งวันหนึ่งที่ คอเนอร์ ได้ย้ายโรงเรียนเข้ามาและเป็นรูมเมตของเน็ด แม้ตอนแรกทั้งคู่จะแตกต่างกันมากเสียจนดูเข้ากันไม่ได้ แต่เมื่อได้พบเจอจุดกึ่งกลาง ความสัมพันธ์ และมิตรภาพระหว่างทั้งคู่ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

เน็ด เป็นตัวแทนของคนที่ถูกเหมารวม หรือ stereotype ว่าเป็นเกย์ เป็นตุ๊ด จากสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าจะลักษณะนิสัยที่ไม่มีความสนใจด้านกีฬา ชอบอ่านหนังสือ ชอบดนตรี ตัวผอม หลีกเลี่ยงการเป็นที่สนใจ จนตกเป็นเหยื่อของการรังแกต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวตนของเน็ดจะเป็นเกย์ แต่การที่สร้างมาตรฐานความเป็นผู้ชายขึ้นมานั้นใช่เรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่ออนุมานดูแล้วก็ไม่ต่างกับที่ทุกวันนี้ ในสังคมก็ยังคงตีตราหน้าผู้ชายที่มีลักษณะนิสัยที่แตกต่าง เป็นเพศที่สามในเชิงสร้างความเจ็บปวดและล้อเลียน

โดยรวมแล้ว Handsome Devil เป็นภาพยนตร์ที่มีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวโดยเน้นไปที่มิตรภาพที่ระหว่างเพื่อนผู้ชายและช่วงชีวิตวัยรุ่นมากกว่าเรื่องความรัก มีการดำเนินเรื่องที่กระชับ เข้าใจง่าย พร้อมทั้งยังสะท้อนถึงความกล้าที่จะเปิดเผยตัวตน การเคารพ ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และการทำลายกำแพงของเน็ดและคอร์เนอร์ผ่านเสียงดนตรี จนในที่สุดทั้งคู่ก็สามารถสร้างมิตรภาพดี ๆ ร่วมกัน

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/V6EvMq0Xwbs

Disobedience เสน่หา...ต้องห้าม (2017)

“ดูฉันสิ ฉันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว”

Disobedience เสน่หา…ต้องห้าม ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ นาโอมิ อัลเดอร์แมน ผ่านการกำกับโดย เซบาสเตียน เลลิโอ

เรื่องราวเล่าถึง โรนิท ครูชก้า ช่างภาพสาวที่เติบโตมากับครอบครัวนับถือยิวออร์โธด็อกซ์เคร่งครัดในลอนดอน และพ่อของเธอซึ่งเป็นแรบไบรู้ความลับที่เธอชอบผู้หญิง ทำให้โรนิทต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่ที่นิวยอร์ก จนกระทั่งเมื่อพ่อเสียชีวิต เธอจึงกลับมาร่วมพิธีศพที่บ้านเกิด และเพราะการกลับมาในครั้งนี้ทำให้โรนิทต้องพบกับ เอสตี้ ผู้หญิงที่เธอเคยรักสุดหัวใจ และตอนนี้ได้แต่งงานกับ โดวิท ลูกพี่ลูกน้องของเธอ แต่ทว่าจะทำอย่างไรเมื่อถ่านไฟเก่าของโรนิทกับเอสตี้นั้นกลับมาปะทุอีกครั้งแล้ว

ตัวของภาพยนตร์เน้นไปที่การถ่ายทอดบรรยากาศความเคร่งครัดของกลุ่มยิวออร์โธด็อกส์ ที่ทำให้เห็นกฏระเบียบ จารีต ประเพณี หรือ กรอบศาสนา อาทิ ผู้ชายต้องสวมหมวกคิปป้า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องสวมผ้าคลุม หรือใส่วิกผมไว้ตลอดเวลา เป็นต้น อีกทั้งคำสอนของศาสนาที่กล่าวว่าการรักเพศเดียวกันเป็นบาป กลับสร้างความเจ็บปวดที่ไม่สามารถแสดงสถานะของตัวเองออกมาได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับโรนิทที่เป็นตัวแทนของตัวละครที่อยู่นอกกรอบอย่างชัดเจน

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/PuNieEwwS8E

120 Battement Per Minute จังหวะของหัวใจเราและนาย (2017)

“เอดส์คือสงคราม มันเป็นสงครามที่คนอื่นมองไม่เห็น”

120 Battement Per Minute จังหวะของหัวใจเราและนาย ภาพยนตร์ฝีมือผู้กำกับ โรบิน คัมปิลโล ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นในเทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปี 2017

เรื่องราวเล่าถึง ปารีสในปี 1990 ที่มีผู้คนจำนวนมากล้มป่วยและเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เช่นเดียวกับในลอนดอน เบอร์ลิน และนิวยอร์ก โดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวอย่าง ACT UP หรือ AIDS Coalition to Unleash Power (กลุ่มผู้ติดเชื้อ) ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ ตื่นตัวและตระหนักถึงโรคเอดส์และเร่งหาทางจัดการปัญหานี้ให้ได้ในเร็ววัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งจับประเด็นไปที่การเคลื่อนไหวของกลุ่ม ACT UP เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและรักษาโรคเอดส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังได้การดำเนินเรื่องควบคู่ไปกับ ฌอนและนาต็อง คู่รักเกย์ที่มีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกาย ที่ต้องการจะรณรงค์ให้ป้องกันทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนและสังคมเห็นว่า โรคนี้มันเกิดได้กับทุกคน

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/q4Jgg4uUVqI

4th Man Out (2015)

“I’m Gay”

4th Man Out ภาพยนตร์อเมริกันปี 2015 ที่กำกับโดย แอนดรูว์ แนคคแมน เรื่องราวเล่าถึงกลุ่มเพื่อนผู้ชาย 4 คนที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งวันหนึ่ง ในวันเกิดครบ 24 ปีของ อดัม เขาตัดสินใจรวบรวมความกล้าและเปิดเผยสถานะกับเพื่อนอีกสามคนที่เป็นชายแท้ว่าตัวเองเป็นเกย์

ถึงแม้ว่าในช่วงแรกกลุ่มเพื่อน ๆ ของอดัมจะหยิบเรื่องพระเจ้าหรือบาปกรรมของการเป็นเพศทางเลือกเข้ามาเกี่ยวข้อง ผ่านจุดแตกหักและเปลี่ยนแปลงจนกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่เมื่อได้พยายามทำความเข้าใจและนึกถึงมิตรภาพที่สร้างร่วมกันมา ก็ทำให้พวกเขาตระหนักและยอมรับถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายตรงตามเพศสภาพของตัวเองหรือเป็นเกย์ ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติ

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/Ilt0SwJ4374

Tomboy ทอมบอย (2011)

“เธอไม่เหมือนคนอื่น”

Tomboy ทอมบอย ภาพยนตร์ดราม่าที่เขียนและกำกับโดย เซลีน เซียมมา โดยเรื่องราวเล่า ลอร่า เด็กหญิงอายุ 10 ขวบที่ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะชวนให้เข้าใจว่าเธอคือเด็กผู้ชาย แต่แท้จริงแล้วเธอกลับเป็นเด็กหญิง 100% ทว่าเมื่อย้ายไปอยู่บ้านใหม่ ลอร่า ปล่อยให้เพื่อนบ้านใหม่อย่าง ลิซ่า และผู้คนละแวกนั้นเข้าใจว่าเธอเป็นเด็กผู้ชายที่ชื่อ มิคาเอล ต่อไป หากว่าฤดูร้อนนี้จะไม่จบลงด้วยการเปิดเผยความลับที่เธอไม่ได้ตั้งใจ

แก่นเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการนำเสนอเรื่องราวการเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศของเด็กชั้นประถมที่พึ่งจะค้นพบว่าความขัดแย้งระหว่างเพศสภาพกับเพศวิถีของตัวเอง เพราะช่วงวัยเด็กอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาตัวเองท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ นำไปสู่การปฏิเสธเพศสภาพของตัวเอง (gender non-conforming)

ตัวอย่างภาพยนตร์ : https://youtu.be/Jb-Oys-IcWE

ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้ ภาพยนตร์ที่สอดแทรกเนื้อหาความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทว่าในประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในช่วงระหว่างเรียนรู้ และทำความเข้าใจในการผลิตผลงานที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ จึงหวังว่าสักวัน วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจะสามารถผลิตภาพยนตร์ที่สามารถสร้างแรงสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของชาว LGBTQ ออกมาให้แก่ทุกคน ทุกเพศ ได้ดูกันทั่วถึงอย่างแท้จริง

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา AD552 Creative Portfolio, BR202 Scriptwriting, BR203 Broadcast Production Design, CA004 Digital Photography ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563

Writer & Graphic

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Graphic

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน