ความสัมพันธ์ไทยและจีนเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ย้อนไปตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์เรื่อยมา ผ่านกาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ผู้คนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง ร่องรอยความสัมพันธ์ไทยจีนบอกเล่าผ่านผู้คน และผูกพันกันเสมือนเป็นครอบครัว การันตีจากจำนวนของคนไทยเชื้อสายจีนที่สืบทอดตระกูลแซ่จากบรรพบุรุษแผ่นดินใหญ่

มองกลับมาในปัจจุบันภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้นได้อย่างทุกวันนี้ เพราะการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจ และนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาก่อให้เกิดเม็ดเงินอันเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่งผลไปยังด้านภาษาและวัฒนธรรมที่ในช่วงเวลานี้ ภาษาจีนกลางถือเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มเด็กไทย หากใครมีทักษะด้านการสื่อสารด้วยภาษาจีนค่อนข้างได้เปรียบเรื่องการทำงาน เนื่องจากตอบโจทย์บริษัทห้างร้านสัญชาติมังกรแผ่นดินใหญ่ ที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทยค่อนข้างมาก

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติจีน เพื่อรองรับความสนใจของนักศึกษาที่ต้องการเรียนรู้เรื่องจีน โดยเฉพาะด้านธุรกิจ หลักสูตรนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับกระแสของนักศึกษาจีนที่เดินทางเข้ามาศึกษาต่อในเมืองไทย 

หนึ่งในสถาบันระดับอุดมศึกษาเอกชน ที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ‘บ้านกล้วย’ ได้มีโอกาสสนทนากับ ไม้-หวง เย่า ซิน นักศึกษาหนุ่มเลือดมังกรโดยกำเนิด ที่ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการการโรงแรม คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง ‘ชมรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’

ที่มาการก่อตั้ง ‘ชมรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’

การก่อตั้งชมรม เพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ นอกเหนือจากการทำงานและการเรียนที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน การมีชมรมถือเป็นการเติมเต็มความสุขให้ชีวิตหลังเลิกเรียนของนักศึกษาและทำให้ได้ฝึกฝนความสามารถที่มีเฉพาะตัวอีกด้วย 

ดังนั้นชมรมจึงเป็นเหมือนทางเลือกให้นักศึกษาเลือกลงได้ตามตวามสมัครใจ แต่สำหรับนักศึกษาจีน การเกิดขึ้นของชมรมจีน เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะนอกจากช่วยให้ได้เจอเพื่อนชาติเดียวกัน ยังส่งผลให้ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทัศนคติและภาษา กับนักศึกษาไทยที่อยู่ในชมรมอีกด้วย

‘ไม้’ ในฐานะของประธานชมรมจีนเล่าว่า ตัวเขาได้ไปคุยกับอาจารย์เรื่องการขอตั้งชมรม เป็นโชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยเห็นด้วย หากนับรวมปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่ชมรมได้เดินทางสานสัมพันธ์ให้กับนักศึกษาไทยและจีน จนถึงตอนนี้มีสมาชิกชมรมทั้งหมด 102 คน และเป็นที่น่าประหลาดใจที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาไทย การจัดตั้งชมรมจีน จึงสามารถช่วยให้นักศึกษาจีนเข้าใจในวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยมากยิ่งขึ้น 

“การจัดตั้งชมรมจีนเพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมทั้งสองประเทศ และนักศึกษาไทยมีส่วนให้ช่วยนักศึกษาจีนที่พึ่งเข้ามหาวิทยาลัยได้ฝึกฝนภาษา” หวง เย่า ซิน กล่าว

มองความสัมพันธ์ผ่านงานกิจกรรมชมรม

สำหรับชมรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะมีการพบปะกันเป็นประจำคือสัปดาห์ละครั้ง แต่ในกรณีที่จะต้องมีการจัดงานหรือกิจกรรมใหญ่ต่าง ๆ จะมีการพูดคุยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

ไม้ เล่าต่อว่า ตอนนี้ทางชมรมจีนยังมีกิจกรรมไม่มากนัก ในตอนแรกมหาวิทยาลัยแยกกลุ่มนักศึกษาจีนออกเป็นสองฝ่าย (ตามหลักสูตร) คือ ฝ่าย International Center และฝ่ายหลักสูตรนานาชาติจีน กิจกรรมที่เขาได้เข้าร่วมส่วนใหญ่ จะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน หรือในระดับนานาชาติ เช่น งาน National Palace Museum และ World Culture Festival โดยอนาคตคาดว่าจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจเกิดขึ้นอีก

“สำหรับกิจกรรมที่ชมรมมีการจัดอยู่เป็นประจำในแต่ละสัปดาห์ คือการสร้างเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในชมรม ซึ่งจะมีการพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคิดต่าง ๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านภาษา และวัฒนธรรม อย่าง ‘กิจกรรมการขับร้องเพลงไทย-จีน’

สิ่งที่นักศึกษาจะได้รับคือการเรียนเรื่องของการใช้ภาษาที่จะแทรกอยู่ในเนื้อเพลงทั้งสองชาติ เป็นการฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสารที่ถูกซ่อนไว้ในความบันเทิง นอกจากการร้องเพลงแล้ว ยังมีกิจกรรม ‘Exchange News’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นำข่าวในสถานการณ์ปัจจุบันของทั้งไทยและจีนมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้นักศึกษาได้ทราบความเป็นไปของโลกในปัจจุบันอีกด้วย” ประธานชมรมจีนเล่า

นอกเหนือจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ชมรมจีนยังมีการจัดงานเทศกาล สื่อถึงวัฒนธรรมประจำชาติของสมาชิก อย่างเช่นการจัดงานวันลอยกระทง ถือเป็นวันที่มีความสำคัญในเชิงวัฒนธรรมที่แสดงถึงความผูกพันของคนไทยกับสายน้ำ รวมถึงการร่วมจัดกิจกรรม เนื่องในวันไหว้พระจันทร์ และตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สื่อถึงวัฒนธรรมของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างลึกซึ้ง แสดงให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมถูกถ่ายทอดผ่านงานกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนักศึกษาไทย – จีน ที่มีแนวคิดที่จะเผยแพร่รากเหง้าทางความเชื่อและประเพณีให้แก่กันและกัน

บทบาทการเป็นผู้เผยแพร่ภาษาจากแผ่นดินแม่

การติดต่อสื่อสารในชมรมจีนใช้ภาษาทั้งจีนและไทย ภาษาเปรียบเสมือนสื่อกลางที่จะทำให้ทุกคนบนโลกสื่อสารกันอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นปัจจัยของการอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข รวมถึงยังเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างคนต่างเชื้อชาติให้ให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น ทั้งนี้อาจต่อยอดไปถึงเรื่องของการประกอบอาชีพได้หากเกิดการฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ การเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยจึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ

ไม้แสดงความคิดเห็นว่า “ปัจจุบัน ‘ภาษาจีนกลาง’ เป็นภาษาที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองลงมาจากภาษาอังกฤษ ผู้คนจำนวนมากต่างให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และฝึกฝน เพื่อให้สามารถใช้ภาษาจีนในการสื่อสารได้ ชาวจีนทุกคนจึงมีหน้าที่ในการนำตัวอักษรและวัฒนธรรมจีนไปเผยแพร่ให้กับคนทุกภูมิภาคของโลก ดังนั้นการเติบโตของชมรมจีนเป็นไปตามแนวทางที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยเรื่องของภาษาที่เป็นส่วนสำคัญ ที่จะต้องพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีอุปสรรคก็ตาม”

ประธานชมรมจีน เล่าต่อว่า กิจกรรมที่อยากทำมากที่สุด คือ ‘กิจกรรมบัดดี้ไทย – จีน’ เนื่องจากอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างทั่วถึง “ตามแนวคิดอยากจะแบ่งเป็นคนจีน 1 คน คู่กับคนไทย 1 คน เป็นบัดดี้กันน่าจะสนุกดี แต่ติดปัญหาที่สมาชิกคนจีนยังมีจำนวนน้อยกว่าสมาชิกคนไทยมาก จึงทำให้ไม่สามารถจัดทำกิจกรรมนี้ขึ้นได้ แต่คาดว่าในอนาคตจะสามารถทำได้อย่างแน่นอน” ไม้กล่าว

อุปสรรคเรื่องการสื่อสาร

‘ภาษา’ เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติที่มาเล่าเรียนอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยของเมืองไทย สอดคล้องกับความคิดของไม้ และเพื่อน ๆ สมาชิกในชมรมแม้จะมีพื้นฐานในการใช้ภาษาไทยอยู่บ้าง แต่นักศึกษาชาวจีนบางคนยังใช้ภาษาไทยได้ไม่คล่อง จึงทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับคนไทยได้อย่างเข้าใจ ทั้งนี้ยังโชคดีที่นักศึกษาชาวจีนบางคนมีทักษะในการใช้ภาษาไทยที่ดีเยี่ยม ชมรมจึงจัดให้บุคคลเหล่านี้ช่วยเป็นล่ามให้กับนักศึกษาชาวจีนที่ยังไม่ ‘พูดไทยไม่คล่อง’ เพื่อเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสาร โดยเฉพาะเวลามีการประชุม 

“ถึงแม้ว่าภาษาจะเป็นอุปสรรคใหญ่ สิ่งนี้ช่วยยกระดับมิตรภาพของนักศึกษาสองเชื้อชาติ ได้แลกเปลี่ยน พูดคุย เสนอแนะกัน เราว่าคุ้มมากแล้ว” คำพูดของประธานชมรมจีน ทำให้รู้สึกสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่เกิดขึ้นภายในชมรม ไม้ได้บอกเพิ่มเติมถึงวิธีการในการพัฒนาความสามารถด้านภาษาคือ “เราจัดให้มีกิจกรรมที่สอดแทรกคำศัพท์ภาษาจีนในแต่สัปดาห์อีกด้วย มีการหยิบยกคำศัพท์มาสอนกัน อีกทั้งเราจะมีการกำหนดคำศัพท์เพื่อให้สมาชิกลองแต่งประโยคและนำมาใช้จริง รวมไปถึงสมาชิกคนใดที่มีการบ้านหรืองานที่ไม่เข้าใจ ก็จะมาช่วยกันทำ อธิบายให้เข้าใจ”

เสียงจากสมาชิกในชมรม

สมาชิกในชมรมเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ก่อเกิดความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกชมรม น้องดาว (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) นักศึกษาชาวไทย ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติจีน หนึ่งในสมาชิกของชมรมเล่าให้ฟังว่า “เรียนภาษาจีนอยู่แล้ว อยากเก่ง อยากได้ใช้ภาษา อยู่ในชมรมได้ใช้ภาษาจีนจริง ๆ ได้พูดคุยกับพี่ในชมรมที่เป็นคนจีน เป็นประสบการณ์ใหม่ ประทับใจมาก” 

ขณะที่ น้องปอ (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) นักศึกษาชาวไทย ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยนานาชาติจีน อธิบายจุดประสงค์ในการเข้าชมรมจีนว่า “อยากพูดภาษาจีนได้ อยากมีเพื่อนเป็นคนจีน ประทับใจกิจกรรมรับน้องมากที่สุด พี่ ๆ ดูแลดี คุยสนุก”

พี่เฟิร์ส (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) นักศึกษาชาวจีนชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ บอกว่า “อยากรู้จักเพื่อนคนไทย อยากมาช่วยให้คนไทยได้รู้จักภาษาจีน กิจกรรมที่ประทับใจคือการได้วางแผนรวมกับเพื่อน และช่วยกันขายของในงานกิจกรรมต่าง ๆ ตอนนั้นสนุกมาก”

จากบทสัมภาษณ์ข้างต้นสังเกตได้ว่า เหตุผลส่วนใหญ่ในการเข้าร่วมชมรมเพราะอยากได้เพื่อนใหม่ และสิ่งที่ทำให้พวกเขาประทับใจมากระหว่างการเข้าร่วมชมรมคือการได้ทำกิจกรรมของชมรม เช่น กิจกรรมวันตรุษจีน และวันลอยกระทง ได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน จึงเกิดเป็นความทรงจำที่ดี โดยเฉพาะเมื่อได้ฟังนักศึกษาต่างชาติบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ ความรู้สึก ความสุขระหว่างอยู่ต่างแดน ทำให้เรารู้สึกประทับใจในความอบอุ่น มิตรภาพระหว่างเพื่อนที่ถึงแม้จะไม่ได้เกิดในแผ่นดินเดียวกันก็ตาม

มาตุภูมิดินแดนบูรพา กับความถวิลหามิเว้นวาง

การจากบ้านมาศึกษาในแดนไกลของ หวง เย่า ซิน หรือ ไม้ คงคล้ายกับนักศึกษาต่างชาติหลายคนที่มีความรู้สึกคิดถึงบ้านเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้คลายความคิดถึงบ้านได้ก็ด้วยความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“เมื่อได้เจอเพื่อนชาติเดียวกันใช้ภาษาเหมือนกันก็รู้สึกดีใจมาก แต่หลัง ๆ ก็รู้สึกเฉย ๆ เพราะ เราชินกับการที่ได้อยู่กับเพื่อนคนไทย ชินกับการอยู่ต่างประเทศ แต่จะมีคิดถึงบ้านบ้างเล็กน้อย คิดถึงพ่อแม่ และยิ่งตอนอยู่ในช่วงเทศกาลสำคัญของจีน ยิ่งทำให้คิดถึงมากขึ้นไปอีก นึกถึงบรรยากาศการเฉลิมฉลอง การกินข้าวร่วมกันของคนในครอบครัว แต่เราเข้าใจได้ว่าเรามาเรียน เรียนจบก็ได้กลับบ้านแล้ว” ไม้-หวง เย่า ซิน ประธานชมรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพกล่าวทิ้งท้าย

ถึงแม้ว่าชมรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จะเพิ่งก่อร่างสร้างตัวได้ไม่นานและยังไม่เป็นที่รู้จักมากในหมู่นักศึกษา แต่การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของชมรมเล็ก ๆ แห่งนี้ ได้การันตีความสำเร็จจากการที่ได้ทำหน้าที่ผนวกความสัมพันธ์ให้กับผู้คน 2 เชื้อชาติเข้าไว้ด้วยกัน กลายเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่สร้างมิตรภาพและความผูกพันที่ทำให้กับนักศึกษาชาวไทย-จีน อยู่ร่วมกันด้วยความกลมเกลียว

'หวง เย่า ซิน' ประธานชมรมวัฒนธรรมจีน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer

บรรณาธิการกองสิ่งแวดล้อมบ้านกล้วย ความสุขเกิดขึ้นง่าย ๆ เพียงแค่ได้เที่ยว ได้ทานของที่ชอบ อยากชวนทุกคนมา สนุก ดูแลสุขภาพ และรักธรรมชาติไปกับพวกเราทีม Green Girls!

Writer

เด็กจีนแท้ ๆ เป็นคนชอบเล่าเรื่องที่มีความสุขให้เพื่อนฟัง อยากให้เพื่อนสนุกพร้อมกับเรา ความสุขอยู่ในชีวิตเรา หาง่าย ๆ ได้ง่าย ๆ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องใช้จิตใจเราไปรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น

Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก

Video Editor

หัวหน้าฝ่าย Video Editor ของบ้านกล้วย ชอบการตัดต่อและสร้างสรรค์ผลงานผ่านวีดิโอเพื่อให้คนดูรู้สึกสนุกและได้ความรู้ไปพร้อมกัน ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา มีสไตล์การตัดต่อกับวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใครและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง