การดูกีฬาสดกับแฟนในสนาม ก็เหมือนถุงเท้ากับรองเท้าผ้าใบ ซึ่งเป็นของที่มักจะอยู่เคียงคู่กันมาตลอด ทุกครั้งที่มีการถ่ายทอดสดกีฬาผ่านทางโทรทัศน์ เราก็มักจะเห็นกล้องเคลื่อนไปหาแฟนกีฬาอยู่เสมอ กลุ่มมวลชนที่มีใจรักในกีฬาต่างพร้อมที่จะชูมือ กระโดด และร้องตะโกนให้กำลังใจ ไปจนถึงเปล่งเสียงร้องเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศที่ฮึกเหิมในการรับชม

มากกว่ามวลชนบนอัฒจรรย์

บรรยากาศเหล่านี้ในกีฬาดัง ๆ อย่างฟุตบอลและบาสเก็ตบอล คือสิ่งที่สร้างความได้เปรียบในสถานะของ “เจ้าบ้าน” ที่กองเชียร์ส่วนใหญ่ จะสร้างความกดดันให้กับผู้เล่นของทีมผู้มาเยือนและเป็นกำลังใจที่สำคัญของทีมเหย้า ส่วนในกีฬาที่เป็นแบบกึ่งบันเทิง (Sport/Entertainment) อย่าง มวยปล้ำของค่าย เวิร์ด เรสลิ่ง เอนเตอร์เทนเมนต์ (WWE) แม้จะไม่มีทีมเหย้าหรือทีมเยือน แฟน ๆ ในสนามก็มีส่วนกับบทบาทของเนื้อเรื่องที่วางไว้ การเฮใหัตัวดี (Face) การโห่ร้องให้กับตัวร้าย (Heel) และความน่าเบื่อของแมตช์การปล้ำ ซึ่งในบางกรณีที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของแฟน ๆ ในสนามก็สามารถส่งผลกับการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องของสมาคม ทำให้เกิดการผลักดันบทของนักมวยปล้ำจากระดับล่างสู่ระดับท็อปของวงการ และการเปลี่ยนคาแรคเตอร์ของนักมวยปล้ำจากร้ายกลายเป็นดี

โควิดตัวร้าย Say Goodbye to the atmosphere

จากกรณีเชื้อไวรัส โควิด-19 (Covid-19) ในช่วงต้นปี 2563 ส่งผลอย่างหนักกับการใช้ชีวิตของประชากรโลก ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว รวมไปถึงวงการกีฬาต่างได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน เนื่องด้วยเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่ผ่านทางการสัมผัสได้ การแข่งขันกีฬาหลายชนิดจึงต้องถูกระงับเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเดือน ซึ่งกีฬาขวัญใจมหาชนทั่วโลกอย่างฟุตบอล และบาสเก็ตบอล ก็ไม่วายที่จะต้องถูกพักการแข่งขันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ก่อนจะกลับมาเริ่มแข่งขันกันต่อในช่วงปลายเดือนมิถุนายน แบบไม่ให้กองเชียร์เข้ารับชมในสนามจริง

ในส่วนของกีฬาประเภทมวยปล้ำนั้น ยังคงจัดรายการแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนจากการถ่ายทอดสดเป็นการบันทึกเทปในสนามปิดแทนการให้แฟน ๆ เข้ามารับชมในสนามจริง จะมีก็แต่เพียงสตาฟและนักมวยปล้ำฝึกหัดบางคนเท่านั้น ที่ถูกนำมายืนเป็นหน้าม้าเพื่อสร้างบรรยากาศในสนามต่อไป

เทคโนโลยีคือฮีโร่

หลังจากที่กีฬาประเภทฟุตบอลได้ทยอยกลับคืนลงสู่สนาม หลากหลายสโมสรจึงพยายามสร้างบรรยากาศในแบบของตนเอง เพื่อไม่ให้พื้นที่อัฒจันทร์ดูว่างเปล่าและไร้ผู้ชม บ้างก็ตัดกระดาษเป็นรูปแฟน ๆ มาแปะ บ้างก็ใช้หุ่นคนมาวางแทน แต่ลีกสเปนกลับสร้างความน่าตื่นเต้นมากไปกว่านั้นด้วยการใช้ “คอมพิวเตอร์กราฟิก (CG)” ในการสร้างแฟนบอลเสมือนจริงขึ้นมาผ่านการถ่ายทอดสดทางทีวี แต่ถึงความตั้งใจเหล่านี้จะไม่ได้ไปต่อ เพราะถูกกระแสด้านลบจากแฟน ๆ เรื่องความไม่สมจริง จึงจบลงด้วยการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีในอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต่างเคยได้ใช้กันอย่าง “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)”

ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เทคโนโลยี “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)” จึงได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งกับการทำงานและการเรียน ซึ่งไอเดียนี้ก็ถูกพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เมื่อศึก “เดนมาร์ค ซุปเปอร์ลีก้า (Denmark Superliga)” ได้คิวกลับมาเตะอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทางสโมสร “เอจีเอฟ อาร์ฮุส (AGF Aarhus)” จึงได้ใช้โปรแกรม “ซูม (Zoom)” ในการเปิดห้องสนทนาให้กับแฟน ๆ พร้อมทั้งติดตั้งจอ ขนาดความสูง 3 เมตร ยาว 40 เมตร บนอัฒจันทร์ของสนามเหย้า “เซอร์เซส พาร์ค (Cerces park)” เพื่อให้แฟนบอลที่ลงทะเบียนไว้ ได้เชียร์เกมระหว่าง อาร์ฮุส (Aarhus) กับแรนเดอร์ส (Randers) พร้อมทั้งมีภาพสด ๆ ของพวกเขาแสดงขึ้นบนอัฒจันทร์ เปรียบเสมือนการเข้าชมในสนาม ได้ทั้งอรรถรสที่มากขึ้นจากเสียงเชียร์ ที่มาจากเสียงประกอบและเสียงแฟนบอลด้วยกันเอง เมื่อนักฟุตบอลทำประตูได้ก็จะวิ่งมาแสดงความดีใจตรงหน้าจอ เสมือนว่าเป็นการฉลองร่วมกันกับแฟน ๆ

เมื่อลีกเล็กทำได้ มีหรือที่ลีกใหญ่อย่าง “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” จะยอมน้อยหน้า

การกลับมาแข่งขันกันอีกครั้งของลีกผู้ดี ระหว่าง “แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (Manchester City) กับอาร์เซน่อล (Arsenal)” จึงได้ใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศ อย่างไรก็ตามก็มีความแตกต่างในเรื่องขนาดของสนาม ซึ่งสนามของทีมในพรีเมียร์ลีกนั้นมีขนาดใหญ่ จึงไม่ได้มีการติดตั้งจอบนอัฒจันทร์ ภาพการถ่ายทอดสดของแฟนบอลจึงถูกย้ายไปอยู่บนจอภาพขนาดยักษ์แทน

เมื่อมีทีมเริ่มก็ต้องมีทีมที่ตาม ทีมใหญ่ ๆ ที่มีหน้าจอขนาดยักษ์ในสนามก็นำวิธีนี้มาใช้กันบ้าง โดยแต่ละทีมจะจำกัดผู้เข้าชมไม่เท่ากัน ซึ่งแฟน ๆ จะต้องสมัครทางออนไลน์เพื่อให้ได้ขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของหน้าจอบน “แฟน วอลล์ (Fan Walls)” ของพรีเมียร์ลีกแทน

กีฬาสุดโด่งดังอีกประเภทอย่าง บาสเก็ตบอล เอ็นบีเอ (National Basketball Association) ก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ต่างกัน เนื่องจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกาค่อนข้างรุนแรง เอ็นบีเอ (NBA) จึงได้ทุ่มทุน 170 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้าง “เอ็นบีเอ บับเบิล (NBA Bubble)” ในบริเวณพื้นที่ของ “ดิสนี่ย์ เวิร์ล (Disney World)” ที่รัฐฟลอริด้า (Florida) เพื่อเป็นเหมือนค่ายป้องกันโรคขนาดใหญ่ พร้อมที่พักอาศัยสำหรับทีมบาสเก็ตบอลจำนวน 22 ทีม ที่ถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นสนามซ้อมและสนามแข่ง โดยจะไม่เปิดให้คนภายนอกเข้ามารับชม แต่จะใช้เป็นสนามในการแข่งขันของซีซั่น 2019/20 ที่เหลือ ยาวไปจนถึงศึก “เอ็นบีเอ เพลย์ออฟ (NBA Play-Offs)” ของปีนี้

ซึ่งได้มีการเปิดโปรแกรมประชันความมันส์ของคู่แรกระหว่าง “เมมฟิส กริซลีย์ (Memphis Grizzlies) กับพอร์ทแลนด์ เทรล เบรเซอร์(Portland Trail Blazers)” และนั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องนำเทคโนโลยี อย่าง วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) เข้ามาใช้เช่นเดียวกัน

ส่งผลทำให้เอ็นบีเอร่วมจับมือกับ “ไมโครซอฟต์ ทีม (Microsoft Teams)” ในการใช้ระบบ “วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference)” เพื่อให้แฟนได้เข้ามาชม ซึ่งสำหรับแฟนกีฬาบาสเก็ตบอลนั้น พวกเขาก็ต้องสมัครเพื่อลุ้นที่จะเป็นผู้โชคดีได้ไปโผล่บนหน้าจอรอบสนาม ซึ่งบนหน้าจอจะขึ้นแสดงผู้ชมภายในเกมนั้นประมาณ 300 คน โดยที่แฟนผู้โชคดีจะถูกตัดพื้นหลังให้เหลือเพียงแต่ตัวไปโผล่บนรูปเก้าอี้รอบสนามในระหว่างการแข่งขัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เหมือนกับการเข้าชมจริงได้มากขึ้นไปอีกขั้น โดยช่วงระหว่างเกม แฟนก็ยังสามารถพูดคุยกับกองเชียร์คนอื่นในห้องสนทนาเดียวกันได้อีกด้วย

ถัดมาในฝากฝั่งกีฬาประเภทมวยปล้ำ อย่าง “ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู อี (World Wrestling Entertainment)” ที่ต้องทนจัดโชว์แบบเงียบเหงาในศูนย์ฝึก (Performance Center) มานาน ก็ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อเป็นการต้อนรับอีเวนท์ใหญ่ช่วงกลางปีอย่าง “ซัมเมอร์สแลม (SummerSlam)” ค่ายมวยปล้ำ WWE จึงได้ย้ายสถานที่จัดโชว์จากศูนย์ฝึกไปยัง “ยูซี ซานตา บาบาร่า อีเวนท์ เซนเตอร์ (UC Santa Barbara Events Center)” ในรัฐฟลอริด้าและเริ่มออกอากาศรายการ “สแมคดาวน์ (SmackDown)” พร้อมคอนเซ็ปต์ของรายการคือ “ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู อี ธันเดอร์โดม (WWE Thunderdome)”

ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู อี ธันเดอร์โดม (WWE Thunderdome) คือการปรับเปลี่ยนจากอัฒจันทร์ที่ว่างเปล่า ให้เป็นหน้าจอแอลอีดี (LED) ที่เปิดให้แฟน ๆ มากกว่า 1,000 คนได้เข้ามาร่วมชมแบบสด ๆ ผ่านการลงทะเบียนฟรี แต่ถึงอย่างนั้นแฟน ๆ ก็ต้องไปลุ้นเอาว่าจะได้เป็นผู้โชคดีหรือไม่

นอกจากนี้ยังได้มีการนำสเปเชียล เอฟเฟกต์ ที่แฟนมวยปล้ำคิดถึง อย่างเช่น พลุ ควัน และไฟ กลับมาใช้อีกครั้ง หลังจากที่เคยถูกตัดออกไปเพื่อประหยัดงบประมาณ ซึ่งการนำเอากลยุทธ์แบบดั่งเดิมกลับมาใช้ ส่งผลให้การถ่ายทอดสดของรายการดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู อี (WWE) มีการปรับเปลี่ยนมุมกล้องกลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้ง โดยมีการเคลื่อนกล้องไปให้เห็นปฏิกิริยาของแฟน ๆ ต่อโชว์ที่พวกเขารับชมอยู่อย่างมากขึ้น และมีส่วนให้การแสดงบทบาทของนักมวยปล้ำที่ต้องหันไปสื่อสารกับคนดู เป็นไปในทิศทางที่เป็นธรรมชาติมากกว่าตอนแสดงในสนามปิดแบบใช้หน้าม้า

ทั้งนี้ การรับชมแบบสดจากที่บ้าน ก็ใช่ว่าแฟน ๆ จะทำอะไรก็ได้ ทุกรายการกีฬาที่จัดการถ่ายทอดแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) จึงต้องมีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมจัดการพฤติกรรมของแฟนบนหน้าจอ ที่อาจมีการแสดงภาพโป๊เปลือย ภาพผิดกฎหมาย หรือแม้แต่การแสดงสัญลักษณ์ในเชิงที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถถูกลบออกจากห้องสนทนาได้

แทนได้...แต่ไม่ถาวร

เรื่องปลาให้คุยกับชาวประมง ถ้าเรื่องกีฬาก็ต้องคุยกับคนวงใน ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ น้าติง-คุณสุวัฒน์ กลิ่นเกสร นักพากย์กีฬาชื่อดังที่อยู่ในแวดวงกีฬามาไม่น้อยกว่า 20 ปี ชื่อเสียงของน้าติงเป็นที่รู้จักกันดีจากการพากย์กีฬาต่อสู้หลากหลายชนิด ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นการพากย์เสียงกีฬา อย่าง “มวยปล้ำ” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปลายยุค 90 มาจนถึงปลายยุค 2000 อาจเรียกได้ว่า แฟนมวยปล้ำทุกคนในประเทศไทยจะต้องรู้จักเขาและนอกจากนี้ น้าติงยังเป็นอีกหนึ่งคนที่หลงใหลในกีฬาประเภทฟุตบอลและเป็นแฟนบอลตัวยง ที่เคยทำรายการเกี่ยวกับฟุตบอลมาก่อน อย่างรายการ มาโชว์ฟุตบอล by น้าติง ทางช่อง ทีนิวส์ (T-News) ที่ยังออกอากาศให้ได้รับชมในปัจจุบัน

“The show must go on” น้าติงได้กล่าวไว้ถึงการที่กีฬาเหล่านี้ยังต้องดำเนินต่อในช่วงที่ผู้ชมไม่สามารถเข้าชมในสนามจริงได้ ด้วยสาเหตุหลัก ๆ คือเรื่องของสปอนเซอร์ “ค่าเข้าชมมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ในการถ่ายทอดสด มันมีเรื่องของลิขสิทธิ์และสปอนเซอร์ ที่มีผลต่อรายได้ของสมาคมและของตัวนักกีฬาด้วย” น้าติงกล่าว

เนื่องจากน้าติงผูกพันกับวงการมวยปล้ำมาเป็นเวลานาน ผู้เขียนจึงได้สอบถามน้าติงถึงความรู้สึกที่มีต่อรายการ ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู อี ธันเดอร์โดม (WWE Thunderdome) ว่าในมุมมองของน้าติงในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร

น้าติงได้แสดงความคิดเห็นว่า “มันไม่มันส์เท่าปกติ ตัวคนดูกับนักมวยปล้ำก็ไม่อินเท่าเดิม แต่สถานการณ์มันก็บังคับให้เป็นแบบนี้ มวยปล้ำจะปล้ำแบบไม่มีคนดูก็ไม่ได้ มันเหมือนคอนเสิร์ต จะขึ้นร้องเพลงโดยที่ไม่มีคนมาดูก็ไม่ได้”

เมื่อผู้เขียนได้ถามต่อถึงทิศทางในอนาคต ว่าการใช้เทคโนโลยี วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) จะสามารถเข้ามาทดแทนแฟน ๆ ที่เข้าชมในสนามได้จริงหรือไม่ ทางด้านน้าติงเองก็ไม่เห็นด้วยซะทีเดียวและยังกล่าวเสริมอีกว่า “อนาคตก็คงใช้เทคโนโลยีแบบนี้น้อยลง ที่ตอนนี้มันต้องใช้ก็เพราะคำว่านิว นอร์มอล (New Normal) โควิดมันยังไม่หายไปง่าย ๆ มันก็จะมีควบคู่กันไปกับการทดแทนการเข้าชมในสนามจริง” พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “แฟนกีฬาที่มาชมสดก็ยังสำคัญ เทคโนโลยีจะมาแทนทั้งหมดไม่ได้”

คงจะเป็นเรื่องจริงดังที่น้าติงได้กล่าวไว้ ความสำคัญของแฟนกีฬานั้นมีอยู่มาก ทั้งในแง่ของธุรกิจและจิตวิญญาณ ทางฝั่งผู้ประกอบการก็ต้องพึ่งพาผู้บริโภค ไม่ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร พวกเขาก็จะหาวิธีมาเอาใจผู้บริโภคได้เสมอ เช่นเดียวกับผู้บริโภค ที่พร้อมจะสละเวลาและกำลังทรัพย์ เพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตนเองรัก แม้ในบางกรณีอาจไม่ได้เข้าถึงอารมณ์เหมือนกับในสถานการณ์ปกติ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม…ทุกอย่างล้วนต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311,JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer

อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นนักเขียน อยากเลี้ยงวาฬออร์กา อยากมีหมาลาบราดอร์