สุนัขและแมว เป็นสัตว์ในชีวิตประจำวัน เราสามารถพบเห็นได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน เป็นสัตว์เลี้ยงที่ผูกพันเสมือนสมาชิกในครอบครัว บ้างก็พบเห็นตามโรงพยาบาลเฉพาะทาง ธุรกิจคาเฟ่ที่นำสัตว์เหล่านี้มาเป็นเพื่อนช่วยบำบัดผ่อนคลายจิตใจมนุษย์

อย่างไรก็ตาม ยังมีสุนัขและแมวที่อยู่ตามท้องถนน สถานที่เปิดสาธารณะ ไร้ผู้คนเป็นเจ้าของ และตามมูลนิธิต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีมากกว่า 1,000 ชีวิตที่ถูกทอดทิ้งจากสภาพทุพลภาพ ถูกทอดทิ้งจากเจ้าของและสังคมที่นับวันกลับยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ก้าวแรกยามที่เข้าไปพบปะกับเหล่าสุนัขและแมวที่บ้างก็ไม่มีอวัยวะที่ใช้เดินครบทั้งสี่ขา บ้างก็ไม่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ผู้เขียนมีความรู้สึกเศร้าและเจ็บใจอย่างน่าประหลาด และรู้สึกตัดพ้อกับสภาพที่เป็นอยู่ของสัตว์เหล่านี้ ทว่าแววตานับร้อยคู่ที่ส่องประกายลุกวาว พร้อมที่จะชูคอ หูตั้ง ลุกขึ้นมาออดอ้อนผู้คนที่ได้พบเจอ ไม่มีท่าทีที่จะสิ้นความศรัทธาและความไว้วางใจในมนุษย์ ก็กลับสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เขียนอย่างน่าประหลาดใจเช่นเดียวกัน 

เราได้สนทนากับ คุณครรชิต วาพิไล ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) สถานสงเคราะห์สัตว์พิการ ทุพลภาพ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

เริ่มต้นจากบ้านสงเคราะห์เล็ก ๆ สู่การอนุเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการแห่งนี้ แรกเริ่มเดิมทีมีชื่อว่า “บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ” ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 โดยเริ่มต้นดูแลสุนัขและแมวที่บาดเจ็บ ไม่มีเจ้าของ จากจำนวนไม่กี่ตัว เพิ่มกลายเป็นจำนวนนับ 70 ตัวในระยะเวลาไม่นาน ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีผู้สนับสนุนใจบุญให้ความช่วยเหลือ โดยบริจาคที่ดิน 200 ตารางวา บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการจึงย้ายจากลำลูกกามาที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ทำการหลักของมูลนิธิฯ นับตั้งแต่นั้นมา

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

ต่อมาในปี 2536 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ได้ทราบข่าวบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการแห่งนี้ จึงเมตตามาเยี่ยมเยียนและได้เห็นถึงสภาพการดูแล ปัญหาและภาระต่าง ๆ ท่านจึงอนุเคราะห์เงินช่วยเหลือสำหรับการใช้จ่ายเป็นค่ายา ค่าอาหาร ให้กับสัตว์เหล่านี้ที่ไม่มีคนดูแล เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ต่อเดือน ถัดมาปี 2541 หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนเป็นครั้งที่ 2 จึงได้ขอความอนุเคราะห์ในการจดสถานสงเคราะห์แห่งนี้เป็นมูลนิธิคุ้มครองตามกฎหมาย โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน)” มาจนถึงปัจจุบัน

สามรายรับหลักของมูลนิธิฯ ในปัจจุบัน

หลังจากที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนละสังขารไปในปี 2554 ทางมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการก็ต้องอยู่ด้วยการรับบริจาค การจำหน่ายสินค้า และกลุ่มสมาชิกหรือคนที่มาทำบุญทั้งเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว

คุณครรชิต วาพิไล ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน)

โดยคุณครรชิต เล่าว่ารายรับหลักของมูลนิธิฯ ในทุกวันนี้จะเป็นการรับบริจาคเข้ามา โดยจะรับบริจาคอาหาร ยารักษาโรคของสัตว์ เป็นปัจจัยบ้าง เป็นสิ่งของบ้าง ซึ่งทางมูลนิธิฯ ก็เริ่มคิดและริเริ่มโครงการต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อที่จะหารายรับมาจุนเจือสัตว์มากมายในสถานสงเคราะห์ และจะต้องเป็นโครงการที่สามารถตอบโจทย์ต่อทุกกลุ่มคนได้

โครงการวันละบาท เงินเพียงบาทเดียวก็ต่อชีวิตหมาและแมวได้

โครงการวันละบาทต่อชีวิตหมาแมว เป็นโครงการแรกของมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ที่เหมาะสำหรับคนมีงบประมาณจำกัด ต้องการจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในเรื่องของยารักษา อุปกรณ์ อาหาร อื่น ๆ ในระยะยาว สามารถติดต่อทางมูลนิธิฯ ในการขอรับกระปุกออมสินไปหยอดที่บ้านได้ โดยหยอดเพียงวันละ 1 บาท สะสมเรื่อย ๆ ก่อนจะนำมาบริจาคได้ทั้งที่มูลนิธิฯ หรือการโอนผ่านบัญชีธนาคาร เป็นทั้งการสร้างแรงบันดาลใจในการอดออมเงินและทำบุญโดยไม่กลายเป็นภาระของตนเองไปในในคราวเดียว

โครงการหนูอยากมีพ่อแม่ สานฝันคนชอบอุปถัมภ์

หลังจากที่โครงการแรกประสบความสำเร็จแล้ว ทางมูลนิธิฯ จึงริเริ่มโครงการที่สองอย่าง โครงการหนูอยากมีพ่อแม่ เกิดขึ้น โดยโครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการวันละบาทคือ เป็นการบริจาค “พ่อแม่อุปถัมภ์” โดยเป็นการบริจาครายเดือน ขั้นต่ำวันละ 10 บาท เป็นเงินเดือนละ 300 บาท ผู้ร่วมอุปถัมภ์สามารถเข้าไปเดินดูน้องหมา น้องแมว ที่พิการหรือทุพลภาพ เป็นพ่อแม่บุญธรรมรับอุปถัมภ์ให้สัตว์เหล่านี้ได้ โครงการนี้ผู้บริจาคสามารถเจาะจงสัตว์พิการเป็นตัว เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ หรือบริจาคโดยรวมก็ได้ 

เมื่อทั้งสองโครงการประสบความสำเร็จ มีผู้คนให้การสนับสนุนและตอบรับดีมากขึ้น คุณครรชิต อธิบายให้ฟังว่าทางมูลนิธิฯ จึงคิดต่อยอดเป็นโครงการที่สาม โดยเริ่มคิด จากความคิดดั้งเดิมคือ หากโครงการที่สองเป็นโครงการแบบผูกมัดต่อเนื่อง ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะบริจาคเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงเกิดเป็นโครงการที่สามอย่างการบริจาคแบบทั่วไป

โครงการบริจาคทั่วไป เหมาะสำหรับทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

โครงการบริจาคทั่วไป ในที่นี้ หมายถึง การที่ผู้คนที่มีจิตเมตตาอาจจะต้องการร่วมบริจาคปัจจัยในการช่วยเหลือสัตว์พิการ ทุกพลภาพ ในวาระต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญวันเกิด การทำบุญตามวันสำคัญทางศาสนา หรือกิจกรรมที่ทางประเทศไทยจัดขึ้นมาก็มาเพื่อบริจาคเป็นครั้งคราวได้ โดยสามารถบริจาคเป็นเงินสด สิ่งของ ปัจจัยต่าง ๆ ด้วยตนเองได้

คุณครรชิตให้ข้อมูลว่า ทั้งสามโครงการที่กล่าวมา เป็นโครงการสำคัญที่หารายได้เข้ามาให้แก่มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ อาจจะมีเพิ่มเติมอีกบ้างอย่างการออกบูธ ออกงาน การจำหน่ายขายสินค้าของมูลนิธิฯ เพื่อการกุศล สาเหตุที่ทางมูลนิธิฯ จะต้องมีการรับบริจาคจากช่องทางต่าง ๆ สม่ำเสมอ นั่นก็เพราะปัญหาด้านการดูแลสัตว์ของมูลนิธิฯ แห่งนี้ ได้แก่ การที่ไม่มีสัตวแพทย์ประจำ บ่อยครั้งที่มีสัตว์ใหม่ที่ได้รับบาดเจ็บเข้ามา หรือสัตว์ทุพลภาพที่ต้องได้รับการรักษา การที่จะเยียวยาและรักษาสัตว์เหล่านี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะต้องใช้เงินในส่วนนี้มาจัดการบริหาร พาพวกเขาไปหาแพทย์ ซื้อยารักษาที่จำเป็น ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินของมูลนิธิทั้งหมด

เสรีทั้งการเลี้ยง เสรีทั้งการทิ้ง ปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย

ในปัจจุบัน ปัญหาสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของถูกนำมาปล่อยทิ้งมีมากขึ้นในทุกวัน สิ่งที่เห็นตรงกันคือการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดเสรี ไม่ว่าใครที่อยากเลี้ยง ก็สามารถหาซื้อและนำมาเลี้ยงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งหลายครั้งทำให้ขาดความตระหนักในการรับผิดชอบ มีความรู้ต่อสัตว์เลี้ยงไม่มากพอ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเลี้ยงไปได้สักพัก บ้างก็มีความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อสัตว์เลี้ยง รู้สึกว่าสัตว์เหล่านี้ไม่น่ารักน่าชังเท่าคราแรกที่ได้เห็น ซึ่งนำมาปัญหาของการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง โดยปัญหาทั้งหมดเกิดจากช่องโหว่ในสังคมไทยที่ยังไม่มีกฎระเบียบ ข้อบังคับอย่างชัดเจนในเรื่องของใบอนุญาต หรือการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง 

เมื่อมีคนนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยตามสถานที่ต่าง ๆ อย่างไม่คิดไตร่ตรอง ผลกระทบที่ตามมาคือการไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซ้ำยังมีสัตว์เร่ร่อนเจ้าถิ่นอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งนำไปสู่การทะเลาะ ไล่กัด บาดเจ็บ หรือรวมไปถึงอุบัติเหตุที่ทำให้สัตว์เหล่านี้พิการ หรือทุพลภาพ เกิดปัญหาในสังคมอย่างที่เห็นกันเป็นประจำในทุกวันนี้

ซึ่งอ้างอิงจากที่กรมปศุสัตว์ได้เปิดเผยผลสำรวจ ปี 2550 ว่าในประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 350,000 ตัว ในปี 2560 ประเทศไทยมีสุนัขจรจัด ประมาณ 820,000 ตัว จึงคาดได้ว่าคาดว่าในปี 2570 ประเทศไทยจะมีสุนัขและแมวจรจัด ประมาณ 1,920,000 ตัว และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมากถึง 5 ล้านตัว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาการทอดทิ้งสุนัขและสัตว์จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อหลาย ๆ ภาคส่วนของประเทศ ทั้งด้านอนามัย เชื้อโรค การใช้ชีวิตประจำวัน หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกวิธี และจัดการในระยะยาว 

การจัดการในระยะสั้นอย่างการส่งต่อสัตว์พิการที่ไม่มีเจ้าของหรือคนดูแล ไม่มีที่อยู่อาศัย จะมีผู้คนที่คอยสืบค้นข้อมูลดูว่ามีสถานที่แห่งไหนที่รับเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ซึ่งมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัวญาณสัมปันโน) ก็เป็นหนึ่งในนั้น อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมของสถานที่รับดูแลสัตว์พิการนั้นมีอยู่หลายแห่ง อยู่ที่แต่ละคนที่มีต้องการจะส่งต่อขอความช่วยเหลือแทนสัตว์เหล่านี้จะติดต่อที่ไหนจึงจะสะดวกที่สุด

อุปการะกลับบ้านได้เฉพาะบางช่วง บางเวลาเท่านั้น

ทางมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ จะมีโครงการหาบ้านใหม่ให้กับน้องหมาและน้องแมวเกิดขึ้นในบางโอกาส เนื่องจากในบางสัปดาห์จะมีผู้คนนำสุนัขและแมวมาปล่อยทิ้งที่มูลนิธิ อาจจะเป็นลูกหมาบ้าง ลูกแมวบ้าง ซึ่งจะมีต้องมีวิธีการในการจัดหาบ้านใหม่ให้กับสัตว์เหล่านี้แยกออกไปมีพ่อแม่อุปถัมภ์คนใหม่ หาผู้อุปการะที่สามารถเป็นบ้านหลังใหม่ให้ได้ 

โดยส่วนใหญ่ ทางมูลนิธิฯ จะจัดสรรหาบ้านให้ได้กับเฉพาะลูกสุนัขและลูกแมวเท่านั้น เพราะว่าสัตว์ที่ถูกส่งเข้ามาที่มูลนิธิส่วนใหญ่จะเป็นสัตว์ป่วยเกือบทั้งหมด มีทั้งสัตว์ที่เป็นโรคบ้าง ติดเชื้อบ้าง ไม่สามารถส่งต่อออกไปได้

เปิดพื้นที่สวนสวรรค์ของเหล่าทาสแมว

ในมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ปากเกร็ด จะมีพื้นที่ที่สามารถให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมเยียนน้องแมวได้ มีทั้งแมวพิการ แมวจรจัด แมวป่วย แมวป่วยที่กลับมาแข็งแรง โดยหลักแล้ว แมวที่อยู่พื้นที่มูลนิธิฯ ส่วนใหญ่จะเป็นแมวจรจัด เป็นแมวที่มีเจ้าของมาก่อนเสียส่วนใหญ่ และนำมาให้มูลนิธิเลี้ยงแทน ซึ่งตรงนี้ต้องถือว่าเป็นเฉพาะบางกรณีเท่านั้น 

ด้วยความที่มูลนิธิฯ แห่งนี้เป็นสถานสงเคราะห์ในรูปแบบของเอกชน ยามเมื่อมีพระสงฆ์ แม่ชี จากวัดที่ประสบปัญหาคนนำแมวมาปล่อยให้เป็นแมวจรจัดจำนวนมาก หรือมีเหตุจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงดูต่อได้ เนื่องจากมีความจำเป็นจากอาการเจ็บป่วย ทางมูลนิธิฯ จึงจะต้องให้ความช่วยเหลือและรับมาเลี้ยงต่อ อย่างไรก็ตาม โดยปกติทั่วไป 80% ของสัตว์ทั้งหมด มูลนิธิจะรับเลี้ยงเฉพาะสัตว์พิการเท่านั้น

ขยายพื้นที่ในการดูแลสัตว์ บ้านพักฟื้นน้องหมาบางเลน

สืบเนื่องมาจากสุนัขในความอนุเคราะห์ของมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ ปากเกร็ดมีการทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เกิดความแออัด ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ในการระบายสัตว์เพิ่มเติมเพื่อสนองนโยบายของมูลนิธิฯ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจิตใจสัตว์พิการ รวมถึงสัตว์ถูกทอดทิ้งให้ดียิ่งขึ้น

ณ ปัจจุบัน มูลนิธิฯ มีสถานที่ดูแลสัตว์พิการทั้งหมดสองแห่ง โดยสถานที่ทำการหลักอย่างที่บ้านน้องหมา อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จะเป็นที่รับเลี้ยง ดูแล เยียวยา รักษาบางอาการในข้างต้น และเมื่อสัตว์ที่อาการดีขึ้น แข็งแรง และสามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงจะถูกโยกย้ายไปที่ บ้านพักฟื้นน้องหมาบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นหลังที่สองของมูลนิธิฯ มีเนื้อที่กว้างถึง 21 ไร่ มีสระว่ายน้ำ มีพื้นที่ และสนาม ซึ่งถือว่าเป็นสวรรค์ของสัตว์พิการที่ทางมูลนิธิฯ ซึ่งมีผู้ให้การสนับสนุนสร้างขึ้นมาเพื่อเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ในระยะยาว มีการจัดพื้นที่แบ่งสัดส่วน สถานที่นอน อำนวยการสะดวก โดยสามารถเข้าไปเยียมเยียนได้ เปิดบริการทุกวันเสาร์ อาทิตย์

มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ตั้งอยู่ที่  15/1 หมู่ 1 ซ.พระมหาการุณย์ ถ.ติวานนท์ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เปิดให้บริการ วันจันทร์ ถึง วันอาทิตย์ เวลาทำการ 08.00 น. – 17.00 น.

หากผู้ใดสนใจน้องหมาและน้องแมวเหล่านี้ สามารถติดตามรายละเอียด การเข้ามาเยี่ยมเยียนและช่องทางการบริจาคได้จากทางมูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://home4animals.org

เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะรณรงค์ให้ทุกคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาของสัตว์พิการและทุพลภาพ สัตว์จรจัดในสังคมไทย และสนับสนุนการคงอยู่ของมูลนิธิทุกมูลนิธิที่ต้องการจะช่วยเหลือสัตว์เหล่านี้อย่างแท้จริงต่อไป

Reference & Bibliography

  • คาด 20 ปีหมา-แมวจรจัดพุ่ง 5 ล้านตัว เร่งทบทวนขึ้นทะเบียน. ThaiPBS. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2563, จาก https://news.thaipbs.or.th/content/277221
  • มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ. สืบค้นเมื่อ 27 เมษายน 2563, จาก https://home4animals.org

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Photographer

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน

Photographer

การนำเสนอความคิดของเราผ่านตัวละคร ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราเขียน คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาผ่านทัศนคติของเรา เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ