“เธออยู่ตรงนั้น ยืนอยู่ข้างฉัน ฉันไม่เคยแม้แต่ฝัน ว่าจะได้พบเธอท่ามกลาง คนทั้งเมืองอีกเป็นล้าน โดยไม่ต้องตามหาใคร เมื่อเธอครอบครองฉัน”

เพียงแค่ขึ้นท่อนฮุกสุดประทับใจนี้ขึ้นมา ใครหลายคนก็อาจจะรู้ได้ทันทีเลยว่าศิลปินที่เราจะชวนทุกคนไปสนุกสนานเฮฮา ชวนอินทำนองเพราะ ๆ เนื้อเพลงสุดกินใจนั้นจะเป็นใคร

เราจะพาชาวเมืองทุกท่านไปพูดคุยกับวงดนตรีป็อปร็อก ซาวน์เฉียบ ที่กำลังมาแรงแบบฉุดไม่อยู่อย่าง Three Man Down ศิลปินจากค่าย Gene Lab เจ้าของเพลงฮิต ข้างกัน ฝนตกไหม และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงซิงเกิลใหม่ล่าสุดอย่าง เลือกคนที่เขารักเรา

Three Man Down ก่อตั้งวงขึ้นในปี 2013 โดยที่มาของชื่อมาจากการรวมตัวกันของอดีตสมาชิกวงดนตรีสมัยมัธยม 3 วง และในตอนที่ขึ้นมหาวิทยาลัย วงดนตรีของแต่ละคนก็ได้ยุบและแยกย้ายกันออกไป จึงเปรียบทั้ง 3 วงนั้นเป็นผู้ชายที่ตายไปแล้ว 

Three Man Down ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 5 คน ได้แก่ กิต-กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ (นักร้องนำ), ตูน-พีรพล เอี่ยมจำรัส (กีตาร์), โอม-กิจฎิเมธ ชาญพานิช (เบส), เต-เตธนันท์ วงศ์ปรีชาโชค (กลอง) และอีกหนึ่งสมาชิกที่ไม่ได้มาในบทสัมภาณษ์นี้อย่าง เส็ง-วิศรุต ปฐมศิริไพศาล (คีย์บอร์ด) และกระซิบว่าสมาชิกภายในวงยังเป็น ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเริ่มก่อตั้งวงที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพอีกด้วย

บทสัมภาษณ์สุด Exclusive นี้ เราจะเจาะลึกถึงประสบการณ์ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ถ่ายทอดแบบคำต่อคำเหมือนพวกเขามานั่งเล่าให้ฟังอยู่ตรงหน้าทุกคน จากจุดเริ่มต้น การเดินสายประกวดตามเวทีต่าง ๆ จากวันที่แต่งเพลงแล้วไม่มีใครฟัง ขาดความเชื่อมั่น ไร้ทิศทาง สู่การแข่งขันในรายการ Band Lab เข้าออดิชั่นจาก 307 วง คัดเลือกเหลือเพียง 6 วง และได้รับการยอมรับจากค่าย Gene Lab ที่นำโดยศิลปินที่มากประสบการณ์ในวงการเพลงอย่าง โอม Cocktail ได้ออกเพลงมากมาย จนกระทั่งเป็น Three Man Down ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

กิต-กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ (นักร้องนำ)

ความชอบ ความเอาชนะ ความคุ้นชิน จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางสายดนตรี

โอม : จุดเริ่มต้นของผมคือเล่นตั้งแต่ ม.1 ม.2 ประมาณนั้นครับ ชอบตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้ ตอนนี้ก็รู้สึกชอบแล้วแหละ ถ้าไม่ชอบก็ไม่มีจะกิน (หัวเราะ)

ตูน : ผมน่าจะเป็นช่วง ป.6 ใกล้เคียงกัน คือตอนนั้นชอบกีต้าร์โปร่ง เราเริ่มเล่นกีต้าร์โปร่ง เพราะตอนนั้นชอบวงเดป้าเปเป้ (Depapepe) เล่นกีต้าร์โปร่งสักพักก็เปลี่ยนมาเล่นกีต้าร์ไฟฟ้าดีกว่า

เต : เหตุผลที่เปลี่ยน

ตูน : แค่อยากเล่น

กิต : ความชอบล่ะ ชอบตั้งแต่เมื่อไหร่

ตูน : ชอบตั้งแต่แรกเจอ (หัวเราะ) นั่นแหละครับ

เต : ส่วนของผมเริ่มเล่นตั้งแต่ ป.5 ตอนนั้นมีเพื่อนที่เป็นคู่แข่ง หมั่นไส้กันมานาน คือเกลียดไอ้นี่เลย แล้วที่โรงเรียนก็มีงานคริสต์มาสที่จะให้เด็กขึ้นไปโชว์การแสดงบนเวที ไอ้นี่น่ะมันได้ไปตีกลองเพลง It’s My life ของ Bon Jovi แล้วเราก็รู้สึกว่าถ้ามันทำได้ เราก็ต้องทำได้ ไม่ยอมแพ้ ก็เลยกลับบ้านไปขอป๊าซื้อกลองเลย แล้วก็ซ้อมอยู่คนเดียวจนกระทั่งตอนมัธยมก็มีวงกับเพื่อน ๆ ก็มีตูนนี่แหละครับ วงแรก ๆ ที่เล่นกับเพื่อน เริ่มชอบตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันเหมือนกลายเป็นหน้าที่ที่ต้องทำไปแล้ว รู้สึกว่ามันเป็นตัวเราไปแล้ว ตอนนี้ดนตรีก็กลายเป็นสิ่งที่เป็นชีวิตเราไปแล้ว ที่เราจะต้องอยู่กับมันต่อไปให้ได้

กิต : ของผมร้องเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แต่ว่าที่บ้านจะร้องเพลงอยู่แล้ว ใช่ คือที่บ้านพ่อแม่จะชอบร้องเพลงตามร้านอาหาร พวกเพลงลูกกรุง แล้วเราก็มีหน้าที่ไปนั่งให้จำนวนเพลงมันเพิ่มขึ้นแค่นั้นเอง

เต : เพราะว่าอะไร

กิต : เพราะว่าถ้าไปสองคนได้รองเพลงนึง แต่ถ้าไปสามคนได้ร้องสองเพลง แม่เลยเอาลูกชายไปนั่งเฉย ๆ สั่งโกยซีหมี่ให้กิน สั่งใดใดให้กินแล้วก็นั่งให้จำนวนเพลงมันเพิ่มเฉย ๆ เราก็ฟังมาเรื่อย ๆ จนพอวันหนึ่ง แม่ร้องจนขี้เกียจร้องแล้ว เหลืออยู่เพลงหนึ่ง แม่ก็เลยให้ขึ้นไปร้อง ก็ลองร้องดู ก็เป็นเพลงที่ได้ฟังทุกวันในร้านนั้น ก็ได้ลองร้องไป เลยรู้สึกว่า เอ้อ เราก็ร้องได้นี่หว่า 

กิต- กฤตย์ จีรพัฒนานุวงศ์ (นักร้องนำ)

กิต : หลังจากนั้นเลยเริ่มร้องคาราโอเกะ ร้องเพลงคิดถึงฉันไหมเวลาที่เธอ ของ แท็กซี่ (Taxi) เพลงชาวนากับงูเห่า ของ พี่อี๊ด วง FLY แล้วพอตอนประถมเลยได้ลงสมัครร้องเพลง เลือกเพลงรักคนมีเจ้าของ ของวงไอน้ำ ซื้อแผ่นมาซ้อมเลย แต่พอถึงวันแข่งกลับถูกเลื่อน สรุปไม่ได้แข่ง และมันก็ไม่มีอีกเลย นั่นแหละ เป็นจุดที่ทำให้เริ่มร้องเพลงมาจนถึงวันนี้

ตูน : แล้วชอบร้องเพลงตั้งแต่เมื่อไหร่

กิต : ชอบร้องเพลงตอนที่ร้องแล้วมีสาวกรี๊ด เนี่ย คุณต้องหัดตอบแบบผม (หัวเราะ)

เต : จริง ๆ ก็เหมือนกัน คือรู้สึกว่าการเล่นดนตรีคือต้องมีผู้หญิงชอบ

กิต : เออ แต่ผมอยู่ชายล้วนนะ แต่ก็จะมีเรื่องตอนมัธยมอยู่คือตอนม.ปลาย ผมมีแฟนอยู่โรงเรียนหนึ่ง แล้วคือโรงเรียนนั้นในทุก ๆ ปีจะมีงานประกวดดนตรี เด็กทุกโรงเรียนจะต้องแห่กันไปประกวดที่นั่นเพราะว่ามันเป็นโรงเรียนหญิงล้วน ในตอนนั้น วงของผมก็ยังไม่เก่งกล้าที่จะออดิชั่นแล้วได้ไปเล่นตรงนั้นน่ะ เลยแบบเอาแล้ว วันนี้มันต้องมีคนมาจีบแฟนเราแน่ ๆ เลย คิดแบบนั้น ซึ่งก็มีจริง เลยแค้นมากว่าวันนึงจะต้องไปเล่นที่โรงเรียนนั้นให้ได้ ก็เลยตั้งหน้าตั้งทำวง แต่ว่าสรุปทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยไปเล่นนะ (หัวเราะ)

รูปภาพจากงานล้อมวง BU ที่จัดขึ้น ณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมา

ม.กรุงเทพ จุดสตาร์ทแรกของ Three Man Down

เต : จริง ๆ พวกเรา Three man down ก็เจอกันที่ม.กรุงเทพ

กิต : เจอกันที่ใต้ตึก A8 (Imagine Village) เมื่อก่อนจะมีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งชื่อ Honeymoon Box ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นแล้ว ถ้าเล่าในมุมเรา เราเข้ามาวันปฐมนิเทศก็พยายามหาวงใหม่ พยายามโวยวายว่ามีใครเล่นดนตรีบ้าง ซึ่งดวงซวยว่าตอนนั้นพวกนี้มันคงไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ เรา ไม่งั้นมันคงได้ยินเสียงที่เราตะโกนแล้ว

เต : ไม่ใช่ คือผมไม่ได้ไปวันปฐมนิเทศ ขี้เกียจ

กิต : ผมไปเพราะว่ากลัวไม่มีเพื่อน ด้วยความที่หน้าตาก็หาเรื่อง ยั่วโมโหคนอยู่แล้ว ถ้าไปทีหลังคือโดนหมั่นไส้แน่นอน เลยต้องรีบไปหาเพื่อนก่อน วันนั้นก็เลยพยายามไปหาว่ามีใครเล่นดนตรีบ้าง จนไปเจอมือกลองคนนึงที่สัญญากันว่าจะมาตั้งวงอยู่ในม.กรุงเทพด้วยกัน นี่คือมุมเรา

เต : ตัดมาที่มุมผมก็เป็นแบบเดียวกัน แต่คนละวัน เพราะวันปฐมนิเทศไม่ได้ไป

ตูน : เป็นตอนที่ไปเรียนวันแรก

เต : ผมกับตูนไปเรียนวันแรกก็เจอเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นมือกลอง

กิต : ซึ่งก็เป็นคนเดียวกับที่เราเจอ คือคนเดียวกันเลย

เต : มือกลองคนนั้นมันก็เลย อะ ไม่เป็นไร มันต้องเล่นวงนอกมหา’ลัยอยู่แล้ว เลยจับกลุ่มผมกับกิตมาคลุมถุงชนกันที่ร้าน Honeymoon  Box ผมก็เดินไปเจอกิต

กิต : มันนัดเหมือนนัดทินเดอร์ ปิ๊ง แมตช์ ซุปเปอร์ไลก์ อะไรแบบนั้น

เต : หลังจากนั้นเราก็อยู่กับเขามาตลอด ไม่เคยทิ้งกันเลย แล้วก็จริง ๆ แล้ว สมาชิกที่เหลือก็เป็นเพื่อนของพวกผมอยู่แล้ว มีกิตที่มาจากคนละโรงเรียน แต่ผม ตูน โอม จะมาจากโรงเรียนเดียวกัน ก็เลยรวมตัวกัน

จุดเริ่มต้นของการเดินสายประกวดดนตรี

เต : พวกเราคิดอะไรไม่ออกก็ประกวดดนตรีเลย ประกวด ๆ แพ้ แพ้ แพ้ ไม่เคยชนะเลย

โอม : เคยชนะสิ งานแรก

เต : อ๋อ มีงานแรกที่ชนะ ชนะแล้วเราคิดว่าตัวเองเก่ง

กิต : หลังจากนั้นก็แพ้รวดเลย คือพวกเรามาปุ๊บ คิดอะไรไม่ออกก็เข้าห้องซ้อมเลย เจอโอม เจอเส็ง ก็ลุยเลย ทำเพลงประกวด งานแรกเราก็ประกวดเลย

ตูน : ใช่ เวทีแรกเป็นโครงการของ 5 GUM ที่ร่วมมือกันระหว่าง Believe Records กับ a day 

กิต : สมัยนั้นก็ประกวดเลย ทำเพลง ‘ผจญภัย’ ที่เป็นเพลงคัฟเวอร์ส่งประกวด แล้วก็ได้เข้ารอบไปเล่นที่ Believe แล้วก็ชนะ คราวนี้ได้ไปเล่นกลางสยามเซ็นเตอร์ นั่นเป็นงานแรกที่เราได้เล่นท่ามกลางผู้คน

เต : ซึ่งก็มีเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยมาดู ตอนนั้นก็นึกว่าตัวเองแน่แล้ว มาแล้ว เท่ เลยลุยประกวดไปเรื่อย ๆ จนแพ้ตลอดหนึ่งปีถึงปีกว่า แพ้ตลอด

เต-เตธนันท์ วงศ์ปรีชาโชค (กลอง)

สุดยอดเวทีการประกวด Melody Of Life มุมมองที่เปลี่ยนไปของ Three Man Down

กิต : มีเวทีการประกวดหนึ่ง ชื่อเวที MELODY OF LIFE ของ SPAWN ครั้งที่เท่าไหร่จำไม่ได้ แต่ครั้งนั้นสำหรับเรา มันเป็นเวทีที่สุดยอดมาก เพราะในนั้นมีทั้งพี่ ๆ Zweet n’ Roll มี Safeplanet มี Whale & Dolph

เต : คือมีวงรุกกี้ที่ตอนนั้นทุกคนยังไม่ประสบความสำเร็จอยู่

กิต : มีวง Fwends ที่เมื่อก่อนชื่อ Cloud Behind อยู่ด้วย คือทุกคนอยู่ในนั้น แล้วเราเป็นใครก็ไม่รู้ แต่เราไม่รู้จักเขาเลยนะตรงนั้น พวกเขารู้จักกันหมดเลย และทุกคนที่เขาขึ้นไปเล่น พวกเขาเล่นเพลงของตัวเอง ไม่มีใครเล่นเพลงคัฟเวอร์ มีแต่วงเราที่เล่นคัฟเวอร์ มันก็เลยเกิดคำถามว่าแบบเรามาทำอะไรตรงนี้ ทุกคนไม่ได้มาแข่ง เขามาโชว์ของให้กรรมการดู แต่เรามาประกวด หลังจากนั้นก็เลยรู้สึกว่าตัวเองมันด้อยค่ามากที่ยังไม่มีเพลงเป็นของตนเอง หลังจากนั้นก็เลยเลิกแข่งและหันมาทำเพลงอย่างเดียว และวงตรงนั้นก็คือวงที่พวกรู้จักทุกวันนี้

เต : ตอนนี้ก็เป็น Whale & Dolph, Safeplanet, Zweet n’ Roll และ Three Man Down

กิต : มันเป็นอะไรที่เจ๋งมากเลยเวทีนี้

‘คำทำนาย’ วีรกรรมสุดแสบที่ห้ามเลียนแบบ

กิต : หลังจากนั้นเราก็เริ่มทำเพลง เป็นเพลงแรกที่ทำกัน เกิดขึ้นในห้องซ้อมมึน ๆ เพราะว่าโอมกับเส็งมาสาย (หัวเราะ) พวกเราก็ยำ ๆ กันแล้วเกิดมาเป็นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ทุกคนใส่ความบ้าคลั่งเข้าไป ทำเกิดเป็นดนตรีขึ้นมา ตูนเอากลับไปเขียนเนื้อกลับมา ออกมาเป็นเพลง ๆ หนึ่ง ชื่อเพลง ‘คำทำนาย’ และด้วยความที่เราเรียนนิเทศกันก็เลยวางแผนออกกอง วางแผนแอบยืมของในมหา’ลัย

เต : แอบยืมของมหา’ลัยไปเยอะ

กิต : นอกจากจะของมหา’ลัยตัวเอง ยังยืมของม.รังสิตด้วย

ตูน : ตอนนี้เขารู้หมดแล้ว

กิต : คือเรามีเพื่อนอยู่ ม.รังสิต ก็โทรหาเลยว่ามันสามารถยืมไฟได้กี่ดวง หยิบมาให้หมด เดี๋ยวฝั่งนี้ก็จะยืมของมหา’ลัย บอกเอาไปทำโปรเจคนั้น โปรเจคนี้ เราขนของกันสองรถกระบะ ขับไปเขาใหญ่ ไปแอบถ่ายกัน ก็เป็นเรื่องราวที่โคตรมันส์เหมือนกันสำหรับชีวิตนี้ เจ็บตัวมาก ทำเอ็มวีอลังการด้วยเงิน 20,000 บาท เพราะว่าออกกันเองหมดเลย แบบทุกอย่างเรายืมหมดเลย ยืมกล้อง ยืมคน ทีมงาน ยืมหมดเลย

เต : ก็อยากจะแนะนำว่ามหาวิทยาลัยควรเพิ่มมาตรการนะครับ

กิต : ให้เด็กยืมของออกไปทำงานของตัวเองบ้าง ?

เต : เปล่า ให้ระวังเด็กทำแบบนี้ (หัวเราะ)

เต-เตธนันท์ วงศ์ปรีชาโชค (กลอง)

เอ็มวีเพลงนี้ปัจจุบันยังมีอยู่ไหม

ตูน : มีครับ ชื่อเพลงว่า ‘คำทำนาย’

กิต : แต่ว่าเราซ่อนเอาไว้อยู่

ตูน : ซึ่งจริง ๆ ถ้าเสิร์ชดูจาก Google ก็จะเจอ ต้องใช้ความพยายามนิดหนึ่ง

กิต : เหตุผลที่เราปิดเอาไว้ เพราะว่ามันเป็นเพลงที่เรายังหาทิศทางที่แท้จริงของวง Three Man Down ไม่เจอ มันเกิดจากความต้องการของทุกคนมารวมกัน ก็เลยค่อนข้างที่จะล้น แต่หลังจากที่ปล่อยปุ๊บ เราได้มีค่ายเลย 

อาจารย์ผู้ชี้ทิศทาง ตัวตน สไตล์ ให้กับ Three Man Down

กิต : เราได้เข้าค่าย ๆ หนึ่งชื่อ Tigger Twins พอเข้าไปก็ได้ทำเพลงอยู่ประมาณปีนึง แบบไม่มีทิศทางใดใด จนเราได้ไปพบเจอกับผู้ให้กำเนิด เป็นถือว่าเป็นอาจารย์ของตูนเลย

ตูน : ก็ตอนนั้นเหมือนเราเข้าไปใน Tigger Twins แล้วตอนนั้นเขาเปลี่ยนเป็น SRP Label ซึ่งตอนนั้นเราทำเพลงกันอยู่ประมาณสองเพลงแล้วรู้สึกว่าทิศทางมันไม่ได้ เดี๋ยวก็ร็อกเกินไป เดี๋ยวก็งง ๆ เราเลยคิดว่าอาจจะต้องมีคนมาช่วยเรา ตอนนั้นเราก็ไปเจอกับ พี่ซุง Mattnimare

ซุง Mattnimare

ตูน : พี่ซุงเรียกได้ว่าเป็นคนที่ปลดล็อคทิศทางของวง Three Man Down เป็นคนชี้ว่าทางนี้น่าไป แล้วเราก็ทำกับพี่ซุงอยู่ประมาณสองเพลงก็คือเพลง ‘อยากฟัง’ กับ ‘ข้างกัน’ หลังจากนั้นเราก็ลุยต่อด้วยตัวเอง

กิต : พี่ซุงบอกว่าเขาไม่ต้องโปรดิวซ์ให้แล้ว เพราะพวกเรารู้กันแล้วว่าวงจะต้องไปทิศทางไหน จัดการกันเองได้เลย พี่ซุงก็เลยวางมือจาก Three Man Down

การพบกันกับ Gene Lab ค่ายที่นำโดย โอม Cocktail

กิต : หลังจากที่ปล่อยเพลง ‘ข้างกัน’ เราก็ได้ย้ายไปอยู่ในค่าย Malama Collective ซึ่งทุกวันนี้ก็คือ Macrowave ที่เปลี่ยนชื่อมา แล้วช่วงจังหวะที่ Malama Collective จะเปลี่ยนเป็น Macrowave มันเป็นรอยแยกที่เราจะต้องเซ็นสัญญาใหม่ว่าเราจะไปต่อกับ Macrowave ไหม จังหวะนั้นเราอยู่ช่วงที่เพลง ’ข้างกัน’ มันพุ่งขึ้นมา และวงเราก็คิดด้วยว่า เราจะ Go Mainstream กันไหม เราจะเข้ามาในทิศทางที่ใหญ่ขึ้นดีไหม แล้วมันก็ประจวบเหมาะกับที่ Gene Lab กำเนิดขึ้นมาพอดี

กิต : พี่โอมก็โทรมาพอดี ใช่ คือตอนนั้นสิบโมงเช้าของสักวันใดวันหนึ่ง มีสายเรียกเข้าโทรมาหา ‘ฮัลโหล เอ่อ ผมโอม cocktail นะครับ’ จังหวะนั้นผมที่เป็นคนรับก็นึกเลย นี่มันอำแล้ว เป็นเตรึเปล่า (หัวเราะ) แต่ก็คิดว่าอย่าเตมันจะอำเป็นโอม Cocktail เหรอ ไม่น่าใช่ ผมก็เลย ‘ฮัลโหล ใครนะ’ ‘โอม Cocktail’ อ่า ครับ สักพักถึงรู้สึกว่าไม่ใช่การอำแล้ว เนื้อเสียงฝั่งนั้นเริ่มเหมือน เลยแบบ เฮ้ย พี่โอมว่ะ เลยเข้ามาคุยกับวงว่ามีพี่โอมโทรมาให้ชวนไปคุยว่าอยากจะมาอยู่ค่าย Gene Lab ไหม ลองเข้ามาแข่งในรายการที่จะต้องส่งเข้าออดิชั่น พวกเราก็เลยส่งเข้ามา แล้วก็ได้มาอยู่ Gene Lab นี่คือทั้งหมด ประมาณนั้น

เต : แล้วเราก็ทำเพลงมาเรื่อย ๆ กับ Gene Lab เพลง ‘ฝนตกไหม’ จนถึงเพลงล่าสุด ‘เลือกคนที่เขารักเรา’ ก็ยังอยู่กับ Gene Lab ของพี่โอม

Gene Lab ค่ายเพลงคุณภาพที่นำโดย โอม Cocktail

ได้รับการติดต่อจากพี่โอมให้เข้ามาแข่งรายการ Band Lab

ตูน : ใช่

เต : จริง ๆ แล้วเป็นการคุยกันในเรื่องของชวนมาอยู่ แต่ว่าจะต้องผ่านกระบวนการในการคัดกรองด้วยนะ ไม่ใช่จะให้เข้ามาอยู่ง่าย ๆ

ตูน : คือเขาก็จะต้องดูหลาย ๆ อย่าง

กิต : มันเป็นความรู้สึกเหมือนชวนว่าลองมาสอบไหมมากกว่า

ประสบการณ์ล้มลุกคลุกกคลาน จุดที่ยากของการทำวง

กิต : เอาจริง ๆ คือมันยากทุกตรง มันไม่มีช่วงที่ง่ายเลย ตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงล่าสุดที่ปล่อยออกไปก็ยังรู้สึกว่ายาก แต่แค่ยากคนละแบบ เพลงแรกมันยากตรงที่ไม่มีใครเชื่อในพวกเราเลย ไม่ทุนทรัพย์ ไม่มีอะไรเลยจริง ๆ มีแค่พวกเราที่เชื่อในตัวเอง พวกเราก็เลยต้องลุยกันเอง แล้วมันก็จะมีบางเพลง อย่างเพลง ‘อยากฟัง’ ก็แอบยืมกล้องของภาคฟิล์มมาถ่าย คือวงเราจะเป็นวงที่หัวหมอ ขี้โกง

เต : ไม่มีทุน ไม่มีกำลังอะไร ก็ใช้สมองแทน

กิต : อย่างธีสิสเราต้องถ่าย 4 วัน ก็จะยืมกล้องมา 7 วัน เพื่อทีอีก 3 วันจะไปถ่าย mv มหา’ลัยไม่รู้ รู้ตอนนี้ที่บอกนี่แหละ

เต : คือความยากจะเป็นคนละแบบ เพราะไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลย ก็ยากที่จะทำให้เกิดขึ้น

กิต : แต่อย่างทุกวันนี้ มีเงินลงทุนแล้ว เราก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่ลงทุนให้ไม่รู้สึกสูญเปล่า

เต : เงินก้อนนี้ที่เรามีจะทำให้ไปถึงทุกคนได้มากที่สุดอย่างไร โจทย์แต่ละช่วงของวงไม่เหมือนกัน

กิต : เพราะมันไม่ใช่เงินของเรา เราก็ต้องรับผิดชอบเงินนี้ให้ดีที่สุด มันเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเองด้วย รับผิดชอบต่อผลงานตัวเองด้วย รับผิดชอบต่อนายทุนด้วย

เต : แล้วก็รับผิดชอบต่อคนฟังด้วย ผมว่าเราต้องคิดเยอะว่าผลงานที่ทั้งนายทุน ทั้งวง ทั้งคนฟังรู้สึกมีความสุข มันคืออะไร

กิต : บางคนอาจจะคิดว่าสบายแล้วนี่ ได้อยู่ค่าย มีเงินให้ ปล่อยเพลงไป แต่ถ้าสมมติเราปล่อยออกไป เราปล่อย 4 เพลงแล้วไม่ดังหมดเลย เราเสียไปล้านนึงแล้ว ล้านกว่าบาท แล้วยังไง คือมันเครียด มันเครียดมาก ๆ เลยว่าสุดท้ายเราจะเหมือนเด็กที่เอาเงินผู้ใหญ่มาใช้เล่น ๆ

เต : มันก็ต้องรับผิดชอบ เป็นความคิดที่จะต้องรับผิดชอบต่อทุกคน โดยที่จะทำยังไงให้ตัวเองมีความสุขด้วย

โอม-กิจฎิเมธ ชาญพานิช (เบส)

การทำเพลงระบบคอมมิวนิสต์ สิ่งที่ Three Man Down มีแต่วงอื่นไม่มี

กิต : สำหรับวงเรา อย่างแรกเลยน่าจะเป็นเรื่องของระบบการทำงานแบบ ไม่รู้นะ นี่ผมคิดเอง เราเป็นคนทำงานแบบออแกไนซ์ คนทำงานแบบกองถ่าย ออแกไนซ์ เป็นระบบแบ่งพาร์ตอย่างชัดเจนโดยที่ไม่มีการตะขิดตะขวงใจกัน เพราะว่ามันไม่ใช่แผนกเรา คือโอเค เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจได้ เรายื่นคำร้องได้ แต่ถ้าไดเรกเตอร์ของพาร์ตนั้นบอกว่าไม่โอเค เราก็ต้องเข้าใจ เพราะเรามอบตำแหน่งนี้ให้เขาแล้ว คล้าย ๆ กับการออกกอง ถ้ามีไดเรกเตอร์ เราต้องเชื่อผู้กำกับ

เต : คือเราไม่ได้มีแนวคิดแบบนักดนตรีครับ เรามีวิธีคิดแบบคนทำหนัง ทำรายการ เพราะว่าอาจจะเป็นเพราะที่้เราเรียนนิเทศด้วย เราเลยแบ่งพาร์ทในการโปรดิวซ์ ไดเรกเตอร์ แล้วก็เป็นคนออกกอง รันเนอร์ ทุกอย่างมีตำแหน่งหมด ดังนั้นพอเราได้ไปรู้จักกับเพื่อนที่เป็นนักดนตรีก็จะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เขาจะเอาเพลงเป็นตัวตั้ง แบ่งพาร์ตดนตรี อะไรอย่างนี้ วงเราอาจจะไม่ได้เด่นทางด้านนั้นมาก แต่การจัดการของเราคือเรามั่นใจว่าผลงานของเราจะมีระเบียบและเป็นไปตามทิศทางที่เราคิดไว้แล้ว

กิต : ถ้าเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าวงเรามีมากที่สุดคือเราต้องการความเป็นระเบียบ เราต้องการทีมโปรดักชั่นที่หนักแน่น ถ้าคุณบอกเดดไลน์วันนี้ เราก็จะเอาเพลงมาให้คุณวันนี้ แต่คุณห้ามเบี้ยวอะไรเราเลยนะ ประมาณนี้ คือผมขอแพลนงานปีนี้ทั้งปี โยนมาให้ผมแล้วเดี๋ยวผมจะจัดการแพลนนั้นให้ จะไม่มีการมาบิดกัน เพราะว่าเราวางแผนกัน เราจัดการเวลากัน มันเหมือนการทำงานกองถ่าย ตูนดูแลเพลง โอมดูแลเงิน เตดูแลพาร์ตนู้น คือทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง ถ้าตูนทำเพลงมา ถ้าวงบอกไม่โอเค ถ้ามันไปในทิศทางที่ตูนบอกว่ามันโอเคแล้ว เราก็ต้องฟัง เพราะมันเป็นไดเรกเตอร์ด้านนี้

เต : เอาง่าย ๆ เหมือนทุกคนมีหนึ่งเสียง แต่ตูนอาจจะมีสองถึงสามเสียง

กิต : คือมันเป็นการแบ่งกันอย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่ Three Man Down มี และมั่นใจว่าน่าจะน้อยวงที่มี คือวงเราเป็นคอมมิวนิสต์แค่นี้แหละ ประชาธิปไตยไม่มีอยู่จริง

เต/ตูน : เฮ้ย

กิต : ในวงดนตรี ๆ เพราะเราคิดว่าการทำงานแบบนี้มันจะเกิดการทะเลาะกันได้น้อยที่สุด ถ้าเราเอาผลงานเป็นตัวตั้ง ทุกคนอยากที่จะทำงานให้ดี แล้วถ้าทุกคนเอาความรู้สึกตัวเองเป็นตัวตั้ง มันจะทะเลาะกัน แต่ถ้าเราเอางานเป็นตัวตั้ง เราจะไม่ทะเลาะกันเลย ประมาณนี้

‘ฝนตกไหม’ จากวงเติบโตช้า สู่การทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

"แค่อยากจะรู้ว่าตรงที่เธอยืนนั้นมีฝนตกไหม สบายดีไหม เธอกลัวฟ้าร้องหรือเปล่า ถ้าหากตรงนั้นไม่มีใคร ฉันพร้อม ฉันพร้อมจะไป ในคืนที่ฝนโปรยลงมา"

เต : จริง ๆ แล้ว เราคุยกันตลอดว่า Three Man Down อาจจะเป็นวงที่โตช้า แต่ว่าจะโตขึ้นเรื่อย ๆ

กิต : โตช้าแต่โตนะ ถามว่ารู้สึกยังไง ก็รู้สึกแปลกไปยังไงก็ไม่รู้ (ร้องเพลง) 

เต : คือเพลง ‘ฝนตกไหม’ ปล่อยออกมาสองเดือนปุ๊บ ชีวิตการทำงานของเราเปลี่ยนไปหมดเลย

กิต : ใช่ จากที่นอนอยู่บ้านเปื่อย ๆ กลายเป็นต้องออกจากบ้านทุกวัน ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังกับเพลงนี้ด้วยซ้ำในตอนแรก เราคาดหวังกับเพลง ‘ไปเถอะเธอ’ มากกว่าอีก เป็นเพลงก่อน ‘ฝนตกไหม’ คือเราคาดหวังมาก แต่พอมันไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังมากเท่าที่ควร เราก็เลยทำให้มันโฟลวไป

เต : เลิกคาดหวังแล้วก็ทำต่อไป

กิต : ทำให้มันดี แล้วพอมันมา มันก็มาโดยไม่รู้ตัวจริง แบบ เฮ้ย แล้วก็มาอีก ๆ มันก็ไม่หยุด จนทุกอย่างมันประโคมเข้ามา รู้สึกตั้งตัวไม่ทันก่อนเลยอย่างแรก ตอนนี้ก็ยังช็อคอยู่ 

เต : เพราะว่าการทำงานของเราค่อนข้างที่จะต้องเปลี่ยนไปทั้งหมดเลย กิจวัตรในการใช้ชีวิตต้องใช้ชีวิตกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แล้วเราก็ต้องทำงานกลางวันด้วย เพราะว่ายังต้องทำเพลงหรือว่าเดินสายโปรโมต

กิต : ตูนออกจากงานเลย ลาออกจากงาน

เต : คือทุกคนต้องเคลียร์ทุกอย่างของตัวเองเพื่อกลับมาใช้ชีวิตกับวง

แรงบันดาลใจการทำเพลง เพลงรักของตูน เพลงเศร้าของทุกคน

ตูน : แรงบันดาลใจในการทำเพลงของเรานะครับ ก็ต้องบอกแต่ละเพลงจะมีแรงบันดาลใจที่ไม่เหมือนกัน อย่างที่พูดกันไปก่อนหน้านี้ว่าวงเราจะทำงานโดยวางแผนเป็นรายปี ซึ่งในหนึ่งปี เราก็จะคิดกันแล้วว่าจะมีเพลงช้ากี่เพลง จะมีเพลงเร็วกี่เพลง โจทย์ก็จะมาจากตรงนั้น สมมติว่าเพลงแรกเพลงช้า เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าเพลงช้าเพลงนี้จะแต่งจากอะไรดี แต่ถ้าจะถามว่าแรงบันดาลใจมาจากอะไร แต่ละเพลงไม่เหมือนกันครับ

เต : อย่างบางเพลงอาจจะมาจากเรื่องของกิต บางเพลงอาจจะมาจากเรื่องของตูน บางเพลงอาจจะเป็นเรื่องของโอม

ตูน : ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเพลงรักจะเป็นเรื่องของผม แต่ถ้าเป็นเพลงอกหักก็จะเป็นเรื่องของที่เหลือทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของผมเลย

ตูน-พีรพล เอี่ยมจำรัส (กีตาร์)

‘เลือกคนที่เขารักเรา’ เพลงใหม่ล่าสุดที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายญี่ปุ่น

ตูน : ที่มาของเพลง ‘เลือกคนที่เขารักเรา’ ก็คือปีนี้เราคุยกันว่าเพลงแรกจะต้องเป็นเพลงเร็ว ให้อารมณ์เหมือน ‘ผ่านตา’ แต่ว่าตอนแรกเราก็ลองทำเพลงที่คล้าย ๆ ‘ผ่านตา’ แต่ก็รู้สึกว่ามันเบื่อแล้ว เนื้อหามีความสุขเกินไป เราเลยลองทำเพลงเร็วที่มันมีเนื้อหาเศร้า อกหักดู แล้วเราก็เลยลองดู จริง ๆ เราจะมีสมุดเล่มนึงที่จดไว้ว่ามีคำพูดอะไรบ้าง แล้วเราก็ไปคำว่า “เลือกคนที่เขารักเรามันยากตรงไหนวะ” มา แล้วเราก็เอามาตีความต่อ

เต : ส่วนทำไมต้องเป็น MV ญี่ปุ่น มันเกิดขึ้นจากผู้กำกับ MV คือเขาเป็นคนที่อินเรื่องญี่ปปุ่นอยู่แล้ว ถ้าสังเกตุเรื่องของภาพที่เกิดขึ้นใน ‘ฝนตกไหม’ กับ ‘เลือกคนที่เขารักเรา จะคล้าย ๆ กัน เราใช้ผู้กำกับคนเดิม เขาก็มาเสนอว่าลองทำเป็นญี่ปุ่นไหม เอาแบบคนในทีมเบสบอลหลงรักผู้จัดการ แต่ผู้จัดการไปหลงรักทีมอื่น ทำไมไม่อยู่กับทีมเราล่ะ นั่นคือคำถาม แล้วก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เราก็พยายามที่จะพิชิตใจผู้หญิงให้ได้ ตั้งใจเล่น ตั้งใจตี ไวบ์มันก็เลยออกมาเป็นญี่ปุ่น ๆ ซึ่งเราก็ชอบมันมากครับ รู้สึกว่ามันก็เข้ากับเพลงนี้ดี

เพลงของ Three Man Down ที่ชอบมากที่สุด

ตูน : คุกเข่า, เธอ (เพลงของวง Cocktail)

เต : เล่นอีกแล้วนะ (หัวเราะ)

โอม : ‘อยากฟัง ครับ เพราะว่ามันเป็นเพลงแรก ๆ ก็เลยชอบ ถ้าไม่มีเพลงนี้ก็ไม่มี Three Man Down 

เต : ‘อยากฟัง’ ครับ ก็เพราะว่ามันเป็นจังหวะที่ตีง่ายที่สุด มันง่าย

ตูน : ของผมนี่ ชอบ ‘ฝนตกไหม’ แล้วกัน เพราะว่าถ้าไม่มีฝนตกไหมก็จะไม่มีน้อง ๆ มาสัมภาษณ์ในวันนี้ (หัวเราะ)

กิต : ผมชอบ ‘ข้างกัน’ ครับ เหตุผลก็ไม่บอก (หัวเราะ) นั่นแหละ ผมรู้สึกว่ามันเศร้าดี เพลงมันเศร้า มันเป็นเพลงรักนะ แต่ว่าผมฟังแล้วเศร้า ผมบอกแค่นี้แหละ ทุกวันนี้ฟังแล้วก็ยังเศร้าอยู่

แนวเพลงที่คิดอยากจะทำต่อจากนี้

ตูน : เราอยากทำแบบว่า ไม่เฉียบ ชิล ๆ สบาย ๆ เหมือนเพลง ‘คนเศร้า2019’ อยากทำเพลงแบบนั้นอีก

กิต : ทำอยากทำพังก์ พังก์ร็อก

เต : ผมอยากทำแบบกิต บอกแค่นี้ ผมอยากทำเพลงร็อก แต่ว่าขอป็อปก่อนนะ อีกสักพักเลย

กิต : อะ ผมอยากทำพังก์ป็อป ไม่ต้องทำพังก์ร็อกก็ได้ แต่เป็นพังก์ป็อป ไม่ต้องร้องแหกปากขนาดนั้น ร้องเพราะเลยแหละ แต่ว่าดนตรีมันส์ ๆ ถ้าให้นึกก็ รุ่นพี่ No More Tear อะไรแบบนี้ครับ สมัยนั้น

โอม : ส่วนผมอยากทำแจ๊สครับ

ตูน : โอเค

กิต : จบตรงนั้นแหละครับ (หัวเราะ)

Inspiration ศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจ

โอม : เมื่อกี้ผมบอกว่าผมอยากทำแจ๊สนะครับ ผมชอบ One OK Rock ครับ

เต : ผมชอบ Polycat ครับ ชอบพี่นะ ชอบเพลงของ Polycat พวกจังหวะกลอง จังหวะเบส มันทำให้ผมรู้สึกอยากร่วมงานด้วย

ตูน : เราชอบ 1975, Lany, Lauv, Troye Siyan ครับ

กิต : ผมชอบ Bee gees, Oasis ครับ

ฝากถึงแฟนคลับและคนที่ต้องการจะติดตามวง

กิต : พวกเราวง Three Man Down นะครับ สามารถติดตามข่าวสารได้ผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ นะครับ Three Man Dowm ทั้งหมดเลย นี่คือสำหรับการติดตามข่าวสารแบบไร้สาระ สำหรับคนที่ต้องการติดตามข่าวสารแบบจริงจังจะอยู่ในไลน์สแควร์ของแฟนคลับนะครับ เพราะในนั้นเขาจะคุยเรื่อง Three Man Down เยอะ จะคุยกันจริงจัง เพราะพวกเราไม่มีสาระ ทางวงออฟฟิเชียลไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่นะครับ

กิต : ก็ติดตามฟังเพลงได้ในแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งทุกแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น Joox, Spotify, Apple Music, Youtube แล้วก็ฝากเพลงใหม่ของพวกเรา ‘เลือกคนที่เขารักเรา’ ฝากที่บ้านกล้วยนี่แหละครับ แล้วก็อย่าลืมค่ายของพวกเราด้วยครับ ค่าย Gene Lab ขอฝากติดตามด้วย มีศิลปินมากมายให้ติดตามครับ เจอกัน

หลังจากนี้ เรามีความเชื่อเหลือเกินว่าชื่อเสียงและตัววง Three Man Down จะยังคงเติบโตและทะยานขึ้นไปเรื่อย ๆ พวกเขาทั้งห้าคนจะยังคงสร้างสรรค์แนวเพลงใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ำใคร และจะทำให้เมืองนี้ของเราทุกคนไม่เผชิญกับความเหงาอย่างลำพังอีกต่อไป

บันทึกเส้นทาง 8 ปี “Three Man Down” เหล่าลูกผู้ชายที่ฟื้นคืนชีพจากความตาย

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค และผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’

Photographer

มีความฝันอยากเป็นช่างภาพ ได้ท่องเที่ยวไปเจอสิ่งใหม่ ๆ แต่เพิ่งได้พบว่าการเขียน เหมือนการได้พบสิ่งใหม่ และอยู่เพียงแค่ปลายปากกาของเราเท่านั้นเอง

Video Editor

พิสูจน์การมีตัวตนผ่านตัวหนังสือและเล่าเรื่องราวผ่านงานเขียน