หากพูดถึงคำว่า ‘รอยสัก’ ในอดีตคนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึง ‘แก๊งยากูซ่า’ ที่สักลายมังกร หรือ รอยสักขนาดใหญ่เต็มตัว หรือสักเพื่อตีรันฟันแทงไม่เข้า ตามความเชื่อของไทยแต่โบราณ ใครจะรู้ว่าปัจจุบันความหมายของรอยสักมีมุมมองใหม่เกิดขึ้นเพิ่มเติม เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มหันมามองว่ารอยสักเป็นงานศิลปะมากขึ้นกว่าเก่า จึงมีรอยสักที่แปลกตาแตกต่างออกไปจากเดิม เช่น การสักแบบมินิมอล ลวดลายเล็ก ๆ การสักตัวการ์ตูนที่ชอบ จนถึงการสักแบบสีแบล็คไลท์ หากไม่ส่องไฟแบล็คไลท์ไปที่รอยสักก็จะมองไม่เห็น
จากความนิยมของรอยสัก ทำให้เกิดธุรกิจสักลายขึ้นอย่างมากมาย Duran หนึ่งในร้านสักลาย ซึ่งมีเจ้าของร้านและช่างสักเป็นหญิงสาวสวย พี่ดรีม-วริศรา พรมลา มาเล่าเรื่องราวให้พวกเราเข้าใจเกี่ยวกับรอยสักที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมากขึ้น
เราชวนพี่ดรีมคุยเรื่องราวของรอยสัก มุมมองที่คนทั่วไปมีต่อรอยสัก พี่ดรีมบอกกับเราว่า ในอดีตรอยสักยังไม่เป็นที่นิยม และไม่เป็นที่ยอมรับอย่างในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ในอดีตมองว่ารอยสักเป็นเรื่องน่ากลัว แต่สังคมไทยเริ่มยอมรับ รอยสักเป็นรสนิยมส่วนตัว เรียกว่าความคิดเปิดกว้างกับเรื่องนี้
วงการรอยสักเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง จากมุมมองของพี่ดรีม เดี๋ยวนี้คนนิยมมาสักลายขนาดเล็ก มีความมินิมอล (Minimal) แต่ก่อนถ้าตัดสินใจมาสักก็จะเลือกลายใหญ่ เหมือนยอมเจ็บครั้งเดียวให้คุ้มค่ากับขนาดของลายได้ที่รับมา เราถามย้ำเพื่อความแน่ใจว่าคนนิยมรอยสักเล็ก ๆ จริงหรือไม่ พี่ดรีมยืนยันว่า “จริงค่ะ ส่วนมากจะเป็นลายเล็ก ๆ น่ารัก เน้นไปทางลายเล็ก แต่สื่อความหมายได้ชัดเจน เช่น สักสัญลักษณ์เล็ก ๆ หรือสักชื่อจริงของตนเอง”
สิ่งที่น่าสนใจของคนรักรอยสัก ที่ร้านของพี่ดรีมพบว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง บางคนสักลายมินิมอลครั้งเดียวพร้อมกัน 3-4 ลาย เดี๋ยวนี้ผู้หญิงให้ความสนใจกับเรื่องการสักมากขึ้น อย่างที่พูดไปว่าคนมองการสักเป็นศิลปะ”
อีกทั้งยังเป็นวัยรุ่นที่สนใจการสักอีกด้วย “ส่วนมากจะเป็นวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป จนถึงวัยทำงานตอนต้นอายุประมาณ 30-35 ปี” พี่ดรีมกล่าวด้วยรอยยิ้ม
พี่ดรีมแนะนำเราเพิ่มเติม “ถ้าเป็นนักศึกษาที่กำลังอยากจะสัก แนะนำให้สักภายในร่มผ้าก่อน เพราะเรายังไม่รู้ว่าในอนาคตเราต้องประกอบอาชีพอะไร อาชีพหรือองค์กรนั้นจะเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ อยากให้คิดให้ดีก่อนสักนะคะ”
หลังได้พูดคุยกับพี่ดรีมช่างสักสาวสวยแห่งร้าน Duran ทำให้ได้รู้ถึงข้อมูลในการสักมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาพูดคุยกับคนที่ตัดสินใจสักว่า เขามีความคิดเห็นต่อการตัดสินใจในการสักอย่างไร
น้องปาล์ม (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกกับเราถึงมุมมองที่มีต่อรอยสัก “คิดว่ารอยสักเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งเหมือนการวาดรูป แต่เพียงย้ายจากวาดบนกระดาษมาอยู่บนตัวมนุษย์” ตัวน้องปาล์มเองก็มีรอยสักเล็ก ๆ เช่นกัน เธอชวนเราคุยต่อ “ตรงข้อมือเป็นลายพระจันทร์ เพราะเป็นคนชอบช่วงเวลากลางคืนทำให้รู้สึกสบายใจและสงบ ส่วนลายที่ไหล่เป็นชื่อจริงของตนเอง”
เราสนใจเหตุผลว่าทำไมน้องปาล์มถึงตัดสินใจสัก “ถ้าพูดกันจริง ๆ ค่อนข้างตัดสินใจนาน มีความชอบในเรื่องรอยสักมาก แต่ก็กังวลว่าคนที่บ้านจะไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะคุณแม่ แต่พอไปคุยจริงจัง ท่านกลับพูดให้เราสบายใจ เคารพการตัดสินใจของเรา จึงตัดสินใจสัก เราคิดว่าถ้าอยากทำอะไรให้ทำเลย แต่อย่าลืมบอกผู้ใหญ่ด้วย เผื่อท่านมีคำแนะนำอะไร ถ้าไม่ทำให้ผู้อื่นและตนเองเดือดร้อนก็สักได้ แต่ต้องทำใจยอมรับว่า มีคนชอบ ก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบนะ เพราะเราอยากสักนอกเสื้อผ้าด้วย”
“ถ้าชอบ อยากที่จะสัก คิดให้ดีก่อน และควรปรึกษาครอบครัว เพราะแต่ละครอบครัวมีความคิดต่อเรื่องนี้ต่างกัน” น้องปาล์มให้ความคิดเห็นกับเรา เพื่อเป็นข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากสัก
แม้ว่ารอยสักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานศิลปะมากกว่าในอดีต แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ไม่คิดแบบนั้น เราควรเคารพความชอบ และความเห็นของคนอื่นเช่นกัน และสิ่งสำคัญที่สุดหากตัดสินใจจะสัก ควรคำนึงถึงผลระยะยาว และปรึกษาทางบ้านก่อน เพราะเมื่อตัดสินใจสักไปแล้ว ภายหลังอยากจะลบรอยสักนั้นออกไป ก็ยังไม่มีนวัตกรรมทางการแพทย์ใดที่ลบรอยสักได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ขอให้การตัดสินใจสัก ทำด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ รอยสักนั้น จะเป็นรอยสักเล็ก ๆ ที่แสดงถึงความรัก แสดงถึงพลังการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สะท้อนถึงการมีทัศนคติที่ดี และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์