เรื่องราวการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคของพระเอก เพื่อปกป้องครอบครัวและคนที่รักยังคงเป็นเรื่องที่ครองใจผู้อ่านมาทุกยุคทุกสมัย ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer หรือ Kimetsu no Yaiba) แอนิเมชันเรื่องดังจากประเทศญี่ปุ่น คือหนึ่งในนั้นด้วยแน่นอน เราจะพาไปทำความรู้จักพร้อมกับอธิบายว่าทำไมอนิเมะเรื่องนี้ถึงดังเป็นพลุแตก และมีการพูดถึงเป็นอย่างมาก รายได้กว่าพันล้านเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความยิ่งใหญ่ของแอนิเมชันเรื่องนี้

คำเตือน: บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาในฉบับอนิเมะ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

จากนิยายเรื่องสั้น สู่แอนิเมชันระดับพันล้าน

ดาบพิฆาตอสูรเขียนขึ้นโดย อาจารย์โคโยฮารุ โกโตเกะ (Koyoharu Kotouge) เจ้าของรางวัล JUMP Treasure Newcomer Manga Award ในปี 2013 และด้วยความที่เธอชอบวาดตัวเธอเองเป็นรูปจระเข้ที่ใส่แว่นบิดงอเข้าไปในมังงะด้วย แฟนการ์ตูนชาวไทยจึงนิยมเรียกเธอว่า อาจารย์เข้

อาจารย์เคยบอกไว้ว่า “ฉันอยากวาดนักดาบที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าเขาจะต้องเจอเรื่องกดดันแค่ไหนก็ตาม” และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ‘อาจารย์เข้’ ตัดสินใจเขียนนิยายเรื่องสั้น นักล่านักล่า ก่อนจะได้รางวัลและกลายเป็นผลงานแจ้งเกิดให้กับอาจารย์ มีการนำเนื้อเรื่องในส่วนนั้นมาดัดแปลงและทำเป็น มังงะ ตามด้วย แอนิเมชัน และ ภาพยนตร์ ในภายหลัง ทั้งเรื่องส่งประกวดและเรื่องสั้นที่อาจารย์เคยเขียนได้นำมารวบรวมและทำออกมาเป็นเล่มแยกขายแล้ว โดยใช้ชื่อหนังสือว่า รวมเรื่องสั้นของ Koyoharu Kotouge

เปิดตำนาน ``ดาบพิฆาตอสูร``

เหตุเกิดจากครอบครัวคามาโดะที่ได้สูญเสียคุณพ่อไป “คามาโดะ ทันจิโร่” พี่ชายคนโตของครอบครัวคามาโดะ จึงต้องขึ้นมาเป็นเสาหลักของบ้านตั้งแต่เด็กโดยต้องทำอาชีพเก็บฟืนจากป่าบนเขาลงไปขาย และอยู่มาวันหนึ่ง ทันจิโร่ที่เพิ่งกลับมาจากการขายฟืนพบว่าครอบครัวของตนได้ถูกอสูรบุกเข้ามาทำร้ายและคร่าชีวิตแม่และน้อง ๆ ของตนไป เหลือเพียงแต่ “คามาโดะ เนซึโกะ” น้องสาวของเขาที่ยังมีชีวิตรอดแต่มีอาการบาดเจ็บหนัก และเธอก็ค่อย ๆ กลายเป็นอสูรทำให้ทันจิโร่ต้องหาวิธีพาน้องสาวของตัวเองไปรักษา พร้อมกับตามล่าคนที่ทำให้น้องสาวเธอกลายร่าง

ขอขอบคุณภาพ travel.trueid.net

ปัจจุบัน มังงะจบการเผยแพร่เรียบร้อยแล้ว มีจำนวนทั้งสิ้น 23 เล่มถ้วน และในด้านแอนิเมชันปัจจุบันทำออกมาแล้ว 1 ภาค ภาพยนตร์ 1 เรื่อง และเนื่องจากกระแสตอบรับดี จึงมีการผลิตแอนิเมชันภาคต่อไปในภายหลัง

พัฒนาจากความเรียบง่ายสู่ความหวือหวา

เมื่อพูดถึงความคิดเห็นของดาบพิฆาตอสูรในช่วงแรกจะพบว่าความคิดเห็นในด้านบวกน้อยมาก และจะเน้นไปในทางลบมากกว่าเนื่องจากมีเนื้อหาที่ดำเนินไปเป็นเส้นตรงมากกว่า ซ้ำซากกับการ์ตูนโชเน็น (Shonen) เรื่องก่อนและยังรวมถึงลายเส้นที่ไม่น่าดึงดูด แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปในตัวเนื้อหาเริ่มมีความหวือหวาและน่าสนใจมากขึ้น มีการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เช่น มีการอธิบายว่าตัวละครหลายตัวในเรื่องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่ ก่อนจะค่อยมีการเปิดเผยมาเรื่อย ๆ รวมถึงการผูกและคลายปมเนื้อเรื่องได้อย่างเฉียบขาดและยังมีลายเส้นที่แสดงถึงพัฒนาการได้อย่างชัดเจน ทำให้อาจารย์โคโยฮารุ โคโตเกะ สามารถลบคำสบประมาทที่เกิดขึ้นในช่วงแรกได้ และหลังจากนั้นความนิยมของดาบพิฆาตอสูรได้พุ่งสูงขึ้นและกลายเป็นกระแสมาจนถึงทุกวันนี้

ไม่ใช่ปีทองแต่เป็นยุคของดาบพิฆาตอสูร

ดาบพิฆาตอสูรได้รับความนิยมในทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นมังงะ ไลท์โนเวล (Light novel) แอนิเมชัน รวมไปถึงภาคเดอะมูฟวี่ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย ORICON Chart ได้ให้ข้อมูลว่า มังงะทำสถิติขายดีที่สุดในปี 2019 สามารถโค่นแชมป์ 11 สมัยอย่างวันพีช (One Piece) ลงได้ ด้วยจำนวนกว่า 82 ล้านเล่ม ขณะที่อันดับ 2 อย่างคิงดอม (Kingdom) มียอดขายเพียง 8 ล้านกว่าเล่มเท่านั้น ดาบพิฆาตอสูรฉบับไลท์โนเวลมียอดขายกว่า 2 ล้าน 7 แสนเล่ม อันดับสองอย่าง RE : Zero มียอดขายเพียง 7 แสนกว่าเล่ม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ไม่ใช่เพียงปีของดาบพิฆาตอสูร แต่เป็นยุคของซีรีส์นี้อย่างสิ้นเชิง

เดอะมูฟวี่กู้วิกฤติ

ด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นซบเซาลง แต่การเข้ามาของ ดาบพิฆาตอสูร สามารถช่วยกู้วิกฤติของประเทศญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนนโยบาย ‘Cool Japan’ นั่นคือการสนับสนุนสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของญี่ปุ่น อาทิ มังงะ แอนิเมชัน เกม หรือดนตรี นับตั้งแต่ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่ : ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ เข้าฉายในเดือนตุลาคม 2020 เฉพาะในประเทศญี่ปุ่นสามารถทำรายได้ถึง 32,500 ล้านเยน หรือเป็นเงินไทยประมาณ 9,465 ล้านบาท โดยเป็นแอนิเมชันที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลแทนที่แอนิเมชันดีกรีออสการ์อย่าง Spirited Away ของสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ที่ครองตำแหน่งนี้มากว่า 19 ปีลงได้

ทั้งนี้หากนับจากสถิติทั่วโลก เดอะมูฟวี่นี้สามารถกวาดรายได้ไปถึง 315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,500 ล้านบาทเลยทีเดียว ถือว่าการเข้ามาของ ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ สามารถเข้ามากอบกู้วงการภาพยนตร์และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงนั้นได้ดีเลยทีเดียว และในประเทศไทย ‘ดาบพิฆาตอสูร เดอะมูฟวี่: ศึกรถไฟสู่นิรันดร์’ สามารถทำรายได้ทะลุ 100 ล้านบาทได้เป็นที่เรียบร้อย

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ดาบพิฆาตอสูรได้รับความนิยมอย่างล้นหลามนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งเราจะพาไปดูพร้อมกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง

ก้าวไปอีกระดับกับค่าย Ufotable

เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่าคำชมมากมายส่วนหนึ่งที่ได้รับของดาบพิฆาตอสูรคือแอนิเมชันที่สวยงามและสมจริง ซึ่งความดีความชอบของเรื่องนี้ต้องยกให้กับทีมกราฟิกแอนิเมชันอย่างสตูดิโอ Ufotable ซึ่งรับหน้าที่ในการผลิตทั้งอนิเมะที่เป็นตอนและเดอะมูฟวี่ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ โดยทางสตูดิโอนั้นสร้างผลงานที่มีชื่อเสียงมาแล้วมากมายหลายเรื่อง เช่น Kara no Kyoukai , Fate/Zero , God Eater และ Toriko

โดยสตูดิโอ Ufotable สามารถสื่อความสวยงามในแต่ละฉากที่ในฉบับมังงะไม่สามารถวาดได้และใส่ใจในทุกรายละเอียดซึ่งได้รับคำชมในจุดนี้อย่างล้นหลาม

ขอขอบคุณภาพ akiban.com

ไม่เพียงแค่ภาพแต่รวมถึงเพลงด้วย

ไม่ใช่เพียงแต่มังงะและแอนิเมชันเท่านั้นที่มีกระแสตอบรับที่ดี แต่ยังรวมไปถึงเพลงประกอบแอนิเมชันอย่าง ‘Gurenge’ ที่ร้องโดย LiSA ศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่น ซึ่งเธอเคยมีผลงานการร้องเพลงประกอบแอนิเมชันมาแล้ว เช่น Sword Art Online, Fate/Zero และแอนิเมชันเรื่องอื่นอีกมากมาย โดยเพลง Gurenge เคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งใน Japan’s Year-End Hot Animation of The Year 2020 และมีการนำไปร้อง cover ในหลายเวอร์ชัน อาทิ อังกฤษ จีน และไทย และเมื่อภาพยนตร์เข้าฉายที่ประเทศไทย ยังได้มีการนำเพลงมาร้องใหม่จากนักร้องไทยชื่อดังอย่าง ‘คุณปาล์ม’ นักร้องนำจากวง Instinct ด้วย

ขอขอบคุณภาพ moshimoshi-nippon.jp

เนื้อหาที่ตรง กระชับ และตัวละครที่เข้าถึงง่าย

ความคิดเห็นส่วนหนึ่งเคยกล่าวว่าสาเหตุที่ดาบพิฆาตอสูรได้รับความนิยมเป็นเพราะเนื้อเรื่องที่กระชับ เข้าใจง่ายและไม่มีการเล่าเรื่องยืดเยื้อ แต่เป็นการเล่าจากจุดเริ่มต้นและมุ่งสู่เป้าหมายโดยตรง และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีผู้คนชื่นชอบ ดาบพิฆาตอสูร นั้นเป็นเพราะตัวละครสามารถเข้าถึงง่าย กล่าวถึงคามาโดะ ทันจิโร่ ตัวเอกของเรื่องนี้ แต่แรกเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ทำงานขายฟืนธรรมดา ก่อนจะถูกฆ่ายกครัวแล้วต้องพาน้องไปรักษา จึงฝึกตัวเองโดยเริ่มจากการจับดาบไม่เป็นจนพัฒนาฝีมือขึ้นเรื่อย ๆ ได้เจอเพื่อนร่วมทางมากมาย และยังคงเดินหน้าตามล่าอสูรเพื่อปกป้องน้องของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงตัวทันจิโร่ได้ง่าย

ขอขอบคุณภาพ Joel Rodrigues Neto

ตัวร้ายน่าเห็นใจไม่แพ้ตัวดี

ไม่ใช่เพียงตัวละครกลุ่มพระเอกเท่านั้นที่ได้รับความนิยม แต่ยังรวมถึงเหล่าอสูรหรือตัวร้ายในเรื่อง ที่หลายครั้งการคลายปมของเหล่าตัวร้ายแสดงให้เห็นถึงความน่าสงสารและน่าเห็นใจ โดยอธิบายถึงสาเหตุที่ทำไปได้อย่างสมเหตุสมผล อย่างเช่นในเรื่องจะมีการคลายปมของ ‘อาคาสะ’ อสูรข้างขึ้นที่ 3 ถึงสาเหตุการมาเป็นอสูร ซึ่งอาคาสะนั้นเกลียดความอ่อนแอ โดยเขานั้นเสียพ่อไปแต่เด็ก จึงอยากที่จะแข็งแกร่งขึ้นอีกเพื่อปกป้องคนที่เขารักได้

ขอขอบคุณภาพ tumblr.com

หลังจากนั้นอาคาสะได้ไปอาศัยอยู่กับสำนักโชริวแล้วได้พบรักกับลูกสาวของเจ้าของสำนัก และได้มีการหมั้นหมายกัน ก่อนที่ทั้งเจ้าของสำนักและลูกสาวจะถูกวางยาในน้ำจากสำนักข้าง ๆ ที่ชอบลูกสาวของเจ้าของสำนักนี้เช่นกัน ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตลง จึงทำให้ตัวอาคาสะนั้นคิดว่าตนอ่อนแอ ไม่สามารถปกป้องใครได้ ก่อนจะมาพบกับคิบุตสึจิ มุซัน มีการต่อสู้กันและถูกแปลงกายให้เป็นอสูรโดยไม่จำยอม จึงทำให้ตัวละครนี้ถึงแม้จะเป็นตัวร้าย แต่ยังมีความน่าเห็นใจอยู่ลึก ๆ และหลายคนไม่ถือโทษโกรธในสิ่งที่อาคาสะทำลงไป

ขอขอบคุณภาพ steamcommunity.com

ได้ไปต่ออย่างสง่างาม

ปัจจุบันยอดขายของ ดาบพิฆาตอสูร ในรูปแบบมังงะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในส่วนของแอนิเมชันซีซั่น 2 ภาคย่านเริงรมย์ (Kimetsu No Yaiba Season 2: Yuukaku-Hen) ทางสตูดิโอ Ufotable ได้มีการปล่อยตัวอย่างอย่างเป็นทางการออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าภายในปี 2021 ดาบพิฆาตอสูร ภาคย่านเริงรมย์ในรูปแบบแอนิเมชันจะปล่อยมาให้รับชมผ่านช่องทางต่าง ๆ ในเร็ววันนี้

ขอขอบคุณภาพ mangozero.com

ดาบพิฆาตอสูร จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราควรถอดบทเรียนการประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมบันเทิงและวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นที่สามารถครองใจคนทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัย ก้าวต่อจากนี้ไปในยุคนิวนอร์มอล เราคงได้เห็นพัฒนาการของแวดวงอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกที่ยังมีเรื่องเล่าอีกมากมายที่ทำให้เราได้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ พร้อมทั้งการติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมบันเทิงในบ้านเราเพื่อผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปด้วยกัน

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

ชอบงานเขียนพอ ๆ กับที่ชอบแกนั่นแหละ : )