เมื่อรูปแบบสังคมเข้าสู่ยุคดิจิทัล การอ่านหนังสือการ์ตูนได้พัฒนาขึ้น รูปแบบการเข้าถึงการ์ตูนได้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี และยุคสมัยที่เปลี่ยนผันหนังสือการ์ตูนได้ก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษ ไปยังสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ เป็นยุคที่อุตสาหกรรมการ์ตูนเติบโตแบบก้าวกระโดด แต่เราเชื่อว่าความคลาสสิคของการได้อ่านหนังสือการ์ตูนเป็นเล่มก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

เราขอพาทุกคนไปยังจุดเริ่มต้นของการ์ตูนไทย โดยเราจะเดินทางไปเรียนรู้การ์ตูนไทยด้วยกันที่ นิทรรศการหนังสือการ์ตูนไทย ไฉไล กว่าที่คิด จัดโดย กรมศิลปากร สำนักหอสมุดแห่งชาติ 

หนังสือการ์ตูนไทย ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยมาอย่างยาวนานเพราะการ์ตูนมีความผูกพันกับทุกคนในสังคมนับตั้งแต่วัยเด็กไปจนกระทั่งผู้ใหญ่ การอ่านหนังสือการ์ตูนจะทำให้เด็กมีการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นนามธรรมผ่านการ์ตูนได้ดีและเข้าใจง่ายซึ่งเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ทำให้เด็กรักการอ่าน ส่วนผู้ใหญ่ล้วนแต่ผ่านการสัมผัสการ์ตูนในวัยเด็กมาแล้วจึงมักมีความทรงจำในวัยเด็กด้วยเช่นกัน

หนังสือการ์ตูนไทยมีวิวัฒนาการมาจากนิทาน เช่น นิทานชาวบ้าน นิทานชาดก และสุภาษิตสอนเด็กโดยคนไทยจะเสพนิทานด้วยการฟัง การบอกเล่าจากการแสดงประเภทต่าง ๆ และสามารถรับรู้นิทานผ่านภาพได้อีกทางหนึ่ง ในสมัยก่อนเรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง หากจะกล่าวว่าจิตรกรรมฝาผนังเป็นต้นกำเนิดของการ์ตูนไทยก็คงจะไม่ผิดนัก

การ์ตูนไทยได้พัฒนาเรื่อยมา โดยเนื้อหาที่นำเสนอมักจะอยู่ในรูปของการนำนิทานและวรรณคดีไทยนำมาเล่าใหม่โดยใช้ลายเส้นในลักษณะที่เป็นภาพสมจริง และลายเส้นในลักษณะของภาพล้อเลียน

ต่อมาการ์ตูนไทยได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนญี่ปุ่นและนักอ่านเริ่มชื่นชอบลักษณะภาพแบบญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยต้องปรับวิธีการนำเสนอใหม่ จนให้กำเนิดการ์ตูนไทยพันธุ์ใหม่ ปัจจุบันการ์ตูนมีการพัฒนาจนสามารถต่อยอดไปเป็นสื่อในรูปแบบอื่น ๆ เช่น แอนิเมชัน เกมการ์ตูนบนมือถือ และภาพยนตร์ที่ใช้คนแสดง การ์ตูนจึงถือได้ว่าเป็นทั้งศิลปะและวัฒนธรรมที่แต่ละสังคมนำมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิง ขำขัน ล้อเลียนเสียดสี ประชดประชัน การเมือง การเรียนรู้ หรือการศึกษา

ก่อกำเนิดการ์ตูนไทย ยุคแรก พ.ศ.2387-2474

ยุคกำเนิดของการ์ตูนในประเทศไทย เท่าที่มีหลักฐานปรากฏจะพบลักษณะของการ์ตูนแทรกอยู่ในภาพวิจิตรศิลป์ภาพผนังต่าง ๆ โดยจิตรกรเอกในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์นามว่า ‘ขรัวอินโข่ง’ ซึ่งถือเพศบรรพชิตตลอดชีวิตอยู่ที่วัดเลียบหรือวัดราชบูรณะกรุงเทพมหานคร

ขรัวอินโข่งมีความสามารถในการวาดภาพจิตรกรรมไทยโบราณและเป็นจิตรกรไทยคนแรก ท่านเป็นศิลปินไทยที่นำแนวคิดการวาดภาพจิตรกรรมแบบตะวันตกมาใช้เป็นต้นแบบในการวาดภาพ เพราะได้รับอิทธิพลจากหนังสือภาพวาดจากต่างประเทศที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยช่วงนั้น ทำให้รูปแบบจิตรกรรมไทยซึ่งมีลักษณะแบนราบเปลี่ยนไปเป็นภาพที่มีมิติและแสงเงาจนเป็นที่ยกย่องว่าขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรล้ำสมัย

วางรากฐานการ์ตูนไทยยุคบุกเบิก พ.ศ.2475-2499

ในสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนเริ่มซบเซาเพราะเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลของภาวการณ์นี้กระทบต่อวงการการ์ตูนด้วย เนื่องจากภาวะของแพงเป็นผลให้อัตราการซื้อลดลง จนถึงปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย การ์ตูนกลับมาคึกคักและเริ่มมีบทบาทอีกครั้ง เนื่องจากนักเขียนการ์ตูนมีอิสระทางความคิดมากขึ้นกว่าเดิม

ในยุคนี้วงการการ์ตูนไทยเริ่มมีการผสมผสานวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมไทยผ่านออกมาในรูปแบบของตัวการ์ตูนซึ่งมีอยู่สองประเภทคือการ์ตูนจากวรรณคดี นิทานพื้นบ้าน และการ์ตูนที่สะท้อนสภาพสังคมการเมือง ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์และรายวัน

นอกจากนี้ยังมีหนังสือการ์ตูนรวมเล่มวางจำหน่ายทั่วไปมากขึ้น ขอยกตัวอย่างนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงมากในยุคนี้ ประกอบด้วย 

สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้สร้างตัวละครการ์ตูน ขุนหมื่น ขึ้นมาโดยดัดแปลงจากใบหน้าของ ป๊อบอาย (Popeye) และสวมรองเท้าของ มิกกี้เมาส์ (Mickey Mouse) ได้สอดแทรกบทตลกของขุนหมื่นในการ์ตูนทุกเรื่องของเขา นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกการ์ตูนเรื่องยาวขึ้นมาในเมืองไทย ผลงานที่สำคัญคือเรื่อง สังข์ทอง ในหนังสือพิมพ์รายวัน สยามราษฎร์ และ กากี พระอภัยมณี พระสมุท ไกรทอง สังข์ศิลป์ชัย 

ฟื้น รอดอริห์ เจ้าของนามปากกา ‘เดช ณ บางโคล่’ หรือต่อมาคือ ‘จำนง รอดอริห์’ เป็นนักเขียนเรื่องยาวร่วมสมัยที่มีผลงานเด่นอีกคนหนึ่ง ได้เขียนภาพการ์ตูนเรื่อง พระยาน้อยชมตลาด ในหนังสือพิมพ์ไทยราษฎร์ และการ์ตูนประกอบคำกลอนเรื่อง ระเด่นลันได ลงในหนังสือศรีกรุง

ฉันท์ สุวรรณะบุณย์ เป็นคนแรกที่บุกเบิกการ์ตูนเด็กของไทยออกจากเรื่องนิยายปรัมปราและแวดวงวรรณคดี งานของ ฉันท์ สุวรรณะบุณย์ เป็นงานการ์ตูนสะท้อนสังคมขณะนั้นอย่างแท้จริง

ประยูร จรรยาวงษ์ ยอดนักเขียนการ์ตูนของไทยผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ราชาการ์ตูนเมืองไทย’ เริ่มเขียนการ์ตูนจากเรื่องวรรณคดี เช่นเรื่อง ไกรทอง เป็นชุดแรกที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ และอาบูหะซัน เป็นการ์ตูนที่สร้างชื่อเสียงและทำให้ประสบความสำเร็จจนได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดการ์ตูนล้อการเมือง ที่มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2503

ลมหายใจของการ์ตูนไทย ยุคปัจจุบัน พ.ศ.2500-ปัจจุบัน

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมาวงการการ์ตูนได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ ทั้งประเทศตะวันตกและตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน ความนิยมการ์ตูนไทยเริ่มเปลี่ยนและแทบหายไปจากแผงหนังสือ หลังจากที่มีภาพยนตร์การ์ตูนจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะการ์ตูนญี่ปุ่นได้เข้ามาฉายทางโทรทัศน์ด้วยเนื้อหาสาระที่ตื่นเต้นเร้าใจ สร้างสรรค์จินตนาการของเด็กลักษณะการเล่าเรื่องที่เป็นบทสนทนาที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้การ์ตูนญี่ปุ่นเข้ามาครองใจเด็ก ๆ ทุกเพศทุกวัย จึงทำให้เด็กไม่อ่านการ์ตูนไทย

นักเขียนการ์ตูนยุคนี้ต้องเสาะหารูปแบบในการสร้างแรงบันดาลใจพัฒนาการของการ์ตูนไทยในยุคที่ 3 นี้ จึงแบ่งได้เป็น 3 ช่วงด้วยกัน 

การ์ตูนเทพนิยาย อภินิหาร และสัตว์ประหลาด พ.ศ.2500-2520

แนวโน้มของการ์ตูนจะเป็นเรื่องเทพนิยาย, อภินิหาร, สัตว์ประหลาด และของวิเศษมากมาย โดยได้รับอิทธิพลจากเทพนิยายและการ์ตูนเรื่องของประเทศทางตะวันตกแต่นำมาผูกเรื่องเขียนใหม่ให้เป็นการ์ตูนแบบไทย ๆ

วงการการ์ตูนในยุคนี้นอกเหนือจากการแปลหรือเลียนแบบการ์ตูนของญี่ปุ่นแล้วยังเกิดมีการ์ตูนที่เน้นเรื่องไสยศาสตร์ เรื่องผีสาง เช่น ผีแหกอก วิญญาณวิปโยค ผีหวงลูก นางพรายล้างแค้น เป็นต้น กล่าวกันว่าการ์ตูนเหล่านี้กำเนิดขึ้นมาจากความเห็นแก่ได้ในผลประโยชน์ของนายทุนโดยผลิตในราคาที่ถูกมากคือประมาณเล่มละ 1 บาทหรือต่อมาที่เรียกกันว่า ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ เด็ก ๆ นิยมซื้อกันมากเนื่องจากราคาถูกและวางจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย การ์ตูนประเภทนี้มีการสอดแทรกเรื่องราวที่ค่อนข้างจะหยาบคายและลามกอนาจาร โดยมุ่งจะขยายตลาดแก่ผู้ใหญ่อีกด้วย

การ์ตูนญี่ปุ่นเฟื่องฟู พ.ศ.2521-2536

ช่วงนี้เป็นสมัยที่การ์ตูนญี่ปุ่นครองเมือง การ์ตูนแปลจากญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทในไทยเป็นอย่างมากจนสามารถครองตลาดการ์ตูนในไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีการนำการ์ตูนญี่ปุ่นมาแปลเป็นไทยทั้งในแบบพ็อกเก็ตบุ๊ค นิตยสารรายสัปดาห์และรายปักษ์ นักเขียนการ์ตูนไทยต้องปรับตัวสร้างสรรค์ผลงานผ่านนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่น เนื้อเรื่องส่วนใหญ่เป็นประเภทสัตว์ประหลาด มนุษย์วิเศษ ทำให้เนื้อหาของหนังสือการ์ตูนไทยในยุคนี้เปลี่ยนแนวมาเป็นการ์ตูนสัตว์ประหลาด เช่น จัมโบ้เอ ไอ้มดแดง หุ่นกายสิทธิ์ เป็นต้น

ก้าวต่อไปของการ์ตูนไทย พ.ศ.2537-ปัจจุบัน

หนังสือการ์ตูนไทยที่ถือได้ว่าครองใจคนไทยทุกเพศทุกวัยในช่วงนี้ คือ ขายหัวเราะ มหาสนุก ไอ้ตัวเล็ก หนูหิ่นอินเตอร์ และหนังสือการ์ตูนอื่น ๆ ในเครือสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งแนวการ์ตูนจะเป็นการ์ตูนประเภทการ์ตูนแก๊ก และการ์ตูนเรื่องสั้นจบในตอนเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้หนังสือการ์ตูนในยุคนี้มีลายเส้นและเนื้อหาที่คล้ายคลึงกับการ์ตูนญี่ปุ่น นักเขียนการ์ตูนไทยมีความสามารถมากยิ่งขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และสามารถนำเทคนิคต่าง ๆ จากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้รวมไปถึงมีความคิดสร้างสรรค์จินตนาการดี เนื้อเรื่องดี จนทำให้ผลงานของนักเขียนการ์ตูนไทยเป็นที่ยอมรับและโด่งดังในต่างประเทศ

เมื่อรูปแบบสังคมเข้าสู่ยุคดิจิตอล การอ่านหนังสือการ์ตูนได้พัฒนาขึ้น รูปแบบการเข้าถึงการ์ตูนได้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี การ์ตูนได้ปรับเปลี่ยนก้าวข้ามจากสื่อสิ่งพิมพ์กระดาษไปสู่สื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์เป็นยุคอุตสาหกรรมการ์ตูนที่เติบโตแบบก้าวกระโดดเนื่องจากมีตลาดที่ต้องการใช้การ์ตูนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการ์ตูนออนไลน์ ช่องทางการเข้าถึงหนังสือการ์ตูนไทยในยุคดิจิตอลมีมากมายนับเป็นกำไรของนักอ่านที่ไม่จำกัดอยู่กับแพลตฟอร์มชนิดใดชนิดหนึ่งสามารถเข้าถึงง่ายผ่านทางอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ โดยจะมีทั้งแบบที่สามารถอ่านฟรีก็ได้หรือจะเสียเงินซื้อก็ได้ เช่น COMICO, LINE WEBTOON, Meb:E-Book, NEKOPOST, Ookbee comic, WeComics TH, Vibulkij, เพจเฟซบุ๊ก อ่านการ์ตูนไทยออนไลน์ เป็นต้น

ลมหายใจของการ์ตูนไทยยังไม่มีวันสิ้นสุด เราเชื่อว่าการ์ตูนไทยยังคงเติบโตต่อไป และจะมีพัฒนาการทั้งการเผยแพร่ เนื้อหาที่มีการผสมผสานความเป็นไทย และอิทธิพลต่าง ๆ ที่นักเขียนการ์ตูนไทยได้รับมาจากต่างประเทศ ใครที่ไม่เคยลองอ่านการ์ตูน ลองหยิบหนังสือการ์ตูนมาอ่านสักเล่ม แล้วจะพบว่าโลกของการ์ตูนนั้นเต็มไปด้วยจินตนาการและเรื่องราวที่น่าค้นหาอีกมากมาย

Reference & Bibliography

นิทรรศการหนังสือ ‘การ์ตูนไทยไฉไลกว่าที่คิด’ นิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นมาของหนังสือการ์ตูนในประเทศไทย พร้อมจัดแสดงหนังสือการ์ตูนไทยในยุคต่าง ๆ ผู้สนใจเข้าชมได้ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ -11 เมษายน พ.ศ.2564 เวลา 09.00-16.30 น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ ห้องวชิรญาณ 2-3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร (National Library of Thailand, Fine Arts Department) ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทร 02280-9828-32 Website : www.nlt.go.th

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

เป็นคนใจบาง บางวันชาบู บางวันหมูกระทะ