ไม่ว่าวงการใดก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่พนักงานบริษัทที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นออนไลน์หรือที่เรียกว่า Work From Home เพื่อตอบสนองต่อมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) วงการธุรกิจหรือร้านอาหารก็ถูกมาตรการล็อกดาวน์ จำกัดการนั่งรับประทานในร้าน ทำให้ต้องพึ่งพาเดลิเวอรี่เป็นหลัก และร้านบางประเภทที่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ ก็ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด
ระบบการศึกษา (Education System) คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไทย ที่ยังคงต้องบ่มเพาะการเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกระดับชั้น เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ทว่าภาพรวมที่เราเห็นได้จากข่าวในช่วงวิกฤตโควิด รวมถึงการรับรู้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของบางคนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา หรือมีญาติที่กำลังศึกษาอยู่ ต่างทราบกันดีว่านี่เป็นวิกฤติครั้งสำคัญของระบบการศึกษาไทย ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่นที่ต้องเผชิญหน้ากับโควิด
เสียงพูดคุยเรื่องปัญหาการศึกษาในช่วงโควิด จากเยาวชนทั่วทุกสารทิศและเกือบทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฐมวัยหรืออนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เกี่ยวกับปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญ การเรียนปรับเปลี่ยนจากการเรียนในห้องเรียน ได้พบเจอเพื่อนและคุณครูจากสถานที่เรียน ลงมือปฏิบัติจริง มีบรรยากาศในการเรียนที่ใกล้ชิด กลายมาเป็นการจดจ่ออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ขาดปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อนแบบเห็นหน้าค่าตากัน ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการเรียนรู้ของเยาวชน
การเรียนออนไลน์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดระลอกแรก จนต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เยาวชนจำนวนไม่น้อยเกิดอาการ หมด Passion ในการศึกษา นำไปสู่ประเด็นให้ถกเถียงทั่วโซเชียลเน็ตเวิร์ก
ปัจจัยใดคือสาเหตุที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยล้มระเนระนาดชนิดตั้งตัวไม่อยู่ เมื่อเผชิญกับวิกฤติระดับโลก เราขอรวบรวมข้อมูลและประสบการณ์จริงที่มี เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ เป็นการสำรวจปัญหาเรื่องการศึกษา และมองหาแนวทางการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น
ต้นทุนทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมของแต่ละคนไม่เท่ากัน
สถานการณ์การระบาดของโควิด กระทบกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทำให้พบเจอภาวะปิดเรียนหรือเปิดเรียนแบบไม่ต่อเนื่อง การมีสมาธิของผู้เรียนก็ลดลง เพราะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในภาวะปกติใหม่หรือ New Normal ที่บางคนอาจจะยังไม่คุ้นชิน
ตัวผู้เรียนในทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือเด็กโต และครอบครัวมีความกังวลต่อการระบาดของโรค แม้จะมีการปรับระบบการเรียนให้เป็นแบบผสมผสาน ทั้งการเรียนออนไลน์ที่บ้านและไปเรียนที่โรงเรียน ก็ยังทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย
หลายสถาบันการศึกษาจะปรับรูปแบบการเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่รูปแบบการเรียนก็ยังไม่สามารถดึงดูดใจให้ผู้เรียนสนใจการเรียนได้อย่างต่อเนื่อง “การเรียนแบบผสมผสาน นักเรียนเลือกฝั่งการเรียนออนไลน์มากกว่า แต่คนที่เรียนอยู่บ้านก็ยังไม่ค่อยเข้าเรียนอยู่ดี”
การรวบรวมข้อมูลของเราโดยอ้างอิงเสียงของ คุณครู (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) กล่าวถึงการเรียนออนไลน์ว่าในบางช่วงเวลาที่โรงเรียนเปิดการเรียนในพื้นที่ (Onsite) แล้ว แต่ก็ยังเผื่อทางเลือกไว้สำหรับนักเรียนที่ยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย สามารถเลือกเรียนออนไลน์ (Online) อยู่ที่บ้านได้ ถึงอย่างนั้นปัญหาเดิมก็ยังเกิดซ้ำ เพราะมีนักเรียนส่วนหนึ่งหายไปและไม่สามารถตามตัวเจอ
คุณครูท่านเดิม ได้บอกกับเราอีกว่า แม้สถานการณ์โควิดระบาดที่มีผลกระทบในช่วงระยะเวลานี้ นักเรียนจำนวนไม่น้อยก็ยังมีปัญหาในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เพราะความแตกต่างทางเศรษฐกิจ หลายบ้านขาดความพร้อมเรื่องอินเทอร์เน็ต มีโทรศัพท์มือถือเพียง 1-2 เครื่อง ซึ่งต้องแบ่งไปสำหรับค้าขายหรือธุระอื่น ในช่วงที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กก็ต้องอยู่บ้าน ทำให้การเรียนออนไลน์มีอุปสรรคมากมาย หากที่บ้านไม่มีต้นทุนที่พร้อมเพียงพอ
ขณะที่ปัญหาการเรียน ซึ่งเกิดขึ้นกับนักเรียนมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษา ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากที่นักเรียนบางส่วนขาดความรับผิดชอบเอง แต่ทั้งนี้สาเหตุก็มาจากระบบการเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้เอื้อให้ทุกคนสามารถติดตามการเรียน เพื่อทำความเข้าใจเนื้อหาได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับเรื่องสภาพแวดล้อม สิ่งรบกวนค่อนข้างมาก บางบ้านสภาพพื้นที่ไม่อำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น มีเสียงดังรบกวน ต้องช่วยที่บ้านทำงานบ้าน หรือมีเหตุผลส่วนตัว จึงทำให้ขาดสมาธิในการเรียน
เราไม่อาจมองข้ามนักเรียนที่ขาดความพร้อมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์การอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเข้าถึงการเรียนได้เลย ปัญหาที่ตามมาคือความหนักใจของครูผู้สอน เพราะเมื่อนักเรียนไม่เข้าเรียน ก็ไม่มีคะแนนเข้าชั้นเรียน ถ้าหากจะแจกงานให้ทำ นักเรียนที่ไม่เข้าเรียน ก็จะไม่เข้าใจวิธีทำ หรือบางคนก็เลือกจะไม่ทำมาส่งเลย
ครูระดับมัธยมศึกษา จึงอาจจะให้ ร หรือ 0 แก่นักเรียนที่ไม่เข้าเรียน เพราะความไม่พร้อมในการเรียน หากแต่ว่าก็ต้องเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุย หาวิธีการยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน และสอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤต พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ สร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับการเข้าชั้นเรียนเสมอไป
โครงสร้างทางเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญ ในประเทศไทยค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300 บาท ต่อวัน ต่อคน แต่ละจังหวัดก็มีค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกัน ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยก็ประสบปัญหาว่างงานหรือตกงานจากสภาวะโรคระบาด การจะหารายได้มาจุนเจือครอบครัวให้พอกับค่ากินในแต่ละวันก็ถือว่าลำบากมากแล้ว การพยายามหาอุปกรณ์การเรียน เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ปัจจัยสี่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องชะลอไว้ก่อน นำมาสู่ความลำบากของนักเรียนไทยที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
ระบบการศึกษาไทยที่ยังไม่ยืดหยุ่น แต่ต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง
หัวใจของหลักสูตรการศึกษาไทย ในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ยังถูกผูกติดไว้กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือก็คือเมื่อ 13 ปีก่อน แม้จะมีการปรับปรุง พร้อมเพิ่มหมายเหตุใหม่ว่า ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560 ที่มีการปรับตัวชี้วัดวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใหม่ ก็ถือว่าอาจจะยังไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก
ครูผู้สอนจึงต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมหรือเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น มีตัวอย่างหรือกรณีศึกษาใหม่ที่ให้ผู้เรียนได้ลองทำจากโจทย์จริง อีกทั้งสำหรับเด็กเล็ก อาจจะต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่ทำให้เด็กสนุกกับการเรียน ผู้เรียน ผู้ปกครอง และครูผู้สอนจึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเด็กให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ค้นคว้า ติดตามข้อมูล ความรู้ใหม่ที่ทันกับสถานการณ์มาให้เด็กเรียนรู้
ตัวอย่างของระดับชั้นมัธยมศึกษา ใจความสำคัญของหลักสูตรแกนกลาง คือการสร้างผู้เรียนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และมีความรู้รอบด้านใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม สุขศึกษา พลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพ และภาษาต่างประเทศ และยังมีข้อบังคับในการผ่านแต่ละระดับชั้นว่าต้องผ่านเกณฑ์การคิดวิเคราะห์ ฟัง พูด อ่าน เขียน และเกณฑ์คุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งวิชาการและวิชาชีวิตไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสภาวะการณ์ผิดปกติอย่างโรคระบาด ในระดับการเรียนประถมศึกษา มัธยมศึกษา เราได้เห็นข่าวการเคารพธงชาติออนไลน์ การเรียนลูกเสือออนไลน์ที่บังคับใส่ชุดเครื่องแบบ เรียนว่ายน้ำออนไลน์ เป็นต้น ในสภาวะที่ต้องเรียนออนไลน์ทำให้นักเรียนขาดความพร้อม และการไม่ยอมตัดเรื่องเหล่านี้ออกไป หรือปรับรูปแบบการเรียนให้เหมาะสม จึงเป็นการเพิ่มภาระให้ทั้งครูและนักเรียน ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าจากการเรียนและการทำงานได้
มองในอีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางวิกฤตเรายังได้เห็นข่าวคุณครูไทย พยายามคิดค้นรูปแบบการเรียนออนไลน์ให้ดึงดูดความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่คุณครูต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กด้วย
การที่ผู้เรียนหมดกำลังใจต่อการศึกษา อีกสาเหตุหนึ่งคือผู้เรียนไม่สามารถค้นหาความหมายในการเรียนรู้ของตนเองได้ รวมถึงบทเรียนหลายเรื่องที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเรียนรู้ไปทำไม กำลังถูกตั้งคำถามอย่างกังขาว่านำมาบังคับให้เรียนต่อในสถานการณ์แบบนี้เพราะอะไรกัน ความกังวลของการพยายามวิ่งตามหลักสูตรของทั้งครูและนักเรียนยิ่งผลักดันให้ปัญหาการศึกษาเด่นชัดขึ้น
ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เราสังเกตเห็นการต่อต้านการเรียนออนไลน์ของนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงการตั้งประเด็นผ่านแฮชแท็กถกเถียงอย่างมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงประเด็นปัญหาการศึกษาอื่นที่ได้รับการหยิบยกนำมากล่าวถึง
บุคลากรทางการศึกษารับภาระงานหลากหลาย
ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนที่เผชิญปัญหาปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์ ครูผู้สอนเองก็ยุ่งวุ่นวายกับเรื่องนี้ไม่ต่างกัน ครูหลายท่านเป็นครูอาวุโสที่ไม่ได้คุ้นชินกับเทคโนโลยี เมื่อต้องมาใช้อุปกรณ์ เพื่อสอนในระบบออนไลน์จึงติดขัดเป็นเรื่องปกติ ยิ่งไปกว่านั้นคือเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ แม้จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีเงินเดือนแล้ว แต่ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การเก็บเงินไว้แทนที่จะต้องนำไปซื้อคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตใหม่อาจเหมาะสมมากกว่า ครูควรได้รับสวัสดิการเป็นอุปกรณ์การสอน เพื่อที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการสอนให้ดียิ่งขึ้น
ทว่าเรื่องใหญ่ที่นอกเหนือจากการพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาวะปกติใหม่แล้ว ปัญหาเก่าก็ยังตามมาหลอกหลอนเช่นเคย ภาระงานที่ค่อนข้างมากของคุณครูทำให้อาจจะเอาใจใส่กับผู้เรียนได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะคุณครูระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
หนึ่งในนั้นคือเรื่องเอกสารการประเมิน ซึ่งเป็นฝันร้ายของครูไทยจำนวนมาก ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในสังคม เรายังคงใช้เอกสารแผ่นกระดาษในการเขียนจดบันทึก ประเมินสภาพความเป็นอยู่นักเรียน ประเมินความพร้อมในการเรียนออนไลน์ อาจจะเป็นการประเมินซ้ำซ้อนในทุกเทอม
ในส่วนการทำงาน คุณครูก็ยังต้องการที่จะเลื่อนขั้นเพื่อเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย จึงอาจจะทำให้ขาดเวลาในการพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพ ครูคืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาครู ส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับครู จะทำให้ครูมีพลังใจในการพัฒนาผู้เรียนตามไปด้วย
ปัจจัยที่เรานำมาวิเคราะห์อย่างน้อย 3 ปัจจัย คงพอจะฉายภาพให้เห็นวิกฤตทางการศึกษาที่อาจจะมีมาก่อนโควิด-19 และยิ่งทวีความเข้มข้นให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด ทำให้เราตระหนักว่าระบบการศึกษาไทยยังต้องการการพัฒนา
สิ่งสำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้หรือการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับผู้เรียนในทุกระดับชั้น ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนไม่หมด Passion ในการเรียนรู้ และช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษา สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเรียนรู้ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเรียนรู้ พร้อมปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาประเทศในอนาคตได้
Reference & Bibliography
- สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับหลัก
สูตรใหม่ พ.ศ. 2560. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก http://sitawan112.blogspot.com/2018/01/2560.html - วิกฤติโควิดกับการปฏิรูปการศึกษา ตีแผ่เหลื่อมล้ำในสังคม. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/961691
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อการศึกษาไทยที่สำคัญ 3 ประการ. Kenan Foundation Asia. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.kenan-asia.org/th/covid-19-education-impact
- ทางออกการศึกษาไทยยุคโควิด วิบากกรรมระบบการศึกษาไทย สู่ข้อเสนอ 6 มาตรการ (6 Re’s) เพื่อหาทางออกร่วมกันในช่วงโควิด. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://workpointtoday.com/covid-policy-lab-education
- การศึกษาไทย เคยทำร้ายคุณยังไงบ้าง ? | การศึกษาไทย…ยังไงดี ? สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=1aar1E6yNwc
- การศึกษาไทย ทำร้ายครูยังไงบ้าง ? | การศึกษาไทย…ยังไงดี ? สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=ZkL82szeE4c
- อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ. กระทรวงแรงงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.mol.go.th/อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
- ขอขอบคุณภาพหน้าปก (Cover Photo) ประกอบเรื่อง Photo by Mario Heller on Unsplash
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ