คุณเองกำลังทำร้ายโลกทีละนิดแบบไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า ทุกปีอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าจะหยุด แต่รู้หรือไม่ว่าหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญนี้อาจเกิดขึ้นจากการ ‘กิน’ ในทุกวันของเราเอง!
เรากำลังทำร้ายโลกแบบไม่รู้ตัว
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) กล่าวว่าอาหารที่โลกผลิตต่อปีมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ที่กลายเป็นของเหลือทิ้ง ทั้งที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์และเลี้ยงมนุษย์ได้ถึง 1,800 ล้านคน
เมื่อเรามองกลับมาที่ประเทศไทย ด้วยความที่บ้านเราอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร ไม่ว่าในเชิงวัตถุดิบ ความเหมาะสมของเนื้อดินที่ใช้ทำเกษตร จนไปถึงการมีระบบการผลิตแบบจำนวนมาก (Mass production) ในอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง เพราะเมื่อผลิตออกมามากก็มักมีเหลือทิ้งมาก พฤติกรรมเล็กน้อยที่เราคิดว่าอาจไม่ส่งผลกระทบใด แต่ถ้าคนทั้งประเทศไม่ใส่ใจ ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขในอนาคต ประเทศไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอันดับต้นของเอเชียที่มีการผลิตขยะอาหารต่อปีเป็นจำนวนมากเช่นกัน
รู้จักขยะอาหารให้มากขึ้น
ขยะอาหารหรือ Food waste คือเศษเหลือจากมื้ออาหารในแต่ละครัวเรือน รวมถึงเหล่าวัตถุดิบที่เน่าเสียและไม่อาจวางจำหน่ายได้ อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากโรงอาหาร ร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า งานเลี้ยง ไม่ว่าจะถูกกำจัดออกจากกระบวนการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การกระจายผลิตภัณฑ์อาหารสู่ร้านค้า ทั้งหมดนี้ล้วนสร้างขยะจำนวนมหาศาล ตั้งแต่ยังไม่ถึงมือผู้บริโภค ทุกปีก็จะมีอาหารที่ถูกทิ้งเป็นขยะ ถูกปล่อยให้เน่าเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์
จากผลสำรวจในปี พ.ศ.2563 ปริมาณอาหารขยะทั้งหมดในไทยคิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ จากขยะทุกประเภท ซึ่งถือว่ามากจนน่าตกใจ หนำซ้ำระบบจัดการและคัดแยกยังไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากเทศบาลส่วนมากไม่มีการแยกขยะ และถึงแม้จะมีระบบนิเวศการบริหารจัดการอาหารครบถ้วน ทั้งนี้การทำงานของแต่ละส่วนก็ยังไม่เชื่อมโยงกัน จึงส่งผลให้การแก้ไขปัญหาที่ต้นทางเป็นไปได้ยากพอสมควร
ทุกสิ่งจะเรื้อรัง ถ้าไม่รีบยับยั้งที่ต้นตอ
ขยะอาหารเป็นปัญหาที่ไม่เห็นด้วยตา แต่ก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เพียงแต่อาจจะไม่ส่งผลถึงตัวเราโดยตรง ผู้คนส่วนมากจึงไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องนี้นัก แต่ถ้าให้มองกลับกัน ขณะนี้เรากลับกำลังสูญเสียอะไรบ้าง อย่างที่เราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ขยะอาหาร เมื่อทับถมกันมากขึ้นจะส่งกลิ่นเหม็น ก่อแหล่งเพาะเชื้อโรค กระจายความเน่าเสียสู่แหล่งน้ำ จนไปถึงการผลิตก๊าซมีเทนออกมาจำนวนมาก ซึ่งในเชิงสถิติ ก๊าซมีเทนมีความร้ายแรงในการทำลายชั้นโอโซนเหนือกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 20 เท่า ส่งผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เรารู้ดีว่าปัญหาอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากขยะอาหาร และส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมต่อมาแบบลูกโซ่ไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายตัว หลากภัยพิบัติที่เริ่มเกิดขึ้นด้วยความถี่มากกว่าในศตวรรษที่ผ่านมา และผืนดินที่ไม่อาจรองรับการปลูกของพืชหลากสายพันธุ์
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราไม่อาจทำการเกษตรหรือเพาะเลี้ยงปสุสัตว์ได้อย่างที่เราเคยทำมาตลอด จากที่เราเคยรับประทานโปรตีนคุณภาพสดใหม่ ในอนาคตเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไปบริโภคผลผลิตในห้องแล็บแทน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบในด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปอย่างมหาศาลกับการกำจัดอาหารเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ
SOS Thailand หนึ่งในมูลนิธิผู้เคลื่อนไหวเพื่อโลกสีฟ้าของเรา
Scholars of Sustenance Thailand (SOS Thailand) มูลนิธิแห่งแรกในไทยที่กู้ชีพอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ขาดแคลน ที่เล็งเห็นถึงปัญหาและกำลังเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหา
พี่ฝ้าย-ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ SOS Thailand เล่าถึงจุดเริ่มต้นขององค์กรว่าเป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร จัดตั้งในประเทศไทยเป็นที่แรก วิสัยทัศน์และจุดมุ่งหมายของ SOS Thailand คือการเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยกอบกู้อาหารส่วนเกิน ไอเดียแรกเริ่มเกิดจากคุณ Bo H. Holmgreen ผู้ก่อตั้งมูลนิธิที่ต้องการจะลดปริมาณอาหารส่วนเกินลง และส่งต่ออาหารที่ยังสามารถนำไปใช้งานได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตรงตามจุดประสงค์ของอาหารที่ผลิตมาเพื่อรับประทาน เพราะในขณะที่โลกผลิตอาหารได้จำนวนมาก แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารเพื่อยังชีพได้
แม้ในประเทศไทยเราเองอาจจะไม่มีปัญหาเรื่องของผู้หิวโหยมากเท่ากับปัญหาของการขาดสารอาหาร มูลนิธิก็ยังคงยืนยันจะเป็นตัวเชื่อมโยงในเรื่องนี้ด้วยการรับอาหารส่วนเกินจากภาคธุรกิจที่ผลผลิตขายไม่ได้แต่คุณภาพยังดีอยู่ รวมถึงผลผลิตที่คุณภาพไม่ตรงมาตรฐาน และนำมาส่งต่อให้กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อลดปริมาณเรื่องอาหารส่วนเกินลงได้ปัญหาผู้หิวโหยก็จะลดลงตามไป ถือเป็นภารกิจหลักที่ทางมูลนิธิดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าเราไม่สามารถขจัดปัญหานี้ให้หมดไปได้ แน่นอนว่าปริมาณขยะก็จะมากขึ้น เรื้อรัง และหมักหมมไปเรื่อย ๆ ขยะอาหารเป็นหนึ่งในตัวการที่นำพาโลกเข้าสู่สภาวะโลกร้อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมแปรปรวน หน้าหนาวจะไม่หนาวอีกต่อไป หิมะจะตกในหน้าร้อน น้ำจะท่วมสู่เขตที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติที่เราเคยมีจะหมดไป ถ้าเรายังไม่พัฒนาเทคโนโลยีใดหรือให้ความสำคัญในการจัดการกับปัญหานี้ ผลลัพธ์ที่ได้กล่าวมาก็คือสิ่งที่เราจะได้ไปเจอ ณ ปลายทาง
ทุกขั้นตอนการผลิตอาหารจะมีอาหารที่สูญเสียไปเป็นขยะอาหารเสมอ แน่นอนว่าปัญหาเรื่องขยะอาหารอาจจะไม่สามารถกลายเป็นศูนย์ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถบรรเทาปัญหานี้ได้ ทุกการบริโภคเราหาได้จากธรรมชาติ ถ้าเรายังมีธรรมชาติให้ยื้อต่อไปได้ เราอาจจะได้บริโภคเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้สดจากธรรมชาติต่อไป แทนที่จะเป็นการบริโภคผลผลิตจากห้องทดลอง มนุษย์เราเก่งในเรื่องการเปลี่ยนแปลง พัฒนาและวิวัฒนาการอยู่เสมอ ทว่าอยู่ที่เราเองที่จะเป็นผู้เลือกทางก้าวเดิน ว่าอยากจะใช้ชีวิตกับโลกนี้เป็นอยู่ในปัจจุบันได้นานขึ้น หรือปล่อยให้ทุกอย่างค่อย ๆ สูญหายไป
ผลกระทบต่อสังคมมนุษย์และแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้
จากข้อมูลที่ได้อ้างอิงไว้ข้างต้น ถ้าให้ประเมินถึงผลกระทบภายนอกที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมมนุษย์ แบบมองมุมที่ต่างจาก ‘สภาพโลก’ แล้ว จะเห็นได้ว่าในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ปัญหาเหล่านี้คือหนึ่งในต้นตอของการสูญเสียต้นทุนแบบใช่เหตุ เนื่องจากในกระบวนการผลิต ถ้านำวัตถุดิบมาแปรรูป ณ ที่หนึ่ง เราก็จำเป็นต้องมีการขนส่ง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคน พลังงานน้ำมัน พลังงานสำหรับตู้แช่เพื่อคงความสดใหม่ของวัตถุดิบ รวมไปถึงทรัพยากรเวลาด้วยเช่นกัน
เพื่อตัดหรือลดทอนปัญหาเหล่านี้ไป ภาคอุตสาหกรรมอาหารควรเลือกจัดตั้งโรงงานผลิตให้อยู่ชิดกับแหล่งวัตถุดิบ ลดทอนระยะห่าง และเวลาที่ใช้ในการขนส่งลงมา เพื่อลดโอกาสที่วัตถุดิบจะเสียระหว่างทาง รวมถึงลดต้นทุนในหลากแง่มุมอีกด้วย
ไม่อาจโต้แย้งได้ว่าคนไทยมักมีพฤติกรรมในการจับจ่ายอาหารแบบ ‘เผื่อวันข้างหน้า’ ซื้อวัตถุดิบหรืออาหารแช่แข็งมาเก็บไว้คราวละมาก ๆ แบบหวังจะแปรรูปเป็นอาหารในแต่ละวันไปได้หลายสัปดาห์ ทว่าก็ไม่อาจนำมาประกอบอาหารได้ทัน ผักหลายชนิด เนื้อหลากประเภท ล้วนเริ่มเหี่ยว สีซีด ส่งกลิ่นไม่น่ารับประทาน จนต้องทิ้งลงถังไปอย่างไม่อาจเลี่ยง
คนไทยส่วนมากมักแก้ปัญหานี้ง่าย ๆ ด้วยการ ‘ล้างตู้เย็น’ ก่อนทุกวัตถุดิบจะหมดคุณค่าลง แต่ในอนาคตเราคงไม่อาจทำเช่นนี้ได้อีกต่อไป เมื่อสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น สภาพดินไม่อาจปลูกพืชใดให้ออกดอกออกผล หญ้าที่แต่เดิมใช้เลี้ยงปสุสัตว์ต่างแคระแกร็นหรือไม่อาจมอบสารอาหารได้ นั่นหมายถึงวัตถุดิบที่เราจะจับจ่าย นำเข้าตู้เย็น เก็บไว้ทานได้หลายสัปดาห์อย่างที่เคยเป็นก็ไม่อาจทำได้อีกต่อไป เพราะจะไม่เหลือทางเลือกอื่นให้เราได้รับประทาน นอกเสียจากวัตถุดิบสังเคราะห์จากห้องแล็บเท่านั้น
การซื้ออาหารในปริมาณแต่พอดีจึงสำคัญมาก เพราะถ้าให้อิงตามกลไกตลาดพื้นฐาน การที่เราจับจ่ายวัตถุดิบในตลาดในปริมาณมากนั่นหมายถึงอุปสงค์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารออกมามากกว่าเดิมเพื่อตอบสนองต่อความต้องการ และเมื่อปริมาณอาหารในตลาดมีมากขึ้น รูปแบบหลากหลายขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันเรื่อย ๆ เสริมไปไม่รู้จบราวกับโดมิโน่ที่ล้มทับกันเป็นอนันต์
หากเรามองในอีกมุมหนึ่ง ในอีกความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดการปัญหาขยะอาหารได้ที่พฤติกรรมมนุษย์ ‘เทคโนโลยี’ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราควรพัฒนา แบบเฉพาะเทคโนโลยีที่สามารถแปรรูปตัวขยะอาหาร หรือผลพลอยได้อย่างก๊าซมีเทนมาใช้ประโยชน์ได้
แม้การนำขยะอาหารมาใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำ ปั่นไดนาโมเพื่อผลิตไฟจะเป็นขั้นตอนการขจัดปัญหาพื้นฐาน ทว่าทั่วโลกกลับต้องเผชิญปัญหาที่เป็นดั่งกำแพงขวางกั้น ซึ่งคือ ‘ความชื้นในขยะอาหาร’ นั่นเอง ในอนาคตประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการกำจัดความชื้นดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ เหลือไว้เพียงมวลขยะอาหารแห้ง พร้อมจะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าต่อไป จะถือว่าเป็นก้าวใหญ่สำหรับมนุษยชาติในการขจัดปัญหานี้เลยทีเดียว
พูดถึง ‘มีเทน’ ก๊าซไร้สี ไร้กลิ่น และติดไฟง่ายอันเกิดจากการหมักหมมของขยะอาหารนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราจะนำมันมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายแทนที่จะปล่อยให้มันลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศ ทำลายชั้นโอโซนเสียยับเยิน
ถ้าให้อิงงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลันแสตนฟอร์ด คำตอบคือ ‘ได้’ เพราะในงานวิจัยของเขาได้กล่าวถึงการนำก๊าซมีเทนมาใช้เลี้ยงแบคทีเรียที่สามารถผลิต ‘พลาสติกย่อยสลายง่าย’ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งชื่อพลาสติกดังกล่าวคือ poly-hydroxyalkanoate อันเป็นโพลีเมอร์ประเภทเดียวกับพลาสติก PP แต่ว่าสามารถแตกตัวและย่อยสลายภายในไม่กี่ปีเท่านั้น
แม้จะฟังดูดีและน่านำไปใช้ผลิตพลาสติกแบบจริง ๆ จัง ๆ ทว่าค่าใช้จ่ายมหาศาลยิ่งกว่าการผลิตพลาสติกที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันหลายเท่า ซึ่งทำให้ไม่มีนายทุนคนไหน ผู้ประกอบการคนใด เลือกจะลงทุนใน ‘พลาสติกย่อยสลายง่าย’ นี้เลย
ทว่าในอนาคต ถ้าเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมการผลิตได้รับการพัฒนาจนสามารถสู้ราคาต้นทุนของพลาสติกทั่วไปได้ ไม่แน่เราอาจได้นำก๊าซมีเทนมาใช้งาน ผลิตวัสดุที่ผู้คนในอนาคตใช้ในชีวิตประจำวัน ตัดต้นเหตุในการเกิดกระบวนการโลกร้อนไปได้อีกหนึ่ง
เริ่มวันนี้ยังไม่สาย
เราทุกคนก็เหมือนกบที่อยู่ในหม้อต้มรอวันเดือด ปัญหานี้อาจไม่กลายเป็นศูนย์โดยง่าย เพราะเราทุกคนก็ต้อง ‘กิน’ เพื่อดำรงชีวิตในทุกวัน แน่นอนว่าบางอย่างเราแก้ไขไม่ได้ด้วยตนเอง แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราอาจเริ่มได้ด้วยการการควบคุมการกินการซื้อ รู้จักใช้จ่ายให้พอดี เพราะอย่างน้อย เราสามารถยืดเวลาน้ำเดือดออกไปได้
“เราเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สำคัญเสมอในทุกการเปลี่ยนแปลงให้หลายอย่างดีขึ้น”
ไม่ว่าเราจะต้องการหรือไม่ ยังไงปัญหาที่เราเคยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเล็กน้อยเกินกว่าจะสนใจ ก็จะหมักหมมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ และส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนที่จำต้องอาศัยอยู่บนโลก แม้จะเป็นความจริงที่ว่าเราไม่อาจแก้ปัญหาที่ต้นตอได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกยื้อเวลาต่ออายุโลก หรือปล่อยให้ผลลัพธ์จากปัญหาวิ่งเข้ามาหาเราไวกว่าเดิมจากพฤติกรรมของเราเอง
Reference & Bibliography
- พี่ฝ้าย-ธนาภรณ์ อ้อยอิสรานุกุล ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ มูลนิธิ SOS Thailand
- Scholars of Sustenance Thailand-SOS Thailand. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.facebook.com/sosfoundationthai
- Food Waste ขยะอาหาร | 2 องศา (8 ส.ค. 63). สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.youtube.com/watch?v=FY_Q77ccLhQ&ab_channel=ALTV4
- การศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน เพื่อลดปัญหาขยะอาหารที่เหมาะสมกับประเทศไทย. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://tdri.or.th/2019/09/food-waste-management
- ขยะอาหารลดลงช่วงโควิด : ซ่อนวิกฤตเร่งแก้ไข. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.thaipost.net/main/detail/112707
- ขยะอาหารตัวการภาวะโลกร้อน ที่หลายคนมองข้าม. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/954409
- ซีพีเอฟ จับมือ SOS-GEPP ส่งอาหารปลอดภัย ช่วยกลุ่มเปราะบาง. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.springnews.co.th/news/816240
- SOS เปลี่ยน “อาหารเหลือทิ้ง” เป็น “คุณค่าทางโภชนาการ” เพื่อสังคม. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9640000097960
- A biodegradable plastic made from waste methane. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564, จาก https://www.nsf.gov/discoveries/disc_summ.jsp?cntn_id=131553
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR402 Interpretation of Current Affairs ภาคการศึกษา 1/2 2564 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา รศ.วัฒณี ภูวทิศ