ไม่ว่าจะเป็นวันที่ดีต่อใจหรือเป็นวันที่ใจหม่นหมอง การได้เห็นความสวยงามของ ดอกไม้ ช่วยเยียวยาจิตใจให้อบอุ่น เราขอพาไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ (The Museum of Flora) ที่รวบรวมการจัดแสดงเรื่องราววัฒนธรรมของดอกไม้ในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ก่อตั้งโดย คุณสกุล อินทกุล ซึ่งเป็นศิลปินนักจัดดอกไม้ชื่อดังของเมืองไทย เปิดให้สาธารณะชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย

พิพิธภัณฑ์กลางกรุงโอบล้อมไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด

การเข้าไปเยี่ยมชมก็เดินทางไม่ยากเลย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านสามเสน ซอยองครักษ์ 13 โดยรายล้อมไปด้วยสีเขียวขจี ดูแล้วสงบร่มเย็นจนไม่อาจเชื่อได้ว่าที่แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และที่โดดเด่นที่สุดเมื่อก้าวเข้ามาเราจะพบกับต้นกร่าง ต้นใหญ่ที่มีอายุนับร้อยปีแผ่กว้างอยู่ที่กลางบ้าน แต่ละกิ่งประดับด้วยดอกรักและดอกดาวเรืองผูกกันอย่างสวยงาม ให้ความรู้สึกวิจิตรงดงามเข้ากับบ้านไม้สักทรงโคโลเนียลโบราณแห่งนี้อย่างลงตัว

ที่นี่เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ มีทั้งรอบบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ แต่ละรอบจะมีผู้นำชมนิทรรศการถาวรด้านในที่จัดแสดงอยู่ทั้งหมด 7 ห้องด้วยกัน เราไม่รอช้าจึงได้ซื้อตั๋วเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ในระหว่างรอให้ถึงรอบเข้าชมนั้น พิพิธภัณฑ์จะมีห้องรับรองให้เราได้นั่งพักผ่อน ภายในตกแต่งอย่างสวยงามแบบไทยประยุกต์ นั่งจิบชาไปพร้อมกับบรรยากาศที่เงียบสงบ เมื่อถึงเวลาเข้าชมจะมีเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อพาเราไปยังห้องที่เป็นจุดเริ่มต้นของการชมนิทรรศการ

ประวัติศาสตร์นับร้อยปีของงานจัดดอกไม้

ห้องแรกจะได้พบกับห้องที่มีชื่อว่า ห้องภาพดุสิต ซึ่งจัดแสดงประวัติศาสตร์ของงานดอกไม้ในสยามประเทศ และภาพต่าง ๆ ที่คัดลอกมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

โดยเล่าเรื่องราวย้อนไปในอดีตราว 100 ปีก่อน เช่น เรื่องราววิวัฒนาการของเครื่องแขวนไทย งานประดิษฐ์ในยุคนั้น ภายในห้องนั้นเต็มไปด้วยหนังสือศาสตร์ต่าง ๆ ที่เปรียบเสมือนคลังสมองของคุณสกุลที่ใช้เป็นไอเดียสร้างสรรค์ผลงาน

ยุครุ่งเรืองที่สุดของการจัดดอกไม้คือรัชกาลที่ 5 ในยุคนี้เริ่มมีการแต่งแจกันให้เป็นทรงบาน โดยใช้ดอกบัวหลวงผสมดอกซ่อนกลิ่น อีกทั้งใช้พวงมาลาประดับพิธีต่าง ๆ อย่างในภาพ ขบวนรถบุปผชาติ เป็นการเลือกพาหนะจักรกลร่วมสมัยในขณะนั้นมาตกแต่งด้วยช่อดอกไม้แล้วจัดเป็นขบวนเฉลิมพระเกียรติ ดอกไม้จึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมถึงการจัดงานในสมัยนั้นก็ต้องใช้ดอกไม้เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ห้องถัดมามีชื่อว่า โลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ ซึ่งจัดแสดงวัฒนธรรมเกี่ยวกับดอกไม้ของแต่ละประเทศในเอเชียโดยเฉพาะ เช่น งานดอกไม้สักการะของบาหลี อินโดนีเซีย ลาว ญี่ปุ่น หรือย้อนกลับไปดูอารยธรรมดั้งเดิมเกี่ยวกับดอกไม้จากอินเดีย และห้องนี้ยังจัดแสดงวัตถุโบราณชิ้นเดียวของที่นี่ คือคัมภีร์ผ้าว่าด้วยการจัดดอกไม้แบบโชกะ ซึ่งเขียนด้วยคันจิโบราณอายุกว่า 200 ปีในช่วงปลายยุคเอโดะ ซึ่งตรงกับช่วงกรุงศรีอยุธยาสมัยปกครองโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

จากนั้นเราจะเดินต่อไปยังห้องที่มีชื่อว่า อุโบสถแห่งดอกไม้ ด้านในของห้องจัดแสดงการถ่ายทอดฝีมือการประดิษฐ์ดอกไม้ของสยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการจำลองงานแห่ต้นดอกไม้ฝีมือชาวบ้านของวัดศรีโพธิ์ชัย จังหวัดเลย ที่นิยมจัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ตามความเชื่อว่าเป็นสิริมงคลที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ทำให้อยู่ดีมีสุข มีฝนตกตามฤดูกาล

ต่อมาเป็นห้องที่มีชื่อว่า ความลับแห่งงานศิลป์ของไทย และ วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของผู้คน จะจัดแสดงการถ่ายทอดฝีมือการประดิษฐ์ดอกไม้ ทำให้เราได้เข้าใจรูปแบบของการประดิษฐ์มากขึ้น ด้วยการทำงานและออกแบบการใช้สอย จนอาจใกล้เคียงกับงานวิศวกรรมก็เป็นได้ ในห้องนี้จัดแสดงแม่แบบของลายเกล็ดและลายกระเบื้องแบบต่าง ๆ ที่ถือเป็นพื้นฐานของเครื่องแขวน การร้อยดอกมะลิ การต่อกันเพื่อให้เกิดแบบคล้ายตาข่ายจนเกิดรูปลักษณ์ต่าง ๆ ขึ้นมา ความยากของรูปแบบก็จะแตกต่างกันไป เริ่มจาก 4 ก้าน 4 ดอก 6 ก้าน 6 ดอก กำแพงแก้ว จนถึงลายอกแมงมุม แก้วชิงดวง ซึ่งแต่ละชิ้นใช้ระยะเวลาในการทำค่อนข้างสูง

เราเดินชมกันมาจนถึงสองห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อว่า Pen, Pencil and Possibility ปากกา ดินสอ และความน่าจะเป็นไปได้’ เป็นห้องจัดแสดงภาพร่างของงานแขนงต่าง ๆ ของคุณสกุล ไปจนถึงภาพถ่ายผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ เช่น การออกแบบดอกไม้ให้กับพรมแดงของงาน Rome Film Festival ที่อิตาลี การออกแบบประติมากรรมรีเซปชันโรงแรมบุลการีที่บาหลี การจัดดอกไม้ในงานแต่งงานของ เหลียง เฉาเหว่ย ที่ภูฏาน งานโฆษณาร่วมกับ หว่องกาไว ที่ประเทศอินเดีย ฯลฯ แต่งานที่คุณสกุลชื่นชอบและประทับใจที่สุดคือการได้มีโอกาสตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปจัดดอกไม้ที่เมืองจีน และหลังจากนั้นได้ถวายงานรับใช้ใต้พระยุคลบาทมากกว่า 10 ปี 

ถ้าหากได้เดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สิ่งที่พลาดไม่ได้อีกอย่างคงจะเป็น ร้านน้ำชา Salon de la Rose ณ The Museum of Floral Culture นั่งจิบชายามบ่ายชมวิวสวนสวยขจี ก็คงจะเป็นวันที่น่าพึงพอใจไม่น้อยเลยทีเดียว

หลังจากเดินชมครบทุกห้องแล้ว เราจึงเดินออกมาภายนอกของบ้าน ค่อย ๆ เดินลัดเลาะออกมา จะพบกับบรรดาต้นไม้น้อยใหญ่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวเย็นตา ดอกไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติแข่งกันเบ่งบานอวดดอกสีสันสดใส ไม่ว่าจะเป็นดอกชบาสีนวล ดอกรัก ดอกแก้ว ดอกต้นบีโกเนียและกล้วยไม้หลากสี หากเดินต่อไปยังด้านหลังพิพิธภัณฑ์จะพบกับศาลาไม้ทรงไทยโบราณคู่กับสระน้ำสีเขียวมรกต ให้ความรู้สึกร่มรื่นสบายตา

ดอกไม้ทำให้ใจเราอ่อนโยนขึ้น คงไม่อะไรอ่อนโยน บอบบาง และสวยงามได้เท่ากับดอกไม้หลากหลายพันธ์ ความงามของดอกไม้ก็เหมือนความงามของชีวิต ใช้ชีวิตให้สวยงามและมีคุณค่าเหมือนกับดอกไม้ที่พร้อมจะเบ่งบาน และร่วงโรยเพื่อเริ่มต้นใหม่อยู่เสมอ

เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

วันและเวลาทำการ เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00-18.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 150 บาท มัคคุเทศก์นำชม มีรอบนำชม ดังนี้ รอบที่ 1 เวลา 10.30 น. รอบที่ 2 เวลา 11.30 น. รอบที่ 3 เวลา 13.00 น. รอบที่ 4 เวลา 14.30 น. รอบที่ 5 เวลา 16.00 น. รอบสุดท้าย เวลา 17.00 น.

ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงได้ที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ เลขที่ 315 ถนนสามเสน ซอย 28 แยกองครักษ์ 13 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 โทรศัพท์ 0 2669 3633-4 โทรสาร 0 2669 3632 เว็บไซต์: www.floralmuseum.com อีเมล sakulintakul@yahoo.com

หากสนใจอยากลองจัดดอกไม้ ทางพิพิธภัณฑ์มีเวิร์คชอปให้เราได้ลองเรียนรู้ด้วยตัวเอง สามารถติดตามรายละเอียดและสำรองที่นั่งผ่านทาง Facebook Page www.facebook.com/TheMuseumofFloralCulture

Reference & Bibliography

  • พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://www.floralmuseum.com/content/floral-museum
  • พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, www.facebook.com/TheMuseumofFloralCulture
  • บุปผาชน จิบชาในร้าน Salon du thé แล้วเข้า The Museum of Floral Culture ไปเรียนรู้วัฒนธรรมดอกไม้จากหลากประเทศในเอเชีย. เรื่อง Museum Minds ภาพ มณีนุช บุญเรือง. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://readthecloud.co/the-museum-of-floral-culture

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

เป็นคนใจบาง บางวันชาบู บางวันหมูกระทะ