ทีมงานจากเพจ Wake time story เผยได้นำแนวคิด นิทานก่อนนอน มาเป็นไอเดียในการสร้างเพจ โดยดึงวิธีคิดแบบฟุ้งกระจายและแบบพุ่งหาเป้า มาใช้ตกผลึกเนื้อหาที่อยู่ในเพจ พร้อมชี้แจงหลังโดนชาวเน็ตวิจารณ์ถึงภาพ ‘แผนที่ไฟไหม้ป่าออสเตรเลีย’ ที่ทางเพจได้เผยแพร่ว่าเป็นภาพปลอม เพจได้แก้ปัญหาโดยการลบภาพดังกล่าวเพื่อรอหลักฐานที่แน่ชัด และเผยถึงเป้าหมายในอนาคตหากการประกวดจบลง ทีมงานจะยังคงทำเพจเพื่อสร้างการรับรู้ให้คนในสังคมเสพสื่ออย่างมีสติต่อไป

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา Wake up media โครงการที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในสังคมร่วมสร้างสรรค์ เสพสื่ออย่างมีสติ เปิดเวทีรับสมัคร นักเรียน นักศึกษา ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในด้านการสื่อสาร ร่วมส่งประกวดเพจ (​Facebook Page) เพื่อชิงทุนและไปทัศนศึกษาในทวีปยุโรป โดยการแข่งขันปีนี้ นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขา Innovative and Media Production คณะนิเทศศาสตร์ ร่วมลงแข่งขันด้วย

ทีมงาน Wake time story

โชติกา เหลืองกังวาลกิจ ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาและผู้จัดการ เพจ Wake time story กล่าวว่า หลังจากสมัครเข้าร่วมประกวดกับทาง Wake up media แล้ว ตนเองและเพื่อนอีก 3 คนในทีม มีความเห็นที่ตรงกันว่าอยากทำเพจสื่อสาร โดยอิงแนวคิดจาก ‘นิทานก่อนนอน’ ที่เล่าเพื่อทำให้คนหลับ แต่พลิกกลับมาเป็นการเล่า ‘นิทานก่อนตื่น’ ที่เล่าแล้วจะทำให้คนตื่นขึ้นมาเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัว

โชติกา กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนการทำงานในเพจเริ่มจากการสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัวว่าเรื่องใดมีผลกระทบที่รุนแรงและเรื่องใดควรได้รับการแก้ไขให้เร็วที่สุด เมื่อได้ประเด็นที่ตกผลึกแล้วจะทำการค้นคว้าหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ต่อจากนั้นจะเริ่มกระบวนการผลิตงานภาพ งานวิดีโอ และนำมาใช้ประกอบตัวเนื้อหาเพื่อให้มีความน่าสนใจมากขึ้น หลังจากได้งานที่เสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด ตนและทีมงานทุกคนจะมาตรวจสอบกันอีกรอบก่อนที่จะเผยแพร่ลงในเพจ

โชติกา เหลืองกังวาลกิจ ผู้สร้างสรรค์เนื้อหาและผู้จัดการ เพจ Wake time story

เป้าหมายของการสร้างเพจ Wake time story ขึ้นมาไม่ใช่เพียงแค่อยากส่งเข้าประกวดเท่านั้น แต่อยากทำให้คนในสังคมเกิดการตระหนัก ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเป็นกระบอกเสียงให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าในเพจได้รับการแก้ไข และส่วนสำคัญที่สุดคือ อยากช่วยให้คนในสังคมเสพสื่ออย่างมีสติและรอบคอบมากขึ้น ผู้จัดการเพจกล่าว

ด้าน ณัฐกฤต พรพิสุทธิ์ ผู้ดูแลเกี่ยวกับด้านการผลิตประจำเพจ Wake time story เผยถึงเคล็ดลับการสร้างเนื้อหาว่า เพจได้นำวิธีการคิดแบบฟุ้งกระจาย หรือ Divergent thinking มาใช้ คือการให้ทุกคนในทีมเสนอไอเดียออกมา เมื่อได้ความคิดที่หลากหลาย จากนั้นถึงจะใช้วิธีการคิดแบบพุ่งหาเป้า หรือ Convergent thinking โดยนำความคิดของทุกคนมารวมกัน และตกผลึกออกมาเป็นเนื้อหาที่พร้อมจะเผยแพร่ไปยังหน้าเพจ

ณัฐกฤต พรพิสุทธิ์ ผู้ดูแลเกี่ยวกับด้านการผลิตประจำเพจ Wake time story

เจนนิเฟอร์ มิเชล อัลคาเฟล ตำแหน่งผู้วิจัยและป้อนข้อมูลให้กับ เพจ Wake time story กล่าวถึงจุดยืนของเพจที่แตกต่างจากเพจอื่นว่าโดยปกติเพจสื่ออื่น ๆ จะนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของข่าวที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ทางเพจ Wake time story จะมีการปรับรูปแบบของภาษาที่ใช้ให้เหมือนการบอกเล่าจาก ‘เพื่อนสู่เพื่อน’ พร้อมกับข้อมูลที่มีครบถ้วนและรอบด้านโดยไม่ต้องไปหาเพิ่มเติมจากที่อื่น

เจนนิเฟอร์ มิเชล อัลคาเฟล ตำแหน่งผู้วิจัยและป้อนข้อมูลให้กับเพจ Wake time story

ส่วน ชารีฟ ยังเจริญ ผู้รับผิดชอบดูแลงานอาร์ตและเลขาประจำเพจ Wake time story เผยถึงปัญหาที่พบเจอระหว่างการทำงานในเพจ โดยยกตัวอย่างกรณีภาพแผนที่ไฟไหม้ป่าออสเตรเลียที่ทางเพจได้ทำการโพสต์ และหลังจากนั้นมีชาวเน็ตออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพดังกล่าวว่า ตัวภาพมีความชัดผิดปกติของภาพที่ถ่ายด้วยดาวเทียมจนเกิดเป็นกระแสว่า ภาพแผนที่ดังกล่าวเป็นภาพปลอมหรือเปล่า ทางเพจจึงตัดสินใจลบโพสต์ออกก่อนเพื่อหาหลักฐานที่แน่ชัดมาอ้างอิง

ชารีฟ ยังเจริญ ผู้รับผิดชอบดูแลงานอาร์ตและเลขาประจำเพจ Wake time story
เบื้องหลังการทำงานของทีมงาน Wake time story

ชารีฟ กล่าวต่อว่า ภายหลังทางเพจได้รับข้อความจากคนรู้จักที่ทำงานอยู่กับเพจ space X โดยเขาได้ให้ข้อมูลยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพจริงเพียงแต่แหล่งอ้างอิงที่ทางเพจ Wake time story โพสต์ก่อนหน้านั้นผิด จึงได้ทำการลบและโพสต์ภาพดังกล่าวใหม่อีกครั้ง พร้อมชี้แจงถึงความผิดพลาดดังกล่าวให้คนในโลกออนไลน์ได้เข้าใจอย่างตรงกัน ถึงแม้ตนและทีมงานจะรู้สึกเสียดายที่ต้องลบโพสต์ดังกล่าวทิ้งในตอนแรกแต่ความถูกต้องของข้อมูลย่อมเป็นสิ่งที่ทีมงานตระหนักถึงมากที่สุด จากกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ตนและทีมงานคนอื่น ๆ มีความละเอียดรอบคอบในการทำงานมากยิ่งขึ้น และได้นำบทเรียนครั้งนี้ไปปรับใช้กับการทำงานครั้งต่อไปอีกด้วย

นักศึกษาม.กรุงเทพ พิสูจน์ฝีมือ เปิดเพจสุดสร้างสรรค์ ในชื่อ ‘Wake time story’

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

Content Writer ที่นอนวันละ 25 ชม. เพราะง่วงเกิน | ขออวยพรให้เธอเจอลายเส้นที่รักเข้าสักวันนะ

Photographer

เช้าวันพุธของฤดูร้อนในเดือนเมษายน - หลงใหลในบทกวีรัก วาดฝันการมีร้านขายโปสการ์ดริมลำธารหลังบ้านและปรารถนาการกินกาแฟในทุกเช้า