ชายหาด ดนตรี ตัวเราเพียงหนึ่งเดียว สามองค์ประกอบอันเป็นภาพจำแห่งความเหงา แต่มันจะใช่เช่นนั้นจริงหรือ

นับแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการในต้นปี 2020 ทุกสิ่งบนโลกก็เหมือนกับถูกหยุดเวลาไว้ ทั้งภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และนวัตกรรมใหม่ก็นิ่งเงียบไปราวกับเส้นตรงที่ปรากฏบนเครื่องตรวจวัดคลื่นหัวใจ และที่นิ่งสนิทเหนือสิ่งใด ก็คือพวกเรา เหล่ามนุษย์ทุกคน

วิกฤตไวรัสบังคับให้ทุกคนต้องตีตัวห่าง บางรายต้องแยกจากเพื่อนฝูง บางรายต้องตีตัวจากครอบครัว ทว่าบางราย ก็กลับไม่เหลือใครให้ห่างกัน

และนี่คือสาเหตุของความรู้สึกที่เราทุกคนต่างเคยเผชิญมาแล้วสักครั้งหนึ่งในชีวิต

ความรู้สึกประหนึ่งมีรูโหว่กลางหน้าอก

ความรู้สึกที่พวกเราต่างรู้จักกันดี

ความเหงา

ความหมายของความเหงา

ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายให้เป็นรูปธรรม ดังนั้นเราจะพึ่งพาสิ่งที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการนิยามทุกสิ่งอย่างในการเดินทางตามหาความจริงนี้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งใด นอกเสียจาก วิทยาศาสตร์

แต่ก่อนอื่น เราต้องแยกศัพท์ให้ชัดเจนเสียก่อน ระหว่างการอยู่ลำพัง (Lone) และความเหงา (Loneliness) เนื่องด้วยในสังคม ยังมีอีกมากที่มองว่าการอยู่เพียงคนเดียวนั้นจำจะต้องรู้สึกเหงา ซึ่งเป็น Stereotype ที่ผิด เพราะใครก็ตามที่เลือกจะอยู่ตัวคนเดียว ไม่พึ่งพาใคร ไม่พบปะผู้ใด ก็อาจจะมีความสุขในแบบที่ตนเป็นมากกว่าการใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คน ดังนั้นความคิดประเภทนี้ควรเพลาลงเสีย เพราะมนุษย์เราต่างกัน เราแต่ละคนล้วนมีความเป็นปัจเจกที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน ความเหงาคือสิ่งที่รับรู้ได้โดยตรงจากภายใน เป็นความรู้สึกที่ยากจะเยียวยา เราได้รับมันทุกครั้งเมื่อเราถูกปฏิเสธจากเพื่อนฝูง ถูกมองข้ามความคิดเห็น หรือกระทั่งเมื่อเป็นฝ่ายเราเองที่คิดมากไปว่าเราคือส่วนเกิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นเป็นกลไกของสมองที่ส่งสัญญาณให้เราทำบางสิ่ง และหากเราเลือกจะไม่ฟังมัน ปล่อยไว้โดยไม่สนใจ สุดท้ายมันจะเรื้อรัง แล้วจะส่งผลร้ายแรงแก่ร่างกายโดยที่เราคาดไม่ถึง

รากเหง้าจากบรรพกาล

ไม่ใช่แค่มนุษย์ในยุคศิวิไลซ์เช่นเราเท่านั้นที่รู้สึกเหงา หากแต่บรรพบุรุษเราตั้งแต่ช่วงที่ยังสวมชุดหนังสัตว์ คว้าหอกกระดูกไล่แทงเสือเขี้ยวดาบก็สามารถรู้สึกเหงาได้เช่นเดียวกัน

ในโบราณกาล ยุคที่ไม่มีนวัตกรรมล้ำโลกใด คอยดูแลทุกการกระทำของมนุษย์แสนโลภมาก ทุกสิ่งที่บรรพบุรุษต้องการคือการอยู่รอดต่อไปในวันข้างหน้า เพื่อสืบพันธุ์ สร้างลูกหลาน และขยายจำนวนเผ่าพันธุ์ต่อไป และนั่นทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์สังคม

เมื่อการที่มีสังคม ก็เท่ากับมีผู้ที่จะคอยสนับสนุนเรา ยามที่เราบาดเจ็บหรือขาดอาหาร ซึ่งก็จะเท่ากับการที่เรามีชีวิตรอดต่อไปเพื่อสืบพันธุ์ สมองมนุษย์จึงสร้างระบบขึ้นมาสองระบบ นั่นคือระบบการให้รางวัล (Reward system) และระบบความเจ็บปวดทางสังคม (Social pain system)

ระบบการให้รางวัล จะเกิดขึ้นในสมองส่วน Ventral striatum และ Temporoparietal junction ซึ่งเชื่อมต่อสู่นิวรอนส่วน Doral raphe nuclei อันจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโดปามีน (ฮอร์โมนความสุข) ทุกครั้งที่เราทำสิ่งใดสำเร็จ ซึ่งในที่นี้คือการได้เข้าสู่สังคม พบปะ พูดคุย ร่วมกันล่าสัตว์ สร้างประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมเผ่า รวมไปถึงการเห็นอกเห็นใจ

ขณะเดียวกันระบบความเจ็บปวดทางสังคมนั้นจะเกิดขึ้นในสมองส่วน Pregenual anterior cingulate cortex (หรือสั้น ๆ ว่า PACC) และจะทำงานเมื่อเราเลือกที่จะปฏิเสธผู้คน ไม่คิดเข้าร่วมกับเผ่าไหน ไม่คิดจะแบ่งปันอาหารชิ้นใดแก่คนอื่น เมื่อนั้นเองที่สมองจะหลั่งฮอร์โมนความรู้สึกด้านลบออกมา สร้างความรู้สึกผิดกักเก็บไว้ภายใน บอกเป็นนัยถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหากเราไม่รีบกลับไปเข้าสังคมในตอนนี้

และนั่น คือสิ่งที่เราต่างเรียกกันจนติดปากว่า ความเหงา

ในสมัยที่บรรพบุรุษเราต้องตะเกียกตะกาย เค้นเรี่ยวแรงลับหินเป็นอาวุธ เค้นพลังสมองสร้างแผนในการล่าสัตว์ การอยู่ร่วมกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด จึงไม่แปลกที่คนในเผ่าจะตีตราคนนอกเป็นบุคคลนอกรีต และจึงไม่แปลกที่คนที่ปฏิเสธสังคมจะรู้สึกผิดจากเบื้องลึกภายในจิตใจ เพราะทุกสิ่งล้วนเกิดจากสมองของเราที่พยายามผลักดันให้เรามีชีวิตรอดเท่านั้นเอง

หนึ่งอาการ ทว่าต่างยุคสมัย

เราทราบกันไปแล้วว่าความเหงามีต้นกำเนิดจากพฤติกรรมเอาตัวรอดของคนรุ่นต้นกำเนิด แล้วหากเป็นคนยุคเราล่ะ เราไม่จำเป็นต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อออกล่า เราไม่จำเป็นต้องระแวดระวังเสือป่าที่จะเข้าตะครุบเราในยามค่ำคืน และเราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าอนาคตเราจะมีลูกหรือไม่ เพราะอย่างไรในโลกที่อัดแน่นด้วยมนุษย์ 7 พันล้านคนใบนี้ เราก็ไม่ต้องห่วงว่าเราจะสูญพันธุ์ เพียงเพราะมนุษย์หนึ่งไม่คิดจะมีครอบครัว

ทว่าช่างตลกร้าย แม้ศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคที่รุ่งเรืองด้วยเทคโนโลยีสื่อสารมากมายที่เชื่อมต่อคนทั้งโลกเข้าหากัน ไม่ว่าจะด้วยจดหมาย โทรศัพท์ รวมไปถึงอินเทอร์เน็ต แต่คนเรากลับห่างกันเสียจนแทบไม่ได้พบเจอ เราได้สัมผัสผู้คนมากมาย หลากเรื่องราว และหลากความเห็นจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรากำลังถืออยู่ แต่กระนั้น เราก็รู้สึกเหมือนกับว่ามันไม่ใช่ของจริง ไม่เหมือนความรู้สึกอบอุ่นที่เราได้รับเมื่อได้คุยกับมนุษย์ที่มีชีวิตมีเลือดมีเนื้อ

จากงานวิจัยด้านความเหงาโดยแผนกศึกษาวิจัยของ Cigna Health Insurance (USA) เปิดเผยว่า ‘คะแนนความเหงา’ ของคน Gen Z (1995-2012) นั้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่น Millennials (1981-1996) และคน Gen X (1961-1981) โดยกลุ่มที่มีคะแนนความเหงามากที่สุด ตกมาอยู่ที่ช่วงอายุ 16-24 ปี ซึ่งอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศึกษาเล่าเรียน และก้าวเข้าสู่สังคมวัยทำงาน

แม้จะฟังดูย้อนแย้งที่กลุ่มอายุที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนที่มีความเหงามากที่สุด แต่เราก็ไม่อาจเถียงได้ว่า การรู้จักกันผ่านโลกออนไลน์นั้นไม่อาจแทนที่การพบปะกันในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแน่นอน

“เด็กพวกนี้วัน ๆ เอาแต่เล่นมือถือ อยู่กับทวิตตงทวิตเตอร์ เล่นแต่เกม จะไปรู้จักสังคมจริง ๆ ได้ยังไง”

คำกล่าวข้างต้นอาจเป็นประโยคที่คนรุ่นใหม่มักได้ยินจนหูชา ทว่าแม้เรามักจะเถียงคำไม่ตกฟาก แต่ลึก ๆ ในใจ เราในฐานะมนุษย์ก็ยังโหยหาความสัมพันธุ์ที่เป็นตัวเป็นตนอยู่

นอกเสียจากค่าสถิติด้านความเหงา Cigna ยังพบอีกว่าความเหงาในยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นโดยหลายสาเหตุ หากแต่สาเหตุที่นำพาความเหงาสู่โรคเรื้อรังและโรคซึมเศร้านั้นมีอยู่ 3 สาเหตุหลัก

นั่นคือ การขาดการพบปะกับผู้คน สุขภาพกายและจิตใจที่ไม่เอื้ออำนวย และสมดุลชีวิตที่พังทลายลง ซึ่งข้อท้ายสุดนี่ Cigna ชี้ว่าสำคัญที่สุด เพราะจากผลสำรวจ คนยุคใหม่มักยึดถือความเป็นส่วนตัวเหนือสิ่งอื่นใด และมักทุ่มเทเวลาส่วนมากไปกับการทำสิ่งที่ตนรัก ซึ่งแม้จะเป็นสิ่งที่ดี และเสริมทักษะส่วนบุคคลได้อย่างยอดเยี่ยม

ทว่าพวกเขาส่วนมากเลือกที่จะ ยอมสละ ความสัมพันธ์ภายนอก เพื่อที่จะทุ่มเทเวลากับสิ่งที่พวกเขามองว่า จำเป็น สำหรับชีวิต เพราะฉะนั้น การจัดการชีวิตให้สมดุล คือสิ่งสำคัญในการเยียวยาจากความเหงา และป้องกันไม่ให้คุณภาพจิตตกต่ำ

หากเป็นไปได้ เมื่อใดที่เพื่อนคุณโทรมาชวนไปทานหมูกระทะ เที่ยวทะเล หรือดูภาพยนตร์ ก็อย่ารีบตัดสาย ลองนึกดูว่านานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้สัมผัสความรู้สึกที่ได้พบปะผู้คน อย่าได้รอช้า รับสาย ยกโทรศัพท์ขึ้นหู แล้วออกไปทำในสิ่งที่ใจคุณต้องการ

ความเหงาที่รุนแรง เหมือนมะเร็งที่กัดกิน

ความเหงาไม่ใช่เพียงสัญญาณที่สมองกำลังบอกให้เราเข้าสังคม แต่มันเป็นอาวุธร้ายที่กำลังทำลายตัวเราจากภายในอย่างช้า ๆ

งานวิจัยหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเมื่อบุคคลที่เหงาเกิดอาการป่วยหรือได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย มักจะมีอาการที่ย่ำแย่รุนแรงและระยะเวลาที่ป่วยมากยิ่งกว่าคนที่ไม่เหงา ซึ่งแม้จะไม่มาก แต่ก็ส่งผลชัดเจน

ในงานวิจัยดังกล่าว ได้มีการทดลองให้บุคคล 213 คน ทำการทำ ‘แบบสอบถามความเหงา’ จากนั้นจึงมอบของเหลวที่ปะปนด้วยไวรัสเชื้อไข้หวัดทั่วไป ให้แต่ละคนได้ดื่มคนละหยด ก่อนจะกักกันทุกคนภายในสถานที่ปิดกั้นเป็นจำนวน 5 วัน ซึ่งมีการตรวจสอบและวัดผลโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างดี เผื่อในกรณีที่การทดลองผิดพลาด จะได้มีการเข้าช่วยเหลืออย่างฉับไว

ซึ่งผลลัพท์การทดลองก็เป็นอย่างที่ทุกท่านได้คาดไว้ ผู้ที่มีคะแนนความเหงาสูงมักจะแสดงอาการป่วยออกมารุนแรงและยาวนาน ต่างจากผู้มีคะแนนความเหงาต่ำที่สามารถหายป่วยได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งบ่งบอกชัดเจนถึงระบบภูมิคุ้มกันภายในที่มีประสิทธิภาพลดลงเมื่อตัวเจ้าของร่างรู้สึกเหงา ทั้งเรื้อรัง และไม่เรื้อรัง

นอกจากนั้น นักวิจัยยังได้เปิดเผยสถิติว่า ความเหงาเรื้อรังจะส่งผลกระทบแก่ระบบร่างกายโดยรวม ทั้งยังกระตุ้นสิ่งที่เรียกว่า Pro-inflammatory transcription factor หรือก็คือตัวแปรภายในร่างกายที่จะกระตุ้นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นหลังได้รับแผลหรือความเสียหายภายในเนื้อเยื่อ ซึ่งผลที่ตามมาคือโอกาสจะเป็นโรคหัวใจที่เพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซนต์ และโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นถึง 32 เปอร์เซนต์

ซึ่งหากให้เปรียบเทียบ ความเหงาเรื้อรังนั้นสามารถสร้างผลกระทบแก่ร่างกายคุณเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 15 มวนต่อวันเลยทีเดียว

สิ่งเยียวยา คือ Mindset ของเรา

เมื่อมาถึงจุดนี้ เราก็รู้แล้วว่าความเหงาคืออะไร มีจุดไหนเป็นต้นกำเนิด และมันส่งผลต่อเรายังไง ทีนี้ก็เหลือเพียงสิ่งเดียว นั่นคือวิธีรับมือกับมัน

มนุษย์เราไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีอะไรเหมือนกันไปเสียทีเดียว ทุกคนมีสิ่งที่ชอบ สิ่งที่เกลียด มีเป้าหมาย และความต้องการแตกต่างกันไป ดังนั้นมันจึงเป็นปัจเจกในด้านความเหงาเช่นกัน

หากเราจะรับมือกับความรู้สึกนี้ สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือการทำความเข้าใจกับตนเอง พยายามขุดคุ้ยความทรงจำว่า ที่ผ่านมา ในหนึ่งวัน ในหนึ่งสัปดาห์ หรือในหนึ่งเดือน เกิดสิ่งใดขึ้นบ้าง และอาการเหงาของเรานั้นมันเริ่มมาตั้งแต่จุดไหน ทว่าอย่ารีบร้อน ค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากเราเร่งจะขจัดความรู้สึกนี้ไปให้ได้ ก็ไม่ต่างกับการนำฟืนใส่ไฟ ก่อความเครียดแก่ร่างกายไปมากกว่าเดิม

เราควรคำนึงตลอดเวลาว่าสิ่งที่เรารู้สึกเกิดจากระบบป้องกันตัวเองของสมอง ที่ดึงเราออกมาจากจุดนั้น และส่งสัญญาณให้เราครุ่นคิดถึงการกระทำที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น

อย่าโทษตัวเอง อย่ากล่าวร้ายผู้อื่น พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือลองทิ้งแนวคิดทั้งหมดไป แล้วไล่ความทรงจำใหม่จากศูนย์ เมื่อนั้นคุณอาจเจอคำตอบที่ต้องการก็ได้

เมื่อเราเข้าใจว่าเราเหงาเพราะอะไร สิ่งเดียวที่ต้องทำคือแก้ไขมัน ซ่อมแซมมัน ทำให้ชีวิตเรากลับสู่สถานะที่เปี่ยมด้วยความสุขอีกครั้ง

หากเราเหงาเพราะรู้สึกขาดเพื่อน ทั้งที่เราก็ส่งข้อความบนโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่าร่างกายคุณกำลังโหยหาสัมผัสของมนุษย์ ‘จริง ๆ’ ไม่ใช่มนุษย์ที่ปรากฏอยู่บนจอแก้วแต่อย่างใด ดังนั้นคุณควรโทรชวนเพื่อนไปข้างนอก อาจจะนัดทานกาแฟ รวมแก๊งไปปีนเขา หรือทำได้ง่าย แค่เพียงไปหาอีกฝ่ายที่บ้าน และรวมกลุ่มเล่นเกมด้วยกัน

หรือหากคุณเหงาเพราะรู้สึกแปลกแยก เข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้ นั่นหมายความว่าสมองกำลังส่งสัญญาณอย่างหนักให้คุณปรับตัวเข้ากับสังคม ทว่าแม้การเปลี่ยนลักษณะการวางตัวเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรเสีย การฝืนตัวเองก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่ส่งผลดีในระยะยาว

ดังนั้นหากมันยากเกินไป คุณก็ควรทิ้งห่างจากสังคมที่ว่าสักพักหนึ่ง และลองออกไปทำในสิ่งที่คุณไม่เคยสัมผัส เพื่อให้สมองได้เบนจุดสนใจจากสังคมที่อยู่ตรงหน้า เป็นความสุขจากการได้ทำสิ่งใหม่แทน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งมาราธอน เล่นบอร์ดเกม หรือแม้กระทั่งรับประทานอาหารเมนูที่ไม่เคยลิ้มลอง

ก้าวออกมาจากความเหงา

แต่ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่เป็นโรคเหงาเรื้อรัง ไม่ทราบชัดเจนว่าต้นเหตุคือสิ่งใด และต้องทำอย่างไรจึงจะหายจากอาการเหล่านี้ คุณก็ควรไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

แม้ว่าสังคมไทยส่วนมากจะ Stereotype ว่าคนที่เข้าพบจิตแพทย์คือผู้บกพร่องทางจิต ทว่าความจริงนั้นไม่ใช่เลย คนที่มาพบแพทย์นั้นคือคนที่กล้าและรู้ชัดในปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญต่างหาก ดังนั้นคุณอย่าได้สนใจคำพูดของคนรอบข้าง

เมื่อเราเจอปัญหา เราก็ต้องพึ่งพาคนที่สามารถแก้ปัญหา และเรามั่นใจอย่างยิ่งว่าคุณทำได้ ชีวิตมีขึ้นมีลงอยู่เป็นปกติ เพียงแต่ตอนนี้คุณอาจอยู่ในหลุมลึกที่สุด

เราเชื่อว่าข้างนอกนั่น ยังมีคนที่พร้อมจะช่วยเหลือคุณอยู่ เราเชื่อว่าตัวคุณจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ และเราเชื่อว่า คุณนั้นสำคัญ อย่าได้ด้อยค่าความรู้สึกตนเอง ลุกขึ้น สูดหายใจเข้าลึก และออกตัวพุ่งชนปัญหาประหนึ่งว่าไม่มีใครในโลกหยุดคุณได้

ขอขอบคุณคุณที่ยืนหยัดต่อสู้มาโดยตลอด

คุณเก่งมากจริง ๆ

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา JR211 Creative Writing for Journalism ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer

นักฝัน นักพูด นักเขียน ผู้รักการถ่ายทอดอารมณ์ในหลากรูปแบบ แม้เขาจะเพิ่งก้าวสู่วงการนักเขียนเพียงไม่ถึงปี แต่อย่างไรโลกนี้ก็ยังมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้อีกมากนัก