การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจหรือด้านความเป็นอยู่ เราได้มีโอกาสไปสำรวจอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบนั่นคือ ‘เกาะสุนัข พุทธมณฑล’ อยู่ใกล้กับศาลายา จังหวัดนครปฐม

เกาะสุนัข พุทธมณฑล เป็นสถานที่ที่มีสุนัขจรจัดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนสุนัขเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีคนกลุ่มหนึ่งขาดความรับผิดชอบและนำสุนัขมาปล่อยทิ้งไว้ กลายเป็นสุนัขจรจัดที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคม เพราะสร้างผลกระทบด้านต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากอุจจาระหรือมลภาวะจากเสียง

ช่วงเวลานี้ผู้คนต่างพากันกักตัวอยู่ในที่พักอาศัย รักษาระห่างในการใช้ชีวิต เกาะสุนัข พุทธมณฑล จึงมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่เป็นจำนวนน้อย ทำให้การบริจาคอาหารและยารักษาโรคลดลงเช่นเดียวกัน เราได้พูดคุยกับ ดร.ปวรุตม์ ฐิติพงศิริกุล หัวหน้าฝ่ายอุทยานสำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาเเห่งชาติ ผู้รับผิดชอบสถานที่ดูเเลเกาะสุนัข ทำให้รู้ถึงผลกระทบที่เกาะสุนัข พุทธมณฑลได้รับ

เกิดเป็น “เกาะสุนัข” ได้อย่างไร

ดร.ปวรุตม์ เล่าย้อนกลับไปปี พ.ศ.2544 ตอนพุทธมณฑลเปิดให้บริการ มีสุนัขกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณพุทธมณฑลเป็นจำนวนมาก สุนัขเหล่านี้ล้วนมาจากผู้คนที่ขาดความรับผิดชอบและถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้

พุทธมณฑลเป็นสถานที่ที่มีประชาชนเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเหล่าสุนัขที่ถูกทอดทิ้งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ ทางพุทธมณฑลเล็งเห็นถึงปัญหานี้และคิดว่าควรนำสุนัขทั้งหมดไปอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม จึงนำสุนัขจรจัดที่อยู่ในบริเวณพุทธมณฑลมาอยู่รวมกัน จึงเกิดเป็นสถานที่เรียกว่า เกาะสุนัข ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 2 ไร่ และในปัจจุบันมีสุนัขอยู่ในพื้นที่ประมาณ 500 ตัว

ไม่ใช่เเค่มนุษย์ที่ได้รับผลกระทบ...เราต้องช่วยกัน

โควิดนอกจากจะเป็นโรคร้ายเเล้ว ยังเป็นพิษทางเศรฐกิจที่เกาะสุนัขเเห่งนี้ได้รับผลกระทบ ในเรื่องของค่าใช้จ่ายการดูเเลสุนัข ทางพุทธมณฑลจึงมีการจัดตั้งกองทุนไว้เพื่อบริหารจัดการดูเเลภายในเกาะสุนัข กองทุนส่วนนี้จะนำไปใช้ซื้ออาหารและยารักษาโรคสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ

ดร.ปวรุตม์ กล่าวว่า เกาะสุนัขมี 3 ช่องทางในการเปิดรับระดมทุน ได้เเก่ การโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ชื่อว่า กองทุนสุนัขจรจัด มีการตั้งตู้รับบริจากภายในเกาะสุนัข และใช้คิวอาร์โค้ดในการรับบริจาก โดยคิวอาร์โค้ดจะติดอยู่ในพื้นที่พุทธมณฑล สามช่องทางดังกล่าวนี้ไม่เคยมีการประกาศลงพื้นที่สื่อใด ๆ เเต่เป็นการประกาศตามจุดต่าง ๆ ภายในพุทธมณฑล ประชาชนที่เข้ามาใช้พื้นที่ก็จะเห็นช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ

ถ้าพบเห็นส่วนใหญ่จะช่วยระดมทุนผ่านช่องทางดังกล่าวนี้ เเต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่ได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่พุทธมณฑล จึงทำให้ยอดระดมทุนลดลง

ดร.ปวรุตม์ เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะมีหน่วยงาน มูลนิธิ ประชาชน แพทย์จิตอาสาและโครงการไม่แสวงหาประโยชน์ต่าง ๆ ได้มีเมตตาเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญเป็นจำนวนหมื่นกว่าบาท แม้ว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของพุทธมณฑลจะตกอยู่ที่สามหมื่นกว่าบาทก็ตาม

พุทธมณฑลนอกจากจะเปิดรับสิ่งของเเล้วยังเปิดให้บุคคลธรรมดา นักเรียน นักศึกษา มูลนิธิ องค์กรต่าง ๆ ที่มีใจรักต่อสุนัข สามารถเข้ามาช่วยเหลือดูเเลสุนัขในพื้นที่ได้ โดยช่วงเวลา 08.00 น. เกาะสุนัขจะเริ่มผสมอาหารให้สุนัข เเละล้างอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่การเก็บอุจจาระของสุนัขทางเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดูแลในส่วนนี้เอง แต่หากใครอยากช่วยเหลือทางเจ้าหน้าที่ก็ยินดี

ช่วงโควิดยังทำให้พุทธมณฑลต้องงดกิจกรรมภายในพื้นที่ เเต่หากใครอยากเดินทางนำสิ่งของมาบริจาคให้สุนัขด้วยตนเองก็สามารถเดินทางเข้ามาได้ โดยเเจ้งผ่านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่าจะนำอาหารเข้ามาบริจาคที่เกาะสุนัข

มีสิ่งใดที่ขาดเเคลนและจำเป็นบ้าง

ดร.ปวรุตม์ กล่าวว่า สิ่งที่ทางพุทธมณฑลต้องการพอ ๆ กับอาหารก็คือ ‘จุลินทรีย์’ เพราะทุกครั้งที่ทำความสะอาด สิ่งปฏิกูลจะถูกปล่อยทิ้งลงในน้ำและไม่ได้มีการบำบัดใด ๆ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย และสิ่งที่สำคัญรองลงมาคือ ยารักษาโรค เนื่องจากสุนัขมาอยู่รวมกัน เกิดการกัดกันทำให้มีบาดเเผลและก่อเกิดเป็นโรคร้าย

“ในอนาคตจะมีการปรับขนาดกรงเเละขนาดรั้วใหม่ ท่านใดที่อยากเข้ามาบริจาค นอกจากอาหารก็สามารถนำของอื่น ๆ มาบริจาคได้ เช่น กรงสุนัข บ้านพักสำหรับสุนัขป่วยหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ทางเกาะสุนัขก็ยินดีรับ”

อยากจะฝากถึงผู้ที่ปล่อยสุนัข

“มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ผมอยากให้มองว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่ใช่เพียงเเต่ผู้ที่มาปล่อยเดือดร้อน เเต่สุนัขเเละผู้คนอื่นที่อยู่ในพื้นที่นั้นต่างก็เดือดร้อน ก่อนที่ท่านจะเลี้ยงสัตว์ท่านอาจจะต้องพิจารณาในเรื่องของกำลัง สภาพเเวดล้อมและความเป็นอยู่ของตัวเอง เพราะความพร้อมเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดูแลสัตว์เลี้ยง เพื่อที่จะได้ไม่ไปรบกวนผู้อื่น” ดร.ปวรุตม์ ฐิติพงศิริกุล กล่าว

เกาะสุนัขนอกจากจะเป็นพื้นที่ดูเเลสุนัขจรจัดเเล้ว ผู้ใดสนใจต้องการรับเลี้ยงสุนัขเพื่อไปดูแลต่อ ก็สามารถเดินทางมาที่ ‘เกาะสุนัข พุทธมลฑล’ ได้

การเเก้ปัญหาสุนัขจรจัดให้มีจำนวนลดลงไม่ใช่การ ‘กำจัด’ เเต่เป็นการดูเเลเขาเหล่านี้จนหมดอายุไข ในปัจจุบันพบว่าจำนวนสุนัขจรจัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงที่เกิดโรคระบาดพบว่ามีจำนวนสัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้งมากที่สุด

เราขอฝากให้ทุกคนไตร่ตรองก่อนที่จะนำสัตว์มาเลี้ยง และควรคำนึงถึงปัจจัยของตนเองในระยะยาว สิ่งมีชีวิตต่างก็อยากอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนควรถูกทอดทิ้งเพียงเพราะความไม่พร้อม

Reference & Bibliography

ดร.ปวรุตม์ ฐิติพงศิริกุล หัวหน้าฝ่ายอุทยานสำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาเเห่งชาติ ผู้รับผิดชอบสถานที่ดูเเลเกาะสุนัข พุทธมณฑล

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

ถึงเราไม่สนิทกัน แต่จรัญสนิทวงศ์