ซินดี้-สิรินยา บิชอพ พร้อมทั้ง แอน-แอนโทเนีย โพซิ้ว ร่วมรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปราศจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ผ่านแคมเปญและนิทรรศการ #DontTellMeHowtoDress x #PolicyPlease ซินดี้ สิรินยา เปิดเผยว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและคุกคามทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย ลำพังเพียงนักศึกษาออกมาพูดเรียกร้องอาจไม่เพียงพอ การป้องกันควรเริ่มต้นจากนโยบายโดยคณะผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัย
สำหรับแคมเปญ #DonTellMeHowToDress ริเริ่มโดย ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบ นักแสดง พิธีกร ร่วมกับ มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล เป็นโครงการรณรงค์การต่อต้านความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง
ส่วนแคมเปญ #PolicyPlease จัดตั้งโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Woman) แห่งเอเชีย-แปซิฟิก ในการให้คำแนะนำเรื่องการตอบโต้และป้องกันการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษา
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา แคมเปญ #DontTellMeHowtoDress x #PolicyPlease ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ เพื่อร่วมรณรงค์ให้มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ปราศจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ภายในนิทรรศการได้จัดแสดงเครื่องแต่งกายของเหยื่อจากการถูกข่มขืน เพื่อต้องการที่จะลบมายาคติในสังคมไทยว่าการที่ผู้หญิงแต่งกายล่อแหลม หรืออยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง เป็นสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศ โดยงานนี้ได้จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตอโศก
ภายในงาน สิรินยา เปิดเผยว่า ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และคุกคามทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย ลำพังเพียงนักศึกษาออกมาพูดเรียกร้องอาจไม่เพียงพอ การป้องกันควรเริ่มต้นจากการให้ความร่วมมือของคณะผู้บริหารแต่ละมหาวิทยาลัยว่ามีนโยบายอย่างไรบ้าง เมื่อมีเหตุการณ์การคุกคามทางเพศเกิดขึ้น
นอกจากนั้น สิรินยา ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาการคุกคามทางเพศ ไม่เพียงแต่เกิดในผู้หญิงเท่านั้น กับผู้ชายก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน แต่ละมหาวิทยาลัยควรจะมีช่องทาง หรือวิธีการที่ทำให้นักศึกษารู้สึกปลอดภัยที่จะเข้าไปรายงาน และมั่นใจได้ว่าตนเองจะไม่ถูกเปิดเผยข้อมูล รวมไปถึงเมื่อนักศึกษาที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศต้องการความช่วยจากกระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยจะต้องมีขั้นตอนในการจัดการที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ตนยังรู้สึกว่าหลายมหาวิทยาลัยยังขาด จึงชี้แนะว่าอาจจะนำตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ผู้จัดแคมเปญ #PolicyPlease ที่ให้การสนับสนุนนักศึกษา และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ประกาศใช้นโยบายป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย ไปปรับและดูว่าสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับแต่ละมหาวิทยาลัยได้อย่างไรบ้าง
ด้าน แอนโทเนีย โพซิ้ว มิสซูปราเนชั่นแนล (Miss Supranational) 2019 ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ม ผู้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งแคมเปญ #PolicyPlease กล่าวว่า การจัดงานร่วมกันระหว่างสองแคมเปญในครั้งนี้ จะช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้การให้ความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือเพศใดก็ตาม นอกจากนี้ ในฐานะตัวแทนนักศึกษา อยากจะปลุกจิตสำนึกให้ผู้คนเข้าใจถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในรั้วมหาวิทยาลัย และตระหนักถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทยจนถึงปัจจุบัน
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค