‘ตลาดหน้ามอ’ เปิดให้บริการแก่นักศึกษา แต่บรรยากาศภายในตลาดบริเวณอาคาร A8 ซบเซา เพราะยังคงมีการเรียนการสอนในรูปแบบ (Online) ควบคู่ไปกับรูปแบบการเรียนในพื้นที่ (Onsite) ตามมาตรการของมหาวิทยาลัย เพื่อปรับลดจำนวนนักศึกษาให้เหมาะสม

เราได้ลงพื้นที่สำรวจตลาด พูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าบริเวณตลาดหน้ามอ ภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

คุณกฤษณา บุตรน้อย เจ้าของร้าน ‘บ้านส้มสด’ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังคงมีจำนวนลูกค้าไม่มากนัก และบรรยากาศภายในตลาดหน้ามอเงียบเหงากว่าที่เคย เพราะนักศึกษายังมีการเรียนในรูปแบบ Online อยู่ บางคนจึงไม่ได้เดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัย ทำให้ไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ จะมีเพียงลูกค้าขาประจำก็เท่านั้น รายได้ที่ได้รับต่อวันยังไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปกติ

ด้าน คุณพรวิภา วิกาหะ เจ้าของร้าน ‘โกตี๋ ไก่ไม่มีกระดูก’ เผยความรู้สึก หลังจากมีประกาศให้เข้าใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยว่า “รู้สึกดีใจมาก เพราะช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดให้ใช้พื้นที่ชั่วคราว ทำให้ขาดรายได้หลักจากการขายของไป แต่ตอนนี้สามารถกลับมาขายของได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าบรรยากาศภายในตลาดจะยังคงเงียบเหงาอยู่ก็ตาม”

จากการสอบถามร้านค้าต่าง ๆ พบว่า ร้านค้าในบริเวณตึก A8 สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.-18.00 น.  และในช่วงนี้จะมีการเก็บค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกัน ลดภาระค่าใช้จ่าย และเนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เป็นนักศึกษา ซึ่งนับได้ว่าเป็นรายได้หลักของตลาดแห่งนี้ยังคงมีจำนวนน้อย จึงทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สามารถคำนวณรายได้เฉลี่ยต่อวันได้

แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านค้าเป็นอย่างมาก แต่โครงการที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นก็สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเราชนะ

คุณพรวิภา เล่าว่าทั้งโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ช่วยให้ร้านค้าของตนขายได้ดียิ่งขึ้น เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้นักศึกษาเป็นจำนวนมากเลือกซื้อและเข้าใช้บริการเพียงร้านค้าที่เข้าร่วมสองโครงการนี้เท่านั้น

หลังการสำรวจร้านค้าภายในตลาดหน้ามอพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่ได้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ ที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้นเพื่อให้บริการแก่นักศึกษา เพราะสะดวกต่อการใช้จ่าย

สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในตลาดหน้ามอ มีข้อกำหนดสำหรับร้านค้าต่าง ๆ เช่น ทุกร้านค้าจะต้องมีเจลล้างมือให้บริการสำหรับลูกค้า ผู้ประกอบการร้านค้าจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา มีฉากเป็นแผ่นใสกั้นทั้งด้านหน้าร้านและด้านข้างของร้าน เพื่อป้องกันและรักษาระยะห่างระหว่างกัน

ส่วนทางเข้าตลาด จะมีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ มีเจลล้างมือให้บริการ มีป้ายให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าใช้พื้นที่ และคิวอาร์โค้ดไทยชนะเพื่อลงทะเบียนการเข้า-ออกภายในพื้นที่ของตลาด ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยที่เตรียมรับมือกับทุกสถานการณ์ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

งานเขียนไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่เราอยากทำ แต่เป็นสิ่งแรกที่เราจะทำ

Photographer

ถึงเราไม่สนิทกัน แต่จรัญสนิทวงศ์