ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้สื่อออนไลน์ตื่นตัวกับการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน แม้บางคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เท่าที่ควร แต่หลายคนเริ่มระมัดระวังตัวและพยายามศึกษาข้อกฎหมายมากขึ้น ด้านอาจารย์ประจำวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แนะอยากให้คนในสังคม มีสติในการเสพข่าวสาร เพราะข้อมูลในโซเชียลมีเดียให้ทั้งประโยชน์และโทษหากไม่รู้เท่าทันสื่อ
เราได้ทำการสำรวจผ่านแบบสอบถามออนไลน์กับกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียตั้งแต่อายุ 15-27 ปีเกี่ยวกับกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำนวน 57 คน พบว่าร้อยละ 21.40 ไม่รู้จักและไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ทั้งยังเคยนำเข้าและส่งต่อสิ่งที่เป็นข้อมูลเท็จ หรือ Fake News ถึงร้อยละ 78.60 แต่จากการสำรวจพบว่า ประชาชนยังมีความเกรงกลัวต่อกฎหมายดังกล่าวอยู่ถึงร้อยละ 57.10
คุณชลธิษา คงเหนียง หนึ่งในผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก กล่าวว่า โดยส่วนตัวชอบอ่านและส่งต่อข่าวสารที่อยู่บนโลกออนไลน์เป็นประจำ แม้เมื่อก่อนตนจะไม่รู้จักและไม่เคยศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดของกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ในช่วงนี้ได้ดูข่าวและเห็นว่าตำรวจมีการออกหมายเรียกตัวผู้ที่กระทำความผิดในกฎหมายดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ตนระมัดระวังในการเสพและส่งต่อข้อมูลมากขึ้น โดยทำการเช็คและตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลเสมอ
คุณดวงพร สุทธศิริ ผู้ชื่นชอบการเสพข่าวผ่านสื่อกระแสหลัก เผยว่า ปกติตนจะอ่านข่าวและเชื่อข้อมูลที่มาจากสื่อที่มีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากปัจจุบันจะพบว่ามีข่าวปลอม ในโลกออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ทำให้เวลาก่อนตนจะนำเข้าหรือส่งต่อข้อมูลใดจะต้องทำการเช็คข้อมูลก่อนทุกครั้งเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและผู้ที่รับข่าวสารต่อจากตน
ดวงพร กล่าวเสริมว่า ตนเองเคยมีประสบการณ์ ที่เพื่อนบนเฟซบุ๊กได้นำภาพของคนอื่น ซึ่งตนคาดว่าบุคคลดังกล่าว ไม่ทราบว่าถูกนำภาพมาเผยแพร่ลงหน้าเฟซบุ๊กพร้อมใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้ตนจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายไม่มากนักแต่พอจะทราบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ขณะเดียวกัน คุณก่อบุญ พรลักษณ์ ผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทวิตเตอร์เป็นประจำ ยอมรับว่า เมื่อก่อนตนแทบไม่เคยตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลที่ตนได้ทำการส่งต่อเลย โดยมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลาและเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวน่าจะถูกต้องแล้ว เนื่องจากเห็นว่ามีหลายคนส่งต่อกันมาจึงทำตาม แต่ในภายหลังที่ตนได้ศึกษาเกี่ยวกับ กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และรับรู้ถึงบทลงโทษ ทำให้ตนตระหนักและเกิดความเกรงกลัว จึงเริ่มตรวจเช็คแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนส่งต่อทุกครั้ง
อาจารย์บุญยศิษย์ บุญโพธิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นข่าวปลอม ที่มีมากในโลกออนไลน์ขณะนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันบริบทของสื่อมีการปรับเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน จึงทำให้เกิดการแข่งขันในโลกออนไลน์ค่อนข้างสูง หากสื่อไหนมียอดคลิก ยอดไลก์และยอดแชร์ที่มากก็จะดึงโฆษณาให้เข้ามา ทำให้หลายครั้ง สื่อเลือกที่จะใช้คำพาดหัวข่าวที่เกินจริงเพื่อจูงใจให้คนกดเข้าไปอ่าน ทั้งที่เนื้อหาไม่ถูกต้องตรงกับพาดหัวจึงส่งผลให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์หลายคนที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาข่าวอย่างละเอียดส่งต่อข่าวนั้นโดยไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังตกเป็นเครื่องมือของข่าวปลอม
อาจารย์บุญยศิษย์ กล่าวต่อว่า ผู้ใช้สื่อออนไลน์สมัยนี้ยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่น้อยมาก เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคที่ใครหลายคนอยากมีชื่อเสียงบนโลกออนไลน์ซึ่งทำได้ง่าย เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้บางคนเลือกใช้วิธีการแปลก ๆ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตนเอง เช่น ข่าวแม่ค้าไลฟ์สดขายครีมทาร่องก้นที่เป็นกระแสและเกิดการส่งต่อเป็นวงกว้าง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 (4) นำเข้าข้อมูลที่มีลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยสาเหตุที่แม่ค้าคนดังกล่าวกระทำแบบนั้นเพราะไม่รู้ข้อกฎหมาย
สื่อออนไลน์เหมือนดาบสองคม แม้ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าหากไม่ตรวจเช็คแหล่งที่มาของข้อมูลให้ดีและเกิดการส่งต่อซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเสียหายของประเทศ หรือแม้กระทั่งการส่งต่อข่าวลืออันเป็นเหตุทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ โทษของผู้ส่งต่อย่อมเท่ากับโทษของผู้นำเข้าข้อมูลคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เพราะฉะนั้นผู้ใช้สื่อออนไลน์ทุกคนจะต้องพึงมีสติและรู้เท่าทันสื่ออยู่เสมอ อาจารย์บุญยศิษย์กล่าวปิดท้าย
Reference & Bibliography
- คุณชลธิษา คงเหนียง, คุณดวงพร สุทธศิริ และคุณก่อบุญ พรลักษณ์
- อาจารย์บุญยศิษย์ บุญโพธิ์ อาจารย์ประจำวิชากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Unsplash: Beautiful Free Images & Pictures www.unsplash.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค