ศาสตร์การรักษาโรคที่น่าสนใจอีกหนึ่งศาสตร์ ไคโรแพรคติค ช่วยแก้ปัญหาโรคกระดูก

ดร.นิวัฒน์ พนมสารนรินทร์ นักไคโรแพรคติก เผยว่าปัญหาโรคกระดูก สามารถรักษาได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระดูกและหากปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ไม่มีความเสี่ยง

ด้าน ดร.เสถียร สว่างโลก นักไคโรแพรคติก ให้ข้อมูลว่าผู้ป่วยโรคกระดูกหากต้องการรักษาไคโรแพรคติก ควรศึกษาข้อมูลความน่าเชื่อถือทางคลินิก โดยดูใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา

ดร.นิวัฒน์ พนมสารนริทร์ นักไคโรแพรคติก (นรินทร์ คลินิก)

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ดร.นิวัฒน์ พนมสารนรินทร์ จากนรินทร์ คลินิกไคโรแพรคติกและกายภาพบำบัด เปิดเผยว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการรักษาแบบไคโรแพรคติก ว่าเหมือนการนวดพื้นบ้าน จึงเข้าไปรักษาด้วยการนวดแทน ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกมากขึ้น ตามที่พบเห็นในข่าว

ดร.นิวัฒน์ เผยต่อว่า แพทย์ผู้ให้การรักษา ต้องเรียนจบไคโรแพรคติกโดยตรง มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกระดูกสันหลัง ไขข้อ ไขสันหลัง เพื่อปรับตำแหน่งโครงสร้างร่างกายให้ทำงานได้อย่างสมดุลกันและในการรักษาจะไม่มีการใช้ยาหรือการผ่าตัดแต่อย่างใด

รูปภาพไคโรแพรคติก

ผู้ป่วยที่มารับการรักษามีอายุตั้งแต่ 7-100 ปี เพราะไคโรแพรคติกรักษาได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่เหลือเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ส่วนการรักษาให้หายขาดได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย ดร.นิวัฒน์ กล่าว

ดร.นิวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์ไคโรแพรคติกประมาณ 30 ท่านเท่านั้น ผู้ป่วยควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคลินิกมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน โดยดูใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ออกโดยกระทรวงสาธารณสุข ก่อนเข้ารับการรักษา

ดร.เสถียร สว่างโลก นักไคโรแพรคติก (หมอเปิ่นจัดกระดูก สาขาเมืองทองธานี)

ดร.เสถียร สว่างโลก นักไคโรแพรคติก จากคลินิกหมอเปิ่นจัดกระดูก สาขาเมืองทองธานี ระบุว่า คนไทยไม่ค่อยรู้จักการรักษาแบบไคโรแพรคติกมากนัก ไม่เหมือนกับอเมริกาที่แพร่หลายกว่า ซึ่งการรักษาศาสตร์ไคโรแพรคติกคือการรักษาด้วยมือ โดยจะตรวจรักษาระบบประสาทกระดูกสันหลัง และข้อต่าง ๆ ตามร่างกาย

ดร.เสถียร กล่าวต่อว่า การรักษาด้วยศาสตร์ไคโรแพรคติกในประเทศไทย จัดอยู่ในกลุ่มแพทย์ทางเลือกแบบใหม่ ซึ่งมีจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน้อย และต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่เข้มงวดเท่านั้น

จากข่าวลือต่าง ๆ เกี่ยวกับไคโรแพรคติก เช่น ไปรักษาแล้วกระดูกหัก กระดูกแตก ส่งผลให้ผู้คนไม่กล้ามารักษา จะมารักษาก็ต่อเมื่อมีอาการป่วยหนัก รักษาที่อื่นไม่หาย แต่จริง ๆ แล้วการรักษาไคโรแพรคติกไม่มีความเสี่ยงเลย เพราะแพทย์จะทำการรักษาที่ข้อต่อ ไม่ใช่กระดูกอย่างที่เข้าใจผิดกัน ภายหลังการรักษาผู้ป่วยจะกลับมามีอาการอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ดร.เสถียร กล่าว

ขณะทำการรักษา

นอกจากนี้ ดร.เสถียร ยังให้คำแนะนำ สำหรับผู้สนใจอยากเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการจัดกระดูกแบบศาสตร์ไคโรแพรคติก ควรศึกษาหาข้อมูลและผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแพทย์และใบประกอบโรคศิลป์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา

แพทย์ชี้ “การจัดกระดูก”ศาสตร์ไคโรแพรคติกลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค

Writer

เชื่อว่าการอ่านทำให้เห็นถึงมุมมอง ทัศนคติ รักการเขียนพอ ๆ กับการอ่าน และการได้กลิ่นหน้าของหนังสือ ชอบเดินทาง พร้อมกับได้ชิมของอร่อย และฟังเสียงบทสนทนาของผู้คน

photographer

ชอบท่องเที่ยวออกไปหาแรงบันดาลใจ ฝึกฝนการเขียนให้งานมีคุณภาพ การได้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูล ได้เรียนรู้ทัศนคติของคน การกระทำและเหตุผลของแต่ละคน แล้วผลที่เราได้รับกลับเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ชีวิตได้รับ