ด้วยความหลงใหลและคลั่งไคล้แฟชั่นของผู้เขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กุชชี่ (Gucci) เป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่ผู้เขียนสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งวินาทีคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อกุชชี่ ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวของกุชชี่ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของกุชชี่มาโดยตลอด

ตลาดของอุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตขึ้นอย่างมากไม่ว่าดาราศิลปิน หรือบุคคลธรรมดาหันมาให้ความสำคัญกับการแต่งตัวกันมากขึ้น กุชชี่มีสินค้ามากมายทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งจิวเวอร์รี่และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่กว่าจะมาเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลกและทรงอิทธิพลในวงการอย่างทุกวันนี้ กุชชี่ผ่านการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาแบรนด์ของตนเองอยู่เสมอ

กุชชิโอ กุชชี่ (Guccio Gucci) คือผู้ก่อตั้งแบรนด์กุชชี่ แบรนด์กุชชี่มีจุดกำเนิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เขาเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกเครื่องหนัง มีการพัฒนาตัวสินค้าอย่างต่อเนื่องจนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง และกลายมาเป็นแบรนด์กุชชี่ (Gucci) ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปีค.ศ.1921

เมื่อกิจการตกทอดไปสู่รุ่นลูก อัลโด กุชชี่ (Aldo Gucci) สินค้าของกุชชี่ก็ได้จัดจำหน่ายไปทั่วโลก จนทำให้มีร้านกุชชี่แห่งที่สองในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อปีค.ศ.1950 หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก็ได้ขยายสาขาไปที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ชื่อเสียงของกุชชี่จึงเป็นที่จดจำในฐานะแบรนด์หรูที่น่าจับตามอง

เราคงพอนึกภาพออกว่า กุชชี่มีภาพจำที่คอแฟชั่นคุ้นเคยคือความมีเอกลักษณ์ ดูแพง หรูหรา และคนที่เลือกใช้แบรนด์นี้คือคนที่มีรสนิยม มีฐานะดี ถึงจะสามารถครอบครองเป็นเจ้าของกุชชี่ได้ อย่างไรก็ตามโลกของแฟชั่นก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอด้วยกระแสความนิยมและแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์ กุชชี่ได้มีการนำเสนอแฟชั่นของตนเองในสไตล์ Street-Glam

Street-Glam แฟชั่นในสไตล์นี้นำเสนอความมีเสน่ห์ น่ามอง หรูหรา บวกกับความเป็นสตรีทที่ดูเท่ ดูคูล เป็นกันเอง สบายใจ และเข้าถึงได้ง่าย เมื่อมีการผสมผสานอย่างลงตัวทำให้การนำเสนอแฟชั่นของกุชชี่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก โดยต้องย้อนกลับไปในคอลเล็กชั่นปีค.ศ.2018 ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีเกินคาดด้วยยอดขายที่ถล่มทลายจนสินค้าขาดตลาดเกิดขึ้น

คอลเล็กชั่น Pre-Fall 2018 เกิดขึ้นในยุคของดีไซเนอร์ชาวอิตาลีอย่าง อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) ที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกุนซือคนสำคัญด้านการออกแบบของกุชชี่ เขาได้รับการพูดถึงในวงกว้างเพราะเข้ามาชุบชีวิตของแบรนด์ในช่วงเวลานั้น เรียกได้ว่าพลิกสไตล์ของแบรนด์ในยุคก่อนที่คงความเรียบโก้ของทีมดีไซเนอร์ ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) และฟรีดา จิอานนีนี (Frida Giannini) ไปอย่างสิ้นเชิงเพราะลายเซ็นต์ของดีไซเนอร์อเลสซานโดรไม่มีคำว่าน้อยชิ้นอย่างแน่นอน เพื่อนำเสนอแนวคิด Street-Glam เครื่องแต่งกายทุกชิ้นถูกผสมผสานกันอย่างลงตัวซึ่งเป็นกระแสอยู่ในตอนนั้นจนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้คอลเล็กชั่น Pre-Fall 2018 จะไม่ได้มีการจัดแฟชั่นโชว์ที่ยิ่งใหญ่อลังการเทียบเท่าครั้งที่ผ่านมา แต่อเลสซานโดรก็ได้สร้างสรรค์ทั้งเสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชายรวมไว้ในคอลเล็กชั่นเดียวแบบจุใจกว่าแปดสิบลุค โดยผลงานของอเลสซานโดรได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสยองขวัญจากยุค 70s ของผู้กำกับชาวอิตาลีนามว่าดาริโอ อาร์เจ็นโต (Dario Argento) ภาพถ่ายต่างของเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นนี้จึงเชื่อมโยงกับสถานที่ที่ให้ความรู้สึกของสถาปัตยกรรมในกรุงโรม ซึ่งแสดงให้ถึงความมีอิสรภาพ แบบบาโรค (Baroque) อาร์ต เดคโค (Art Decco) รวมถึงศิลปะสมัยยุคกลางและกอธิค (Gothic) ที่ตัดกันกับสีสันและลายเส้นต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของกุชชี

เราคงเห็นได้ว่าการมิกซ์แอนด์แม็ตช์เสื้อผ้าของคอลเล็กชั่นนี้สามารถสร้างสรรค์ได้หลากหลาย ทั้งนี้แนวคิดที่ว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือเพศทางเลือกก็มีอิสระในการแต่งกายอย่างไรก็ได้ อเลสซานโดรต้องการที่จะนำเสนอแนวคิดนี้และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนปัจจุบันหลายแบรนด์ได้นำแนวคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบ และเชื่อว่าการปราศจากกรอบของแฟชั่นแบบที่เราคุ้นเคยกัน กลายเป็นความเข้าถึงได้ง่าย จับต้องได้ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และไม่ระบุเพศของเสื้อผ้า จึงเป็นที่แพร่หลาย และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรณรงค์ทางอ้อมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น

จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดีไซน์ของกุชชี่ด้วยการนำของ อเลสซานโดร มิเคเล (Alessandro Michele) ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ว่าแบรนด์นั้นต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลง เพื่อให้แบรนด์เติบโตขึ้น อีกทั้งยังต้องมีจุดดึงดูดหรือมีสไตล์ที่น่าสนใจ การออกแบบแฟชั่นจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผสมผสานกับความชอบความสนใจของคนในสังคม เพราะดีไซเนอร์ก็มีส่วนสำคัญในการจุดประกายความคิดความเชื่อของคน การติดตามความเคลื่อนไหวโลกของแฟชั่นยังทำให้เราได้เรียนรู้มิติทางสังคม เศรษฐกิจ และแฟชั่นถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้เช่นกัน

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

คำกล่าวของ Leonardo da Vinci บอกไว้ว่า การมีความรู้เพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่พอ เราต้องรู้จักนำมาใช้ และการมีความตั้งใจอย่างเดียวนั้น ยังน้อยไป เราต้องรู้จักลงมือทำ