การตกแต่งทาสีเล็บ (Nail Polish) เป็นแฟชั่นการตกแต่งร่างกายที่เห็นได้ทั่วไปในยุคปัจจุบัน ใครจะเชื่อว่ามนุษย์ให้ความสนใจแฟชั่นนี้มาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยมีการค้นพบว่าการเพ้นท์เล็บยุคแรกเริ่มเกิดจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียเมื่อ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล นิยมมากใน หมู่ชนชั้นสูงและนักรบที่เป็นผู้ชาย ทำเพื่อแบ่งแยกชนชั้นทางสังคมระหว่างผู้มียศถาบรรดาศักดิ์กับสามัญชน

วัฒนธรรมการเพ้นท์เล็บ แพร่ขยายไปสู่ยุคอียิปต์โบราณ จีนโบราณ เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 18 การทำเล็บกระจายสู่ทั่วมุมโลกในฐานะกิจกรรมเพื่อความสวยงามสำหรับทุกคน ไม่ใช่เพื่อแบ่งแยกชนชั้นอีกต่อไป

คนรุ่นใหม่มักเสริมสร้างความมั่นใจด้วยการแต่งตัวตามสไตล์ต่าง ๆ การทาสีเล็บเป็นแฟชั่นสวยงาม ชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยม เห็นได้จากไม่ว่าจะแห่งหนตำบลใดก็มีร้านเสริมสวยพร้อมบริการทำเล็บ หรือบางที่ก็เปิดร้านทำเล็บโดยเฉพาะ คนมากมายหันมาทาสีเล็บตามเทรนด์กันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายในยุคปัจจุบันที่มองว่าแฟชั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้

มุมมองของผู้ชายที่หลงใหลในการทำเล็บ

แพทเม่-พงศภัค โชคดี นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์เพ้นท์เล็บของตน เขากล่าวว่าได้แรงบันดาลใจมาจากดาราหลายคนที่เป็นผู้ริเริ่มแฟชั่นแบบยูนิเซ็กซ์ (Unisex) เห็นแล้วรู้สึกว่าเท่ดี อยากทำให้ตัวเองดูดีขึ้น ตอนแรกที่ทำก็รู้สึกเขินบ้าง แต่โชคดีที่ได้เพื่อนคอยแนะนำ ให้เริ่มจากการทาสีพื้นอย่างขาวหรือดำก่อน เพราะยังไม่หลุดจากสีที่ผู้ชายนิยมไปมากนัก และเจ้าของร้านทำเล็บที่ไปใช้บริการก็มีความเข้าใจลูกค้าดี ครั้งแรกเริ่มจากการทำเล็บสีเดียวก่อน จากนั้นพอมีความมั่นใจมากขึ้นก็ไปทำทุกนิ้วจนครบ

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจรสนิยมนี้

“ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่มีอายุหน่อยก็จะไม่ค่อยเข้าใจ เขาจะมองว่าเบี่ยงเบนหรือเปล่า ชอบผู้ชายหรือเปล่า อะไรแบบนี้”

แพทเม่เล่าประสบการณ์อีกด้านหนึ่งของการที่ผู้ชายทำเล็บมักถูกมองด้วยสายตาแปลกประหลาด อย่างคนในครอบครัวตกใจมากที่เห็นเขาทาเล็บ ญาติผู้ใหญ่ที่ได้เจอ พอเห็นว่าทำสีเล็บก็สงสัย ซักไซ้ถึงรสนิยมทางเพศและความชอบส่วนตัว ซึ่งแพทเม่ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นคนชอบกัดเล็บ เลยต้องทำสีกันนิสัยตัวเองไว้ ส่วนเรื่องชอบผู้ชายก็แค่ปฏิเสธไปว่าไม่ใช่ ไม่ได้เกี่ยวกันเลย เขาเล่าว่าถึงจะชอบในสิ่งที่ทำ แต่ก็รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้รู้สึกเหมือนกัน

“อยากให้มองว่าเรื่องการแต่งตัว มันไม่ควรจะกีดกันด้วยเรื่องเพศได้แล้ว”

เขาคิดว่าคนเราควรให้ความเคารพในความชอบส่วนตัวของกันและกัน ที่สำคัญคือแฟชั่นเป็นสิ่งที่ลื่นไหล ไม่ควรมีกรอบมาขวางกั้น โดยเฉพาะยุคสมัยใหม่ที่คำว่ายูนิเซ็กซ์ (Unisex) เข้ามาเป็นกระแสสังคม เพศสภาพกับการแต่งตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรนำค่านิยมเก่า ๆ มากำหนดว่าผู้ชายเหมาะกับสิ่งนี้เท่านั้น หรือผู้หญิงต้องเหมาะกับสิ่งนี้

ผู้ชายทำเล็บไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

ขณะที่มุมของคนทำกิจการร้านทำเล็บ คุณซายน์-คุณจิตนภา เพชรมาก เจ้าของร้าน เล่นเล็บ เนลส์ (Laynlep.nails) ศิษย์เก่าสาขาการโฆษณาดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า จากที่เปิดร้านทำเล็บมาหกเดือนตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว มีผู้ชายมาใช้บริการเพ้นท์เล็บกว่า 40% เลยทีเดียว ส่วนตัวคุณซายน์มองว่าการทำสีเล็บเป็นเรื่องของแฟชั่นอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนคนอาจจะมองว่าผู้ชายทำเล็บคงไม่ใช่ผู้ชายแท้ แต่ในยุคปัจจุบันที่กระแสยูนิเซ็กซ์มาแรง นี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป

อิทธิพลจากคนดังมีผลต่อแฟชั่น

“บางคนชอบอยู่แล้วก็มาทำ ผู้ชายแท้ ๆ ส่วนใหญ่มาทำก็ทำสีพื้นอย่างพวกสีดำ สีขาว ลายอักษรรูน ทำตามพวกนักร้องฮิป-ฮ็อปหรือดารา”

คุณซายน์เล่าอีกว่า ในอนาคตเป็นไปได้ว่าลูกค้าผู้ชายของเธอจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากกระแสการทำเล็บในผู้ชายที่มาแรง อีกทั้งได้ยินว่าลูกค้าที่เคยใช้บริการนำไปบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ทำให้มีคนสนใจจำนวนไม่น้อย

แฟชั่นเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันหมุนไปตามโลกและกระแสนิยมของคนในสังคมปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากเหตุผลแล้วหากเป็นสิ่งที่ไม่เดือดร้อนใคร เปิดมุมมองและพื้นที่ให้กับการแสดงออกถึงความหลากหลายของคนในสังคม ขอเพียงให้เกียรติตัวเองและผู้อื่นก็สามารถทำได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังมองหาความเป็นตัวเอง

Reference & Bibliography

  • ประวัติศาสตร์กระชับของ ‘สีทาเล็บ’ เรื่องไม่เล็กระหว่าง ‘เล็บ’ และ ‘สี’, สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://becommon.co/culture/fashion-nail-polish-history
  • คุณแพทแม่-พงศภัค โชคดี นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • คุณซายน์-คุณจิตนภา เพ็ชรมาก ศิษย์เก่าสาขาการโฆษณาดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Freepik: Free Vectors, Stock Photos & PSD Downloads www.freepik.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

เนี่ย...คนถามเข้าใจผิด