‘เกมกีฬา’ ถือเป็นเกมที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หลัก ๆ คือกลุ่มผู้ชมหรือ “แฟน” กีฬา ในแต่ละประเภทจะมีเกมที่วางขายรายปีแตกต่างกันออกไป มีโหมดต่าง ๆ ให้ผู้เล่นได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นการนำทีมหรือตัวละครมาประชันฝีมือกับผู้เล่นคนอื่นหรือกับบอท (ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม) มีโหมดเนื้อเรื่องที่เกมนั้นสร้างมาให้ และหนึ่งในโหมดที่เกมกีฬาทุกเกมมีเหมือนกันคือการให้ผู้เล่นได้รับบทเป็น “ผู้จัดการ”

ขอขอบคุณภาพ www.unsplash.com

เกมกีฬากับโหมด “ผู้จัดการ”

เมื่อพูดถึงการรับบทเป็นผู้จัดการ ชาวเกมเมอร์สายกีฬาหลายคนคงจะนึกถึงเกมที่สร้างขึ้นมาเพื่อการเล่นรูปแบบนี้โดยเฉพาะ เช่นเกม “ฟุตบอล เมเนเจอร์ (Football Manager)” ที่คอเกมรู้จักกันในชื่อ “FM” ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่การคุมทีมฟุตบอลอย่างเดียว โดยผู้เล่นไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของตัวนักเตะได้ ซึ่งตอบโจทย์ของคนชอบฟุตบอลบางกลุ่ม แต่ก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมเท่ากับเกมแฟรนไชส์หลัก ๆ อย่าง ฟีฟ่า (FIFA) และโปร อีโวลูชั่น ซอคเกอร์ (Pro Evolution Soccer)

ขอขอบคุณภาพ www.pauta.cl

สองเกมฟุตบอลรายปีที่แบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็นสองกลุ่ม แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือการให้ผู้เล่นได้เพลิดเพลินกับโลกฟุตบอลที่ควบคุมได้ พร้อมความสมจริงในด้านต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นไปในแต่ละปีที่ออกมา ทั้ง ฟีฟ่า และ เปส (ชื่อย่อ) มีโหมดการเล่นมากมาย แต่โหมดที่ตอบโจทย์ของการเป็นผู้จัดการมากที่สุดคือ “Career Mode” ของ ฟีฟ่า กับ “Master League” ของ เปส

เช่นเดียวกับในเกมฟุตบอลที่กล่าวไป รูปแบบของเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือเกมกีฬาที่ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครในเกมได้ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอเมริกันฟุตบอล และฮอกกี้น้ำแข็ง จะมีเกม “Madden NFL” และ “NHL” ซึ่งย่อมาจาก National Football League และ National Hockey League ลีกที่นิยมของกีฬาประเภทนั้น ๆ ทั้งสองเกมที่ผลิตโดยค่าย Electronics Arts Sports เหมือนกัน มีโหมดการเล่นแบบผู้จัดการทีมที่มีชื่อเดียวกันว่า “Franchise Mode”

ขอขอบคุณภาพ www.gamesradar.com

คำว่า Franchise Mode ยังถูกใช้ใน MLB The Show ซึ่งเป็นเกมกีฬาเบสบอลและหนึ่งกีฬายอดฮิตของชาวอเมริกันจากค่าย San Diego Studio โดยทาง Franchise Mode ของเกมเบสบอลเกมนี้เราสามารถคุมทีมที่มีอยู่จริงเหมือนเกมกีฬาเกมอื่น หรือสร้างทีมขึ้นมาใหม่ไปทดแทนทีมที่มีอยู่จริงได้

กีฬายอดฮิตอีกชนิดอย่าง บาสเกตบอล ก็จะมีเกม NBA 2K เกมรายปียอดฮิตจากค่าย 2K ที่ผูกลิขสิทธิ์กับลีกบาสเกตบอลยอดฮิตมาตั้งแต่ปี 2000 โดยโหมดที่ใกล้เคียงกับ Career Mode และ Franchise Mode ก็คือ MyGM (GM ย่อมาจาก General Manager นั่นเอง)

ขอขอบคุณภาพ www.gamespot.com

อีกเกมที่จะกล่าวถึงคือเกมมวยปล้ำ จากค่าย 2K เช่นกัน คือ WWE 2K ที่เป็นเกมรายปี ถึงแม้มวยปล้ำจะเป็นกีฬาที่ผสมผสานกับความบันเทิง (Sport Entertainment) มีบทบาทกำหนด ไม่มีทีมหรือสโมสรแบบกีฬาอื่น แต่ในเกมมวยปล้ำนั้น ก็จะมีโหมดที่เรียกว่า Universe Mode ที่ผู้เล่นจะได้ควบคุมโชว์ต่าง ๆ ของรายการมวยปล้ำ สามารถสร้างการแข่งขัน เนื้อเรื่องให้กับนักมวยปล้ำและลงไปควบคุมตัวละครเพื่อเล่นเอง เปรียบเสมือนการเป็นผู้เขียนบทรายการมวยปล้ำนั่นเอง

โลกอีกใบในระบบจำลอง

สิ่งที่โหมดการเล่นแบบผู้จัดการของเกมกีฬาต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น มีเหมือนกันคือการให้อำนาจในการควบคุมสโมสรต่อผู้เล่น เริ่มตั้งแต่การจัดแบบแผนการเล่น การปรับแทคติกที่มีเหมือนกับในโหมดการเล่นปกติ แต่จะทำได้มากกว่าตรงที่เราสามารถจัดแผนสำเร็จรูปได้มากกว่าหนึ่งรูปแบบ และเลือกแบบแผนสำหรับการลงเล่นในแมตช์ต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องมานั่งเปลี่ยนทีละจุดในทุกครั้ง

ขอขอบคุณภาพ www.muthead.com

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของโหมดการเล่นแบบผู้จัดการในเกมกีฬาทุกประเภทคือการโยกย้ายของนักกีฬาที่มีอยู่ในชีวิตจริง ไปเล่นให้สังกัดอื่น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายผู้เล่นในกีฬาฟุตบอล หรือการเทรด และการดราฟท์ ในกีฬาอเมริกันเกมนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับแฟนกีฬาที่มีความฝัน อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงกับทีมที่ตนเองรัก และมากกว่านั้นการโยกย้ายของนักกีฬาในโหมดของเกมเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นกับทีมอื่นที่เราไม่ได้ควบคุมอีกด้วย นับเป็นความแปลกตาที่เราอาจจะไม่ได้เห็นในโลกแห่งความเป็นจริง

ขอขอบคุณภาพ www.shylocklynn.medium.com

ไม่เพียงแต่การโยกย้ายต้นสังกัดของนักกีฬา แต่ในโหมดผู้จัดการของเกมกีฬาเหล่านี้ ผู้เล่นยังสามารถผลักดันนักกีฬาตั้งแต่ในระดับเยาวชน จากตัวละครที่มีค่าพลังน้อยนิด พวกเขาสามารถพัฒนาขึ้นไปเป็นสตาร์ชั้นนำได้ มีค่าการเจริญเติบโต (Potential) เราสามารถใส่โปรแกรมฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาเหล่าลูกกรอกคะนอง เพื่อพัฒนาค่าพลังของพวกเขา สามารถส่ง “แมวมอง” ไปช่วยเลือกคว้าผู้เล่นเยาวชนจากภูมิภาคอื่น สามารถปล่อยผู้เล่นเยาวชนเหล่านี้ให้ต้นสังกัดอื่นยืมไปเก็บประสบการณ์ สามารถดันพวกเขาขึ้นทีมชุดใหญ่ ให้โอกาสในการลงสนามแก่พวกเขา สร้างดาวประดับวงการดวงใหม่ที่ใครอาจคาดไม่ถึง

ขอขอบคุณภาพ www.twitter.com

บทและเรื่องราวในโหมดอาชีพของเกมกีฬาเหล่านี้ คืออีกสิ่งที่น่าสนใจ เพราะผู้เล่นจะได้สัมผัสกับเรื่องราวในเกมที่ไม่ใช่เพียงแค่การจิ้มเลือกสิ่งต่าง ๆ ในการเล่นเท่านั้น เรายังได้เห็นฉากคัตซีน (Cutscene) ที่สมจริง ทั้งการสนทนา การปลุกเร้าลูกทีม การให้สัมภาษณ์ก่อนและหลักการแข่งขัน ที่เราสามารถเลือกคำตอบที่ต่างกัน แล้วมีผลกระทบต่อบทบาทในอนาคตของเราอีกด้วย เช่น การให้สัมภาษณ์ในแง่ลบต่อนักเตะในทีม อาจะทำให้สภาพจิตใจของนักเตะนั้นแย่ลงและขอย้ายทีมออกไป

ขอขอบคุณภาพ www.blog.playstation.com

สิ่งสำคัญที่มัดใจกลุ่มผู้คนที่เล่นโหมดผู้จัดการทีม คือการดำเนินเรื่องราวแบบรายฤดูกาล เริ่มต้นเกมในช่วงก่อนที่ฤดูกาลแห่งการแข่งขันกีฬาของลีกที่เราเลือก ดำเนินเรื่องไปทีละวัน จนถึงวันที่มีการแข่งขัน ระหว่างช่วงวันก่อนจะถึงการแข่งขันครั้งถัดไป เราก็สามารถเอาเวลาไปสัมผัสลูกเล่นอื่นได้ ทั้งการดูสถิติการแข่งขัน การเจรจาซื้อ-ขาย การฝึกซ้อม หรือแม้กระทั่งอ่านข่าวต่าง ๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการกีฬาแห่งโลกสมมติ ณ เวลานั้นอีกด้วย โดยให้ความรู้สึกเหมือนเราได้อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการที่ต้องคอยดูแลความเป็นไปในส่วนประกอบต่าง ๆ ของทีมที่เราควบคุม ถือเป็นจุดที่แตกต่างจากการเล่นแบบปกติ และต่างจากการเล่นโหมดทัวร์นาเมนต์ทั่วไปของเกมกีฬา

จินตนาการ ผสานอารมณ์

เกมกีฬาชื่อดังมักออกโหมดการเล่นที่แปลกใหม่ออกมา บ้างก็เป็นโหมดที่น่าจดจำ ทำให้แฟน ๆ หลายคนต้อง “ติด” ทั้ง Ultimate Team ของ FIFA ที่พาให้ผู้เล่นทั้งหลายต้องเสียเงินกันไปไม่น้อย หรือ Face of the Franchise ของ Madden NFL กับ The Journey ของ FIFA ที่จะให้เราสวมบทเป็นตัวละครสมมติ มีเนื้อเรื่องของตนเอง ฯลฯ แต่โหมดผู้จัดการที่กล่าวไปในบทความนี้ ยังคงเป็นโหมดการเล่นที่อยู่คู่กับเกมกีฬามาแทบทุกภาค ในบางครั้งก็ถูกกลุ่มผู้เล่นวิจารณ์ว่าไม่พัฒนาบ้าง เอางบไปลงกับส่วนอื่นบ้าง แต่ในที่สุดแล้วก็ยังมีกลุ่มผู้เล่นอยู่ไม่น้อยที่ยังคงชื่นชอบโหมดการเล่นแบบผู้จัดการ แล้วสาเหตุอะไร คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาหลงใหล และยอมทุ่มเทเวลาเพื่อมาเล่น ?

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับกลุ่มตัวอย่างที่เล่นเกมกีฬาในโหมดผู้จัดการ เริ่มต้นกันที่ แพะ-ธนภูมิ รุ่งวิทยา นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ชื่นชอบการเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ

ขอขอบคุณภาพ www.thexboxhub.com

“ผมชอบจินตนาการว่าตัวเองเป็นคนเขียนบท หรือบางทีก็ชอบสวมบทบาทว่าตัวเองเป็นนักมวยปล้ำเสียเอง” แพะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในการเล่นเกมมวยปล้ำมาก ๆ โดยเฉพาะโหมด Universe คือโหมดเดียวที่แพะเล่นในเกมมวยปล้ำ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เขาติดใจโหมดนี้ เพราะเรื่องราวจินตนาการเกี่ยวกับมวยปล้ำในหัวของเขา มันถูกสานต่อออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ และใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด แพะได้มองว่า “เป็นโหมดเดียวที่มีความใกล้เคียงกับรายการมวยปล้ำที่ฉายทางทีวีจริง ๆ”

อีกหนึ่งกลุ่มตัวอย่างที่เราได้พูดคุยด้วย คือ ดร.นิติศักดิ์ ไพโรจน์ หนึ่งในผู้เล่นเกม Madden NFL จากกลุ่มเฟซบุ๊ก NFL Thailand

โดยปกติแล้ว คุณนิติศักดิ์ เป็นคนที่ชอบเล่นเกมสายบริหารอยู่แล้ว เขาเล่นทั้ง Football Manager และ Sim City (เกมสร้างเมือง) แถมยังเป็นผู้ที่ชื่นชอบใน “อเมริกันเกมส์” แทบทุกชนิด เพราะฉะนั้น อเมริกันฟุตบอล จึงเป็นหนึ่งในกีฬาที่เขาชื่นชอบ และใช้เวลาในการเล่นโหมด Franchise ในเกม Madden NFL เป็นอัตราส่วนเทียบกับการเล่นโหมดอื่นในเกมนี้ ถึง 95:5 เลยทีเดียว

“มันมีอะไรมากกว่าแค่การแข่งขันในสนาม ทุกอย่างมีการแข่งขันกันตั้งแต่ยังไม่เปิดฤดูกาลด้วยซ้ำ” เขาได้กล่าวไว้ถึงนิยามของโหมดผู้จัดการ ต่อด้วยให้สาเหตุที่เลือกเล่นโหมด Franchise ของ Madden NFL ว่า “เพราะได้ลงไปบริหารทีม ทั้งกระบวนการ คุมตัวเลข คัดสรรผู้เล่น โค้ช ปรับปรุงสนาม เพิ่มฐานแฟน จัดการกับทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด พยายามสร้างการเจรจาต่อรองให้เกิดประโยชน์กับทีมมากที่สุด ทั้งการแลกเปลี่ยนหรือต่อสัญญาผู้เล่น โดยตั้งเป้าหมายไม่ใช่แค่ได้แชมป์ แต่ต้องคิดเรื่องผลประกอบการ และช่องว่างในเพดานค่าจ้าง เพื่อใช้พัฒนาทีมในปีต่อไปด้วย”

คุณนิติศักดิ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เขารู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการเล่นโหมดนี้เสมอ เพราะได้บริหารทีมในแบบที่ต้องการ ได้สร้าง “เพอร์เฟกต์ ทีม” ของตนเองขึ้นมา ก่อนจะปิดด้วยการเปรียบเทียบกับการเล่นในโหมดอื่นว่า “หากเล่นโหมดอื่นก็จะจบเร็ว แค่จบแมทช์ ได้แชมป์ หรือได้รางวัลส่วนตัว แต่ไม่ได้สนุกกับการบริหารทีม”

ขอขอบคุณภาพ www.cinelinx.com

อีกสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนนั้นติดใจกับการเล่น Career Mode เป็นพิเศษ คือความท้าทายที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ มันไม่ง่ายเลยที่เราจะไปคุมทีมฟุตบอลขนาดเล็กแล้วพาทีมนั้นพัฒนาขึ้นมาประสบความสำเร็จในระดับสูง ที่ต้องใช้มากกว่าความตั้งใจในการเอาชนะเกม ๆ เดียว แต่เรายังต้องวางแผนอย่างรอบคอบ นักเตะคนนี้อาจจะเหนื่อยไว ใช้งานหนักไม่ได้ นักเตะคนนั้นบาดเจ็บหนัก ต้องทำอย่างไร ? นักเตะคนโน้นร้องขอที่จะลงสนามเพราะต้องการพิสูจน์ตนเอง เราจะให้เขาเล่นไหม ?

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้การเล่นเกมในโหมดผู้จัดการเป็นมากกว่าการเล่นเกมปกติ เป็นการเล่นที่เราจะได้พัฒนาความคิด วิเคราะห์ วางแผน จัดการหลาย ๆ อย่างให้เป็นระบบ ทำให้การใช้เวลาเล่นเกมของเรา ได้อะไรมากกว่าแค่การนั่งเล่นเพื่อความบันเทิงทั่วไป

ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในสาวกของเกม FIFA ที่เสพติดการเล่นโหมดผู้จัดการ (Career Manager) เป็นชีวิตจิตใจ ในฐานะของแฟนกีฬาฟุตบอล สิ่งที่ Career Mode มอบให้เรา คือความรู้สึกเหมือนการได้เปลี่ยนแปลงโลกแห่งความจริง ในชีวิตของการเป็นแฟนบอลที่ชอบพูดคุยและวิจารณ์ สิ่งหนึ่งที่มักจะเจอคือความคิดเห็นประเภทที่ว่า “ถ้าเก่งนัก ทำไมไม่ไปคุมทีมเองเลยล่ะ” หรือ “เงินสโมสร ไม่ใช่เงินคุณ จะเดือดร้อนอะไร”

แน่นอนว่า การเล่น Career Mode นั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการกีฬาในโลกความจริง แต่มันคือสิ่งที่สามารถเติมเต็มจินตนาการของเราได้ เหมือนเป็นการตอบกลับความท้าทายที่ไม่เกิดขึ้นในโลกความจริง ให้สิ่งนั้นมาเกิดขึ้นผ่านโลกเล็ก ๆ ในจอสี่เหลี่ยม และยังเปรียบเสมือนการสร้าง “What If” หรือ “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหาก…” ขึ้นมาอีกด้วย จากระบบการจำลองสถานการณ์ในเกม เช่น ถ้าหากนักเตะคนนี้ ได้ย้ายไปทีมนี้จริง ๆ จะเป็นอย่างไร ? ทีมนั้นจะประสบความสำเร็จไหม ?

ขอขอบคุณภาพ www.gamespew.com

ความงดงามเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่หยุดขยาย

ด้วยความลึกและละเอียดของโหมดผู้จัดการในเกมกีฬา ทำให้จำนวนผู้เล่นนั้นอาจยังไม่มากมายเท่ากับผู้เล่นทั่วไป แต่กลุ่มผู้เล่นที่มีอยู่นั้นก็จะไม่ทิ้งมันไปไหน และมากกว่านั้น ความสมจริงที่พัฒนาออกมาเรื่อย ๆ ในเกมกีฬาแต่ละภาค ก็อาจจะขยายขนาดของกลุ่มผู้เล่นให้กว้างขึ้นไปอีก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีต่อวงการเกมเพราะจะได้ผู้เล่น ที่เล่นเกมแล้วได้ทั้งความบันเทิงและพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบไปพร้อมกัน

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop, CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

อยากเป็นนักข่าว อยากเป็นนักเขียน อยากเลี้ยงวาฬออร์กา อยากมีหมาลาบราดอร์