เราคงเคยตั้งคำถามว่ามนุษย์เราสามารถเลือกที่จะเกิดหรือตายได้หรือไม่ ? สิทธิการเกิดและการตายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มนุษย์เราตั้งแต่วินาทีที่เราเกิด เราได้รับการรับรองการเกิดเพื่อจะมีสิทธิทางกฎหมาย ขณะที่การยุติการเกิดระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญ การทำแท้งที่ผ่านมากฎหมายเดิมบอกไว้ว่า ‘ผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมาย’

ขณะนี้กฎหมายเรื่องการทำแท้ง ได้รับการแก้ไขให้ผู้หญิงที่ทำแท้งไม่มีความผิด โดยต้องมีระยะเวลาของการตั้งครรภ์อยู่ภายใน 12 สัปดาห์ การประกาศใช้กฎหมายมีการประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564

ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2564  ซึ่งยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตราคือมาตรา 301 และ 305 ซึ่งมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพสามารถยุติการตั้งครรภ์หญิงอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ได้ด้วยเช่นกัน และหากหญิงมีอายุครรภ์ระหว่าง 12-20 สัปดาห์ก็ต้องผ่านการพิจารณาจากทางแพทย์ก่อนตามลำดับ

กฎหมายใหม่จะเอื้อให้กับ ผู้หญิงสามารถตัดสินใจจัดการกับร่างกายของตนเองได้ แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย

ทีมผู้เขียนสนใจประเด็นนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ศึกษาข้อมูลกฎหมายการทำแท้งจากหลากหลายแหล่งอ้างอิง โดยสรุปประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

กรณีแรก อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยนับจากวันแรกของประจำเดือนล่าสุด หญิงตั้งครรภ์สามารถทำแท้งได้ไม่มีความผิด

กรณีที่สอง อายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ นับจากวันแรกของประจำเดือนล่าสุดเช่นเดียวกัน ต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์อย่างละเอียด และมีแพทย์เป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์ให้เท่านั้น

กรณีสุดท้าย อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์แล้ว ช่วงเวลานี้ตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว การจะทำแท้งได้จึงต้องเป็นกรณียกเว้น เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองกับตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ด้วย เงื่อนไขที่สามารถให้ทำแท้งได้ เกี่ยวข้องกับประเด็น ได้แก่ ความเสี่ยงต่อเรื่องสุขภาพของหญิงผู้ตั้งครรภ์ สาเหตุการตั้งครรภ์อย่างไม่เหมาะสม เช่น ถูกข่มขืน ทารกในครรภ์มีภาวะผิดปกติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การจะตัดสินใจทำแท้งหรือไม่นั้น ต้องศึกษาทางกฎหมายอย่างละเอียด หญิงตั้งครรภ์ ญาติ ผู้เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันพิจารณาความเหมาะสม เพราะการให้กำเนิดหรือยุติหนึ่งชีวิตนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย การคิดวิเคราะห์อย่างรอบด้านจึงสำคัญมาก

ทั้งนี้เราเชื่อว่าทุกคนยังคงเฝ้าติดตามประเด็นปัญหาการทำแท้งในประเทศไทย ที่ยังคงมีการถกเถียงในมุมมองต่าง ๆ พร้อมกับตัวบทกฎหมายที่ในอนาคตสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก เพื่อให้เหมาะกับสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงคำนึงถึงความละเอียดอ่อนด้านจิตใจและการเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

Reference & Bibliography

  • BRIEF: วุฒิสภาเห็นชอบร่างกฎหมาย แก้ ป.อาญา เรื่องยุติการตั้งครรภ์แบบมีเงื่อนไขแล้ว. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://www.facebook.com/thematterco/posts/2803168473231870
  • ความผิดฐานทำให้แท้งลูก. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://drive.google.com/file/d/1IOTalAwCf9LjxuXy81xI4bwv88JXISxs/view
  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 24 พ.ศ.2564, สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/010/T_0001.PDF
  • เปิดกฎหมายอาญาแก้ไขใหม่ #ทำแท้งปลอดภัย ได้ในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564 จาก, https://ilaw.or.th/node/5816
  • เมื่อการทำแท้งเป็นสิทธิมนุษยชน ทำความเข้าใจการแก้ไขกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ในไทย Posted On 8 March 2020
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Pexels: Free Stock Photos www.pexels.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

อยากเป็นนักเขียนสุดเท่ห์ แต่จริง ๆ แล้วตัวเองเป็น “เป็ด” ที่ทำได้เกือบทุกอย่างแต่ไม่ shine ซักอย่าง แต่หลัง ๆ เราค้นพบแล้วว่าการเป็นเป็ดมันก็ไม่ได้แย่อย่างที่คิดซักเท่าไหร่ : )

Writer

เป็นคนใจบาง บางวันชาบู บางวันหมูกระทะ