ในโลกปัจจุบันที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น อุตสาหกรรมเกมมีตัวเลือกและการพัฒนามากขึ้นในหลายรูปแบบ บวกกับปัจจัยในเรื่องของสังคม เศรษฐกิจ ไลฟ์สไตล์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เกมจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวัยรุ่นและวัยทำงานในการสร้างความผ่อนคลายทางความคิดและจิตใจจากหน้าที่ และการงาน

อีสปอร์ต (E-Sports) คือหนึ่งในอุตสาหกรรมเกมที่กำลังมาแรงและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 จนถึงปัจจุบัน และได้กลายเป็นระบบสังคมหรือชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีการพัฒนาตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

เราขอพาไปทำความรู้จักหนึ่งในเจ้าของทีมอีสปอร์ตรุ่นใหม่ไฟแรง พี่อ่ำ-คุณปกรณ์ กรรเจียก ผู้เป็นเจ้าของสังกัด Alernative Esports (อเลอเนทีฟ อีสปอร์ต) ผู้ที่มีหนทางของตัวเองในการผลักดันวงการเกมและการแข่งขันอีสปอร์ตของไทยเพื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

เกมกับบทบาทที่ทวีคูณของชีวิต

พี่อ่ำอธิบายว่าเกมมีการแบ่งแยกออกไปตามช่วงอายุคน ทั้งแนวเกมและรูปแบบกิจวัตรประจำวัน แต่ด้วยรูปแบบเกมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขันที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดเป็นชุมชนขนาดเล็กขึ้นมาโดยมีการรวมตัวของผู้คนที่มีเวลาและความคิดที่ตรงกันมาเล่นเกมด้วยกัน ซึ่งการแข่งขันเกมนั้นมีลักษณะที่คล้ายกับกีฬาทั่วไป แต่อยู่ในลักษณะที่ต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องคอนโซล (Console) หรือระบบจำลองเสมือนจริง (Virtual Reality : VR) บวกกับการใช้ระบบเครือข่ายออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้องในหลายกรณี

นอกจากนี้การพบกันระหว่างกลุ่มนักกีฬาในการแข่งขันที่เกิดขึ้นตามรายการต่าง ๆ จนเกิดขึ้นเป็น ‘สังคมเกม’ ผู้คนทั่วไปจะได้รับความบันเทิงจากการมีส่วนร่วมในการรับชม รวมถึงมีการตั้งกลุ่มในโซเชียลมีเดียเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต่อกัน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของกลุ่มผู้คนที่ชอบในวิดีโอเกม

อีสปอร์ตเป็นแนวหน้าของสังคมเกม

จากข้อมูลในเว็บไซต์วารสารออนไลน์ medium.com (2561) ระบุไว้ว่า อีสปอร์ตคือกีฬาประเภทหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มีการจัดการแข่งขันขึ้นมามากมายนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ระบบการดูแลภายในสังกัดจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการทำทีมฟุตบอลหรือกีฬายอดนิยม เช่น การมีผู้ฝึกซ้อม (Coach) และผู้จัดการ (Manager) ที่ดูแลเฉพาะเกมอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะในตัวผู้เล่นอย่างมากที่สุด

ทุกวันนี้วงการอีสปอร์ตในไทยนั้นอาจจะยังไม่มีความก้าวหน้าขึ้นในระดับที่สามารถสร้างอาชีพได้สำหรับทุกคน เพราะหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากขึ้นก็จริง แต่ในภาพรวมก็ยังไม่สามารถผลักดันให้มีทุนไหลเวียนในระบบการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง การจัดการอย่างเป็นระบบ ความมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ และวิธีการเสริมทักษะในการเล่นนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความก้าวหน้าของผู้เล่นในสังกัดหรือองค์กรของตนเอง ภาพลักษณ์ที่ออกไปสู่สายตาผู้คนภายนอกนั้นก็จะเป็นไปในทางที่ดี

ข้อจำกัดการทำเงินจากเกม

พี่อ่ำกล่าวว่าหลายคนอาจคิดว่าอีสปอร์ตบ้านเราเติบโตขึ้น เพราะผู้ใหญ่บางส่วนเลือกที่จะนำเสนอผู้ที่มีชื่อเสียง หรือมีทักษะในการเล่นสูง แต่กลับไม่ได้นำเสนอเบื้องหลังที่เกิดขึ้นของวงการจริง ๆ มีเกมเมอร์มากมายที่กำลังฝึกหัดเล่น หรือมีผู้เล่นที่มีความสามารถแต่ก็ไม่ได้รับโอกาสเท่าที่ควรจากผู้สนับสนุน นับเป็น ‘ปัญหาหลัก’ ที่การจัดการแข่งขันต่าง ๆ นั้นมักเกิดขึ้นได้น้อย หรือเงินรางวัลมีมูลค่าไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างเต็มที่

“การแข่งขันในปัจจุบันเปรียบเสมือนการเอาตัวรอดในลักษณะที่ผู้แข็งแกร่ง มีความสามารถในระดับมากที่สุดเท่านั้น ถึงจะสามารถไปอยู่ในจุดสูงสุดได้ แต่โอกาสนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะต้องอาศัยการพัฒนาทักษะของผู้เล่นและการสนับสนุนจากผู้จัดงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ถึงจะทำให้วงการเกมสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้”

เสียงจากผู้เล่นถึงผู้ใหญ่ในสังคม

นิยามของเด็กติดเกมคือทิ้งทุกอย่างเพื่อเกม เอาชนะไปในแต่ละวัน ไม่สนใจถึงความก้าวหน้า ภาระการงาน แต่ไม่ใช่สำหรับผู้คนธรรมดาที่จะใช้เฉพาะเวลาว่างในการเล่นเกมเพื่อความผ่อนคลาย และนักกีฬาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องวินัย ทักษะ ความรู้ และเป้าหมายในการเล่นเกมเพื่อการแข่งขัน

การสร้างการเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างที่สำคัญได้ในการส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แว่นถนอมสายตา การออกกำลังกาย วิธีนั่ง ยืน นอนให้ถูกท่า เพื่อป้องกันโรคออฟฟิซซินโดรม รวมถึงการบริหารเวลา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องควรให้การส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เล่นคือปัจจัยหลักในวงการเกม

ผลประโยชน์สูงสุดของการที่สังคมเกมเติบโตนั้นก็จะหมุนเวียนกลับไปที่ตัวผู้เล่นเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้เล่นธรรมดาที่จะได้รับความบันเทิงอย่างเต็มที่จากผู้พัฒนาเกมที่ได้รับแรงสนับสนุน หรือนักกีฬาที่ได้รับการส่งเสริมที่ดีในด้านอุปกรณ์การเล่น ความรู้ แผนการเสริมทักษะ และเงินทุน เช่น เกมมิ่งเฮาส์ (Gaming House) เพื่อให้นักกีฬามีพื้นที่สำหรับการเก็บตัวฝึกซ้อม รวมถึงการสนับสนุนเกมมิ่งเกียร์ (Gaming Gear) หรืออุปกรณ์เสริมสำหรับคอมพิวเตอร์และคอนโซล (Console) เพื่อให้นักกีฬาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพต่อการเล่นมากขึ้น หรือแม้แต่การสนับสนุนด้านเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง นั้นก็มีผลต่อนักกีฬาเป็นอย่างมาก

พี่อ่ำกล่าวปิดท้ายไว้ว่า การสนับสนุนทุกอย่างจะช่วยให้สังคมเกมนั้นมีการหมุนเวียนของเม็ดเงินขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตขึ้นได้ ผลประโยชน์โดยรวมคือการกระจายรายได้ไปจากระดับภาครัฐหรือเอกชน เข้าในระดับผู้จัดงาน และสังกัด

เพราะผู้เล่นคือแก่นหลักที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดเพราะเป็นกำลังหลักในการสร้างรายได้ ในขณะที่ทำการแข่งขันและแสดงศักยภาพออกสู่สายตาผู้ชมหรือผู้สนับสนุน นอกจากนี้ การแข่งขันยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับเกม นับเป็นปัจจัยที่ขาดไปไม่ได้ การเข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบของผู้ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน จะทำให้สังคมเกมที่ดีนั้นเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

Reference & Bibliography

  • คุณปกรณ์ กรรเจียก เจ้าของสังกัด Alernative Esports
  • คุณพิตตินันท์ อุดมทรัพย์ นักกีฬาอีสปอร์ต เกม VALORANT ในสังกัด Alernative Esports
  • Kave Club ใกล้มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ
  • Kave Club คือ คอนโดแรกในไทย !! ที่จะมี E -sports room เป็นส่วนหนึ่งใน Facility ภายในคอนโด & ห้องเกมเมอร์

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer & Photographer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2021 เชื่อมั่นในเรื่องความหวัง หลงใหลในสีฟ้า ใช้ตัวอักษรและภาพเป็นใจความสื่อไปถึงส่วนลึกของจิตใจคน