“ถ้าเรากลัวอะไร ควรพุ่งชนเข้าหาความกลัวนั้นเลย มันจะดีขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ควรละทิ้งความต้องการความพยายามของตัวเอง” นี่คือแนวคิดของเด็กนิเทศ ม.กรุงเทพ หนึ่งในตัวแทนของ ลีดนิเทศศาสตร์

นิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ ถือเป็นหนึ่งในคณะยอดนิยมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักเรียนนักศึกษาต่างให้ความสนใจอยากเข้ามาศึกษาต่อเพื่อที่จะได้ลิ้มรส สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้อันแสนพิเศษ กิจกรรมที่เหล่าเด็กนิเทศ ม.กรุงเทพให้ความสนใจมีหลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือ ลีดนิเทศศาสตร์ หรือ ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ ที่สร้างสรรค์ ส่งต่อ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นรุ่น เป็นหนึ่งกลุ่มกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนาน และมีทีมนักศึกษาทำงานกันอย่างเป็นระบบ อบอุ่นไปด้วยมิตรภาพระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง

ทำความรู้จักกับลีดนิเทศ

ท่าทางที่สง่างาม พร้อมเพรียง และรอยยิ้มที่สะกดสายตาของผู้คน การเป็น ‘เชียร์ลีดเดอร์’ คณะนิเทศศาสตร์ เป็นสิ่งที่น้องเฟรชชี่ทุกคนอยากจะเข้ามามีส่วนร่วม เราขอพามาคุยกันกับตัวแทนลีดนิเทศศาสตร์ทั้ง 4 คน อย่างใกล้ชิด เจาะลึกถึงเหตุผล ความฝัน ความตั้งใจในการเป็นเป็นลีดนิเทศ

เริ่มกันที่ เมย์-จิรัฐิวรรณ แก้วคำ และ มาย-จิรัฐิพรรณ แก้วคำ สองสาวฝาแฝดที่กำลังเป็นที่รู้จัก ศึกษาอยู่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พวกเธอเป็นลีดนิเทศรุ่นใหม่ไฟแรง ที่มาพร้อมกับความสดใส ร่าเริง การได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ ตัวแทนของรุ่นปี 62 กับมุมมองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากการก้าวเข้ามาสู่ครอบครัวนิเทศแห่งนี้ พวกเธอจะมาแชร์ประสบการณ์ให้เราได้ฟังกัน

เมย์-จิรัฐิวรรณ แก้วคำ และ มาย-จิรัฐิพรรณ แก้วคำ ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แรงบันดาลใจสู่ความฝัน

“ตื่นเต้นมากตอนที่รู้ว่ามหาลัยของเรามีประกวดเชียร์ลีดเดอร์ด้วย” เมย์เริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นการเข้ามาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ก่อนจะบอกว่า ตัวเองเป็นเด็กปีหนึ่งธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเข้ามาเรียนที่นี่ เพื่อนชวนให้ลองเข้าไปสมัครเปิดประสบการณ์เพื่อที่จะได้ฝึกฝนเรียนรู้และติดตัวเป็นโปรไฟล์ไว้ใช้ในอนาคต

ด้วยความที่สองสาวฝาแฝดสนใจทำกิจกรรมอยู่แล้ว การผ่านรอบคัดเลือกจนได้เป็นตัวจริง จึงเป็นสิ่งที่ทั้งคู่มุ่งมั่นฝึกฝนตั้งใจอย่างเต็มที่

ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร

เมย์เล่าต่อว่า “ตัวเองเป็นคนที่มีพื้นฐานในการเต้นอยู่แล้ว ชอบแสดงออก” จากท่าทาง เสน่ห์ รอยยิ้ม สะท้อนถึงบุคลิกได้ทันทีว่าเหมาะจะเข้าสู่ครอบครัวลีดนิเทศศาสตร์

การก้าวเข้าสู่เส้นทางการคัดเลือกการเป็นลีดหลายคน มีทั้งคนที่สมหวัง ผิดหวัง เราได้สอบถามว่า ช่วงที่รู้ตัวว่าได้เป็นลีดตัวแทนคณะนิเทศ รู้สึกยังไงบ้าง เมย์ตอบทันทีว่า “รู้สึกกดดันค่ะ เพราะไม่เคยมีฝาแฝดที่มาสมัคร แล้วเข้ารอบทั้งคู่เลย” แต่สุดท้ายก็ได้ทั้งสองคน

“ตอนที่ได้รู้ข่าวดีใจมาก เพราะทำมาเต็มที่” รุ่นพี่เองก็สอนเต้นเต็มที่ สอนให้อยู่ร่วมกับคนหมู่มาก รักกัน สามัคคีกัน เตรียมตัวเตรียมใจ เมย์เล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น

เราอยากรู้ต่ออีกว่า อะไรที่ทำให้ ‘ลีดคณะนิเทศศาสตร์’ มีภาพลักษณ์ที่ดี ดังปังได้ขนาดนี้ เมย์ไม่รีรอที่ตอบว่า “ความรักค่ะ” การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบบพี่น้อง คือสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้เหมือนกันหมด เพราะการส่งเสริม ซัพพอร์ตกัน คือสิ่งที่ทำให้คนเราทุกคนมีความสุข อยากที่จะอยู่ตรงนั้นต่อไป

ประสบการณ์คือการเรียนรู้

เมย์เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า มีช่วงหนึ่งที่ตัวเองเบื่อมาก ซ้อมตลอดเวลา มีเรียน มีถ่ายงาน เพราะช่วงนั้นเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีงานบันเทิงต่าง ๆ เข้ามา แต่ก็อดทน เข้มแข็งผ่านมาได้ สิ่งที่ยอมเหนื่อย เสียสละ ได้ผลออกมาอย่างที่หวังไว้

รู้สึกว่าตัวเองโตขึ้น วลีที่เมย์พูดให้เราฟังว่า “ตัวเองโตขึ้นมาก” จากเป็นคนนอนตื่นสาย ไม่ค่อยตรงเวลา ชอบแต่งตัวสวย ๆ นาน ๆ ออกไปตามประสาผู้หญิง ที่สุดก็เปลี่ยนแปลง เพราะการเป็นลีด รุ่นพี่สอนให้ตรงต่อเวลา สอนให้ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เปิดใจเป็นกลาง อีกทั้งการเป็นลีดยังช่วยพัฒนาภาวะผู้นำให้กับเธออีกด้วย

เมย์เองอยากฝากบอกน้องปี 1 ที่กำลังจะผ่านเข้ารอบคัดเลือกลีดว่า “ทำให้เต็มที่นะ ทำให้ลีดนิเทศของเราได้อยู่ต่อไป ทำเพื่อตัวเองด้วย ทำออกมาจากใจอย่างตั้งใจจริง ๆ” และนี่คือสิ่งที่เมย์ได้ถ่ายทอดให้เราได้ฟังด้วยความมุ่งมั่น

ลีดนิเทศคือครอบครัวที่ดูแลกันและกัน

ส่วนอีกหนึ่งสาวสวย มะนาว-จิรัชฌา เสนะ ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ เธอเล่าให้ฟังด้วยความสดใสว่า หน้าที่ของลีดปี 3 จะเป็นหน้าที่การช่วยเหลือน้อง ไม่ได้เต้นมาก หรือทำหน้าที่เต็มตัวแบบปี 2 แต่เป็นการช่วยรุ่นน้องทำงาน และสนับสนุนรุ่นพี่ปี 4 ไปในตัว มะนาวแจกแจงหน้าที่ของตนเองให้เราได้ฟัง

มะนาว-จิรัชฌา เสนะ ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

มะนาวยังบอกเล่าถึงเบื้องหลังของการอยู่กลุ่มกิจกรรมลีดนิเทศอีกว่า “มะนาวทำหน้าที่เป็นฝ่ายเอกสาร คอยตรวจสอบ ตรวจงานน้องต่าง ๆ เวลามีธุระด้วยกัน” อีกทั้งน้องใหม่ที่เข้ามาเป็นลีดคณะนิเทศศาสตร์ส่วนใหญ่ ปี 1 ปี 2 ยังไม่รู้ว่าระบบของครอบครัวเราเป็นยังไง พูดจบเธอก็หัวเราะด้วยความสดใส และพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาเป็นลีดนิเทศ

ความกดดันของการเป็นลีดรุ่นพี่

“เราจะสอนน้องยังไงให้น้องทำออกมาได้ดี” ตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด นอกเหนือจากคนอื่นต้องเข้าใจแล้ว การที่ต้องรับความกดดันว่าเราเป็นพี่ที่ดีพอหรือเปล่าในมุมมองน้อง

มะนาว เปิดเผยอีกว่า เส้นทางจากปี 1 ถึง ปี 3 ของการเป็นลีดไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่ทุกคนจะรู้ว่าการที่ต้องทำงานกับคนอื่นต้องทำอย่างไร ต้องเริ่มจากอะไรก่อน เพราะฉะนั้นรุ่นพี่จึงมีส่วนสำคัญในการแนะนำน้อง พาน้องก้าวเดินไปตามเส้นทางของการเป็นลีด ฝึกฝนเรื่องการเต้น ท่าทาง การแสดงออก และทัศนคติที่ดีต่อการเป็นลีด

เส้นทางแห่งความสำเร็จเริ่มต้นจากความตั้งใจ

ความสดใสและมีพลังในการพูดคุย ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ “พอมาได้อยู่ตรงนี้ เราก็จะรู้ว่าต้องเริ่มจากทำอย่างนี้ ปรึกษากันก่อนเสมอ งานถึงจะออกมาได้ดีตามที่ต้องการ” มะนาวพูดด้วยน้ำเสียงที่มีความหวัง

จากถ้อยคำบอกเล่าของสาวลีดรุ่นพี่ เราเชื่อมั่นว่า ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ เปรียบเสมือนองค์กรหนึ่งที่เป็นกลุ่มครอบครัว พร้อมต้อนรับน้องเข้ามาทุกปีไม่เคยหยุด สานความสัมพันธ์กันในหมู่คณะ ได้ใกล้ชิดกัน ดูแลกัน เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ไม่ยอมแพ้แม้ต้องเรียนรู้มากกว่าคนอื่น ต้องพยายามมากกว่าอีกเท่าหนึ่ง เป้าหมายจากนี้ของ ‘มะนาว’ คือ ต้องการถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึกที่ดีในการเป็นลีดให้น้องปี 1 ที่กำลังก้าวเข้ามาใหม่ว่า “ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” อยากให้น้องที่กำลังก้าวเข้ามา ให้เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราต้องทำได้ ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งนั้น ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่เธอต้องการจะสื่อผ่านทางเราให้น้องได้ฟังและได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

การทำงานที่เป็นระบบของลีดนิเทศ

อีกหนึ่งรุ่นพี่คนสุดท้ายที่เราจะคุยด้วยคือ เกมส์-ภัทรศวุธ วาระพิลา เรียนอยู่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ และเป็นรุ่นพี่ผู้นำเชียร์ เราได้สอบถามถึงระบบโครงสร้างภายในลีดนิเทศศาสต์ว่าเป็นยังไงบ้าง

เขาเล่าให้เราฟังแบบเข้าใจง่ายว่า จะมีฝ่ายหัวหน้าหลักของรุ่น หัวหน้าท่าเต้น การเต้นก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มี เฮดเต้น กับ เฮดการ์ด มีฝ่ายกราฟิก วาดเขียน และสื่อสาร ฝ่ายเหรัญญิก ฝ่ายเอกสาร ฝ่ายสปอนเซอร์ ฝ่ายประกอบฉาก แทบไม่ต่างกับการเตรียมโปรดักชั่นเลย

เกมส์-ภัทรศวุธ วาระพิลา ผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“เราให้ความสำคัญกับน้องเฟรชชี่ ปี 1 มากที่สุด” นี่คือประโยคสำคัญที่เกมส์พูด เพราะคนเราต่างรู้ว่าการวางรากฐานทางโครงสร้างมันสำคัญ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอะไรก็ตาม เพราะนั่นคือระบบที่สอนกันมาตลอดไม่เคยเปลี่ยน แม้จะต้องปรับตัวตามยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา

เด็กที่เข้ามาเป็นลีดแต่ละรุ่นมีความคิดแตกต่างกัน “แต่เราแนะนำ เน้นการพูดให้เข้าใจ” เพราะลีดไม่ได้สอนแค่ให้เต้น แต่สอนให้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ สอนความอดทน การทำงานเป็นทีม มันก็ทำให้เราเป็นเราแบบในตอนนี้ พี่เกมส์พูดด้วยความภูมิใจ

เกมส์เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เข้ามาใหม่ด้วยว่า “ตอนเข้ามาทำกราฟิกให้ลีดนิเทศ ตอนนั้นทำไม่เป็นเลย แต่โชคดีที่ได้รุ่นพี่ดูแลคอยสอน เพราะพี่เชื่อว่าถ้าเรากลัวอะไร ควรพุ่งชนเข้าหาความกลัวนั้นเลย มันจะดีขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ควรละทิ้งความต้องการความพยายามของตัวเอง”

โลกคู่ขนานกับการตัดสินใจที่เปลี่ยนชีวิต

“ถ้าไม่ได้เข้ามาเป็นลีดก็คงเป็นเด็กเรียนนิเทศคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าการทำงานจริง ๆ มันเป็นยังไง” เกมส์เล่าให้เราฟังอย่างอารมณ์ดี อย่างไรก็ตามถ้าทุกคนเรียนอย่างเดียว ไม่ได้สนใจอะไรเลย ไม่ลงมือทำอะไร ไม่ได้มีโอกาสออกไปข้างนอกเพื่อรู้จักผู้คน หาเพื่อนมิตรสหายใหม่ ๆ ก็จะทำให้เรานั้นเสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ การหากิจกรรมทำเสริมควบคู่ไปกับการเรียนทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น

บันทึกเรื่องราวของสมาชิกครอบครัวลีดเดอร์นิเทศศาสตร์ที่มีความคิดในทิศทางเดียวกันว่า เชียร์ลีดเดอร์ คณะนิเทศศาสตร์ของเรา คือครอบครัว เปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง มีความรักใคร่ห่วงใยกัน มีอะไรก็ช่วยกันเสมอ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

บรรดารุ่นพี่ยังบอกอีกว่าอยากจะยินดีที่จะกล่าวต้อนรับน้องใหม่ปี 1 นิเทศศาสตร์ ลีดนิเทศรุ่นที่ 50 ว่า “อดทนให้มาก เข้มแข็ง ทำให้เต็มที่แล้วทุกอย่างจะออกมาดีอย่างที่น้องหวัง”

เราเชื่อว่าความรับผิดชอบ อุปสรรค ขวากหนาม ความลำบาก ทำให้ทุกคนเรียนรู้และเติบโตเสมอ การเป็นลีดนิเทศศาสตร์ที่ฉากหน้าดูสวยงาม แต่เบื้องหลังนั้นพวกเขาต้องมุ่งมั่น ฝึกฝน มีวินัย เรียนรู้ และเติมเต็มความรักให้กันอยู่เสมอ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นครอบครัวลีดนิเทศศาสตร์ที่แสนอบอุ่น

พวกเขาพร้อมต้อนรับน้องใหม่ที่จะเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกัน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจ ความอ่อนโยน ความแข็งแกร่ง และมิตรภาพจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Reference & Bibliography

  • เมย์-จิรัฐิวรรณ แก้วคำ, มาย-จิรัฐิพรรณ แก้วคำ, มะนาว-จิรัชฌา เสนะ และเกมส์-ภัทรศวุธ วาระพิลา นักศึกษาสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง
  • กลุ่มกิจกรรมผู้นำเชียร์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3421 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.นันทวิช เหล่าวิชยา

Writer

คติประจำใจ "ถ้าคุมอดีตได้ก็จะคุมอนาคตได้ ถ้าคุมปัจจุบันได้ก็จะคุมอดีตได้" - George Orwell

Writer

เนี่ย...คนถามเข้าใจผิด