ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยถึงมาตรการการดูแลและป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน (PM 2.5) มหาวิทยาลัยได้มีการแจกหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาให้แก่นักศึกษาอยู่เสมอ ส่วนหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นละออง นั้นทางมหาวิทยาลัยมีการแจก แต่ตอนนี้มีจำนวนไม่เพียงพอ กำลังดำเนินการสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม และได้มีการรณรงค์ผ่านแคมเปญ (Campaign) How To Love Yourself เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ให้นักศึกษาตระหนักถึงการรักตัวเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ เผยว่า โดยปกติทางมหาวิทยาลัยได้มีการแจกหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาให้แก่นักศึกษาอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันได้มีการแจกส่วนหน้ากาก N95 ควบคู่ไปด้วย ทว่าหน้ากากอนามัย N95 ก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยในเบื้องต้นได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการสั่งซื้อหน้ากากอนามัย N95 เข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และได้ประชาสัมพันธ์ถึงการแจกหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกรุงเทพผ่านเพจเฟซบุ๊ก (Facebook Page) ที่มีชื่อว่า Be You LIFE
ดร.พีรยา ระบุต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยได้ร่วมกับกลุ่มนักศึกษาผู้นำในโครงการนำร่องการพัฒนาวิธีการคิดของฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร ที่มีชื่อว่า ‘เด็กเอ๊ะ’ โดยได้ร่วมกันหารือถึงวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากปัญหาฝุ่นละออง และให้ข้อมูลถึงวิธีการรับมือปัญหาสุขภาพอย่างถูกต้องให้แก่นักศึกษา จึงได้จัดการรณรงค์ผ่านแคมเปญ (Campaign) How To Love Yourself ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นละอองในเบื้องต้น ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน
ขณะเดียวกัน ดร.พีรยา เผยว่า ในด้านของนโยบายการเรียนการสอน ทางมหาวิทยาลัยได้มีมาตรการการดูแลตามวิธีการที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ โดยทางมหาวิทยาลัยเล็งเห็นว่าการหยุดเรียนไม่ได้เป็นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่ดีที่สุด เพราะการหยุดเรียนอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนในอนาคต ทว่าหากนักศึกษามีปัญหาเรื่องสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ให้แจ้งทางอาจารย์ผู้สอนประจำรายวิชา หรือทางคณบดี เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น
ดร.พีรยา กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยได้มีมาตรการสร้างความรู้ความเข้าใจให้นักศึกษารู้เท่าทันข่าวสารในสื่อโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกกับข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่นละอองในอินเทอร์เน็ตมากจนเกินไป และในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยได้ออกประกาศเรื่องการรณรงค์ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวควบคู่ไปด้วย โดยให้นักศึกษาเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในอากาศ
ด้าน พูลศักดิ์ จากผา นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง ชั้นปีที่ 4 ระบุว่า ตนได้รับทราบว่ามีการแจกหน้ากากอนามัย N95 จึงเข้าไปติดต่อขอรับที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาฯ และได้รับหน้ากากอนามัยจำนวน 1 ชิ้น โดยได้สวมใส่ทุกครั้งเวลาออกไปข้างนอก เพราะเป็นห่วงสุขภาพตนเอง
ขณะเดียวกัน พูลศักดิ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักกีฬาฟุตบอลของทางมหาวิทยาลัย เวลาทำการฝึกซ้อมสภาพร่างกายค่อนข้างเหนื่อยล้า และร่างกายต้องการออกซิเจน (Oxygen) อย่างหนัก ปัญหาของฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อปอดและการฝึกซ้อม ทว่าในเบื้องต้นหากเป็นวันที่ค่าฝุ่นมีปริมาณสูง อาจารย์ได้มีการสั่งหยุดพักการฝึกซ้อม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของนักกีฬา
ภาภูมิ พึ่งโพธิ์ นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ระบุว่า ตนทราบถึงปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของทางมหาวิทยาลัยมีการก่อสร้างอาคารและคอนโดที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ทำให้ฝุ่นมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวตนได้รับแจ้งอีเมล (E-Mail) จากทางมหาวิทยาลัยเรื่องการแจกหน้ากากอนามัย N95 และได้เข้าไปติดต่อขอรับที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร โดยได้สวมใส่ทุกครั้งที่เดินทางออกไปยังมหาวิทยาลัย
ภาภูมิ ยังกล่าวต่อว่า ปกติในทุกเช้าตนได้ขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อเดินทางมายังมหาวิทยาลัย แต่หลังจากทราบประกาศเรื่องการรณรงค์ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัวที่ทางมหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น ตนได้เปลี่ยนมาใช้บริการรถสาธารณะเพื่อเดินทางมายังมหาวิทยาลัยแทน ทั้งนี้เขาเห็นว่าโครงการดังกล่าวที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นมีประโยชน์ต่อนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก และคาดหวังให้มีโครงการเกี่ยวกับการลดปัญหาฝุ่นและการแจกหน้ากากอนามัยแก่นักศึกษาแบบนี้ต่อไป
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค