“ถึงเวลาจะต้องฝึกงานแล้วนะ และถึงเวลาที่ต้องออกเดินความฝันในเส้นทางที่เรารัก นั่นคือการเป็นช่างภาพงานทีวี” นี่เป็นความคิดของผม ที่เริ่มรู้ตัวเองมาสักระยะแล้วว่าอยากทำอะไร การฝึกงานจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในชีวิตที่สำคัญ
เมื่อเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย เรื่องฝึกงานถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องพบเจอกันอย่างแน่นอน การฝึกงานมีขั้นตอนอะไรบ้าง ? ชีวิตของนักศึกษาในช่วงฝึกงานจะเป็นอย่างไร ? จะแตกต่างจากช่วงเวลาที่นั่งเรียนอยู่ในห้องหรือไม่ ? ต้องติดตามเรื่องราวของผม โน้ต-ปิยะบุตร แตงตาด นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กับการฝึกงานในสายช่างภาพโทรทัศน์ ณ ไทยรัฐทีวี
เส้นทางช่างภาพ @ ไทยรัฐทีวี
ทุกอย่างได้เริ่มต้นในช่วงเวลาของการเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 ซึ่งอาจารย์ได้พูดขึ้นมาในชั้นเรียน ตั้งแต่ช่วงแรกของภาคเรียนเกี่ยวกับเรื่องฝึกงาน ตัวเองในฐานะที่ไม่เคยฝึกงานที่ไหนมาก่อน จึงต้องทำการบ้านมากกว่าเพื่อนเป็นพิเศษ
ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์พิเศษจาก ไทยรัฐ ที่เข้ามาสอนและฝึกทักษะในด้านต่าง ๆ ในคาบเรียนตามปกติ ผมจึงได้ปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับตำแหน่งที่ตนเองสนใจคือ ตำแหน่งช่างภาพ เพราะเนื่องด้วยว่าเป็นการฝึกงานครั้งแรก จึงทำให้ตัวเองต้องสอบถามข้อมูลในหลายด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ จนท้ายที่สุดถึงได้เลือกที่จะฝึกงาน ณ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด หรือที่ทุกคนรู้จักในนามไทยรัฐทีวี
หลังจากที่ได้จัดการเอกสารในช่วงก่อนที่จะปิดภาคเรียน และได้มาฝึกงานที่ ไทยรัฐทีวี ทุกอย่างจึงได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในวันแรกที่ได้เดินทางเข้าไปในฐานะ นักศึกษาฝึกงาน เราพบกับพี่ที่ฝ่ายบุคคลของบริษัท หลังจากที่รายงานตัวกับพี่ที่แผนกแล้ว ก็จะมีการอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับบริษัทในเบื้องต้น ประวัติ ผู้ก่อตั้ง บริษัทในเครือของไทยรัฐ รวมถึงรายละเอียดอื่นที่สำคัญ
เสร็จการอบรมเรียบร้อย พี่จากแผนกบุคคลก็นำเราไปยังส่วนงานที่เราได้ทำเรื่องขอฝึกงานเอาไว้นั่นก็คือ แผนกช่างภาพของไทยรัฐทีวี ที่แผนกได้มีการต้อนรับในเบื้องต้นเป็นอย่างดี ได้มีการแจกแจงขั้นตอนการทำงาน เวลาเข้างาน และรูปแบบการแต่งตัวให้รับทราบ ผมได้สังเกตและเรียนรู้ข้อมูลระหว่างทำงานเพิ่มเติม
ประสบการณ์หน้างานที่หนักหน่วงและคุ้มค่า
แม้จะเป็นแค่ช่วงแรกที่เข้ามาฝึกงานก็ตามที แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้สิทธิพิเศษอะไร ผมได้รับมอบหมายให้ไปประจำการอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์ในวันถัดไปทันที ช่วงนั้นมีประเด็นข่าวร้อนแรง นั่นก็คือการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
จังหวะนั้นตัวผมเองต้องมาเฝ้าอยู่ ณ ที่ทำการพรรคฯ ที่ตั้งอยู่บนถนนเศรษฐศิริ อยู่บ่อยครั้ง เช่น การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ และได้มีเทียบเชิญเข้าร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐที่ได้เดินทางมาที่พรรค นำโดยคุณอุตตม สาวนายน เพื่อมาประชุมร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ คุณจุรินทร์ยังไม่ได้ตอบตกลงในทันที สถานการณ์ที่ผมเกาะติดส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องราวด้านสังคมและการเมืองที่กำลังคุกรุ่นเป็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง
การทำงานที่อยู่หน้างานค่อนข้างที่จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจากหลายสำนักข่าวต้องการที่จะเล่นข่าวในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก จึงทำให้มีทีมข่าวไปประจำการอยู่เป็นจำนวนมากกว่าปกติ ในวันที่ทางพรรคพลังประชารัฐเดินทางมาที่พรรคประชาธิปัตย์ หลายสำนักข่าวที่มาเกาะติดเหตุการณ์ ก็มาพร้อมกับทีมข่าวมากกว่าหนึ่งทีม
ขณะที่ทีมข่าวจากไทยรัฐมีเพียงแค่ทีมเดียวที่ประจำการอยู่ ก็คือทีมของผม ประกอบด้วย นักข่าว ช่างภาพ และตัวผมที่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยช่างภาพ เราต้องเจอเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวายจากกองทัพนักข่าวที่ต่างหวังที่จะได้ภาพข่าวกลับไปให้ได้ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว จนพี่ช่างภาพต้องตัดสินใจให้ผมไปช่วยถ่ายจากอีกมุมมองหนึ่งด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่ด้วยโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ไม่สามารถถ่ายภาพที่มีคุณภาพดี จึงตัดสินใจที่จะไม่ใช้รูปที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือในการออกอากาศ
เรียนรู้ทางเทคนิคที่แปลกใหม่
นอกจากเรื่องเนื้อหาหรือประเด็นที่ต้องเกาะติดแล้ว ผมยังได้เรียนรู้เทคนิคในการทำภาพประกอบในงานทีวีอีกด้วย บ่ายวันหนึ่งพี่หัวหน้าก็ได้ถามขึ้นมาว่า “วันนี้จะมีถ่ายเงากัน อยู่ช่วยก่อนได้ไหม ?” ด้วยความสงสัยของผมว่าการถ่ายเงาหมายถึงอะไร จึงได้ตัดสินใจที่จะอยู่ช่วย ผมได้ไปช่วยพี่ช่างภาพในการถ่ายเงา ซึ่งเป็นการถ่ายภาพงานของโต๊ะข่าวบันเทิงสำหรับใช้ในรายการ แฉแหลก…แยกวิภาฯ
ตอนนั้นผมยังรู้สึกมึนงงกับสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า ก็คือพื้นที่โล่งที่ตั้งกล้องเอาไว้และมีไฟสปอทไลท์ฉายใส่กำแพงที่เป็นฉากหลัง ในความคิดของผมหลังจากที่ได้ยินคำว่าถ่ายเงา ผมจะนึกถึงกระดาษไขที่มีไฟฉาย ฉายจากด้านหลังแล้วให้คนยืนเป็นเงาอยู่หลังกระดาษ
แต่พี่ช่างภาพที่เป็นคนถ่ายงานในเย็นวันนั้นได้ใช้วิธีการตั้งค่ากล้องให้ได้ภาพในลักษณะอันเดอร์หรือภาพมืดและใช้แสงที่ฉายใส่ฉากหลังเป็นเสมือนกับกระดาษไขตามที่ผมเข้าใจในตอนแรกแทน ภาพที่ได้จึงมีความคมชัดและได้สัดส่วนรูปร่างตามคนที่เป็นแบบมากกว่าการใช้กระดาษไขเป็นฉากให้เงาตกกระทบ นี่จึงเป็นเทคนิคการถ่ายภาพที่ผมได้เรียนรู้ใหม่
ได้เป็นกระบอกเสียงให้ผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ
การทำงานในช่วงที่ฝึกงานนั้นค่อนข้างหนักเสมือนกับว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมจริง ๆ งานที่ได้ก็จะสลับไปมาระหว่างข่าวการเมือง ข่าวบันเทิง และอาจจะมีข่าวเศรษฐกิจบ้าง แต่อีกหนึ่งสายข่าวที่มีความน่าสนใจนั่นก็คือ สายข่าวรถปลดทุกข์ ซึ่งเป็นรายการที่ออกอากาศอยู่ในช่องไทยรัฐทีวี และผมได้มีโอกาสได้ไปกับทีมในบางโอกาส เช่น เรื่องของน้องคนหนึ่งที่ถูกคนเมาแล้วขับรถชนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และคู่กรณีก็ไม่ได้รับผิดชอบกับครอบครัวของน้อง
การลงพื้นที่กับทีม ทำให้ผมเห็นวิธีการทำงานของพี่ช่างภาพที่เป็นพี่เลี้ยงของผมในการประสานงานกับพี่นักข่าวเพื่อให้ได้ภาพต้องการ วิธีคิดและมุมมองในการที่จะสื่อสารให้ภาพที่ได้ออกมาสื่ออารมณ์ และเนื้อหาของข่าว เหล่านี้คือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานของช่างภาพกับแหล่งข่าว
และที่สำคัญคือการที่นักข่าวช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้เสียหายในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีการรับผิดชอบใด ๆ จากคู่กรณี ซึ่งรายการรถปลดทุกข์เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้เสียหายจะได้พูดให้สังคมได้ยิน ไม่ให้เสียงของเขาหายไป การทำงานเป็นสื่อมวลชนจึงมีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้อื่นในยามที่เขามีความทุกข์ การได้เริ่มต้นทำหน้าที่สื่อมวลชนในช่วงฝึกงานจึงเป็นสิ่งที่ผมภาคภูมิใจมาก
เมื่อได้ประมวลประสบการณ์การฝึกงาน ตลอดช่วงระยะเวลากว่าสองเดือนที่ได้ร่วมทำงานไปกับพี่เลี้ยงของผม ทำให้เห็นถึง ภาระที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นสื่อสารมวลชน รู้ถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของนักข่าว ได้เห็นถึงการทำงานเป็นทีมระหว่างกันและกัน เพื่อที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ที่สำคัญต้องพัฒนาทักษะที่ตัวเองนั้นยังขาดไป ฝึกฝนให้ชำนาญในช่วงเวลาที่เหลือก่อนจะจบการศึกษา
การฝึกงานจึงเป็นความท้าทายใหม่ที่ผมได้เจอ เปรียบเหมือนการเริ่มต้นทดลองงาน ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง และหากคุณกำลังมองหาที่ฝึกงาน ไทยรัฐทีวี เป็นอีกที่หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับทุกคนครับ
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR402 Journalism Internship Section 4222 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ขจรจิต บุนนาค