ทุกภาคการศึกษาในการเรียนรู้ของ นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีหนึ่งโปรเจคการเรียนรู้ที่เด็กวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ที่กำลังใกล้จะจบการศึกษาทุกคนล้วนต้องผ่านการเรียนรู้ในโปรเจคนี้ คือ ‘บ้านกล้วย’ ซึ่งเป็นสื่อฝึกปฏิบัติที่อยู่คู่กับสาขาวิชาวารสารศาสตร์ มาเป็นเวลายาวนานกว่า 42 ปี
บ้านกล้วย สื่อฝึกปฏิบัติของเด็กวารสาร ฯ ที่ทุกวันนี้เปลี่ยนโฉมหน้าจากหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร เป็นสื่อออนไลน์แบบเต็มตัว โดยหากมองจากภายนอกเข้ามา คนทั่วไปก็มักจะเห็นการเคลื่อนไหวผ่านของเราผ่าน ‘คอนเทนต์’ ที่นำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ ซึ่งไม่มีใครเคยรู้เลยว่าเบื้องหลังการทำงานภายในกองบรรณาธิการ มีความเข้มข้นหรือสนุกสนามมากขนาดไหน
ในปี 2562 นี้ กองบรรณาธิการบ้านกล้วยเทอม 1 ปีการศึกษา 2562 เราเริ่มงานกันตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถือเป็นปฐมฤกษ์ในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนแนวคิดของนักศึกษาวารสารศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ตกผลึกเป็นกองบรรณาธิการหลัก จำนวน 16 ชีวิต และรุ่นน้องในสาขาอีก 20 คน ที่เข้ามาร่วมเป็นทีมเสริมผลิตคอนเท้นต์ด้วย พร้อมกับอาจารย์ที่ปรึกษาในสาขาหลายท่านที่ร่วมกันให้คำแนะนำในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นกองบรรณาธิการที่อบอุ่นและอุ่นหนาฝาคั่ง
การทำงานครั้งนี้ เราแบ่งหน้าที่การทำงานเสมือนกับการทำงานจริง กองบรรณาธิการประกอบไปด้วย บรรณาธิการบริหาร หรือที่เราเรียกกันย่อ ๆ ว่า บอ.กอ. ครั้งนี้เราได้หนุ่มมาดเซอร์ ภีม-ภูริช วรรธโนรมย์ รับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ทำหน้าที่คอยดูแลการนำเสนอเนื้อหา (Content) ร่วมคิดและกำหนดทิศทางการทำงาน
“สำหรับตำแหน่ง บรรณาธิการบริหาร มีหน้าที่รับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างของบ้านกล้วย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้คัดกรองเนื้อหา การเป็นผู้กำหนดวาระ ตลอดจนหน้าที่ช่วยพิสูจน์อักษร โดยการเป็นหัวเรือใหญ่ของกอง ฯ เป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมไม่เคยมีประสบการณ์ทำหน้าที่ด้านการบริหารงานสื่อเลย จึงเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวงการสื่อในระดับอุดมศึกษาผ่านการผลิตคอนเทนต์ประเภทข่าว บทความ และสารคดีครับ” บรรณาธิการหนุ่มเล่าให้ฟังด้วยสีหน้าเคร่งขรึม แต่แฝงไปด้วยรอยยิ้มเล็กน้อย
ตามมาด้วยสาวน้อยสดใส ช่างคิด ช่างอ่าน มองโลกในแง่บวก มีความถนัดหลากหลายด้าน เป็นที่รักของเพื่อน ๆ ทุกคนพร้อมใจกันเลือกเธอเป็น รองบรรณาธิการบริหาร เดียร์-บุษกร เทพทอง ผ่านการฝึกงานจากสำนักข่าวชื่อดังมาแล้ว
เดียร์บอกว่า “บ้านกล้วยสำหรับเดียร์ เป็นโปรเจกต์ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะการเป็นนักวารสารศาสตร์ที่ดีผ่านการทำงานจริง โดยการรวบรวมเอาวิชาความรู้ที่เรียนมาตลอด 3 ปี มาใช้ในการผลิตและสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่นี่ทำให้เพื่อนทุกคนในชั้นปีได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น ร่วมสร้างระบบการทำงานไปด้วยกัน เป็นการเรียนรู้การบริหารคนไปพร้อม ๆ กับการบริหารงานค่ะ (ยิ้ม)”
อีกสองสาวน้อยหน้าใสที่มารับตำแหน่ง เลขากองบรรณาธิการ น้ำหวาน-กชกร ยศนันท์ และน้ำฝน-กัญวรา ศรีนางใย ที่พกพารอยยิ้มมาประชุมกองสม่ำเสมอ พร้อมกับรับหน้าที่จดบันทึกการประชุมส่งสรุปในกรุ๊ปไลน์ของกองบรรณาธิการอย่างต่อเนื่อง
น้ำหวานเปิดเผยความในใจว่า “การทำงานโปรเจกต์บ้านกล้วย นอกจากจะได้ความรู้และทักษะในการทำงานเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้มิตรภาพใหม่ที่ทำให้เราสบายใจมากขึ้นด้วย เพราะบ้านกล้วยเต็มไปด้วยเพื่อนที่มีน้ำใจซึ่งกันและกัน รวมถึงยังมีอาจารย์คอยดูแล ซึ่งไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอะไรมา อาจารย์ก็พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือเสมอ”
ส่วนน้ำฝนอธิบายเพิ่มว่า “การทำงานในบ้านกล้วย เป็นอีกประสบการณ์ที่น่าจดจำ ทุกงานทำให้เราโตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น การทำงานแต่ละชิ้นมันมีความแตกต่างกันออกไป ทุกครั้งได้เริ่มเขียน ได้เริ่มคิดว่าจะทำอะไร มันทำให้เรามีจุดหมาย ที่ไม่ใช่แค่วิชาที่เรียน มันหมายถึงการทำคอนเท้นต์ให้อีกหลายคนได้อ่าน ได้เห็นผลงานที่เราทำออกสู่สาธารณะ ทำให้ต้องตั้งใจ และต้องใส่ใจมาก”
แน่นอนว่าการทำคอนเทนต์ เพื่อเผยแพร่ออกไปบนสื่อออนไลน์ถือเป็นงานหลักของเรา แต่นอกจากทีมข้อมูลที่เป็นส่วนสำคัญแล้ว ยังมีทีมงานด้านต่าง ๆ อันเป็นองคาพยพที่ขาดไม่ได้ อาทิ ทีมช่างภาพ ที่มีส่วนช่วยแต่งเติมสีสันของงานเขียนด้วยภาพถ่ายและวีดิโอ ทีมกราฟิก อันเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความน่าสนใจผ่านความคิดสร้างสรรค์ และทีมงานแอดมินที่คอยดูแลหน้าเพจเฟซบุ๊กบ้านกล้วยให้มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอด
พี-กิตติภูมิ นิ่มเนียน ผู้มีทุกอย่างยกเว้นเวลานอน คือหัวหน้าฝ่ายกราฟฟิคและดูแลงานด้านภาพทุกรายละเอียด อีกทั้งยังเป็นประธานภาควารสารศาสตร์ดิจิทัลที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อน ๆ อย่างท่วมท้น ให้คอยเป็นที่ปรึกษาด้านการเลือกภาพ การคัดภาพ และแต่งภาพให้เพื่อนในกองบรรณาธิการ
“ในปีการศึกษา 2562 นี้ บ้านกล้วยนั้นอาจแตกต่างไปจากเดิมนิดหน่อย ตรงที่ช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์เปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นออนไลน์ ถึงแม้ในตอนแรกเริ่มอาจจะมีปัญหาติด ๆ ขัด ๆ เนื่องจากเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายแล้วพวกเราก็ช่วยกันให้มันผ่านลุล่วงไปได้ด้วยดี” หัวหน้าฝ่ายกราฟิก พูดถึงเรื่องปัญหาในระยะแรกเริ่มของการทำงาน สำหรับเขาปัญหาคือความท้าทายที่จะทำให้สนุกกับงาน
อีกหนึ่งส่วนงานที่สำคัญไม่แพ้กันคือคอนเท้นต์ด้าน Clip Video เราได้ โอ๊ต-ปริญญา เศาภายน ผู้ชื่นชอบงานด้านวิดีโอที่คอยเป็นหลัก ตามเก็บคอนเท้นต์มาเล่าเรื่องเป็นภาพเคลื่อนไหวได้อย่างน่าติดตาม
โอ๊ตเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบ ๆ ว่า “ตลอดระยะเวลาการทำงานทั้งหมด บ้านกล้วยทำให้เราเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพราะต้องเจออุปสรรคอยู่ตลอดเวลา แล้วก็ต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้ การทำงานมีอิสระมากในการนำเสนอหัวข้อที่เราสนใจ ที่สำคัญคือเราเรียนรู้การทำงานร่วมกันเป็นทีม และได้ลงมือทำในสิ่งที่เราไม่ถนัดด้วย ทำให้เราได้ฝึกฝนทักษะที่เรายังขาดไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมได้ทำหลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นตัดต่อ ช่างภาพ หรือนักเขียน ทำให้เห็นมุมมองในการทำงานที่กว้างขึ้น และเข้าใจกระบวนการทำงานในแต่ละตำแหน่งว่ามีอะไรบ้าง”
‘กองบก.’ ได้เริ่มต้นแสดงฝีมือกัน ภายใต้แนวคิด ‘Tiimeless’ อันหมายถึง ‘ความยั่งยืน’ ที่มุ่งนำเสนอเรื่องราวที่ให้ความรู้ ความบันเทิง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับสังคม โดยทีมงานแต่ละคนก็ได้ปล่อยของแสดงความสามารถด้านการเขียนที่ร่ำเรียนมากว่า 3 ปี กันอย่างเต็มที่
แม้ในช่วงแรกพวกเราจะเจออุปสรรคในเรื่องของการปรับตัว และการต้องเผชิญกับงานที่ไม่เคยคิดว่าจะทำมาก่อน เพราะเรายังไม่ต้องการเวลาปรับตัว การทำคอนเท้นต์ที่ต่อเนื่อง เผยแพร่ทุกสัปดาห์ มีความกดดันเล็กน้อย อีกทั้งยังต้องคอยตามประเด็นเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่พอผ่านไปสักระยะทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลาย ปรับตัวได้ จนนำไปสู่การทำงานที่เป็นระบบ ซึ่งทุกคนภายในกองบรรณาธิการต่างได้เลือกทำงานในสิ่งที่ชอบในสิ่งที่สนใจ ผ่านการช่วยขัดเกลาของเพื่อน ๆ ภายในกองบก.จนเกิดเป็นเรื่องราว ‘สไตล์บ้านกล้วย’
นอกจากภีม จะรับหน้าที่เป็นบก.บห.ของบ้านกล้วยแล้ว เขายังมีความสนใจเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้รับหน้าที่เป็น หัวหน้าโต๊ะสังคมและเศรษฐกิจ ไปพร้อม ๆ กัน กับผลงานชิ้นที่สร้างชื่อ ตั้งคำถามเรื่องป้ายโฆษณาบนกระจกรถเมล์ว่ากระทบต่อสิทธิ์ของผู้โดยสารหรือไม่ บ้านกล้วย ยังสนใจเรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้ของเด็กยุคนี้ เดียร์ พ่วงอีกหนึ่งตำแหน่งคือ หัวหน้าโต๊ะการศึกษา เช่นเดียวกับน้ำหวาน ที่รับหน้าที่ หัวหน้าโต๊ะบันเทิงและศิลปวัฒนธรรม
เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บ้านกล้วยให้ความสำคัญ พิม-ธศิรภร สุดชา เข้ามารับตำแหน่ง หัวหน้าโต๊ะสิ่งแวดล้อม ที่คอยวิ่งตามประเด็นสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย พิมบอกว่า “บ้านกล้วย เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้ลงมือทำในสายงานที่เราเรียนมา ตลอดระยะเวลา 4 ปี เหมือนเป็นการประมวลความรู้ทั้งหมด และได้แสดงออกมาเป็นผลงานเผยแพร่สู่สาธารณะ การทำงานกับกองบ้านกล้วยได้ทั้งประสบการณ์จริง มิตรภาพ เป็นช่วงเวลาดี ๆ ช่วงหนึ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตการเป็นนักศึกษาเลยก็ว่าได้”
เทคโนโลยี เป็นอีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่บ้านกล้วยไม่ยอมพลาด ตรอง-ปิยะภัทร ปัญญา สว่างเลิศ หัวหน้าโต๊ะเทคโนโลยี ที่อัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เพื่อน ๆ ได้รับรู้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังคร่ำหวอดในแวดวงเทคโนโลยีมาตั้งแต่ตอนฝึกงาน
ตรองบอกว่า “ปีนี้เป็นพวกเราที่ช่วยกันผลักดันบ้านกล้วยให้เดินไปข้างหน้าอีกปี บ้านกล้วย ทำไห้เราได้ทบทวนทักษะที่ขาดไปว่าเราควรตระหนักที่จะเพิ่มเติมอะไรบ้าง ในระหว่างการเรียนรู้นี้ กองบรรณาธิการนี้สอนให้เราทำข่าวที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวเป็นอย่างมากครับ”
เช่นกันกับ โน๊ต-ปิยะบุตร แตงตาด ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี และการท่องเที่ยว “บ้านกล้วยถือได้ว่าเป็นบ้านหลังหนึ่งที่มีโอกาสให้ได้เเสดงฝีมือ ความเป็นอยู่อย่างอบอุ่นของเพื่อนเเละอาจารย์ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นการทำงานกันภายในครอบครัวเล็ก ๆ ที่อยากจะทำอะไรเป็นของตัวเองสักครั้ง เเน่นอนว่าหลายครั้งที่ทำงานกันก็ต้องมีปัญหากันบ้างหรือเเม้เเต่การทำงานที่ต้องเจออุปสรรคหน้างาน เเต่ท้ายที่สุดทั้งทีมก็ช่วยกันจนทำงานออกมาให้สำเร็จลงได้” โน๊ตบอกเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของตนเอง
หนึ่งสาวคนเดียวที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี หมิง-ทัศนีย์ จันทรภาพ สาวไอทีผู้รักการถ่ายรูป หมิงคอยเป็นที่ปรึกษาแนะนำเพื่อน ๆ เรื่องการถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา “การทำงานในบ้านกล้วย คือการได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด ตอนที่ทำคอนเท้นต์คือความพยายามที่เราทุ่มเท เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายให้ดีที่สุด” หมิงอธิบายถึงความทุ่มเทในการทำงาน
ในสายคอนเท้นต์ด้านกีฬา เราโชคดีที่ได้หนุ่มไฟแรง คอกีฬาตัวจริงเสียงจริง ชุนก้า-ศาสน์ สายันเกณะ หัวหน้าโต๊ะกีฬา ที่ผ่านการฝึกงานด้านกีฬามาอย่างเข้มข้น และแพชชั่นด้านกีฬาที่เต็มเปี่ยม ทำให้คอนเท้นต์ด้านกีฬาของบ้านกล้วยในปีนี้อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา คุณภาพ และความหลากหลาย เปิดมุมมองการทำคอนเท้นต์ด้านกีฬา
“การทำงานตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่งเทอม ทำให้ได้เรียนรู้ถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีมในกองบรรณาธิการ ร่วมการหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอ และลงมือทำโดยที่ให้อิสระ ไม่มีปิดกั้น ได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสถานการณ์จริง ความรอบคอบในการทำงานมีเพิ่มขึ้น ซึ่งการทำงานทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการได้ทักษะที่ต่อยอดเพิ่มจากการที่ได้ไปฝึกงานมาในช่วงปิดเทอม” หัวหน้าโต๊ะกีฬาเล่า
บ้านกล้วยปีนี้ของเรายังโกอินเตอร์ ระดับนานาชาติ เรามี จ๊ะจ๋า-เยียน เหอลู่เหยา เด็กจีนแท้ ๆ ที่ชอบทำงานเขียน จ๊ะจ๋าพาเราไปรู้จักโลกอีกใบของนักศึกษาจีนในม.กรุงเทพ จ๊ะจ๋า เผยความรู้สึก “สำหรับเราเป็นนักศึกษาจีน เราได้เรียนรู้ภาษาไทยมากขึ้น เมื่อทำคอนเท้นต์เราได้มีความคิดเห็นของตัวเอง และมีจุดหมายด้วย เราเป็นเด็กเขียนภาษาไทยไม่เก่ง โดยเฉพาะเขียนบทความ แต่ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์ และเพื่อน ๆ เราได้โตขึ้น บ้านกล้วยไม่เหมือนกับวิชาอื่น ๆ บ้านกล้วยทำให้เรารู้สึกว่าเด็กต่างชาติก็ทำงานได้ เขียนได้ คิดได้ และทำให้เราเชื่อว่าเรามีความสามารถ”
ไม่ใช่ว่าหนุ่มสาวบ้านกล้วยจะสนใจเรื่องสังคมเท่านั้น เราก็บันเทิงได้ สาวเจอาร์และหนุ่มเจอาร์ที่อินเรื่องบันเทิง ทำคอนเท้นต์แนวไลฟ์สไตล์ก็มีอยู่เช่นกัน ลูกแก้ว-ภัณฑิรา ปรางค์ทอง มากองด้วยลุคสบายและใส่ใจเพื่อน ๆ บอกว่า “เพื่อนในทีมบ้านกล้วยทุกคนต่างคอยช่วยเหลือ มีน้ำใจต่อกัน และทุกคนเต็มที่กับงาน เพราะงานเขียนแต่ละชิ้นกว่าจะผ่านมาได้ต้องใช้เวลาอย่างมาก แต่ก็เป็นผลดีตรงที่เราได้ฝึกความอดทน และฝึกทักษะการเขียนของตัวเองให้ดีมากขึ้น สุดท้ายก็อยากจะขอบคุณทุกคนมากที่คอยร่วมมือกันทำงานบ้านกล้วย จนสำเร็จลุล่วงมาได้”
แพรว-วนิดา คิดอยู่ สาวอารมณ์ดี ก็มาเสริมว่า ทำงานอะไรก็ตามต้องวางแผนและออกแบบร่วมกับเพื่อน “สิ่งที่ได้จากการทำงานกับบ้านกล้วยคือ การวางงานอย่างเป็นระบบ การทำงานกันเป็นทีม เพราะเราก็เป็นคนเขียนไม่ได้เก่งมาก ถ่ายรูปเช่นเดียวกัน พอได้มีเพื่อนมาร่วมทีม มีตารางงาน ก็ทำให้การทำงานมันง่ายขึ้น การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนสำหรับเรา ทำให้เราไม่ต้องมานั่งคิดงาน ออกแบบงานเพียงคนเดียว เรามีเพื่อนให้คอยปรึกษา และคอยแก้ปัญหาไปด้วยกัน ช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ให้โอกาสเราได้พัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยทำ”
ขณะที่ ตาล-สุธิชา หาแก้ว สาวเจอาร์ที่หากไม่สนิทกันจะไม่พูดเยอะ มองว่า ปัญหาต่าง ๆ ไม่ได้มีไว้ให้เราแก้คนเดียว ทั้งทีมเราช่วยกันแก้ปัญหา “ถึงแม้เราจะเจอปัญหาอุปสรรคขนาดไหน เราก็สามารถมาคุยมาปรึกษากับเพื่อนในกองได้เพื่อหาทางแก้ปัญหา ซึ่งตรงนี้มันทำให้เราได้รู้จักการทำงานจริง ๆ เพราะเวลาเราได้ทำงานจริง เราก็อาจจะต้องเจอปัญหาที่มันเกิดแบบนี้ เราจะได้รู้จักแก้ปัญหาให้มันตรงจุด ทำให้การทำงานในอนาคตราบรื่นด้วย”
การทำงานที่เข้มข้นของบ้านกล้วย ทั้งการเผชิญกับแรงกดดันเรื่องเดทไลน์ การติดต่อแหล่งข่าว และการลงทำข่าวจริงในมหาวิทยาลัยและส่งข่าวออกในเฟซบุ๊คให้ทันเวลา สิ่งเหล่านี้ พีช-ปารุสก์ พรมจักรินทร์ บอกว่า “ทำให้เราสนิทกับเพื่อนมากขึ้น ได้คุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อาจจะมีที่ความคิดต่างกันบ้าง มีไม่เข้าใจกันบ้าง แต่สุดท้ายสิ่งที่เพื่อน ๆ ช่วยกันสร้างจนประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ได้มากที่สุด แต่ทุกคนก็รู้สึกภูมิใจกับบ้านกล้วย”
กองบก.ของเราได้ผลิตผลงานออกไปมากมาย สิ่งที่ทุกคนได้รับจากการทำงานคงนี้ไม่พ้นทักษะจากการเรียนรู้ที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ประกอบกับมิตรภาพจากการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่ส่งผลให้มิตรภาพระหว่างเพื่อนมีความแน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น ซึ่งเวลาผ่านไป เรือลำน้อยที่มุ่งออกจากท่าน้ำด้วยความกระท่อนกระแท่น เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว ได้กลายเป็นเรือที่แข็งแรงมากขึ้น พร้อมที่จะแล่นไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่รับจากการทำโปรเจกต์ร่วมกันในครั้งนี้ ทำให้สมาชิกทุกคนพร้อมที่จะก้าวออกสู่การทำงานจริงในสนามสื่อด้วยความพรั่งพร้อมด้านประสบการณ์ที่มากขึ้น
เรายังได้มีโอกาสทำงานร่วมกับรุ่นน้องในภาควารสารศาสตร์ที่ส่งคอนเท้นต์เข้ามาลงในเว็บไซต์ การทำงานกับรุ่นน้องยิ่งทำให้เราต้องโตเป็นผู้ใหญ่เร็วขึ้น เป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำ และดูแลน้อง เป็นพี่รหัสที่ดีที่ทำให้น้องอุ่นใจในการทำงานร่วมกัน ทำให้ความผูกพันในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องมีความแข็งแรง สานต่อความสัมพันธ์รุ่นพี่รุ่นน้องวารสารศาสตร์ ม.กรุงเทพจากรุ่นสู่รุ่น
จนกระทั่งช่วงท้ายของการทำงานได้มาถึง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2562 ถือเป็นการปิดกองบรรณาธิการอย่างสมบูรณ์ การแลกเปลี่ยนความในใจ ที่ตามมาด้วยงานสังสรรค์ได้เกิดขึ้นที่ ‘ห้องบ้านกล้วย’ ห้องทำงานเล็ก ๆ ที่อบอุ่นของเด็กวารสาร ฯ ซึ่งบ้านกล้วยไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ แต่ยังเป็น ‘หัวใจ’ ของ ‘เด็กเจอาร์’ อันเป็นพื้นที่แสดงความสามารถผ่านสื่อที่ถูกส่งไม้ต่อมารุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งหลังจากหมดวาระก็คงจะเหลือแต่ความทรงจำที่ให้พึงระลึกเสมอว่า ‘เรา’ เคยเป็น ‘กองบรรณาธิการบ้านกล้วย’ เมื่อสมัยเรียนอยู่ที่ ‘วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’
“อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ที่จะเข้ามาทำงานต่อ ให้ตั้งใจในการผลิตเรื่องราวออกสู่โลกออนไลน์ และฝากถึงรุ่นน้องและเด็กวารสาร ฯ ม.กรุงเทพ ทุกคนที่จะต้องเข้ามาทำงานในบ้านกล้วยแห่งนี้ จงเก็บเกี่ยวประสบการณ์และแสดงศักยภาพด้านการเล่าเรื่องของตนเองให้เป็นที่พูดถึงว่า ‘เด็กเจอาร์’ ก็เก่งไม่แพ้ใครนะ” ภีม-ภูริช วรรธโนรมณ์ บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วย ผู้ที่มีความศรัทธาในอำนาจพลังของปลายปากกา กล่าวทิ้งท้าย
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้