“ยินดีครับ ได้เสมอครับ”
คือประโยคแรกที่พี่คนนี้ตอบเรากลับมาหลังจากที่เราได้ส่งข้อความยาวเหยียด 400 คำ เรียบเรียงคำพูดราวกับจดหมายแนะนำตัวเอง เกริ่นที่มาความเป็นไป อยากสัมภาษณ์หรือพูดคุยถึงเรื่องราวเส้นทางของการจะเป็น ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ (Food Delivery) หรือ พนักงานรับส่งอาหาร หรือที่หลายคนเรียกว่า ไรเดอร์ (Rider) หนึ่งในอาชีพที่เติบโตที่สุดของปี 2020 ท่ามกลางสภาวะวิกฤติโรคระบาดที่สร้างผลกระทบด้านลบไปทั่วโลก มาสอดส่องมุมมองการทำงานภายใต้เสื้อคลุมแจ็คเก็ตสีเขียวและมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันที่ไม่ถูกจำกัดสถานะไว้เพียงอย่างเดียวกับเขาคนนี้
ช่วงเช้าของอากาศปลายฝนต้นหนาวของเดือนตุลาคม เราพบกับ พี่น็อต-สิบเอกอานนท์ อุ้มญาติ ที่ปัจจุบันรับราชการทหารบกประจำอยู่ที่กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี บุคคลตัวอย่างที่ทุกสุดสัปดาห์เมื่อมีเวลาว่างจะเข้ามารับหน้าที่เป็นพนักงานรับส่งอาหาร อีกทั้งยังเป็น ยูทูบเบอร์ ช่อง not present ในการทำคลิปวิดีโอให้ข้อมูล บอกเล่า และส่งต่อความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติอาชีพพนักงานรับส่งอาหารให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจในการเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนี้
จุดเริ่มต้นที่ลงทุนน้อย เพียงแค่มีพาหนะกับใจที่รักบริการก็สร้างอาชีพได้
พี่น็อตเล่าให้เราฟังถึงชีวิตประจำวันในการทำงานของเขา ที่ปกติแล้วรับราชการทหารอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี จะมีทุกวันศุกร์เย็น วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานครเพื่อประกอบอาชีพเป็นพนักงานรับส่งอาหารของแกร๊บ (Grab) และแอปพลิเคชันอื่น ๆ
จุดเริ่มต้นของพี่น็อตที่มาประกอบอาชีพนี้ สืบสาวราวเรื่องกันมาก็เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะหารายได้เพิ่มเติมจากที่มีอยู่ โดยในตอนแรก พี่น็อตได้เริ่มจากการไปเรียนทำข้าวนึ่งที่ตลาดภาษีเจริญ ทว่าจะต้องใช้การลงทุนทั้งแรงกายและแรงเงินค่อนข้างสูง จึงมีน้องที่รู้จักมาแนะนำถึงอาชีพพนักงานแกร็บ (Grab) โดยหลังจากที่พี่น็อตได้ทำความรู้จักและเริ่มต้นสมัครเข้ามาเป็นพนักงานให้บริการรับส่งโดยรถยนต์ส่วนบุคคล จึงพบว่าเป็นงานที่การลงทุนที่น้อยกว่างานอื่น ๆ เนื่องจากเพียงแค่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็สามารถประกอบอาชีพได้แล้ว
โดยแกร๊บ (Grab) เป็นแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ให้บริการเรียกรถแท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล และ รถมอเตอร์ไซค์ ทั้งในส่วนของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และการขนส่งสิ่งของ เอกสาร หรืออาหาร ที่มีจุดมุ่งหมายในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยด้านการเดินทางให้กับผู้คน
ซึ่งปัจจุบันนอกจากแกร๊บแล้ว ยังมีแอปพลิเคชันที่ให้บริการด้านรับส่งอาหารโดยเฉพาะในประเทศไทยอีกมากมาย อาทิ ไลน์แมน (LINE MAN) ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) ลาล่ามูฟ (Lalamove) เก็ต (Get) เป็นต้น
จาก Grab Car สู่ Grab Food สถานการณ์โควิดที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
“ทำไมตัวพี่ถึงเปลี่ยนแกร๊บคาร์ (Grab Car) มาเป็นแกร๊บฟู้ด (Grab Food) เนื่องด้วยวิกฤตของไวรัสโควิด-19 มันระบาด มันทำให้ภาวะของการท่องเที่ยวไม่ค่อยที่จะกระเตื้อง”
พี่น็อตเล่าว่าแต่เดิมตัวเองจะขับแกร๊บคาร์ (Grab Car) หรือบริการรับส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ทว่าจากสถานการณ์วิกฤติไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การท่องเที่ยวหรือการสัญจรไปมาในประเทศซบเซาเป็นอย่างมาก เมื่อพูดถึงปัญหาที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ได้แก่ ไม่มีผู้โดยสาร ไม่มีคนใช้รถยนต์บริการสาธารณะ เพราะแน่นอนว่าในช่วงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผู้คนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงสถานที่หรือพื้นที่สาธารณะที่มีโอกาสใช้ร่วมกันและเสี่ยงต่อการพบเจอเชื้อไวรัส อีกทั้งในช่วงการระบาดระลอกที่ 1 เมื่อต้นปี ถึง กลางปีพ.ศ.2563 ที่ผ่านมา สนามบินระหว่างประเทศก็ถูกปิดไม่ให้มีการเดินทางเข้าหรือออกประเทศ ก็ยิ่งทำให้การเรียกใช้บริการของแกร๊บคาร์ยิ่งลดน้อยลงและหยุดฉะงักกันตามไป
ดังนั้น พี่น็อตจึงพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน โดยในแอปพลิเคชั่นของแกร๊บตอนนั้น จะมีฟีเจอร์ แกร๊บฟูดคาร์ (Grab Food Car) เป็นบริการรับส่งอาหารสำหรับพาร์ทเนอร์หรือพนักงานที่มีรถยนต์ ซึ่งเมื่อพี่น็อตได้มาลองทำแล้วพบกว่า การรับส่งอาหารนั้นตัวเองรู้สึกสนุกกับการทำงานเป็นอย่างมาก สุดท้ายจึงตัดสินใจที่จะพลิกประเภทการบริการมาขับ แกร๊บฟูด (Grab Food) ซึ่งใช้มอเตอร์ไซค์แทน เพราะต้นทุนค่าน้ำมัน ความคล่องตัว และทำให้หนึ่งวันของพี่น็อตมีกำไรมากกว่าแต่เดิม มากกว่าการขับแกร๊บคาร์ในช่วงที่ผ่านมา
“และอีกผลกระทบที่ได้รับจากโรคไวรัสโควิด-19 พี่ก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากงานประจำ เนื่องด้วยการเดินทางระหว่างการข้ามจังหวัด เพราะว่าอย่างที่บอกไปข้างต้นเลยว่าตัวพี่เองที่จะมาขับแกร๊บในกรุงเทพฯ พี่อยู่ต่างจังหวัดจะมาขับแกร๊บช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ การเดินทางมาจากต่างจังหวัดมันค่อนข้างยาก มันทำให้เกิดปัญหาว่าไม่สามารถมารับงานที่เป็นอาชีพเสริมในช่วงนั้นได้” อีกหนึ่งคำบอกเล่าของพี่น็อตที่ทำให้เราได้เข้าใจถึงความยากลำบากในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา
กระแส Food Delivery กับการเติบโตครั้งใหญ่ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค New Normal
“กระแสของ Food Delivery ในเมืองไทยตอนนี้ พี่เชื่อแล้วว่าฮิตมาก แล้วก็เป็นที่นิยม มันเกิดมาจากการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสของบริษัท คนส่วนใหญ่ในตอนนี้ ตอนที่เป็นโรคโควิดกัน ติดโควิดเยอะ ๆ ในประเทศไทย คนค่อนข้างที่จะออกไปข้างนอกไม่ได้อยู่แล้ว เพราะมีความเสี่ยงที่จะติดโควิด ต้องใส่แมส ต้องอะไร
ในทางกลับกันพอมีแอปพลิเคชันในการสั่งอาหารเป็น Food Delivery มันช่วยทำให้คนไม่เคลื่อนที่ ช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิดได้ แล้วมันก็เป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสอีก ก็คือมีโอกาสให้คนสั่งอาหารมากขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสอันดี Food Delivery นะ” พี่น็อตพยายามเล่ายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพชัด
เราถามเขาว่าการที่มีผู้คนมาประกอบอาชีพเป็นพนักงานรับส่งอาหารเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ พี่น็อตตอบว่าแล้วสาเหตุที่คนมาทำกันเยอะเพราะอะไร ก็เพราะมันดีและเห็นเงินง่ายกว่าหลายงาน ฉะนั้นต่อไปก็จะมีอีกหลายบริษัทเข้ามามากขึ้น เพราะรูปแบบของฟู้ด เดลิเวอรี่มันอยู่ในหัวใจและนิสัยของคนไทยไปแล้ว จึงถือว่าอาชีพนี้สามารถครอบคลุมกลุ่มคนและอยู่ได้ไปอีกยาวนาน
และพี่น็อตก็เห็นด้วยว่าฟู้ด เดลิเวอรีเป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการลดการพบเจอหรือรักษาระห่างทางสังคม (Social Distancing) และกลุ่มคนที่ต้องการหารายได้เสริมหรือกลายเป็นอาชีพหลักในช่วงที่เศรษฐกิจค่อนข้างซบเซา ณ ขณะนี้
เพราะ จ.ใจรักบริการ ท.ทหารอดทน ป.ประหยัดอดออม คือเส้นทางสู่ความสำเร็จ
การจะประกอบอาชีพเป็นพนักงานรับส่งอาหารที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องมีคุณสมบัติทั้งหมด 3 ข้อด้วยกัน หนึ่งคือจะต้องมีใจที่รักในการบริการ สองคือความอดทน และสามคือการประหยัดอดออม
ข้อที่หนึ่ง ใจที่รักในการบริการ พี่น็อตยกให้ข้อนี้เป็นอันดับแรกและอันดับสูงสุดที่หลายคนคงจะทราบกันดีอยู่แล้ว ข้อที่สอง ความอดทนต่อการทำงาน ต้องเริ่มต้นออกทำงานแต่เช้า จับสังเกตหรือวิเคราะห์ช่วงเวลาที่ผู้คนจะสั่งอาหารตามร้านใกล้เคียงเพื่อให้มีโอกาสในการรับออเดอร์ที่หลากหลาย อีกทั้งสภาพอากาศในแต่ละวันก็แตกต่างกันออกไป บวกกับการใช้ชีวิตเดินทางสัญจรอยู่บนถนนอยู่ตลอดเวลา ถ้าขาดความอดทนทั้งกายและใจก็ยากที่จะไปต่อได้ และข้อที่สาม การอดออม เพราะอาชีพนี้จะมีรายได้ที่ผสมเล็กผสมน้อย รายได้ต่องานตกอยู่ที่หลักสิบ เก็บเงินทีละสิบ ทวีคูณจากออเดอร์ในแต่ละวันมาผสมร่วมกัน
“มุมมองต่องานบริการของ Food Delivery พี่มองว่ามุมมองนี้ มันเป็นงานที่เป็นงานบริการจริง ๆ คนที่สั่งอาหารเขาต้องการที่จะไม่มาซื้ออาหารเอง เราก็ต้องมีใจรักในงานบริการ บางครั้งเราอาจจะเจอเอฟเฟกต์ที่ค่อนข้างเป็นผลลบต่อตัวเรา แต่เราต้องอดทนนะ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะรู้จักอดทนมากพอ มันจะทำให้เรามีภูมิต้านทาน มีพลังของตัวเราเอง ไม่ว่าจะเจออะไรเราก็สามารถที่จะทำได้ทุกอย่าง” พี่น็อตอธิบายเพิ่มเติม
ปัจจุบันนอกจากการเป็นพนักงานรับส่งอาหารของแกร๊บแล้ว พี่น็อตยังได้เพิ่มเติมขอบเขตการทำงานในบริษัทอื่น ๆ ของฟู้ด เดลิเวอรี่ด้วยการสมัครเป็นไรเดอร์ของแอปพลิเคชันลาล่ามูฟและไลน์แมน ทำควบคู่หรือสลับสับเปลี่ยนไปด้วย โดยเขาจะเสริมว่าแต่ละแอปพลิเคชันหรือบริษัทมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ยกตัวอย่างแกร๊บที่ไรเดอร์จะต้องเข้าไปอยู่ใกล้ร้านอาหารและรอรับงานจากระบบคอมพิวเตอร์ แตกต่างจากลาล่ามูฟที่ไรเดอร์จะต้องแข่งขันกันกดรับออเดอร์เอง ซึ่งรายได้ต่อเที่ยวของลาล่ามูฟจะมากกว่าแกร็บแต่รับงานยากกว่า ฉะนั้นเมื่อนำมาเฉลี่ยกันก็มีความใกล้เคียงกัน ต่างกันที่ลักษณะการทำงานและรูปแบบของแต่ละองค์กร สุดท้ายพนักงานรับส่งอาหารก็ต้องขยันสร้างรายได้เพื่อนำไปใช้เลี้ยงชีพตัวเอง
เพราะพวกเขาเหล่านี้คือคนกลางระหว่างร้านอาหารและผู้ใช้บริการ
“ข้อดีของการทำฟู้ด เดลิเวอรี่คือหนึ่ง เห็นเงินง่าย อย่างที่สอง สนุก อย่างที่สาม ได้เพื่อน มีเพื่อนฝูง อย่างที่สี่ รู้จักเส้นทาง ก็มีประมาณนี้ แต่ว่าโทษและข้อเสียของมันก็มี เพราะเราใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนตลอดเวลา แทบจะตลอดทั้งวันเลยมีความเสี่ยง แล้วถ้าเราประมาท รถก็ล้มก็ชน ถ้าเขาประมาทเราก็โดนเขาชน แบบนี้เป็นต้น ซึ่งมันเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต อันตรายต่อทรัพย์สินของตัวเรา แล้วก็ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่มันเป็นงานที่ค่อนข้างจะตากแดดตากฝนนะ ก็ค่อนข้างจะอันตรายบนท้องถนนนี่แหละที่พี่คิด”
เราถามพี่น็อตต่อถึงอุปสรรคหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานด้านฟู้ด เดลิเวอรี เขาครุ่นคิดชั่วครู่ก่อนที่จะเอ่ยตอบบอกอุปสรรคแรกที่นึกถึงคือ ‘ร้านอาหาร’ เพราะบางร้านวิธีการทำที่ค่อนข้างช้า แน่นอนว่ามันส่งผลถึงผลกระทบถึงตัวเขาเลยคือการสร้างรายได้ที่มีโอกาสวิ่งรับออเดอร์งานได้น้อยลง หลายครั้งที่แทนที่การใช้เวลาเท่านี้ควรจะได้รับงานถึง 3 ออเดอร์ แต่สุดท้ายกลับได้เพียงงานเดียวเพราะเป็นใช้เวลานาน แต่ก็เข้าใจได้ว่าอาจจะเป็นร้านที่มีคนสั่งจำนวนมาก
ทว่าอีกหนึ่งฟีดแบคจาก ‘ลูกค้า’ หรือผู้ใช้บริการ ก็จะตำหนิกลับมาที่ตัวไรเดอร์แทนว่าทำไมอาหารหรือออเดอร์ถึงยังไม่มาส่งสักที ทำไมเดินทางมาช้า หรือแม้แต่บางคนที่มองว่าพนักงานรับส่งอาหารเป็นเพียงคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีหน้าที่ให้บริการ ตรงนี้นี่เองที่ทำให้เขาซึ่งเป็นคนกลางระหว่าง ‘ร้านอาหาร’ และ ‘ลูกค้า’ ต้องเสียเวลาและบั่นทอนกำลังใจที่มีต่อการทำงาน
“แต่จริง ๆ แล้วบางครั้งปัญหาก็อยู่ที่ตัวคนขับด้วยนะ คนขับต้องใจเย็นในการทำงาน การค้นหาลูกค้า การรอลูกค้า การรอร้านอาหาร แบบนี้เราก็ต้องมีความใจเย็น และมีใจรักที่บริการเต็มเปี่ยม บางครั้งเรารู้สึกว่า โอ้โห เราอยากจะต่อว่าเขาเหลือเกิน แต่เราก็ได้แต่สะกดไว้ในใจ เพราะนี่คือหลักสำคัญของงานบริการ
ทุกคนจะต้องใจรักในการบริการ เคารพสถานที่ เคารพความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่สำคัญเลยว่าคุณจะมีตำแหน่งอะไรไม่ว่าคุณจะเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นครู ทุกคนพอใส่ชุดนี้แล้วมีใจรักในการบริการถึงจะสามารถทำงานนี้ได้” พี่น็อตเล่าอย่างยิ้ม ๆ เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเคยเจอ
not present ช่องยูทูบที่เกิดขึ้นเพื่อพรีเซนต์วิธีแก้ปัญหาในฉบับพี่น็อต
“ตอนแรกเลยส่วนตัวพี่เป็นคนชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ถ่ายรูปภาพ ถ่ายวิดีโอ เป็นคนชอบอะไรอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าตัวเองห่างเกินจากการถ่ายภาพถ่ายวิดีโอมานาน เลยรู้สึกอยากกลับไปสานต่อ ลองทำ อยากไปสัมผัส คลุกคลีกับมันอยู่ เพราะว่าเราเป็นคนชอบทางนี้อยู่แล้ว”
เพราะความชื่นชอบที่หลากหลายภายใต้หนึ่งตัวตน ตอนนี้อีกหนึ่งหน้าที่ของพี่น็อตคือเป็นยูทูบเบอร์ช่อง not present ช่องยูทูบที่ทำคลิปวิดีโอบอกเล่า ให้ข้อมูล ส่งต่อความรู้ในการเป็นพนักงานรับส่งอาหารหรือไรเดอร์ให้แก่ ผู้คนที่ต้องกำลังประกอบอาชีพสายงานเดียวกัน หรือบุคคลที่มีความสนใจที่จะเริ่มต้นการทำงานด้านฟู้ด เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ
“ตอนแรกก็ลองถ่ายเล่น ๆ แต่พอสักพักพี่เริ่มเจอปัญหาที่ถามใคร ใครก็ตอบไม่ได้ บางครั้งคอลเซ็นเตอร์ก็ยังให้ข้อมูลกับตัวคนขับไม่ได้ ทำให้พี่ไปศึกษาข้อมูล ใช้เวลาว่างของพี่ไปอ่านหาว่าถ้าเราติดปัญหา 1234 จะแก้ปัญหายังไง พี่ก็เลยศึกษาข้อมูลมา และคิดว่าถ้ามีคนมาถามพี่ต่อ ทำไมเราไม่บอกคนอื่นล่ะว่ามันแก้ยังไง คนอื่นเขาก็อยากแก้เหมือนกับเรา คนที่มาขับใหม่ ๆ เขาจะได้รู้ว่าปัญหานี้แก้ยังไง พี่ก็เลยทำช่องยูทูบ not present ของพี่ขึ้นมา” พี่น็อตอธิบายสิ่งที่จุดประกายทำให้เริ่มทำช่องยูทูบของตัวเอง
“not present มาจากชื่อพี่ เป็นการพรีเซนต์ของตัวพี่เอง พี่จะพรีเซนต์เรื่องอะไรก็ได้ แต่เรื่องที่พี่จะพรีเซนต์เป็นเรื่องที่มีใจความสำคัญก็คือ จะต้องเน้นเกี่ยวกับความรู้ของคนทำมาหากิน”
คอนเทนต์วิดีโอของช่อง not present มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคือ เป็นคลิปสำหรับดูเพื่อการแก้ปัญหา ส่งเสริมความรู้ในการปฏิบัติงาน พี่น็อตเน้นย้ำเลยว่าความรู้จะต้องมาก่อน เช่น คลิปเกี่ยวกับทักษะการขับขี่รถ ทักษะในการแก้ปัญหางานในแต่ละวัน การขับขี่ยังไงให้ปลอดภัย เป็นต้น เพราะไม่ใช่ว่าคนที่สามารถวิ่งรอบออเดอร์ต่อวันได้เยอะคือคนที่เก่ง หรือคนที่ขับขี่ได้รวดเร็วที่สุดคือคนเก่ง แต่คนที่สามารถทำงานแล้วกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยต่างหากคือคนเก่ง และเป็นคนทำงานฟู้ด เดลิเวอรีที่เก่งที่สุด
เพราะทุกการเติบโตของช่องคือการผลตอบแทนของการแบ่งปันความรู้
“ระดับพี่พูดเลยว่า พี่ไม่เคยกั๊กความรู้เลย เพราะว่าพี่เคยเจอคนพวกนี้ พี่รู้สึกว่ามันไม่แฟร์เลยสำหรับคนที่เขาทำมาหากิน ทำไมทุกคนจะรู้ จะเรียนรู้ไม่ได้ ทุกคนมีโอกาส ทุกคนมีปัญหา เราก็อยากทำตรงนี้เพื่อมาเผยแพร่การแก้ปัญหาของทุก ๆ คน พี่บอกหมดเพราะว่าเราแสดงความมีน้ำใจ ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่สุจริต ใช้ทำมากิน และก็เลี้ยงอาชีพของเราได้ ตรงนี้สำคัญ พี่ก็เลยอยากช่วยเหลือทุกคน”
พี่น็อตยังเล่าให้เราฟังอีกว่าความภูมิใจของเขาอีกอย่าง คือการที่ได้ให้ความรู้แก่ผู้อื่นแบบไม่กั๊ก ให้กันชนิดที่ว่าบางคนก็แอบว่าเขาขี้โม้ ทว่าจริง ๆ การเน้นให้ความรู้จากประสบการณ์ทำงานโดยตรง พี่น็อตก็บอกว่าคนส่วนใหญ่ในวงการจะไม่ค่อยบอกหลักการในการปฏิบัติงานกัน เพราะว่าเป็นวิถีของแต่ละคนในการทำงาน แต่ที่เอามาถ่ายทอดก็เพื่อให้คนรุ่นใหม่สามารถนำสิ่งที่บอกเล่า ไปทดลองและประยุกต์ใช้กับตัวเอง ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น
เกณฑ์ในการทำยูทูบของ not present แน่นอนว่าความสม่ำเสมอคือสิ่งแรกที่ต้องมี ถึงจะสามารถหล่อเลี้ยงคนดูให้ติดตามได้อยู่ตลอด พี่น็อตเล่าให้เราฟังคร่าว ๆ ว่าอย่างน้อยในแต่ละสัปดาห์ จะต้องมี 1 คลิป แต่เขามักจะทำสำรองไว้ 2 คลิป เพื่อเป็นการกระตุ้นและย้ำเตือนว่าช่องของเขายังมีการเคลื่อนไหวอยู่ มีมีเรื่องราวหรือข้อมูลใหม่ ๆ ที่พร้อมจะมาอัปเดตให้คนดูสม่ำเสมอ และยังให้ความสำคัญกับผู้ชมที่คอมเมนต์เข้ามาทั้งหมดว่าอยากจะให้พูดถึงเรื่องใด วิธีการแก้ปัญหาของปัญหาใด
ต่อมาเราถามถึงผลตอบรับช่อง “ผลตอบรับพี่คิดว่ามันเจริญเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ นะจากช่องพี่ จากที่มีคนกด subscribe หลักสิบ มาหลักร้อย แค่ร้อยคนพี่ก็ดีใจแล้ว แต่ทุกวันนี้มันมาถึงสี่พันกว่า พี่รู้สึกดีใจมาก เพราะว่าพี่เองไม่ใช่ดารา ไม่ใช่บุคคลสาธารณะอะไรเลย แต่พี่เน้นในการถ่ายถอดความรู้เป็นหลัก ขอบคุณสำหรับแฟนคลับทุก ๆ คนที่เข้ารับชมช่องยูทูบ เป็นกำลังใจให้พี่ แล้วก็มีผลตอบรับที่ดีเสมอมา” พี่น็อตพูดด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้ม
การเติบโตของช่อง not present ช่องยูทูบที่เรามีความรู้สึกว่าคอนเทนต์ทุกคลิปที่เขาผลิตออกมา เต็มไปด้วยความจริงใจและซื่อตรงต่อสิ่งที่ตัวเองต้องการจะทำ จากวันที่เราได้พูดคุยกับพี่เขามาจนถึงวันนี้ แค่ระยะเวลาเดือนกว่า ๆ คนที่เขามาติดตามช่องก็พุ่งทะยานไปมากกว่าตอนที่พี่เขาบอกถึง 2,000 คน
ในวันนั้นเขากล่าวว่า “ตอนแรกพี่ก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะมีใครมาดูเยอะไหม พี่แค่คิดว่าเอาวิดีโออัปโหลดขึ้นไปแล้วกัน นี่คือการขับแกร๊บครั้งแรกของเรา อันนี้มันคือชีวิตประจำวันของเรา มันคือการทำ Vlog แหละ เป็นการบันทึกทุกวันเวลาของเราไป บันทึกความทรงจำ คิดไว้อย่างนั้น แต่พอดีก็มีคนมากด subscribe ให้ หนึ่งบ้าง สองคนบ้างมันรู้สึกดีใจ แล้วมันก็โตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราให้ความรู้ คนก็จะมาติดตามช่องเราเพื่ออยากจะทราบข้อมูลข่าวสารใหม่ ความรู้ใหม่ วิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ” ทำให้เรารู้สึกประทับใจมากเหลือเกิน
ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาตัวเองต่อ
“หนึ่งวันของพี่ เราก็ต้องแบ่งเวลาให้เรามีเวลาพักผ่อนบ้าง มีเวลาที่ใช้เวลาให้คุ้มค่าจริง ๆ เคล็ดลับมันอยู่ที่การแบ่งเวลา ถ้าเรารู้จักแบ่งเวลา เราก็ทำได้ทุกอย่าง” พี่น็อตแบ่งปันเคล็ดลับในการแบ่งเวลาให้กับเรา
แม้ว่าจะมีภาระหน้าที่ถึงสามอย่างด้วยกัน แต่ก็ยังสามารถจัดการไม่ใหงานประจำอย่างการรับราชการทหาร มากระทบกับอาชีพเสริมอย่างฟู้ด เดลิเวอรี่และยูทูบเบอร์ พี่น็อตเล่าว่าช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์จะเป็นเวลาปกติของเวลาราชการ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดตามปกติ และเมื่อเลิกงานในช่วงเย็นวันศุกร์ ก็จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพเพื่อเป็นพนักงานรับส่งอาหารต่อ สาเหตุที่ต้องเป็นกรุงเทพก็เพราะมีญาติอยู่บริเวณใกล้เคียง และจำนวนผู้ใช้บริการจะมากกว่า เขาจะทำหน้าที่นี้ช่วงค่ำวันศุกร์ถึงค่ำวันอาทิตย์จึงค่อยเดินทางกลับกาญจนบุรี กลับไปพักผ่อนก่อนที่จะตื่นเช้ามาปฏิบัติงานเช่นเดิม ส่วนการทำช่องยูทูบก็จะใช้ช่วงเวลาว่างของทุกวันในการอัดคลิป ตัดต่อคลิปเพิ่มเติมที่ได้มาจากการทำงานช่วงสุดสัปดาห์
“ไม่มีทาง พี่ไม่หยุดที่จะเรียนรู้แน่นอนสำหรับเรื่องนี้ ก็จะเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ทุกเรื่อง”
สำหรับแพลนในอนาคตของพี่น็อตต่อจากนี้ อยากจะลองศึกษาหรือพัฒนาทักษะด้านการตัดต่อวิดีโอให้มีชั้นเชิงมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้กับการทำยูทูบให้มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมคลังความรู้ของตัวเอง ก่อนที่จะพูดทิ้งท้ายฝากถึงคนที่ต้องการจะเริ่มต้นอาชีพใหม่ไว้ดังนี้
“ขอให้พึงระลึกเลยว่าทุกอาชีพมีปัญหาของมันเสมอ ไม่ว่าจะทำอาชีพใหม่ จากงานเก่าที่เราเจอปัญหาที่มันวกวนกวนใจ มันจะทำเราอยากจะทำงานใหม่ ให้คิดไว้เลยว่างานใหม่ที่คุณจะทำก็มีเหมือนกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความอดทนอดกลั้นของเราจะสามารถทำให้เราทำอาชีพใหม่ ๆ ได้เสมอ”
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากพี่คนนี้ ทำให้เรานึกคิดได้ว่าทุกการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นได้จากความตั้งใจ ไม่มีสิ่งใดหรืออาชีพใดที่ปราศจากการเริ่มต้นจากความเพียร หนึ่งคน หนึ่งแรงกาย ที่พร้อมจะส่งต่อความรู้และเป็นผู้ให้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างเขาคนนี้ คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าภาคภูมิใจและเป็นแบบอย่าง เราหวังว่าตัวเราและเหล่านักอ่านที่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้จะได้ข้อคิดกลับมาทบทวนตัวเองไม่มากก็น้อย
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้