เมื่อการเป็นคุณหมอกับการเป็นนักแสดงคืองานที่รักและสามารถทำควบคู่กันได้ ชีวิตที่มีโลกสองใบของว่าที่คุณหมอหน้าใสจะน่าติดตามอย่างไร

เราขอพามารู้จัก ก๊กเลี้ยง-ปริญญา อังสนันท์ นักแสดงหนุ่มหน้าใส และว่าที่คุณหมอ จากคณะแพทยศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะมาเปิดเผยชีวิตการเรียนที่ต้องควบคู่ไปกับการทำงานในวงการบันเทิงพร้อมกับมุมมองที่สะท้อนสังคม ผ่านบทบาทการแสดงจากตัวละคร น้องต้า จาก TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ ออกอากาศทาง ช่อง ONE31

เรียนหมอเพราะอยากช่วยเหลือผู้คน

หลายคนอาจจะเคยเห็น “ก๊กเลี้ยง” จากบทบาทนักแสดงซีรีส์ อย่าง The Best Twins Series รักจิ้นฟินเฟร่อ หรือผลงานการแสดงล่าสุดที่เป็นที่รู้จักอย่างบทบาท น้องต้า จาก TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ แต่ใครจะรู้ว่าหนุ่มหน้าใสคนนี้ เป็นว่าที่คุณหมอจากมหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 6 จากความคิดที่ว่า “ตัวเองนั้นอยากที่จะช่วยเหลือผู้คน หากไม่ได้เป็นหมอคงไปเป็นอาจารย์ หรืออย่างอื่นที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้”

การเรียนที่ควบคู่ไปกับการทำงานเป็นเรื่องที่ยากและหนักพอตัว แต่ว่าที่คุณหมอกสามารถทำออกมาอย่างเต็มความสามารถทั้งสองอย่าง เพื่อให้ทั้งสองอย่างนั้นสามารถก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันได้ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการเรียนและการทำงาน หน้าที่ของหมอคือรับผิดชอบคนไข้ของตัวเอง และในส่วนของนักแสดงก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของเราในกอง

“ผมว่าความรับผิดชอบนั้นสำคัญ การเป็นหมอเราต้องรับผิดชอบคนไข้ของเรา ถ้าเราไม่ไป คนไข้ก็จะเสียโอกาสในการรักษา ส่วนของนักแสดงก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของเราในกองถ่าย เพราะเขาจะมารอเราคนเดียวไม่ได้”

ภาระหน้าที่ต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ การแบ่งเวลา เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องรักษาไว้ให้ได้ ถึงจะเหนื่อยแต่มันคือสิ่งที่เริ่มทำมาแล้ว ไม่สามารถทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่งได้

บทบาทของน้องต้าที่ท้าทาย

บทบาทของน้องต้า จากซีรีย์ TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ เด็กหนุ่มมัธยมที่อาศัยอยู่กับพี่ชายอย่างพี่ตั้ม รักการทำอาหารและรักการวาดรูป แต่มีอดีตที่เลวร้ายฝังใจบางอย่าง ทำให้กลายเป็นปมของตัวละครนี้ ในตอนแรกบทบาทของน้องต้าเป็นบทที่ไม่ได้เปิดรับนักแสดง แต่เมื่อเหล่าผู้จัดและกรรมการคัดเลือกนักแสดง มองเห็นความคล้ายและความเป็นไปได้จาก ก๊กเลี้ยง ที่น่าจะสามาถแสดงบทบาทนี้ได้ ทำให้ในวันนั้นว่าที่คุณหมอได้ลองสวมบทบาทเป็นน้องต้า ในแบบฉบับของก๊กเลี้ยง จนได้รับบทบาทนี้ไปแสดง

“เราไม่ได้เลือกเลยว่าเราจะแสดงเป็นใคร พอเขาเห็นว่าเราน่าจะเป็นน้องต้าได้ เขาก็เล่าในสิ่งที่น้องต้าเจอมาให้เราฟัง และเราต้องเล่นตรงนั้นเลย เล่นเป็นน้องต้าในแบบของก๊กเลี้ยง”

ว่าที่คุณหมอกับงานด้านการแสดง

ถือว่าเป็นเรื่องโชคอีกอย่างหนึ่งที่บทของน้องต้าได้ว่าที่คุณหมอมารับบทบาทนี้ ทำให้สามารถดึงความน่าสนใจของตัวละคร อย่างปมปัญหาในอดีตมาขยายและนำเสนอในมุมที่แตกต่างออกไป อย่างถูกต้องตามหลักการแพทย์ ปมลึก ๆ ใจจากเหตุการณ์โดนรุมโทรมจนกลายเป็นฝันร้ายตามติดตัวมาตลอด ความน่าสนใจของตัวละครนี้คืออาการป่วยของตัวละคร ที่ต้องแสดงออกมาให้คนดูเข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของคนๆหนึ่ง

“จุดที่ยากคือ ต้าได้ถูกรักษามาแล้วในระดับหนึ่งแล้ว จนอาการป่วยถูกกดลง กลายเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการป่วย ก็เลยคิดว่ายากเข้าไปอีก เราต้องแสดงเป็นคนป่วยที่ไม่มีอาการป่วย เราทำงานในโรงพยาบาลอยู่แล้ว เราได้ไปสอบถามคนไข้ที่เป็นจริง ๆ เพราะเราไม่รู้เหมือนกันว่าจะแสดงอาการของโรคนี้ออกมาอย่างไร เป็นข้อดีที่เราได้อยู่ที่โรงพยาบาลมหาราช เพราะเราไม่แน่ใจว่าที่อื่นจะได้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยขนาดนี้ไหม”

ขอบคุณภาพจาก LINE TV

โรคซึมเศร้า VS โรค PTSD

จากเหตุการณ์ที่เลวร้ายและฝั่งใจของตัวละครอย่างน้องต้า ส่งผลกระทบกับจิตใจเป็นอย่างมาก หลายคนที่เคยอ่านนิยายหรือได้รู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ คงเชื่อว่าน้องต้าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งก็จริงที่น้องต้าแบบฉบับของตัวละครในนิยายนั้นเป็นโรคซึมเศร้าตามที่ผู้แต่งได้เขียนเอาไว้ แต่เมื่อซีรีส์เรื่องนี้ได้ว่าที่คุณหมอมาร่วมงานด้วย และมีส่วนช่วยในการตีความเรื่องโรคของน้องต้าให้ถูกต้องตามอาการและบริบทต่างๆมากขึ้น จึงเสนอความน่าสนใจของตัวละครนี้ที่เป็นโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD)

“เดิมทีแล้วน้องต้าในนิยายเป็นแค่โรคซึมเศร้า แต่เราคิดว่าถ้าเรานำเสนอกับสังคมไปว่าน้องต้าเป็นโรคซึมเศร้าจากการโดนข่มขืน มันจะเป็นอะไรที่ไม่กลม อาจจะสร้างความเข้าใจแบบผิด ๆ ได้นั้น ก็เอาตามทางการแพทย์ไปเลยว่าน้องต้าเป็นโรค PTSD คือโรคเกี่ยวกับการรับมือกับภาวะความเครียดในจิตใจ รับมือไม่ไหวจนแสดงออกมาในระยะยาว ลักษณะคล้ายกับทหารที่ผ่านสงครามมา และยังคงหวาดกลัวกับเสียงปืน จริง ๆ แล้วโรค PTSD ในสังคมก็มีคนเป็นเหมือนกัน จากที่ซีรีส์ได้ออนแอร์ไปก็จะมีคนทักมาบอกว่า เราได้แสดงอาการของโรคนี้ได้เหมือนกับสิ่งที่เขาได้เจอมาจริง ๆ”

ขอบคุณภาพจาก LINE TV

อาการ Panic Attack หรือ อาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง เป็นอาการที่สามารถเล่าและเข้าถึงความรู้สึกของตัวละครนี้ได้ดีที่สุด อีกทั้งยังสามารถแสดงออกมาให้เห็นภาพและตรงตามพื้นหลังเหตุการณ์ต่างๆที่น้องต้าได้เจอมา อาการ Panic Attack จึงเป็นอาการที่ว่าที่คุณหมอเลือกที่จะใช้ในการสื่อสารผ่านการแสดง โดยที่จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีอาการเจ็บปวดภายในจิตใจ และไม่สามารถควบคุมการหายใจของตัวเองได้

“มีซีนที่น้องต้าต้องฆ่าตัวตาย แต่เปลี่ยนเป็นการแสดงอาการ Panic Attack  แทน ก็สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้เหมือนกัน ซึ่งเราเคยถามกับผู้ป่วยที่เป็น PTSD ว่า เคยมีอาการ Panic Attack ซ้ำขึ้นมาอีกครั้งหรือเปล่า เขาบอกว่า มีอาการได้เหมือนกัน เราเลือกอาการ Panic Attack เพื่อที่จะสามารถสื่อให้เห็นได้ชัดมากขึ้น คือเราได้ทำการบ้านกับผู้ป่วยที่เราเคยรักษา”

ขอบคุณภาพจาก LINE TV

เก้าอี้สามขาสู่การรักษาโรค

การรักษาโรคทางจิตเวชจะต้องพึ่งทั้งสามอย่างคือ Biology การกินยาที่เกี่ยวกับสารสื่อประสาทในสมอง Psychology เรื่องของจิตใจนั้นต้องมีการพูดคุย ทำให้ความเข้า และใช้การบำบัดจิตเข้าช่วยอีกทาง (Psychotherapy) และสุดท้ายคือ Social สังคม คนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อน ที่ต้องเข้าใจ เปิดใจและยอมรับไปพร้อม ๆ กับผู้ป่วย เพื่อเป็นอีกแนวทางการรักษาและกำลังใจในการต่อสู้กับโรคนี้ ไม่มีใครอยากเกิดมาแล้วไม่มีความสุขในชีวิต เพียงแค่เขาไม่สามารถเลือกได้ก็เท่านั้น

สังคมไทยในปัจจุบันมีความกดดันมากขึ้น ต้องรับมือกับความเครียดมากมายในแต่ละวัน คนที่ไม่สามาถจัดการกับความเครียดได้ อาจจะมีภาวะนี้ขึ้นมา

“น้องต้าโชคดีที่มีพี่ตั้ม โชคดีที่มีครอบครัวอยู่ โชคดีที่มีคนพยายามช่วยดึงเขาออกมาจากจุดนั้น ในเรื่องที่ผมแสดงเป็นน้องต้า ต้องการจะสื่อว่าสังคมรอบข้างเป็นตัวที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ ด้วยการเข้าใจเขา ฟังเขา อยู่กับเขาให้มาก ๆ พยายามดึงเข้ากลับมา คนใกล้จึงตัวสำคัญมาก เก้าอี้สามขา ถ้าหากขาดขาใดขาหนึ่งไปมันก็ล่ม”

ความเข้าใจแบบผิด ๆ ของคนไทยที่มีต่อโรคทางจิตเวช

โรคทางจิตเวชไม่ใช่มีเพียงแค่โรคซึมเศร้าเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายโรคที่แสดงอาการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของผู้ป่วยและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พบเจอมา บ้านเรายังมีความเข้าใจแบบผิด ๆ จากสื่อ ละคร ภาพยนตร์ที่ตีความว่า ผู้ป่วยทางจิตจะต้องพูดคนเดียว ร้องเพลง รำอยู่ข้างถนน หรือแสดงอารมณ์ที่รุนแรง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ซึ่งโรคทางจิตเวชมีหลากหลายแบบ สามารถบรรเทาและรักษาด้วยวิธีการการแพทย์ได้

ถ้าสมมุติว่าคุณมีความเครียดที่รับมือไม่ไหว หรือว่าไม่สามารถจัดการปัญหาในชีวิตบางอย่างได้ จริง ๆ แล้วการพบจิตแพทย์ในต่างประเทศเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าจิตแพทย์ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มากได้ เรายังมีนักจิตวิทยาที่สามารถช่วยได้ ต่างกันที่จิตแพทย์สามารถรักษาและสั่งยาได้ คนปกติสามารถเข้าพบจิตแพทย์ได้ เป็นสิ่งที่ต้องการสื่อให้คนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย

“เราไม่สามารถบอกได้ทันทีเมื่อคนไข้มาหาเรา มันต้องใช้เวลา อย่างน้อยต้องหกเดือนเลยถึงจะสามารถบอกได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า บางคนอาจจะเป็นแค่เศร้าโศกเสียใจการจากสูญเสียอะไรบางอย่างไป หรือบางคนมีอาการมากขึ้นจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าก็มี หรือบางคนที่ภาวะที่จะเป็นโรคซึมเศร้า แต่ไม่ได้รับการรักษา ก็สามารถกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน”

เพราะฉะนั้นกำลังใจ ความรัก และความเอาใจใส่ เป็นสิ่งที่สำคัญ และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ดีอีกครั้ง เราขอขอบคุณ ก๊กเลี้ยง-ปริญญา อังสนันท์ ที่มาแชร์ประสบการณ์และให้ความรู้กับเราด้วย

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR413, JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer & Photographer

Be happy with what you have while working for what you want

Photographer

นักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ