ช่วงเวลาวัยรุ่น เรามักจะถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราเป็นใคร เราชอบอะไร คนรุ่นใหม่ในยุคนี้มีความชอบแตกต่างหลากหลาย และมีงานหรืออาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย พวกเราขอพามาพูดคุยกับ 3 หนุ่ม 3 สไตล์ ที่เปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นงานที่รัก สะท้อนถึงตัวตนของเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบทำงานสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี

ความชอบเรื่องการเต้น การเล่นเกม และการร้องแร็ป เป็น Passion ที่พวกเขาใช้ขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้า เราขอพาไปติดตามชีวิตของเด็กหนุ่ม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ 3 คน จาก 3 คณะสายอาร์ต ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์  สัมผัสตัวตน ความคิดความอ่าน การตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวในการทำสิ่งที่รัก พร้อมกับความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต

นักออกแบบท่าเต้น ออกแบบชีวิตที่สร้างสรรค์

เราขอแนะนำหนุ่มนักเต้น พี่เบส-จักรพงศ์ สุขสวัสดิ์นำโชค นักศึกษาสาขาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ที่ทุกลมหายใจมอบให้การเต้น

พี่เบสบอกว่าที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพเพราะว่า “ผมมีรุ่นพี่ที่รู้จักเรียนอยู่ที่นี่ และได้เห็นผลงานการทำงาน พี่เขาสามารถคิดอะไรที่นอกกรอบและแตกต่างใส่ลงไปในงานได้ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าการเรียนที่นี่น่าเหมาะกับผม เพราะผมชอบคิดนอกกรอบ ชอบทำงาน และสร้างสรรค์ผลงานด้วยไอเดียตัวเองได้เต็มที่”

ขอขอบคุณภาพ Instagram befly2spacehigh

การรู้ความชอบของตนเองตั้งแต่เริ่มต้นเป็นข้อดีในการตัดสินใจเลือกคณะและสาขาวิชา “ผมเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการโฆษณา เพราะผมชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และผมมาทางนี้อยู่แล้วคือ ด้านการร้อง การเต้น ชอบงานตัดต่อ การผลิต (Production) จึงรู้สึกว่าคณะและสาขาโฆษณาเหมาะกับผม”

ด้วยความที่เป็นคนชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ส่งผลไปถึงความชอบ นอกจากเรียนในสาขาที่ชอบและใช่แล้ว รุ่นพี่สุดหล่อของเรายังรักการเล่นดนตรี รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ “ตอนนี้รับทำโคโลกราฟ (Choreograph) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า การออกแบบท่าเต้น และการร้อง รวมทั้งงานเต้นทั่วไป และมีค่ายที่ทำกับเพื่อน ๆ ชื่อว่า sicksummer”

พี่เบสมีโอกาสได้ทำงานด้วย และเรียนไปด้วย แล้วรับมือกับอุปสรรคอย่างไร เราเจาะลึกชีวิตของพี่เบสด้วยความสนใจ “เวลาเจอปัญหาอย่าไปยึดติดกับปัญหามาก ให้สนใจเรื่องงานมากกว่า เพราะถ้ากังวลกับปัญหา เราจะยังอยู่ที่เดิมไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้” พี่เบสตอบด้วยสีหน้าสดใส

การรักในสิ่งที่ทำ ทำให้เราทำงานได้อย่างภาคภูมิใจ “ความจริงชอบทุกงานที่ทำไป ทั้งงานร้องเพลง ค่ายเพลงที่ทำกับเพื่อน งานเต้น แต่ถ้าที่ชอบและภูมิใจที่สุดคงเป็นงานแข่งเต้นที่ประเทศอเมริกา เพราะรู้สึกว่าไปไกลมาก ได้ไปแข่งระดับประเทศ จากความชอบเต้นทำให้ผมสามารถไปได้ไกลขนาดนี้” พี่เบสบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่ยังประทับใจ

หนุ่มนักเต้นคนนี้ยังฝากข้อคิดให้กับรุ่นน้องในการใช้ชีวิตไว้ว่า “Life isn’t about finding yourself. Life is about creating yourself. ชีวิตไม่ใช่ว่าคุณกำลังตามหาอะไร แต่ชีวิตคือคุณจะสร้างอะไรให้กับตัวคุณเอง ถ้าคุณชอบอะไรก็ลงมือทำเลย”

เกมการแข่งขัน E-sport ที่รักและทุ่มเท

หนึ่งในกีฬาที่ฮิตที่สุดของวัยรุ่นในยุคนี้คือ E-Sport กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่ฝึกฝนทักษะการวางแผนและความคิดสร้างสรรค์ เราขอพามารู้จักกับ พี่มนต์-ธิติ ชัยฤกษ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีฉายาที่เรียกในเกมว่า Redsun00 ได้เห็นภาพตัวตนของพี่มนต์ว่าเป็นเกมเมอร์ที่แท้ทรู แต่พี่มนต์ไม่ได้แค่เล่นเกมอย่างเดียวยังสนใจศึกษาลงลึกถึงที่มาที่ไปการออกแบบ Character ในเกมอีกด้วย

ขอขอบคุณภาพ Facebook Thiti Chairoek

การเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ทำให้พี่มนต์ประยุกต์เรื่องของศิลปะกับการเล่นเกมไปในตัว พี่มนต์บอกกับเราว่า “ตอนที่พี่จบ ปวช. ตอนแรกจะต่อ ปวส. แต่ในช่วงนั้นเรียนคอมพิวเตอร์กราฟฟิก จึงเลือกเรียนกราฟฟิกดีไซน์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คือ Communication Design หรือที่เรียกกันว่า ออกแบบนิเทศศิลป์ จึงตัดสินใจเรียนสายนี้”

ความชอบในการเล่นเกมทำให้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในการเล่นเกม “เรื่องที่พี่เรียน สามารถนำไปปรับในเรื่อง Organize หรือการออกแบบตัว Game design ได้ เพราะมี Character Design สาขาที่เรียนก็มีศาสตร์ของ Motion Graphic ที่เกี่ยวกับข้อมูลเกมอยู่พอสมควร”

การเล่นเกมที่ใจรัก ทำให้พี่มนต์ลงมือทำสิ่งที่รักอย่างจริงจัง โดยสร้างทีมเกมเมอร์เป็นของตนเอง “หลังจากที่ออกมาทำ Academy ของ Xavier Esports คือ Young Blood ตอนนี้กำลังจะเปลี่ยนชื่อทีมชั่วคราวเป็น Xavier Young โดยทีม Xavier Young ได้ลงในการแข่งขันของ Sennheiser และ Thailand Show เรียบร้อยแล้วครับ”

พี่มนต์ยังอธิบายถึงแวดวงนักเล่นเกม E-Sport ว่าที่ตนเองทำอยู่ว่า “พี่เคยอยู่สังกัด Xavier Esports มาก่อน แต่ด้วยความที่ Player ของ Xavier เกินจำนวน เลยต้อง Spilt 1 คนลงมา ก็คือพี่ ทำให้ต้องมาทำทีมของ Young Blood ซึ่งเป็น Academy ของ Xavier อยู่แล้ว คือทีมเด็ก แยกออกมาทำ เริ่มปั้นตั้งแต่ทัวร์ Aow La Su ของ Focus Arena ซึ่งก็ได้แชมป์กลับมา และก็เดินหน้าไปแข่งขันที่ Thailand League Division 1 SS2 ซึ่งก็ได้แชมป์อีกเช่นกัน และก็เดินหน้าแข่งต่อถึงทัวร์ล่าสุดของ Sennheiser และ TGS ที่กำลังจะถึงนี้”

การเล่นเกมทำให้พี่มนต์พบเจอกับอุปสรรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเองได้เป็นอย่างดี “ระหว่างที่ทำงานในสายเกมเมอร์พบเจอหลายปัญหา ตั้งแต่การปรับตัว การเข้าหาน้องในทีม เพราะน้องในทีมอายุค่อนข้างน้อย จึงต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนบุคลิกไปบ้าง เพราะยังนำกฎเกณฑ์ของผู้ใหญ่มาใช้กับเด็กไม่ได้ พี่กับน้องต้องพบกันครึ่งทาง ส่วนการรับมือกับน้องก็ต้องดูว่าแต่ละคนมีบุคลิกแบบไหน จะเข้าหาแบบไหนบ้าง เหมือนกับการเข้าสังคมใหม่”

อีกทั้งยังต้องบริหารเวลาเรียนและการเล่นเกม “การแบ่งเวลาเรียนกับการเล่นเกม ต้องแบ่งเวลานะครับ พี่ให้ความสำคัญกับการเรียนเพราะมันหมายถึงว่าพี่จะได้ใบปริญญาหรือไม่ ฉะนั้นเรื่องเรียนควรมาก่อน จากนั้นค่อยมาสนใจกับการเล่นเกม ต้องแบ่งเวลาให้ชัดเจนไปเลย หากมีการบ้านควรทำให้เรียบร้อยก่อนค่อยไปเล่นเกม”

ขอขอบคุณภาพ Facebook Thiti Chairoek

การมีวินัยในการเรียนและฝึกซ้อมการแข่งขันเกม ทำให้พี่มนต์ทำผลงานในด้านเกมได้อย่างต่อเนื่อง พี่มนต์แจกแจงผลงานที่โดดเด่นว่า “ได้ร่วมแข่งขัน ESL Pro League (ESL คือผู้นำด้าน Electronic Sport ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีหลายครั้งที่ได้จัดงานระดับโลก และได้สร้างบรรยากาศที่ดี สร้างความทรงจำให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่มางานหรือผู้ชมทางบ้าน) จากที่ไปแข่งที่ต่างประเทศ 2 ครั้ง ตอนนั้นยังอยู่ทีม Xavier Esports เราไปแข่งที่ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 2018 และล่าสุด ปี 2019 คือ SS8 และ SS9 SS9 เราไปแข่งที่ออสเตรเลีย การแข่งขันจบที่ 3,4 ทั้งสองครั้ง แต่เป็นการแข่งขันที่ประทับใจ เพราะมีเพียงทีมไทยทีมเดียวที่ได้ไปคือทีมพี่ จึงทำให้ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ พบเจอผู้เล่นระดับโลกอย่าง FNATIC และ Cloud9 รวมทั้งได้เพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ถือว่าเป็นสิ่งดีที่ได้พบเจอ”

จากความชอบในการเล่นเกมที่เล่นเพื่อพัฒนาตนเอง พี่มนต์สร้างสังคมของเกมเมอร์ที่มีดีทั้งเรียนและเล่นเกม รวมถึงสร้างทีมของตนเองไปแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ เชื่อแน่ว่าเกมเมอร์คนนี้จะมีเรื่องราวดี ๆ จากการแข่งขันเกมทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ มาให้คอเกมเมอร์ได้ชื่นใจอีกแน่นอน

Rapper หน้าใหม่ หัวใจเกินร้อย

การแร็ปเป็นอีกหนึ่งงานศิลปะหรือวัฒนธรรมใหม่ของวัยรุ่นยุคนี้ ไม่ว่าใคร ๆ ก็สนใจสื่อสารความคิดและความรู้สึกผ่านเพลงแร็ป สร้างไรม์ของตนเอง พี่มาวิน-ธนวินท์ ชูตระกูล นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่มี Passion เรื่องการร้องเพลงแร็ป

พี่มาวินเปิดเผยความชอบให้เราฟังว่า “ชอบแร็ปเล่นกับเพื่อน ตอนหลังจึงลองจับกลุ่มแต่งเพลง พอทำมาสักพักก็รู้สึกว่ามันใช่สำหรับตัวเราจึงลองทำมาเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ทำแล้วสนุกไปกับมัน”

ความชอบในเพลงแร็ปที่ราวกับว่าเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะสักชิ้น ทำให้พี่มาวินต่อยอดความชอบไปถึงสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ด้วย “นอกจากทำงาน ก็มีทำเพลง ทำการผลิต (Production) กับเพื่อน ๆ อยู่บ้าง ซึ่งเข้ากับคณะที่เรียน คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สอนเทคนิคการตัดต่อ ทำวิดีโอ หนังสั้น และได้นำเอาความรู้ที่อาจารย์สอนในห้องเรียน มาปรับใช้ในการทำงานด้วย”

ขณะนี้พี่มาวินมีผลงานในฐานะนักร้องแร็ปที่กำลังค่อย ๆ เป็นที่รู้จัก “ตอนนี้มีร่วมงานกับกลุ่มกับศิลปินแร็ปเปอร์ประมาณ 2-3 คน และกำลังทำเพลงออกมาเรื่อย ๆ และทำช่องทางยูทูปชื่อช่อง BANGKOK GOONS ฝากติดตามกันด้วยครับ”

การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายในการเริ่มต้นเสมอ เราถามว่าเคยรู้สึกเครียดหรือรู้สึกแย่ไหม เวลาปล่อยเพลงไปแล้วเพลงไม่ประสบความสำเร็จแบบที่คิด “ก็มีบ้างบางเพลง ที่ตั้งใจว่าปล่อยออกมาดีแน่นอน ดังแน่นอน แต่สุดท้ายมันไม่เป็นเหมือนที่คิด คนไม่ชอบแบบนั้น แต่บางเพลงที่คิดจะทำเล่น ๆ แต่คนกลับมีคนชอบ จึงมีความรู้สึกแย่บ้าง เพราะคาดหวังไว้มาก แต่ตอนหลังก็ทำไปโดยไม่คาดหวัง ทำเพราะความชอบ ส่วนผลที่ตามเราไม่สามารถควบคุมได้ เราทำเพราะสนุกดีกว่า”

ขอขอบคุณภาพ marvinzgray

ถึงแม้จะเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางสายแร็ป พี่มาวินก็ทำอย่างเต็มที่ “ความจริงก็ภูมิใจหมดทุกเพลงเพราะชอบทุกเพลง แต่ไม่ใช่ทุกเพลงที่จะประสบความสำเร็จ ส่วนเพลงที่ประสบความสำเร็จจะเป็น ‘เพลงยันเช้า’ ที่มียอดคนดูเยอะในช่องยูทูป แต่ก็มีเพลงอื่นที่ชอบ บางเพลงที่ยังไม่ได้ปล่อยหรือเพลงที่ปล่อยไปแล้วมันก็ยังไม่เป็นกระแสตอบรับ”

ก่อนที่เราจะลาจากกันพี่มาวินบอกว่า อะไรที่ชอบก็ต้องลงมือทำ “ลองทำเลย จะได้รู้ว่าไปต่อได้ไหม ชอบอะไรก็แนะนำให้ทำเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเพลงอย่างเดียว เรื่องธุรกิจ เรื่องเรียน ถ้าอยากลอง ก็ให้ลองทำเลย เพราะเรายังมีเวลาลองผิดลองถูกอีกมากในตอนนี้ แต่ถ้าไม่ได้จริง ๆ เราค่อยหาความชอบ ความสนใจของเราเพิ่มเติมได้” ชีวิตเรายังมีทางเลือกอีกหลายทาง ขอแค่ได้ลองทำในสิ่งที่เราชอบ จะทำให้เราค้นพบตัวเองมากขึ้น

หลังจากพูดคุยกับรุ่นพี่ทั้งสามคน เราพบว่าจุดที่เห็นชัดเจนที่สุดคือทุกคนมีความกล้าที่จะลงมือทำ จนสามารถพัฒนาความชอบของตนเองมาเป็นงานที่รักได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะพวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ พยายาม และฝึกฝนตนเอง เรื่องราวของการเต้น การเล่นดนตรี การร้องเพลง การแข่งขันเกม และกีฬาต่าง ๆ สะท้อนถึงการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะและคุ้มค่า นี่คืองานที่รัก ฝันที่เป็นจริง และเป็นสิ่งที่วัยรุ่นไม่ว่ายุคสมัยใดแสวงหาเพื่อเติมเต็มชีวิตให้มีความหมาย

Reference & Bibliography

  • พี่เบส-จักรพงศ์ สุขสวัสดิ์นำโชค นักศึกษาสาขาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • พี่มนต์-ธิติ ชัยฤกษ์ นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • พี่มาวิน-ธนวินท์ ชูตระกูล นักศึกษาคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer

ตัวหนังสือเป็นหนึ่งช่องทางของการสื่อสาร เพราะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแสดงออกผ่านทางปลายปากกา

Writer

เราเขียนงานแต่ละครั้งบอกอะไรได้หลายอย่าง สามารถบ่งบอกความเป็นตัวเราในช่วงเวลานั้น ผ่านภาษาและแนวคิดที่เราใช้ เมื่อเวลาผ่านไป งานเขียนที่เราเคยเขียนไว้จะไม่เปลี่ยนแปลง

Writer

เชื่อว่าการที่เรามีเป้าหมายจะทำให้เราไปถึงฝัน