คอนิยายคงคุ้นเคยกับการอ่านนิยายเป็นเล่มหนา ได้สัมผัสหน้ากระดาษและกลิ่นของหนังสือ ในยุคนี้วัฒนธรรมการอ่านของคนเราเปลี่ยนไป เราเปลี่ยนมาอ่านออนไลน์มากขึ้น สื่อกระดาษจึงต้องปรับตัว สร้างสรรค์วิธีการใหม่ในการอ่าน ก่อกำเนิดวัฒนธรรมการอ่านนิยายในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการอ่าน E-book เท่านั้น แต่เป็นการอ่านออนไลน์ที่ทำให้เราเห็นการโต้ตอบเคลื่อนไหวของตัวละครได้ ราวกับพวกเขามีตัวตนจริง
จอยลดา แอปพลิเคชัน (Application) อ่านนิยายออนไลน์ของ บริษัท อุ๊คบี จำกัด (Ookbee) ที่รวบรวมนิยายไว้มากมาย แต่ความพิเศษของจอยลดาที่แตกต่างจากแอปพลิเคชันอ่านนิยายทั่วไป คือ มีแพลตฟอร์มที่นำเสนอนิยายแบบแชต (Chat) หรือนำเสนอในลักษณะคล้ายกับการส่งข้อความหากัน (Text Messaging) ทำให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวผ่านการอ่านข้อความสั้น ๆ ที่ตัวละครแชตโต้ตอบกันไปมา ด้วยระบบการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นปัจจัยให้วัยรุ่นเกิดความสนใจกับการอ่านจอยลดาเป็นอย่างมาก
ขณะที่นักเขียนนิยายได้มีพื้นที่แจ้งเกิด และมีรายได้ ซึ่งจะมีระบบลงทะเบียนนักเขียนเพื่อรับรายได้ โดยนับจากจำนวนที่ถูกกดเข้าไปอ่านนิยายของผู้เขียน ผู้เขียนสามารถติดเหรียญเพื่อตั้งราคาในแต่ละตอน ถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผลงานของตัวเองอีกด้วย
ส่วนเนื้อหานิยายที่จอยลดานำเสนอ จะมีเรื่องราวของแฟนฟิค เรียกกันหมู่นักอ่านว่า แฟนฟิคชั่น คือนิยายที่ใช้ตัวละครที่มีอยู่แล้ว เช่น ศิลปินนักร้อง ตัวละครการ์ตูน ตัวละครจากเกม ตัวละครที่นำมาใช้ นักเขียนจะจินตนาการเรื่องราว สร้างโลกของตัวละครขึ้นมาใหม่ ทำให้สนุกและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น เป็นการจินตนาการเรื่องราวที่ทำให้สามารถเจาะกลุ่มที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีได้อย่างมากมาย
เราพูดคุยกับ สิริกร ธนะศรีลังกูล ซึ่งเป็นที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันจอยลดา สิริกรได้เล่าให้เราฟังถึงมุมมองการอ่านนิยายในรูปแบบใหม่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจถึงวัฒนธรรมการอ่านของวัยรุ่น
นักอ่านนิยายอย่าง สิริกร เธอเป็นแฟนนิยายตัวยง อ่านทั้งแบบเล่ม และแบบออนไลน์ ได้บอกเหตุผลการเลือกอ่านนิยายผ่านจอยลดาแทนหนังสือในระยะหลังเพราะว่า “แอปจอยลดาเป็นแอปแรกที่มีนิยายแบบแชต ซึ่งทำให้รู้สึกว่ามันแปลกใหม่เวลาอ่าน ข้อความไม่ยาวมากเหมือนนิยายบรรยายทั่วไป อีกทั้งยังมีความแตกต่างในด้านเนื้อหาที่นำเสนอ ส่วนมากนิยายแชตจะเป็นแฟนฟิคเกี่ยวกับศิลปินที่ชอบ ตรงกับความชื่นชอบส่วนตัวที่กำลังสนใจ และส่วนมากนักเขียนก็ยังเปิดให้อ่านฟรี”
สิริกรอธิบายย้ำว่าเรื่องรูปแบบการนำเสนอว่า “การอ่านนิยายแบบบรรยาย เราอ่านจากหนังสือที่เป็นเล่ม ส่วนนิยายแชตนำเสนอในรูปแบบ ‘แชตแอปพลิเคชัน’ คล้ายกับ Line Messenger ส่งข้อความสั้น ๆ เข้าใจง่าย ขณะที่นิยายแบบบรรยายเป็นประโยคยาว แต่ก็มีประโยคสั้นอยู่บ้าง ทั้งนี้นิยายแบบบรรยายทำให้รู้สึกถึงอารมณ์ของตัวละครมากกว่า เพราะแบบบรรยายจะมีกล่าวถึงความลึกซึ้งของอารมณ์ตัวละครมากกว่า”
อย่างไรก็ดีการอ่านนิยายแบบแชต เป็นความคุ้นเคยของคนรุ่นใหม่ที่นิยมสื่อสารด้วยการส่งข้อความ สิริกรกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นนี้ให้เราฟังว่า “นิยายแชตทำให้อ่านได้สะดวกรวดเร็ว ด้วยความที่เป็นเหมือนข้อความที่พิมพ์แชตคุยกันกับเพื่อนหรือแฟน ทำให้เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วต่อผู้อ่าน ในส่วนของผู้เขียนยังสามารถพิมพ์โดยที่ไม่ต้องบรรยายเกี่ยวกับตัวละครมากนัก การบรรยายอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครในนิยายจะบรรยายรายละเอียดเยอะกว่า เพื่อให้คนอ่านได้ดื่มด่ำกับเรื่องราวและตัวละคร”
ความสนุกของการอ่านนิยายในจอยลดาจึงเป็นการติดตามเรื่องราว รวมทั้งการรู้สึกเหมือนมีเพื่อนที่เข้าใจ ได้พูดคุยกัน เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ช่วยคลายความเหงา ดังนั้นการอ่านนิยายจึงมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย นิยายแบบออนไลน์ นิยายแชต จึงได้รับการออกแบบเพื่อตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และสร้างวัฒนธรรมการอ่านในแบบยุคดิจิทัล เราคงต้องรอติดตามกันต่อไปว่า ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านในรูปแบบใดอีกบ้าง
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์