กาแฟ (Coffee) เครื่องดื่มยอดฮิตของคนวัยทำงานรวมไปถึงนักศึกษาและผู้ใหญ่อีกหลายคน ชื่อเมนูดัง ๆ อย่างเช่น มอคค่า คาปูชิโน เอสเปรสโซ่ ลาเต้ ก็มักจะลอยเข้าหูมา อีกหนึ่งชื่อที่คงคุ้นหูก็ต้องเป็น อเมริกาโน่ (Americano) กาแฟสีเข้มเนื้อใสที่มีรสชาติสุดจะขม เป็นหนึ่งในกาแฟที่คนไม่ได้ดื่มกาแฟได้มาลองครั้งแรกก็อาจรู้สึกใจสั่น ไม่ชอบ ไม่อร่อย แต่พอปรับตัวมาดื่มบ่อย ๆ ก็อาจจะติดใจ
ชื่ออเมริกา แต่กำเนิดในอิตาลี
ต้นกำเนิดของอเมริกาโน่ต้องย้อนกลับไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทหารชาวอเมริกันได้เข้าร่วมสงครามไปประจำการในประเทศอิตาลี หนึ่งในประเทศที่นิยมการดื่มกาแฟมากที่สุด
จากพฤติกรรมดั้งเดิมของชาวอเมริกันที่ชอบดื่มกาแฟเป็นประจำ เมื่อกาแฟที่เตรียมมาจากบ้านหมด พวกเขาจึงได้ลิ้มลองกาแฟของประเทศอิตาลี อย่าง “เอสเปรสโซ่” กาแฟคั่วสดที่ให้รสชาติเข้มข้นและขมเกินไปจนไม่คุ้นลิ้นของทหารอเมริกัน บาริสต้าในอิตาลีจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยการใส่น้ำร้อนลงไปผสมเพื่อลดความเข้มข้น เป็นต้นกำเนิดของ ‘อเมริกาโน่’ หรือเข้าใจกันง่าย ๆ ว่า เป็นกาแฟสำหรับชาวอเมริกัน
ถึงจะขมแต่ประโยชน์รอบด้าน
ไม่เพียงแต่ดื่มเพื่อความรื่นรมย์ อเมริกาโน่ยังมีประโยชน์ที่ไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยความเป็นกาแฟแบบสด ๆ ไม่ผสมนมหรือน้ำตาล สามารถปรุงเพิ่มได้ แต่แบบดั้งเดิมจะไม่มี ทำให้อเมริกาโน่เป็นกาแฟที่ให้พลังงานเพียง 15 กิโลแคลอรี่ หรือในปริมาณ 16 ออนซ์เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ไม่มีส่วนทำให้ผู้ดื่มอ้วนขึ้นอย่างแน่นอน
คาเฟอีน มีส่วนในการเพิ่มระดับของสารอะดรีนาลีนในร่างกายให้ตับเร่งผลิตน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อตรึงตัว พร้อมทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นยาชูกำลัง
จากข้อมูลของ เมลิสซ่า พัลเมอร์ (Melissa Palmer) ในการสัมมนาของมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เมื่อปี 2011 ได้ให้ข้อมูลว่า การดื่มกาแฟดำ (อเมริกาโน่ ก็เป็นหนึ่งประเภทของกาแฟดำ) ยังสามารถพัฒนาการทำงานของตับ ช่วยป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี แต่ก็ต้องดื่มในปริมาณที่พอดี
ความหลากหลาย ที่ไม่มีข้อจำกัด
เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคที่หลากหลาย ร้านคาเฟ่ทั่วไปในสมัยนี้ มักจะมีเมนูที่นำอเมริกาโน่มาผสมกับอย่างอื่น เพื่อสร้างรสชาติที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่เป็นกาแฟที่ขม เช่น การผสมกับน้ำผึ้ง หรือผสมกับน้ำส้ม โดยจะสามารถใช้กาแฟเอสเปรสโซ่เปล่า ๆ ไปผสมเลยก็ได้ ก็จะได้รสชาติที่เข้มข้นแตกต่างกันไป
ถือเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่มักจะมีให้เห็นในสื่อโซเชียลมีเดีย ว่า “อเมริกาโน่ไม่ควรใส่…..” “อเมริกาโน่ใส่…. มันก็ไม่ใช่อเมริกาโน่แล้ว” ในบางครั้งอาจจะเป็นเพียงการแซวเล่น ๆ โดยมีเจตนาในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ที่ชอบดื่มอเมริกาโน่แบบผสม แต่ในบางกรณีก็อาจเป็นการดูถูกรสนิยมในการดื่มกาแฟของผู้อื่นโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การดื่มกาแฟนั้นไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ผู้บริโภคสามารถเลือกดื่มกาแฟชนิดใดก็ได้ ผสมกับอะไรก็ได้ตามที่ต้องการเพื่อรสชาติที่ถูกใจของผู้บริโภคเอง
Reference & Bibliography
- (2554, 22 กันยายน) Living with HBV and Drinking Coffee, สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์, จาก https://www.hepb.org/blog/living-with-hbv-and-drinking-coffee/?fbclid=IwAR02ngydHr362HEslwsDq2ecBrgtKZNJHvkt4a2uRUvXd2TtW36mWLiucQk
- (2562, 19 มีนาคม) การดื่มกาแฟกับผลกระทบต่อสุขภาพ, สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์, จาก https://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/สุรีย์รัตน์-1.%20ผลกระทบต่อสุขภาพจากการดื่มการแฟ.pdf?fbclid=IwAR0Ls0Zm9t9bAgttJwNOHKWNP71sQnJDcfU2TwotnB6Al2QeYSSG2r6RJTE
- (2553, 23 มีนาคม) เรียนรู้ประโยชน์’คาเฟอีน’ในกาแฟ, สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์, จาก https://www.thairath.co.th/lifestyle/woman/72329?fbclid=IwAR0cZrJdWiiyElVBYfC2Kpcyxez7VK_VLib5-TZgGKRX_V-Fnkbj0IB3-SI
- (2563, 24 พฤศจิกายน) “อเมริกาโน่” กาแฟดำในร่องรอย World War II, สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์, จาก http://www.smebiznews.com/2019/11/24/อเมริกาโน่-รสชาติจาก
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์