การพักผ่อนไม่เพียงพอมักส่งผลเสียต่อร่างกาย หลายครั้งที่การอดหลับอดนอนหรือมี ‘พฤติกรรมการนอนน้อย’ ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น อุบัติเหตุที่เกิดจากการอดนอน แต่ใครหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ ว่านอกจากอุบัติเหตุที่เราสามารถพบเจอได้แล้วนั้น พฤติกรรมการนอนน้อยยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เรารวบรวมโรคที่อาจเกิดจากพฤติกรรมการนอนน้อยเป็นสาเหตุ จะมีโรคอะไรบ้างและมีหนทางแก้ไขอย่างไรไปดูกันเลยดีกว่า
อาการของคนนอนน้อย
อาการที่แสดงชัดของคนนอนน้อย คือ ง่วงเหงาหาวนอนมาก หงุดหงิด รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียในเวลากลางวัน การอดนอนที่เรื้อรัง ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง
พฤติกรรมการนอนน้อย...สาเหตุของโรคภัย
ต้องขอบอกก่อนเลยว่าคนที่มีพฤติกรรมการนอนน้อยนั้น มักเป็นผู้ที่นอนดึกและตื่นสาย จึงทำให้มีพฤติกรรมเร่งรีบในการดำรงชีวิต เช่น การไม่ได้ทานมื้อเช้า หรือทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงพอ ไม่มีเวลามากพอที่จะออกกำลังกาย เมื่อปัญหาเหล่านี้สะสมนานวันเข้าจึงก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จนทำให้พ่วงปัญหาสุขภาพด้านอื่นตามมาอีกด้วย
นอกเหนือจากปัญหาด้านสุขภาพทางกายแล้ว พฤติกรรมการนอนน้อยยังส่งผลต่อสภาพจิตใจอีกด้วย เช่น รู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายขึ้น มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้าหรือมีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานมากผิดปกติ มีความผิดปกติของการนอน (sleeping disorder) มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) หรือแม้กระทั่งเป็นโรคติดโซเชียล ติดโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
และการมีพฤติกรรมนอนน้อยที่เรื้อรังสะสมไปเรื่อย ๆ นอกจากจะส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตลดลงแล้ว ยังสามารถเกิดอาการหลับใน (microsleep) คือหลับไป 2-3 วินาทีหรือไม่กี่นาทีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถหรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ
เมื่อมีทางเข้า...ย่อมมีทางออก
หากใครมีพฤติกรรมการนอนน้อยที่อาจจะส่งผลเสียให้เกิดโรคตามมาในอนาคต หนทางการแก้ไขมีเพียงการ “พักผ่อนให้เพียงพอ” คล้ายกับการหนามยอกเอาหนามบ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก โดยเฉพาะผู้ที่อดนอนแบบเรื้อรัง
เราจึงขอเสนอวิธีการและคำแนะนำที่ควรปฏิบัติตามดังนี้
กำหนดเวลาเข้านอนของตัวเองให้เป็นเวลา เข้านอนเวลาเดียวกันทุกคืนและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกเช้า
งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก่อนนอน ไม่ควรมีทีวี โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอน และปิดไฟทำห้องนอนให้เงียบ เพื่อสร้างบรรยากาศในการนอนที่ดียิ่งขึ้น
งดดื่มชา กาแฟ และอาหารที่มีส่วนผสมของสารที่กระตุ้นสมองได้
ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้นอนหลับยาก หรือนอนไม่หลับเป็นเวลานานจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยสาเหตุและรับการบำบัดรักษา
ไขข้อสงสัยการนอนหลับชดเชย
ผลการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย John Hopkins ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันแล้วว่า การนอนไม่พอในระหว่างสัปดาห์ แล้วมานอนชดเชยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์โดยทำเช่นนี้เป็นประจำ นั้นไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการนอนไม่พอได้
คุณภาพชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ หากพฤติกรรมการนอนน้อยเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การทำงานผิดปกติของร่างกายส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ลดลง ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญแก่การนอนหลับพักผ่อน เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี
Reference & Bibliography
- โรคร้ายที่มากับการนอนไม่พอ, สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=5108
- อันตรายจากการอดนอนมีมากกว่าที่คิด, สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/471/อันตรายจากการอดนอนมีมากกว่าที่คิด
- นอนน้อยส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร, สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.pobpad.com/นอนน้อยส่งผลเสียต่อสุข
- ขอขอบคุณภาพประกอบ Freepik: Free Vectors, Stock Photos & PSD Downloads www.freepik.com
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์