ในความคิดของหลายคน ความตาย อาจเป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความตาย เช่น ตายแล้วไปไหน จะตายตอนไหน อายุเท่าไหร่ เป็นต้น แต่ถ้าเรารู้จักและเผชิญหน้ากับความตายด้วยความเข้าใจ ความหวาดกลัวนั้นคงจะหายไปหรือบรรเทาลงบ้าง

เราขอพาทุกคนไปยัง คิดใหม่มรณานุสติคาเฟ่ (Kid Mai Death Awareness Cafe) ที่จะทำให้คุณได้สัมผัสถึงความสงบแห่งความตาย ที่นี่ตั้งอยู่ไม่ไกลในซอยอารีย์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า BTS และเรายังได้มีโอกาสพิเศษพูดคุยกับ พี่แตงกวา-คุณสุคนธารัศมิ์ ยิ้มสีใส ซึ่งเป็นเลขานุการของผู้ก่อตั้งคาเฟ่ที่เล่าเรื่องความตายได้อย่างเข้าถึงคนรุ่นใหม่

รู้จักกับความตายที่คาเฟ่

พี่แตงกวาเล่าว่า มรณานุสติคาเฟ่ ไม่ใช่คาเฟ่อย่างที่คนทั่วไปคิด โดยพัฒนาแนวคิดมาจากงานวิจัยของ พี่ใหม่-ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา เจ้าของร้าน พี่ใหม่มีความคิดว่าอยากแก้ปัญหาในสังคมไทย โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ที่เป็นปัญหาสังคมมากที่สุด คือปัญหาอาชญากรรม คอรัปชั่น และคุณแม่วัยใส

พี่ใหม่จึงคิดที่จะแก้ปัญหา และตั้งคำถามว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ด้วยตัวของพี่ใหม่ที่สนใจในเรื่องของศาสนาอยู่แล้วจึงเกิดเป็นงานวิจัยที่พี่ใหม่ได้ร่วมทำกับคณะวิจัย ในชื่อเรื่อง “การนำกระบวนทรรศน์ปรัชญาหลังนวยุค และพุทธปรัชญา มาสร้างสังคมแห่งสัมมาปัญญาในประเทศไทย 4.0 (The Application of the Postmodern Philosophical Paradigm and Buddhist Philosophy for Creating Right Wisdom Society in Thailand 4.0)”

จากงานวิจัยของพี่ใหม่พบว่า การที่จะแก้ปัญหาอาชญากรรม คอรัปชั่น และคุณแม่วัยใสได้นั้น จะต้องสอนให้คนในสังคมรู้จัก มรณานุสติ เพราะคำว่า มรณานุสติ คือการที่เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท  

พี่แตงกวาอธิบายให้เราฟังถึงข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัยของพี่ใหม่ จนกระทั่งต่อยอดมาเป็นมรณานุสติคาเฟ่ว่า การรู้จักมรณานุสติเป็นผลลัพธ์ แต่จะเอามาสอนคนในสังคมได้อย่างไร ก็จะต้องมาคิดถึงเครื่องมือ โดยเครื่องมือที่มองว่าเหมาะสมกับยุค 4.0 ที่คนจะนึกถึงคือเทคโนโลยี แต่นอกจากเทคโนโลยีแล้วยังพบว่าคนไทยชอบนั่งคาเฟ่ ไม่นิยมทำงานประจำที่เข้าออกงานตามเวลา 

อีกทั้งคนเราไม่ค่อยมีความอดทน เพราะว่าความรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ความอดทนของคนต่ำลง คาเฟ่กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เมื่อคนนึกอะไรไม่ออกก็จะไปเช็คอิน แชร์ที่คาเฟ่ จึงเป็นเหตุผลที่ดึงคาเฟ่มาเป็นเครื่องมือให้คนเข้ามา เมื่อคนเข้ามา เราก็ได้ให้ความรู้กับเขาได้ว่า “คุณจะต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท พอคุณใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท คุณจะออกไปทำความดี” 

ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ

การทำความรู้จักกับความตายให้เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งจึงเป็นเป้าหมายของคาเฟ่แห่งนี้ พี่แตงกวาบอกกับเราว่า อยากให้คนเข้ามาที่ร้านได้เรียนรู้หลักมรณานุสติ ซึ่งการที่เราจะพูดว่าคุณจะต้องระลึกถึงความตายตลอดเวลามันเป็นเรื่องยาก เราพูดได้ว่าอย่าใช้ชีวิตประมาท แต่คนฟังจะไม่ได้รู้สึกว่าสำคัญมากพอ ฉะนั้นการสอนที่ดีที่สุดคือการสอนที่ให้เขาได้รับประสบการณ์ตรง จุดเริ่มต้นของร้านก็คือเอาโลงศพมาตั้งและให้คนทดลองลงไปนอนจริง ๆ ซึ่งการที่เอาโลงศพมาตั้งแล้วให้คนเข้าไปนอนอาจฟังดูไม่แปลก เพราะว่าไปสะเดาะเคราะห์ที่วัดก็มีต่ออายุ 

แต่พอมาอยู่ในคาเฟ่มันเหมือนกับว่าพออยู่ผิดที่ผิดทางคนก็จะเริ่มกลัว และเมื่ออยู่หน้าโลงศพจริง ๆ ก็จะมีทั้งคนที่ไม่กล้าลง หรือตอนแรกไม่กลัว แต่พอลงไป ปิดฝาโลงจริง ๆ ขึ้นมาเขาจะรู้สึกว่ากลัว เพราะว่าช่วงเวลา 3-5 นาที ที่เขาอยู่ในโลงนั้น อยู่กับตัวเองกับความมืด เขาจะมีความคิดวนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลา ซึ่งพอเขาตื่นขึ้นมาเหมือนกับเขาได้ชีวิตใหม่ เปิดฝาโลงแสงสว่างเข้ามาเหมือนได้เกิดใหม่อีกครั้ง จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้นในใจ บางคนอาจจะอยากออกไปทำความดี บางคนอาจจะมีอะไรคั่งค้างอยู่ อยากจะรีบไปสะสางหรือบางคนอาจจะเคยทำผิดกับใครไว้จึงอยากไปขอโทษ

เมื่อแต่ละคนตื่นขึ้นมาจากการทดลองนอนในโลง จะมีความคิดต่างกัน แต่ว่าจุดมุ่งหมายหลัก เราอยากให้เขาเกิดสภาวะหรือเกิดความรู้สึกมรณานุสติติดค้างอยู่ในใจ เพราะว่าเมื่อเขาได้รับความรู้สึกนี้แล้วเขาออกไปใช้ชีวิตเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาเผลอไปใช้ชีวิตแบบปล่อยปละละเลยหรือกำลังทำอะไรที่ไม่สมควร แต่เมื่อเขาหวนนึกถึงวันที่เขานอนในโลงแล้วพบว่า เมื่อตายแล้วมันเอาอะไรไปไม่ได้เลย ชีวิตมันเปราะบางมาก เขาจะไม่ทำในสิ่งที่มันไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์

เข้าถึงความตายในรูปแบบใหม่

สำหรับอุปสรรคในการทำร้านนั้น พี่แตงกวาเล่าว่า พี่ใหม่ได้มองเห็นเป็นเรื่องของการรับรู้ของคน ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจคิดว่าเป็นคาเฟ่ เนื่องจากชื่อคือ คิดใหม่มรณานุสติคาเฟ่ (Kid Mai Death Awareness Cafe) เพราะพ่วงคำว่าคาเฟ่ต่อท้าย คนคาดหวังว่ามาแล้วจะเจอเครื่องดื่ม ขนมแปลก ๆ แต่ความจริงแล้วเราวางตัวเองเป็น ‘นิทรรศการแห่งชีวิต’ ที่ใช้คาเฟ่เป็นเครื่องมือช่วยดึงคน ฉะนั้นความยากของงานคือจะทำอย่างไรให้คนทราบว่าที่นี่เป็นนิทรรศการ “ไม่อยากให้ผู้มาชมคาดหวังว่า มาแล้วจะได้รับเครื่องดื่มที่อร่อยมากหรือว่ามีขนมบริการ แต่ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาได้รับความรู้เรื่องความตาย หรือประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนกลับไป”

จุดเด่นของทางร้านคือคอนเท้นต์ เพราะการแต่งร้านสามารถลอกเลียนแบบกันได้ แต่คอนเท้นต์ที่ใส่ใจในการนำเสนอนั้นไม่เหมือนกัน ตัวคอนเท้นต์จะถ่ายทอดผ่านพันธลักษณ์ และสถานีแห่งชีวิต (Station) ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยความที่เกิดจากการทำวิจัย ตัวพันธลักษณ์ที่ใช้ในนิทรรศการมาจากงานวิจัยนี้ด้วย ทำให้สามารถถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ให้กับผู้เข้าชมนิทรรศการได้เป็นอย่างดี เพราะมีการค้นคว้าศึกษามาอย่างละเอียดลึกซึ้ง รู้จักที่จะสื่อสารความหมายผ่านตัวสัญลักษณ์ แสดงถึงความใส่ใจในการเล่าเรื่องราวนิทรรศการความตาย เมื่อเราเข้าใจความตาย จึงรู้สึกว่ามีเป็นประโยชน์จริง ๆ และอยากที่จะทำให้คนรับหรือคนที่เข้าชมสามารถฟังและสัมผัสได้

สบตากับความตาย

พี่แตงกวาพาเราเดินชมคาเฟ่ประกอบกับอธิบายให้ฟังว่า ผลตอบรับหลังจากที่เปิดร้าน ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะมาถึงขนาดนี้ เพราะว่ามันเริ่มมาจากงานวิจัย และด้วยตัวพี่ใหม่ เจ้าของร้าน และเจ้าของงานวิจัย ต้องการนำงานวิจัยมาใช้ได้จริง ช่วงแรกจึงเริ่มต้นแค่นำโลงศพโลงเดียวมาตั้งไว้ แต่เมื่อมีกระแสตอบรับกลับมาหลายทาง ที่สำคัญเป็นต่างชาติชื่นชอบ ทั้งที่เขาไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่เขามาลองนอนในโลงทำให้รู้สึกเข้าใจสัจธรรมของชีวิต

“เวลาคนตาย คุณมีพื้นที่แค่นี้ แค่ในโลงศพ อีกทั้งชีวิตคนเราไม่ทราบวันที่เสียชีวิต เขาเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อ ทำให้เรารู้สึกว่างานที่ทำมันมีคุณค่าจากเดิมที่มีแค่ตาย จึงขยายมาเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ครบเทวทูตทั้ง 4 และให้คนไปทดลองมีประสบการณ์กับความตายใน station ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละสถานีก็มีวัตถุประสงค์ให้คนได้เรียนรู้ให้ครบของวงจรชีวิต”

เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือสัจธรรมของชีวิต

เราเดินทางมาถึงการเข้าชมแต่ละสถานีชีวิต พี่แตงกวายังคงอยู่กับเรา เริ่มด้วยสถานีเกิด คือการจำลองตอนที่เราอยู่ในท้องแม่ ซึ่งเขาบอกกันว่า ชาติปิ ทุกขา เกิดมาเป็นทุกข์ เราจะให้ทุกคนเข้าไปนอนในลักษณะขุดคู้เหมือนกับเด็กที่นอนกอดเข่าตัวเองอยู่ในท้อง ความทุกข์ที่เกิดจากการเกิดมีหลายสาเหตุ 1.ความอึดอัด พื้นที่ด้านในมันมีจำกัด 2.การโดนแกว่งเปรียบเสมือนเวลาที่แม่เราเดินหรือวิ่งเราจะรู้สึกปวดหัวมึนหัว เราจะรู้สึกกลัวเพราะไม่เคยสัมผัสมาก่อน 3.ความร้อนเกิดจากอาหารที่แม่เราทาน อาหารรสจัด เราจะไม่รู้สึกว่ามันอร่อย แต่เราจะรู้สึกว่ามันแสบผิวหนัง รวมถึงความเย็นจากน้ำคร่ำ

แสง เปรียบเสมือนวันและเวลาเด็กจะรับรู้ได้เพียงแค่แสง การเกิดมันเป็นทุกข์ ทุกข์แบบนี้คุณได้ลองแล้ว บางคนอาจจะพูดว่าไม่จริงหรอกไม่เห็นจะจำได้เลย แต่การที่เราจำไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าเราไม่รู้สึก บางคนไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริงหรือไม่ แต่ถ้าทุกคนทำดีให้แก่กันในชาตินี้ที่เราเกิดมาก็เพียงพอแล้ว การเกิดบางคนอาจจะบอกว่ามีความสุขไม่เป็นเรื่องทุกข์ แต่ถ้าหากบางคนเชื่อเรื่องชาติหน้า เขาจะไม่อยากมาเวียนว่ายตายเกิดแบบนี้ ถ้าเขาเกิดอีก เขาจะต้องมารู้สึกแบบนี้อีก 9 เดือน 

สถานีแก่ เราจะมีชุดให้ใส่เป็นชุดม่อฮ้อม และมีแว่นตาฝ้าฟาง แว่นนี้จะทำให้มองเห็นยาก เนื่องจากที่เรามีอายุมากขึ้นเราจะรู้สึกว่า สายตาทั้งสั้นทั้งยาวและจะมีการสายตาฝ้าฟางจากการเป็นต้อกระจก ต้อลม โรคต่าง ๆ ถามหา

ความรู้สึกต่อมาคือความรู้สึกเจ็บปวด ซึ่งชุดที่เราให้ใส่เราออกแบบมาให้ถ่วงน้ำหนักและทำให้เราหลังค่อม พอเราใส่เข้าไปเราจะปวดหลัง และขยับแขน ขา ยาก เพราะมันจะมีตัวถ่วงน้ำหนักและที่ล็อคไม่ให้เราทำอะไรง่ายขึ้น เราจะให้ปั่นจิ้งหรีด 3 รอบ และเดินข้ามสิ่งกีดขวาง ซึ่งการหมุนจะทำให้เสียการทรงตัว เหมือนกับผู้สูงวัยที่เสียการทรงตัวหรือเสียมวลน้ำหนักไป

ดังนั้นพอเราให้ทดลองแก่ในฉบับของความคิดใหม่ ก็จะเข้าใจคนแก่มากขึ้น เราจะลองให้เขาเคลื่อนที่ในแบบคนแก่ และให้ทำอะไรที่อาจจะดูเหมือนง่าย ซึ่งมีสถานีหนึ่งให้เล่นด้วยคือ การแยกยา แยกสี แยกขนาดเม็ด พอเราได้ลองทำจะรู้สึกว่ามันยากจริง ๆ จะเข้าใจคนแก่มากขึ้น เพราะตอนนี้ประเทศคือสังคมผู้สูงอายุ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนทราบว่า เมื่อแก่ตัวไปจะเป็นอย่างไร และควรจะมีวิธีป้องกันตนเองให้เป็นผู้สูงอายุที่สุขภาพดี

สถานีเจ็บ เป็นการจำลองว่าอยู่ในห้อง ICU ถ้าวันหนึ่งต้องมานอนอยู่ในโรงพยาบาล จะจัดการค่าใช้จ่ายอย่างไร เพราะหากคุณไม่รักร่างกายของตนเองแล้ว ร่างกายจะไม่รักคุณเหมือนกัน และถ้าคุณยังรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ทำอะไรที่ส่งผลดีต่อร่างกายของตัวเอง คุณก็จะเห็นได้แค่นี้ กินได้แค่น้ำเกลือกับเลือด จะอดกินอาหารที่โปรดปราน อดทำกิจกรรมที่ชอบ

คุณจะเหมือนผักที่นอนอยู่เฉย ๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และยังต้องมานอน นั่ง ทุกข์ทรมานกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังไม่ได้จัดการอีก ห้องนี้คืออยากให้ทุกคนจัดการกับปัญหาชีวิตของตัวเอง อย่าคิดว่าพรุ่งนี้ค่อยทำ อย่าคิดว่าชีวิตฉันอีกยาว ฉันยังเป็นเด็กมันไม่มีอะไรเสมอไป ถ้าเรารีบจัดการกับปัญหาชีวิตตัวเองได้เร็วเท่าไร เราก็จะไม่มีห่วงเมื่อนั้น

สถานีตาย การที่คุณเห็นโลงศพไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ไม่ใช่เรื่องดีที่วันหนึ่งคุณคิดอยากจะฆ่าตัวตายหรืออยากจะทำร้ายตัวเอง แต่ตรงนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ถ้าคุณมีความประมาทจะเข้าไปอยู่ในนี้เร็วขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ต้องระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ดังนั้นโลงนี้จะให้ทุกคนเข้าไปนอนประมาณ 3-5 นาที เวลาคนอยู่ในสถานการณ์คับขันมักจะมีความคิดหลายประการออกมา บางคนเกิดความกลัว เสียดายชีวิต เสียดายสิ่งที่ตัวเองเคยคิด แต่ไม่ได้ทำ

ลิ้มรสความตายอย่างสงบ

นอกจากนิทรรศการความตายที่แฝงความหมายอย่างลึกซึ้ง อีกส่วนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในคาเฟ่คือเครื่องดื่ม พี่แตงกวาชวนให้เราลิ้มลองความตายด้วยเมนูต่าง ๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ได้แก่ เมนูเกิด (Birth) มีส่วนผสมของอิตาเลี่ยนโซดา สตอร์เบอรี่ และมะนาว ซึ่งเราได้บอกว่าการเกิดเป็นสิ่งที่ต้องรวมผสมกัน จึงให้เมนูนี้เป็นตัวแทนของเกิด 1.มีส่วนผสมของเชอรี่ เชอรี่เปรียบเสมือนกับอสุจิ 2.ไข่มุกป๊อป เปรียบเสมือนกับรังไข่ 3.มะนาว เปรียบเสมือนกับการเติบโต และจะมีเจลลี่ เปรียบเสมือนกับเลือดเนื้อเยื่อ

แน่นอนว่าเมนูเกิดนี้จะต้องมีส่วนผสมของโซดา ซึ่งเปรียบเหมือนกับลมหายใจ การเติมเต็ม ไซรับ คือความสดชื่นที่เขามาในชีวิต เมนูนี้จะไม่สมบูรณ์แบบถ้าหากไม่ผสมเข้ากัน เหมือนกับการที่คน ๆ หนึ่งจะเกิดมาได้นั้น ต้องเกิดการรวมตัวของสิ่งเหล่านี้ การผสมกันจึงเป็นเมนูเกิด ส่วนแก้วภาชนะที่ใส่ขอบแก้วเปรียบเสมือนกับอุปสรรคที่พบ ฟังมาถึงตรงนี้เราแอบคิดในใจว่าช่างแฝงความหมายผ่านสัญลักษณ์ในทุกรายละเอียดจริง ๆ 

ตามมาด้วย เมนูแก่ (Elder) เราให้ความแก่เป็นตัวโกโก้ร้อน โกโก้กับนม โกโก้เปรียบเสมือนกับประสบการณ์ที่ผ่านมา ความทุกข์ ความสุข ยิ่งเทลงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้มขึ้น สาเหตุที่ใช้เป็นเมนูร้อนเพราะว่า ตอนที่แก่เราก็จะทำอะไรช้า ๆ เหมือนกับที่เราจิบเมนูร้อน จะค่อย ๆ กินไปเรื่อย ๆ ส่วนด้านบนจะเป็นฟองนมกับมาชเมลโล่ เมื่อพอทิ้งระยะเวลานาน ก็จะละลายเหมือนกับสังขารของที่จะเสื่อมไปตามสภาพ นั่นคือความแก่

ส่วนเมนูเจ็บ (Pain) จะใช้ทุกอย่าง เจลลี่ วิปครีม เครกเกอร์ เจ็บเป็นตัวแทนของความบอบบาง เป็นตัวแทนของร่างกายและจิตใจ ทุกอย่างที่ผสมกันมันคือตัวตนของเรา ผ่านอุปสรรค โดนอะไรมาเยอะแยะมากมาย สุดท้ายว่าทุกคนต้องเจ็บ แต่ต้องจัดการให้ได้กับความเจ็บปวดนี้

เมนูตาย (Death) เราใช้เป็นโกโก้ปั่น โดยมีเทคนิคในการกิน คือให้วนช็อคโกแลต 3 รอบ ซึ่งช็อคโกแลตที่ให้วน เหมือนกับการวนรอบเมรุวันสุดท้ายของชีวิต เป็นการระลึกถึงผู้ตาย ระลึกถึงความดีของเขา ระลึกถึงศาสนา หรืออะไรสักอย่างที่เรายึดมั่นศรัทธา

อีกทั้งจะมีป๊อกกี้หนึ่งแท่ง เปรียบเสมือนกับธูป ตามวัฒนธรรมของเราคือการเคารพศพ การบอกกล่าวให้คนที่ล่วงลับไปแล้วรับทราบโดยผ่านการจุดธูปหนึ่งดอก และตัวโกโก้ก็ใช้เป็นโกโก้ปั่นโดยเน้นแบบเข้ม ๆ ซึ่งความตายมันไม่ได้อร่อย หอม หวาน เพราะเมื่อเวลาคนตายก็ไม่ได้มีใครฟื้นขึ้นมาแล้วบอกว่าเป็นอย่างไร เราไม่รู้เลย ไม่สามารถบอกได้ถึงความรู้สึกของอารมณ์ได้ด้วยเช่นกัน แต่เราคิดว่าไม่ได้หวาน หรือเป็นเรื่องน่ายินดีถ้าหากวันหนึ่งเราตายไป นี่คือคอนเซ็ปต์ ของเมนู เกิด แก่ เจ็บ ตาย

รู้จักความตาย...เข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่

เราอยู่กับพี่แตงกวามาทั้งวัน ก่อนจากกันพี่แตงกวาบอกกับเราถึงสถานที่แห่งนี้ว่า “คนจะชอบคิดว่าเป็นคาเฟ่ ตอนนี้เราพยายามส่งสารออกไปว่าที่นี้เป็นนิทรรศการที่คุณจะได้สัมผัสกับความตาย แต่เมื่อคุณมาแล้วจะได้รับเครื่องดื่มกลับไปด้วย แล้วคุณจะรู้จักกับความตายมากยิ่งขึ้น”

พี่แตงกวายังฝากไว้ว่า ให้เรามองความตายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อพูดถึงความตาย ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกพ่อแม่ บางคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องร้าย ไม่ควรพูดถึง ไม่ควรกล่าวถึง หรือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเอามาล้อเล่น แต่ที่จริงแล้วความตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าคุณจะเป็นคนเชื้อชาติ ศาสนาใดหรืออายุมากหรือน้อย คุณสามารถตายได้ทุกเมื่อ และไม่มีใครหลบหนีความตายพ้น เป็นสัจธรรม ที่ไม่ว่าใครก็เถียงไม่ได้ ถ้าพูดถึงชาติหน้า ชาตินี้ คนอาจจะคิดว่ามันมีจริงหรือไม่ ซึ่งมันอาจจะเกิดคำถาม หรือถ้าพูดเรื่องบุญบาป บางคนอาจจะไม่เชื่อ แต่ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ทุกคนต้องตาย

ความตายเป็นเรื่องที่เราสามารถเรียนรู้ได้ เตรียมตัวก่อนตายได้ โดยใช้หลักมรณานุสติ คือการไม่ประมาท พอรู้แล้วว่าความตายมันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ คำถามคือคุณจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร อยากฝากไว้ว่าให้ลองเข้ามาที่นี่แล้วจะรู้ว่า เราต้องทำอะไรกับชีวิต พี่แตงกวากล่าวย้ำ ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากพื้นที่แห่งนี้

ท้ายที่สุดแล้ว ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา ควรได้รับการพูดถึง และไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวอย่างที่เราคิด คนเราจะต้องเกิด แก่ เจ็บ และตาย มาเรียนรู้ความตาย เพื่อที่จะสัมผัสความหมายของการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติมากยิ่งขึ้น

Reference & Bibliography

Kid Mai Death Awareness Cafe ที่นี่คือคาเฟ่ในรูปแบบ Life Exhibitions ที่นอกจากจะมีเมนูเครื่องดื่มที่เป็น Signature เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ได้ลิ้มลองกันแล้ว ยังให้ประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตของคนเราอีกด้วย เพราะที่นี่จะพาคุณไปรู้จักกับทุกมุมของช่วงเวลาชีวิต บอกเลยว่าประสบการณ์เจ๋ง ๆ Life Exhibitions แบบนี้หาไม่ได้จากที่ไหนแน่นอนครับ

คาเฟ่ตั้งอยู่ริมถนนอารีย์ อยู่ระหว่างปั๊มเอสโซ่และตึกเอ็กซ์ซิมแบงค์ หากใครมา BTS ลงสถานีอารีย์ เดินมาแล้วเจออุโมงค์ทางเดินขนาดใหญ่ ที่มีคำพูดเตือนใจติดเอาไว้มากมาย นั่นแหละครับ…เข้ามาเรียนรู้ชีวิตกันได้เลย! ราคาค่าเข้าชมนิทรรศการพร้อมเครื่องดื่ม 180 บาท ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/kidmaideathawareness

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR311, JR311 Journalistic Writing across Media Section 3221 ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปริณดา เริงศักดิ์

Writer & Photographer

ชอบท่องเที่ยวออกไปหาแรงบันดาลใจ ฝึกฝนการเขียนให้งานมีคุณภาพ การได้ลงพื้นที่ไปหาข้อมูล ได้เรียนรู้ทัศนคติของคน การกระทำและเหตุผลของแต่ละคน แล้วผลที่เราได้รับกลับเป็นสิ่งที่คุ้มค่า ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ชีวิตได้รับ