“ความรักเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ดีงามโดยแท้ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่แข็งแกร่ง เป็นจริงจนเป็นไปไม่ได้สำหรับเราผู้รักจะถอนความรู้สึกนั้นคืน เฉกเช่นการปลิดชีวิตตัวเอง”

เป็นคำพูดที่จิตรกรระดับโลกอย่าง ฟินเซนต์ ฟัน โคค หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent van Gogh) เคยกล่าวเอาไว้ แวนโก๊ะห์ เป็นศิลปินชาวดัชต์ในยุคโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์ (Post-Impressionism) ผู้ยิ่งใหญ่มากที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะสมัยใหม่ตะวันตก โดยเขาใช้เวลาเพียง 10 ปีในปลายศตวรรษที่ 19 รังสรรค์ภาพจิตรกรรมระบายสีมากกว่า 930 ภาพ 1,100 ภาพวาดเส้นและภาพร่าง รวมแล้วมากกว่า 2,100 ภาพ

วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent van Gogh)

Xanthopsia, Xanthophile เบื้องหลังความหลงไหลในสีเหลืองของแวนโก๊ะห์

“สีเหลืองช่างเป็นสีที่วิเศษ สีนี้คือตัวแทนของดวงอาทิตย์” – Vincent van Gogh

วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ เริ่มใช้สีเหลืองในผลงานอย่างเห็นได้ชัดในปี 1888 โดยมีผลงานของเขาหลายต่อหลายชิ้นที่มีสีเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก ไม่ว่าจะเป็น Still Life : Vase with Fifteen Sunflowers, ระเบียงคาเฟ่ยามราตรี Café Terrace, บ้านสีเหลือง The Yellow House และ Arles View from the Wheatfields 

ระเบียงคาเฟ่ยามราตรี (Café Terrace at Night)

ถึงอย่างนั้น เบื้องหลังของภาพวาดที่เต็มไปด้วยสีเหลืองของศิลปินคนนี้ก็ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า แวนโก๊ะห์เคยกินสีเหลืองเข้าไปเพราะคิดว่ามันจะทำให้ตัวเขามีความสุขได้ อ้างอิงจากในตอนที่แวน โก๊ะรักษาตัวอยู่ที่แซ็งต์-เรอมี (Saint-Remy) หมอที่รักษาอาการของเขาได้บันทึกไว้ว่าเขาต้องการวางยาตัวเองด้วยการกินสีและดื่มน้ำมันสน หมอจึงสั่งห้ามไม่ให้เขาเข้าสตูดิโอ

อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องเล่าว่าคุณหมอกาเชต์ (Dr. Gachet) ผู้รักษาแวนโก๊ะห์ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ได้ให้เขาทานยาแก้โรคหัวใจที่สกัดจากต้นฟ็อกซ์ กลัฟ ทำให้มีผลข้างเคียงทำให้มองเห็นเป็นสีเหลืองและฟ้า หรือบ้างก็ว่าไม่เกี่ยวกับการรักษา แต่เป็นความผิดปกติทางสายตาของแวนโก๊ะห์เองที่เป็นโรค Xanthopsia ทำให้มองเห็นภาพเป็นสีเหลือง

ดอกทานตะวัน (Sunflowers)

The sadness will last foreve ศิลปินผู้เผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้า

ตลอดช่วงชีวิตของ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ไม่เคยได้รับการยอมรับจากสังคม เขาต้องเผชิญหน้ากับภาวะซึมเศร้า ความอาภัพ ประสบกับปัญหาสภาพจิตใจที่ปั่นป่วนต้องเข้าโรงพยาบาลจิตเวชอยู่หลายครั้ง แวนโก๊ะห์ถูกคำครหาต่าง ๆ นานา ทั้งยังขัดแย้งกับเพื่อน มีความรักที่ไม่สมหวัง และมีอาการของโรควิตกกังวล

จนกระทั่ง ปี 1880 แวนโก๊ะห์ได้เขียนจดหมายมาบอกกับเธโอ น้องชายของเขาว่า ตัวเขาค้นพบแล้วว่า ศิลปะคือทุกสิ่งทุกอย่างของเขา และเข้ามาแทนที่สิ่งอื่น ๆ จนหมด เขาใช้เวลาเพื่อศึกษามันด้วยตนเองอย่างจริงจัง ก่อนหน้านั้นเขาเคยเขียนรูปมาบ้างแต่ไม่จริงจังเท่าไหร่ แต่ต่อจากนี้ไปมันคือชีวิตจิตใจของเขา

จากชีวประวัติที่ผ่านมาของแวนโก๊ะห์ ยังมีเรื่องที่เขาได้ตัดใบหูข้างขวาของตัวเอง ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงถึงสาเหตุความเป็นมา โดยสมมติฐานแรกปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง Lust for Life ของ Irving Stone และชีวประวัติกระแสหลัก ของแวนโก๊ะห์ กล่าวถึง โสเภณีที่แวนโก๊ะห์หลงรัก จับใบหูของแวนโก๊ะห์แล้วพูดเล่นว่า “อยากได้เก็บไว้เป็นที่ระลึก” วันต่อมาเขาจึงตัดใบหูของตัวเองใส่กล่องของขวัญผูกโบว์อย่างสวยงาม แล้วนำไปมอบให้

แวน โก๊ะวาดภาพตนเองหลังจากตัดใบหูข้างขวา: Self-Portrait with Bandaged Ear, 1889

สมมติฐานที่สองปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง The Gold of their Bodies ของ Charles O. Gorham และชีวประวัติกระแสหลักของ ปอล โกแกง (Paul Gauguin) จิตรกรระดับโลก เพื่อนรักของแวน โก๊ะห์ โดยเล่าว่าทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง จนแวน โก๊ะห์ต้องการจะตัดหูโกแกง แต่เมื่อไม่สามารถตัดหูเพื่อนรักได้ เขาจึงตัดใบหูของตัวเองแทน

หรือยังมีสมมติฐานอื่น ๆ อย่างแวน โก๊ะห์ตัดหูของตนเองเพื่อประชดโสเภณีที่เขาหลงรัก หรือคนที่ตัดหูแวน โก๊ะห์จริง ๆ แล้วเป็นโกแกง เพราะทั้งคู่มีปัญหาเรื่องการชอบโสเภณีคนเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสมมติฐานเท่านั้น

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต แวน โก๊ะห์ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการยิงปืนเข้าที่ซี่โครงซ้าย ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยวัย 37 ปี เพราะสภาวะจิตใจและความเครียด โดยก่อนที่แวน โก๊ะห์จะสิ้นใจ ประโยคสุดท้ายที่เขาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ก็คือ “The sadness will last forever ความโศกเศร้าจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์”

“ความรักเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ดีงามโดยแท้ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่แข็งแกร่ง เป็นจริง จนเป็นไปไม่ได้สำหรับเราผู้รักจะถอนความรู้สึกนั้นคืน เฉกเช่นการปลิดชีวิตตัวเอง” จดหมายเหตุแวน โก๊ะห์ ถึงเธโอ น้องชาย, วันที่ 7 พฤศจิกายน 1881, แปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท
ภาพสุดท้ายที่แวน โก๊ะห์วาด: รูปทางสามแพร่ง (Champ de blé aux corbeaux)

What done in love is done well ผลงานอันเลื่องชื่อของศิลปินผู้ล่วงลับ

ถึงแม้ปัจจุบัน วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ จะเป็นถึงศิลปินเอกที่มีคนรู้จักไปทั่วโลก แต่ในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อแวนโก๊ะห์จากไป เขาเริ่มที่จะมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแวดวงของศิลปะ ศิลปิน และบุคคลทั่วไป ผลงานของเขากลายเป็นหนึ่งในงานศิลปะที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ชื่อเสียงที่โด่งดังของเขาสถิตอยู่ในภาพจำของสาธารณชนในฐานะอัจฉริยบุคคลผู้ถูกมองข้าม ถึงกับมีคำกล่าวที่ว่า แวนโก๊ะห์เป็นศิลปิน “ผู้ซึ่งวาทกรรมเรื่องความบ้าคลั่งและความสร้างสรรค์มีเส้นคั่นอยู่บาง ๆ” (where discourses on madness and creativity converge)

ผลงานของเขาที่ขึ้นชื่อเรื่องราคาแพงและความโด่งดังจนใครต่อใครก็รู้จัก อาทิ ภาพดอกทานตะวัน (Sunflowers), ภาพราตรีประดับดาว (The Starry Night), ระเบียงคาเฟ่ยามราตรี (Café Terrace at Night), ภาพวาดตนเอง (Self-Portrait) และอื่น ๆ อีกมากมาย

ภาพราตรีประดับดาว (The Starry Night),
ภาพวาดตนเอง (Self-Portrait)

Van Gogh Museum พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์

พิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์ (Van Gogh Museam) ตั้งอยู่ที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี 1973 เป็นแหล่งรวบรวมผลงานของ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีคอลเลคชั่นถาวรที่ประกอบด้วยภาพเขียน 200 ภาพ, 500 ภาพวาด จดหมายส่วนตัวมากกว่า 700 ฉบับ และคอลเลคชั่นภาพพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่น ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นหนึ่งในพิพิธภันฑ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในโลก

แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทั่วโลกยังเผชิญหน้ากับวิกฤติไวรัสที่คร่าชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วนอย่าง COVID-19 ทำให้เมืองอัมสเตอร์ดัมประกาศสั่งปิดให้บริการของสถานที่ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ไปจนถึง 1 มิถุนายน 2563 และแน่นอนว่ารวมไปถึงพิพิธภันณฑ์แวนโก๊ะห์แห่งนี้

อย่างไรก็ตาม ทางพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์ได้เปิดให้คนทั่วไปทั่วทุกมุมโลก เข้าชมพิพิธภัณฑ์และผลงานของแวนโก๊ะห์ผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเดินชมรอบพิพิธภันฑ์ผ่าน Street View ใน Google Map เข้าชมเว็บไซต์หลักของพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะห์ได้ที่ https://www.vangoghmuseum.nl/en

อีกทั้งการชมผลงานอย่างใกล้ชิดจากเว็บไซต์หลักของพิพิธภัณฑ์ โดยเราสามารถเลือกชมผลงานที่ชื่นชอบ สามารถมองเห็นรายละเอียด ความบรรจง เจตนารมณ์ และตัวตนของแวนโก๊ะห์ที่อยู่บนแปรงพู่กันได้อย่างใกล้ชิด เสมือนตนเองได้ไปเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์เลื่องชื่อในอีกฝากฝั่งของโลก

อีกทั้งพิพิธภัณฑ์แวนโก๊ะ ยังได้จัดแสดงนิทรรศการออนไลน์ “Which Books did Vincent van Gogh Read?” ที่แสดงตัวตนความเป็นคนรักการอ่านหนังสือของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ที่ซุกซ่อนอยู่ในผลงานต่าง ๆ และ “Vincent van Gogh’s Love Life” เรื่องราวชีวิตรักของแวนโก๊ะห์ ในอีกหลายแง่มุม

ปัจจุบันผลงานมากมายของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ได้กระจัดกระจายอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ แกลลอรี่ หรือคอลเลคชั่นสะสมส่วนบุคคล ทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งการที่จะรวมบรรดาภาพวาดต่าง ๆ มาจัดแสดงในสถานที่เดียวนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากการจัดแสดงแบบนิทรรศการดิจิทัลมัลติมีเดีย

Van Gogh. Life and Art ครั้งแรกในประเทศไทย

ล่าสุด River City Bangkok ได้นำเสนอนิทรรศการมัลติมีเดียของหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกอย่าง วินเซนต์ แวนโก๊ะห์: “Van Gogh. Life and Art จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลกรุงเทพ (MODA) ที่กำลังจะมาถึงในเดือนมิถุนายนนี้ และจัดแสดงยาวไปถึงสิ้นปี 2563

นิทรรศการ “Van Gogh. Life and Art” เคยถูกจัดแสดงมาแล้วใน 8 เมือง ได้แก่ เบอร์ลิน, มอสโก, เซ็นต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และเมืองต่าง ๆ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย 

The Yellow House

ภายในงานจะจัดแสดงผลงานภาพวาดของแวนโก๊ะห์ มากกว่า 300 ภาพ ในความยาว 40 นาที ผลงานศิลปะที่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกของจิตรกรเอกผู้นี้จะเปิดให้เข้าชมวันแรกในวันที่ 4 มิถุนายน ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 ที่ MODA Gallery ชั้น 2 ณ River City Bangkok

Loving Vicent ภาพสุดท้ายของแวนโก๊ะ

Loving Vincent ภาพสุดท้ายของแวนโก๊ะ (2017) เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันแนวชีวประวัติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ที่ถูกถ่ายทอดผ่านรูปวาดสีน้ำมันเป็นเรื่องแรกของโลก โดยความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ทั้งเรื่องถูกสร้างสรรค์จากแปรงพู่กันของศิลปิน 115 ชีวิต ภาพวาพสีน้ำมันทั้งหมด 65,000 เฟรม ที่จะต้องใช้สีน้ำมันมากกว่า 3,000 ลิตร และผ้าใบแคนวาสมากกว่า 1,000 ใบ ที่ร้อยเรียงภาพวาดที่ได้รับแรงบันดาลใจและดัดแปลงมาจากงานภาพวาดและจดหมายกว่า 800 ฉบับของแวนโก๊ะห์

ณ วันนี้ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ยังคงเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงและโด่งดังมากที่สุดในโลก ที่แม้แต่คนที่ไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับวิจิตรศิลป์ใดใด ก็ยังสามารถรับรู้และจำแนกได้ถึงศิลปะของเขาได้ ผลงานของเขายังคงสะท้อนและแสดงถึงตัวตน เจตนารมณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งที่เทิดทูนศิลปะมากกว่าสิ่งใด และจะเป็นตำนานในประวัติศาสตร์ศิลปะไปตลอดกาล

“ผมขอตายไปกับความหลงใหล ดีกว่าตายไปกับความเบื่อหน่าย” I would rather die of passion than of boredom. – Vincent van Gogh

ด้วยรักและรำลึกถึง วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent van Gogh) ศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้วนับ 130 ปีแต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าในวันนี้

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2562 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

บรรณาธิการบริหารบ้านกล้วยออนไลน์ปี 2020 ที่คาดหวังให้ตัวเองมีความสุข และใช้ชีวิตตามคำพูดของวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ‘What is done in love is done well’