พลังของการเขียนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ปล่อยแคมเปญประจำปีอย่าง Write For Rights เขียน เปลี่ยน โลก ซึ่งถือเป็นปีที่ 20 แล้ว ที่แอมเนสตี้ พยายามรณรงค์ในสิทธิ และความยุติธรรม ให้เหล่าผู้สนับสนุนต่อผู้ไม่เพิกเฉย ต่อความอยุติธรรม และต้องการเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยใช้พลังในการส่งเสียง เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิทั่วโลก ผ่านปลายปากกา

การเขียนจดหมายในแคมเปญ Write For Rights ของแอมเนสตี้ ไม่ได้ทำเพียงแค่ส่งเสียงไปให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือครอบครัวของพวกเขา เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่า พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การเขียนจดหมาย เพื่อกดดันเหล่าผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในประเทศนั้น ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกด้วย

ในปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ทำการรวบรวม 4 เคส จากทั่วทุกมุมโลก และยังเป็นปีแรกที่มีเคสของประเทศไทย นั่นก็คือ เคสของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

เพียงแค่ส่งเสียง ร้องขอสังคมที่ดีกว่า

“เมื่อคุณก้าวไปในคุก คุณจะรู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ได้สลายหายไปแล้ว” รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประเทศไทย

รุ้ง-ปนัสยา เด็กสาวเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาททางการเมือง ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย เธอได้กลายเป็นแกนนำการชุมนุม ในขบวนการประชาธิปไตยเยาวชนของประเทศไทย เพื่อเรียกร้องความเสมอภาพ เสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของรัฐ และเป็นผู้ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ และอาจถูกจำคุกตลอดชีวิต จากกิจกรรมที่เธอเข้าร่วม

ในเดือนมีนาคม 2564 เธอถูกจับกุมในข้อหาตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) ทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 60 วัน และถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการประกันตัวถึงหกครั้ง “รุ้ง” ได้อดอาหารประท้วง เป็นเวลากว่า 38 วัน และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ทว่าเธอยังต้องเผชิญกับข้อหาอีกมากมาย การต่อสู้นี้ยังไม่จบ หรือจริง ๆ แล้วมันเพิ่งแค่เริ่มต้น

ไม่มีพื้นที่สำหรับความจริง

“เราควรแสวงหาความจริงและแสวงหามันในทุกวิถีทาง ความจริงเป็นสิ่งที่แพงที่สุดในโลกเสมอมา มันคือ ชีวิตของเรา” จาง จ่าน ประเทศจีน

จาง จ่าน เธอเป็นนักข่าวพลเมือง ที่รายงานข่าววิกฤตการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ณ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ในฐานะนักข่าวพลเมือง ที่ไม่อยู่ภายใต้การควมคุมของรัฐ เธอจึงได้ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการรายงานข่าวที่เกิดขึ้น

เธอถูกควบคุมตัว ในเดือนพฤษภาคม 2563 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ และถูกตัดสินจำคุก เป็นเวลา 4 ปี ในข้อหา “ทะเลาะวิวาทและยั่วยุให้เกิดปัญหา” เพียงเพราะรายงานความจริงที่เกิดขึ้น เธอถูกย้ายไปอยู่เรือนจำหญิง เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โดยถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธการให้เข้าเยี่ยมจากครอบครัวมาโดยตลอด

ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และเพื่อนมนุษย์ทั้งมวล

“ฉันจะไม่ปล่อยให้คดี ในวันที่ 9 พฤศจิกายน ถูกลืมเด็ดขาด” เว็นดี้ กาลาร์ซ่า ประเทศเม็กซิโก

เว็นดี้ กาลาร์ซ่า เป็นผู้ดูแลเด็กที่ถูกยิงขณะชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในคดีฆาตกรรมของผู้หญิง ที่รู้จักกันในนาม “อเล็กซิส” และเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงในเม็กซิโก ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะที่ ผู้ชุมนุมได้เข้าไปรื้อถอน และเผาไม้กั้นบางส่วน ตำรวจได้ยิงปืนขึ้นฟ้า ใช้กระบองทุบตี และยิงกระสุนเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้เว็นดี้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีบาดแผลจากกระสุนปืนที่บริเวณขาและช่องคลอด

เว็นดี้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในสองวันถัดมา ทว่าจนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

โลกนี้ไม่ได้มีเพียงเพศหญิงและเพศชาย

“ฉันต้องการให้คนที่ใช้ความรุนแรงต่อพวกเราเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย” แอนนา หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มสเฟียร์ ประเทศยูเครน

“กลุ่มสเฟียร์” เป็นหนึ่งกลุ่มภาคประชาสังคม ที่เก่าแก่ที่สุดในยูเครนและได้รับการก่อตั้ง โดยนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ชื่อว่า “แอนนา ชารีฮินา” และ “วิร่า เชอร์นีกิน่า” ที่มีเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในเมืองคาร์คิฟ ตั้งแต่ปี 2549

พวกเขาถูกโจมตีจากการเลือกปฏิบัติจากกลุ่มที่ต่อต้าน ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายผู้สนับสนุนกลุ่มของพวกเขา มีการก่อความวุ่นวาย โดยการนำปัสสาวะและอุจจาระมาปาใส่ที่พักของกลุ่มสเฟียร์ การแจ้งร้องเรียนความกับตำรวจในเรื่องนี้ แต่ไม่มีความคืบหน้าของคดีแต่อย่างใด

คนรุ่นใหม่ที่เชื่อในเสรีภาพ อาจจะเป็นเพียงแค่ส่วนน้อยนิดบนโลกใบนี้ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ และความถูกต้อง เพราะนี่คือพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบ อย่าให้พวกเขาต้องต่อสู้เพียงลำพัง มาร่วม เขียน เปลี่ยน โลก กับ Amnesty International Thailand www.aith.or.th/writeforrights

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา GE007 Art of Life, CA003 Art of Speaking, BR551 Social Broadcasting ภาคการศึกษาที่ 1/2 2564

Writer & Graphic

ไม่มีหรอกนักศึกษา นักเขียน หรือนักกิจกรรม จะมีก็แต่คนที่เหนื่อยล้าจากสังคม ที่บังคับให้เราต้อง productive ไปวัน ๆ ทว่ายังคงมองหาความสงบบนหน้ากระดาษ และภาพยนตร์ในวัยเด็กอยู่เสมอ