ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานานและปัญหาที่ละเอียดอ่อน ด้วยความซับซ้อนเชิงโครงสร้าง หลากหลายแนวคิดที่เรามีต่อสถาบันครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัวสังเกตได้จากคำพูดที่ใช้ รวมถึงการกระทำที่รุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว 

ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ความรุนแรงภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนในครอบครัว พวกเขาคือ ‘เหยื่อของความรุนแรง’ ความรุนแรงที่มาจากญาติหรือคนใกล้ชิดเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน ต้องแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ 

ความรุนแรงในครอบครัวที่ส่งผลต่อทุกคน

เราจะปล่อยให้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพียงแค่ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ จริงหรือ ในเมื่อมีเด็กและวัยรุ่นมากมายที่ต้องทนทุกข์กับสถานการณ์เหล่านี้อยู่ทุกวัน เราควรหันมาใส่ใจและตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การให้หน่วยงานเข้าไปช่วยเหลือ และจบลงที่เหยื่อต้องทนอยู่กับผู้กระทำต่อไป แต่เราควรมีหนทางที่ทำให้เหยื่อสามารถหลุดพ้นจากปัญหานี้อย่างจริงจังและยั่งยืนได้ เพราะปัญหานี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัญหาภายในครอบครัวแต่ยังเป็นบ่อเกิดของปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า ภาวะอาการเก็บกด คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงภาวะอาการคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ปัจจัยความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงที่เห็นได้อย่างชัดคือ ภาวะทางอารมณ์ ที่ทำให้เกิดความรุนแรงในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสามีทำร้ายภรรยา พ่อแม่ทำร้ายลูก หรือแม้แต่กรณีลูกทำร้ายพ่อแม่ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มักเกิดจากขาดการยับยั้งทางด้านอารมณ์ ตั้งแต่การใช้คำพูดที่รุนแรง ไปจนถึงการทำร้ายร่างกายที่อาจส่งผลถึงชีวิตของเหยื่อ

ผลลัพธ์ที่เกิดจากปัญหาความรุนแรง ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำจะได้รับบาดแผล ทั้งร่างกายและจิตใจจนบางครั้งเกิดเป็นความเคยชิน และคิดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ผู้กระทำเกิดความเคยชินในการใช้ความรุนแรงมาเป็นทางออกเช่นเดียวกัน

เมื่อพบปัญหาหรือสถานการณ์ความไม่เข้าใจกันของคนในครอบครัว จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรง เราจึงไม่ควรปล่อยให้ความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เกิดการสะสมและทวีความรุนแรงมากขึ้น

บาดแผลที่เกิดจากคนในครอบครัว

เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ เด็กสาววัย 18 ปี (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) เธอเกิดมาในครอบครัวที่พ่อเป็นคนอารมณ์รุนแรง ตั้งแต่เธอจำความได้ เธอมักจะเห็นแม่ถูกพ่อทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด แต่พ่อของเธอกลับเลือกใช้ความรุนแรงเป็นทางออกอยู่เสมอ 

ในบางครั้งทำให้เธอรู้สึกว่า “การไม่มีพ่อน่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้” แต่เธอไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการตัดสินใจในสถานการณ์เหล่านี้ยังคงขึ้นอยู่กับแม่ ตอนนี้ตัวเธอเองและน้องสาวยังเรียนไม่จบ แม่จึงพยายามประคับประคองสถานการณ์ในครอบครัว เพราะหวังว่าสักวันมันจะดีขึ้น หรือหาทางแก้ไขโดยที่ครอบครัวยังคงเป็นครอบครัวอยู่ 

ขณะที่แม่พยายามทำทุกอย่างให้ดีขึ้น แต่พ่อกลับทำทุกอย่างให้แย่ลง “ในวันนี้เธอไม่ต้องการพ่ออีกต่อไปแล้ว ครอบครัวที่เธอต้องการในตอนนี้มีแค่แม่และน้องสาวของเธอเท่านั้น”

มากกว่าบาดแผลที่เหยื่อได้รับ

มากกว่าบาดแผลที่เหยื่อได้รับ ผู้กระทำความรุนแรงก็ได้รับผลจากการกระทำของตนเองเช่นเดียวกัน สิ่งที่ผู้กระทำได้รับไม่ใช่การถูกสังคมตราหน้า หรือโดนดำเนินคดี แต่มันคือสิ่งที่เลวร้ายกว่านั้น นั่นคือการกลายเป็น “คนที่ครอบครัวไม่ต้องการ” 

เหมือนกับที่ผู้ถูกกระทำได้กล่าวไว้ “ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบสำหรับเธอ ไม่จำเป็นต้องมีพ่ออีกต่อไปแล้ว” นี่เป็นผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ความรุนแรงไม่ได้แค่ทำให้ใครสักคนต้องเจ็บปวด แต่ความรุนแรงได้ทำลายสถาบันครอบครัวให้แหลกสลายไปหมดสิ้น

บ่อยครั้งที่เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นจากบุพการี แต่สังคมกลับนำเรื่องบุญคุณมาตัดสิน ด้วยการบอกว่าอย่าเถียงคนที่เลี้ยงเรามา หรือแม้แต่อย่านำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกใคร เพราะไม่ว่าอย่างไรบุคคลนั้นก็เป็นคนในครอบครัว เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา ผลสุดท้ายเหยื่อที่ถูกกระทำกลับต้องทนทุกข์อยู่กับสถานการณ์แบบนี้ต่อไปโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

มาตรา 1562 กับความรุนแรงที่เกิดจากบุพการี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งกฎหมายข้อนี้เป็นกฎหมายที่เกิดข้อพิพาทกันมากมายในสังคมไทย

เมื่อไม่นานมานี้เกิดแฮชแท็กยกเลิก มาตรา 1562 (#ยกเลิกม1562) ในทวิตเตอร์ แสดงให้เห็นถึงข้อเรียกร้องเพื่อยกเลิกข้อกฎหมายนี้อย่างจริงจัง เพราะในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเด็กและวัยรุ่นในสังคมไทย ถูกกระทำความรุนแรงจากพ่อแม่หรือบุพการีเป็นจำนวนมาก แต่กลับต้องให้บุคคลอื่นเป็นผู้ยื่นฟ้องแทน ทั้งที่เด็กคือผู้ถูกกระทำโดยตรง เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว แต่กลับไม่สามารถยื่นฟ้องได้ด้วยตนเองจากข้อกฎหมายนี้ เราควรนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นธรรมต่อเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงจากบุพการีต่อไป

มีไหม ? ทางออกที่ดีสำหรับเหยื่อ

หลายครั้งที่เหยื่อต้องเป็นคนหาทางออกด้วยตัวเอง เพราะผู้กระทำเป็นคนในครอบครัว ผู้เป็นเหยื่อจึงไม่สามารถรู้ได้เลยว่า จะมีวิธีการแก้และวิธีหลุดพ้นจากเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้ได้อย่างไร 

ถึงแม้จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ แต่สุดท้ายมักจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยและปัญหาความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นดังเดิม เราหวังว่าในอนาคตจะมีทางออกที่ดีและยั่งยืนต่อทุกฝ่าย 

ถ้าพวกเราทุกคนหันมาช่วยเหลือกันและเป็นกระบอกเสียงแสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายคุ้มครองการดูแลเหยื่อที่เผชิญต่อความรุนแรงเหล่านี้ ไม่ให้ต้องทนทุกข์ทรมาน และลดการสร้างบาดแผลทั้งร่างกายและจิตใจจนไม่มีวันหาย 

ดังนั้นเราควรตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นและค้นหาทางออกอย่างจริงจังและยั่งยืน เพราะครอบครัวคือรากฐานของการเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราทุกคนมีทางออกมากมายที่ดีกว่าการใช้ความรุนแรง

Reference & Bibliography

  • หลักกฎหมายไทยที่ว่า ห้ามมิให้ลูกหลานฟ้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญานั้น ตรงกับหลักกฎหมายแพ่งที่ว่าเป็นคดีอุทลุมนั้นมีหลักการอย่างไรและมีข้อยกเว้นอย่างไร. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.facebook.com/prayutlaw/posts/1255693407795966
  • สาเหตุของการเกิด “พฤติกรรมความรุนแรง” สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.sanook.com/health/20525
  • ขอขอบคุณภาพประกอบ Freepik: Free Vectors, Stock Photos & PSD Downloads www.freepik.com

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

เป็นคนที่ชื่นชอบและรักในการเขียน (ทวิต) มาก