การสร้างสรรค์ ‘วรรณกรรม’ มักจะซ่อนความหมายบางอย่างไว้เสมอ อาจจะเป็นสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ทัศนคติและค่านิยมที่ยึดถือไว้ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญสำหรับนักเขียนและนักอ่าน งานวรรณกรรมจึงมีผลต่อการใช้ชีวิตและมุมมองในการมองโลก

จากประเด็นกระแสข่าวเกี่ยวกับวรรณกรรมอมตะสุดคลาสสิกชื่อดัง จนถูกนำไปสร้างเป็นหนังอย่าง วิมานลอย (Gone with the wind) ได้ถูกปลดออกจากช่อง HBO Max หนึ่งในช่องสตรีมมิ่งของอเมริกาเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เนื่องจากเนื้อเรื่องมีการเหยียดสีผิวและในช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาก็กำลังมีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมหรือการเคารพสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มคนผิวสี

กรณีของวิมานลอย ตามมาด้วยการยกเลิกการตีพิมพ์หนังสือของ “ดร.ซูสส์” เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 หนังสือภาพประกอบสำหรับเด็กที่เขียนโดย ดร.ซูสส์ นามปากกาของ ธีโอดอร์ ซูสส์ จีเซล (Theodor Seuss Geisel) นักเขียนชาวสหรัฐอเมริกา ถูกให้เลิกตีพิมพ์จำหน่าย มีจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ “And to Think That I Saw It on Mulberry Street”, “If I Ran the Zoo”, “McElligot’s Pool”,”On Beyond Zebra!”,”Scrambled Eggs Super!” และ “The Cat’s Quizzer”

เรื่อง ‘And to Think That I Saw It on Mulberry Street’ และ ‘If I Ran the Zoo’ มีการเหยียดเชื้อชาติเอเชียและแอฟริกัน เช่น การตีความว่าคนจีนต้องตาตี่วิ่งถือชามกับตะเกียบ คนแอฟริกันเหมือนลิงไม่สวมใส่เสื้อผ้า

การยกเลิกการตีพิมพ์ในครั้งนี้ ได้ใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบกว่าหนึ่งปี จากหลายฝ่าย เช่น นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ โดยบริษัท Dr.Seuss Enterprises ผู้พิมพ์และผู้จัดจำหน่ายได้ยกเลิกการพิมพ์อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม ตรงกับวันเกิดของผู้เขียน

อย่างไรก็ตาม งานวรรณกรรมสำหรับเด็กหลายเรื่องที่เขียนโดย ดร.ซูสส์ ได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนาน เพราะมีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เด็กหลายคนเติบโตมาพร้อมกับวรรณกรรมของ ดร.ซูสส์ ถึงแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่หนังสือของเขาก็ยังครองใจเด็กทั่วโลกมาโดยตลอด

การยกเลิกตีพิมพ์หนังสือของ ดร.ซูสส์ ทั้ง 6 เล่ม ประกอบกับสถานการณ์การออกมาเรียกร้องสิทธิให้กับคนผิวสี ชาว LGBTQ หรือแม้แต่สิทธิสตรี ถือเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์การสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมที่น่าสนใจ และน่าจะส่งผลกระทบต่องานวรรณกรรมอย่างมากอีกด้วย ทำให้เราได้ทบทวนความหมายหรือคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในงานวรรณกรรม

ความคิดเห็นของนักอ่านรุ่นเก่าอย่าง คุณฤดีชนก (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘ทีมผู้เขียน’ ว่า การอ่านนิยายหรือวรรณกรรมสมัยก่อนเป็นการอ่านเพื่อสุนทรียะทางอารมณ์ จะแตกต่างกับสมัยใหม่ตรงที่เนื้อหาต้องมีการกลั่นกรองก่อนว่ามีผลกระทบต่อสังคมหรือไม่ ทำให้ส่งผลต่อนักเขียนในการนำเสนอผลงาน เพราะต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มากขึ้น

เรายังได้พูดคุยกับ นักอ่านวรรณกรรมรุ่นใหม่ (ขอสงวนชื่อนามสกุลจริง) ได้ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการตระหนักขึ้นในสังคม การมองปัญหาที่เคยเป็นเรื่องปกติในอดีต แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ปัญหาคือปัญหา สมควรต้องแก้ไข การวิจารณ์วรรณกรรมควรเป็นเรื่องที่ทำเป็นปกติอยู่แล้ว ถึงแม้มีการนำค่านิยมใหม่ไปมอง จะทำให้เราเห็นปัญหาของยุคเก่า แต่เราสามารถมองให้เป็นการศึกษาภาพอดีตก็ได้เช่นกัน

วรรณกรรมก็คือสื่อบันเทิงที่ผู้อ่านมีจุดประสงค์ในการอ่านเพื่อเสพสุนทรียะทางด้านภาษาหรือเนื้อหาที่สร้างความบันเทิงแก่จิตใจ เนื้อหาที่อยู่ในงานวรรณกรรมก็สะท้อนแนวคิดและทัศนคติของผู้ประพันธ์ รวมไปถึงสถานการณ์ทางสังคมในช่วงเวลานั้น ซึ่งในหลายครั้งก็สร้างประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม และในบางประเด็นค่อนข้างละเอียดอ่อน ยิ่งทำให้ผู้ประพันธ์ต้องมีความใส่ใจรายละเอียดการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมมากขึ้น

Reference & Bibliography

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411,JR413 Newspaper Workshop CJR413,JR414 Magazine Workshop ภาคการศึกษาที่ 2/2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อาจารย์ที่ปรึกษา ผศ.ณรงค์ศักดิ์ ศรีทานันท์

Writer

นักเขียนเรื่อง BALOR ที่อยากแมสใน readawrite

Writer

สาวกมัทฉะลาเต้ ผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวและการถ่ายรูป ฝันอยากทำงานที่รังนกกระจอกใน Government House กับสภาริมน้ำ พูดง่าย ๆ คืออยากเป็นนักข่าว

Writer

คติประจำใจ "ถ้าคุมอดีตได้ก็จะคุมอนาคตได้ ถ้าคุมปัจจุบันได้ก็จะคุมอดีตได้" - George Orwell