กระแสการเคลื่อนไหวของการชุมนุมที่เข้มข้นในช่วงนี้หรือการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองไม่ว่าในยุคสมัยใด เรามักจะได้ยินเสียงเพลง พร้อมเนื้อหาที่ส่งเสียงสะท้อนไปยังโครงสร้างของสังคม การถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เรื่องเหล่านี้ ล้วนได้รับการบอกเล่าผ่านเสียงดนตรี ที่ได้กลายเป็นอาวุธทางวัฒนธรรม ที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ขอพาไปพบกับหนึ่งในคนดนตรี ที่ทำเพลงเพื่อสังคม เราสนใจการมองโลกของ พี่เจ-ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ นักร้องนำ กีตาร์ และนักแต่งเพลงของวงสามัญชน วงดนตรีที่มีเพลงเป็นที่คุ้นเคยของคอเพลงเพื่อชีวิต เช่น เราคือเพื่อนกัน วังวน อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
วงสามัญชน มีสมาชิกก่อตั้ง 3 คน ได้แก่ พี่แก้วใส-ณัฐพงษ์ ภูแก้ว (กีตาร์, ร้อง), พี่ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (พิณ) และพี่เจ-ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ (กีตาร์, ร้อง) ทั้งสามคนเริ่มรวมตัวกันตอนปีพ.ศ.2557 หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทย ต่อมาจึงมีสมาชิกเพิ่มเติมอีก 5 คน คือ พี่อาร์ม-ธนัญชัย ไกรเทพ (กีตาร์), พี่มีร-ฮามีร อ่อนทอง (เบส) พี่พริก-ชิษณุพงค์ อินทร์แก้ว (เบส) พี่เล้ง-ธนัช ธเนศจินดารัตน์ (กลอง) และพี่ฟิลด์-วิศรุต ตันนพรัตน์ (กลอง)
เพลงของวงสามัญชนบอกเล่าเรื่องราวของสังคม ถ่ายทอดความเรียบง่าย ความดีงาม ความเจ็บปวดของการเป็นสามัญชน การเรียนรู้ เติบโต และประสบการณ์อะไรที่ทำให้ “ชูเวช” ถ่ายทอดเพลงเพื่อชีวิต เพื่อการเรียกร้องทางการเมืองในปัจจุบัน ทั้งวิธีการร้อยเรียงถ้อยคำก็ต่างไปจากเพลงเพื่อชีวิตในยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง คนที่เคยไปชุมนุมทางการเมืองมาบ้างคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ “วงสามัญชน” เป็นอย่างดี
คนทำเพลงเพื่อสังคม
เราได้คิวนัดหมายพบกับพี่เจ-ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ในเวลาไม่นาน พี่เจ บอกเล่าถึงตัวเองว่า เรียนจบปริญญาตรีสาขากายภาพบำบัด จากมหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาโทเรียนที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา แต่มีปัญหาเรื่องเงินก็เลยเรียนไม่จบ ตำแหน่งตอนนี้คือ ผู้ประสานงานฝ่ายสื่อสารรณรงค์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียม ชื่อย่อว่า “วีแฟร์” หรือ (We fair) แล้วก็เป็นนักร้องนำวงสามัญชน
ความสนใจเรื่องดนตรี พี่เจ บอกว่าเกิดจากครอบครัวที่พ่อชอบเล่าให้ฟังที่เพื่อนบอกว่าเล่นกีตาร์แล้วสาว ๆ ล้อม (หัวเราะ) แล้วก็ให้เรียนกีตาร์คลาสสิก เรียนอยู่ไม่กี่ครั้งเอง มาโตจากการทำวงกับเพื่อนมากกว่า
บรรยากาศตอนเรียนมัธยมต้น คือ ทุกคนอยากมีวงดนตรี ดูหนัง Suck Seed แล้วอิน แล้วก็ทำเพลงร็อก แม้ว่าจะชอบเพลงช้ามาก แต่ทุกคนต้องทำเพลงร็อก (หัวเราะ) เอะอะก็ต้องเพลงร็อกประมาณนั้น มัธยมปลายก็เหมือนกัน ตอนมัธยมปลายขยับมาเล่นเบส เพราะไปแข่ง ชื่อวง Pumpkin Split พอเข้ามหาวิทยาลัย ก็เล่นกีตาร์ ไม่เคยร้องเพราะว่าเขิน ขี้อาย จะเห็นได้ว่าชีวิตของพี่เจผูกพันกับดนตรีมาแต่เล็กแต่น้อยก็กว่าได้
ชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยกับสถานะปัญญาชน
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ได้เปิดโลกกว้างทางดนตรี พี่เจ เล่าว่า เพราะเข้ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้อยู่ร่วมกับ “กลุ่มสลึง” ที่เป็นกลุ่มทำหนังสือเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งเขาอยู่มาก่อนสัก 15 ปีได้ จะทำหนังสือแล้วแจกในช่วงรับน้องเพื่อแนะนำประวัติศาสตร์เพลงต่าง ๆ
กลุ่มสลึงที่ว่าจะเป็นวงดนตรีด้วย มีอยู่สักรุ่นละคนสองคนตามที่ขึ้นเล่นได้ ไม่ได้เป็นกลุ่มใหญ่ ข้อดีคือทำให้มีวงสนทนาสัปดาห์ละครั้ง นั่งล้อมวงเล่นดนตรี ไม่ก็เล่าเรื่องต่าง ๆ เพราะว่ารุ่นพี่ส่วนใหญ่เรียนสายจิตปัญญาศึกษา ซึ่งเป็นการเรียนรู้กระบวนการภายในหรือโลกภายใน ก็จะมีการเล่าเรื่องราวให้ฟัง จะเล่นเพลงสักเพลงก็ต้องถามว่า ทำไม อยากเล่นเพลงนี้ เล่ากันไปครึ่งชั่วโมง (หัวเราะ) ก็มีวัฒนธรรมกลุ่มแบบนี้ พอเราอยู่ใต้วัฒนธรรมนี้ เมื่อมีน้องหน้าใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ เขาเปิดหนังสือเพลงขึ้นมา อยากฟังเพลงนี้ ใครร้อง เราก็ต้องร้อง (หัวเราะ) เพราะรุ่นพี่จบหมดแล้ว
เพลงคือพลังขับเคลื่อนชีวิต
การได้อยู่ในวัฒนธรรมของคนชอบเพลง พูดคุยถกเถียง ชวนคิด ชวนคุยเรื่องสังคม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมพี่เจในเรื่องการทำเพลง และทำให้หยิบเรื่องของสังคมไปนำเสนอในเพลง
พี่เจแสดงความคิดเห็นว่า เพลงในยุคตุลา ภาพของนักศึกษาจะเป็นคนที่เหนือกว่ามวลชนหน่อย ๆ นำมวลชน อย่างที่ว่า “เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี” (เนื้อเพลงเพื่อมวลชนปี พ.ศ.2517 แต่งโดย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ หรือ จิ้น กรรมาชน ซึ่งเป็นวงดนตรีรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) เพราะว่าใน พ.ศ.นั้น คนมีการศึกษาค่อนข้างน้อย คนที่จบปริญญาตรีเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง แต่มาในยุคเราคนจบปริญญาตรีตกงานกันเป็นเบือ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ก็คิดว่าเราเท่ากัน นักศึกษาเองก็ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน โอ้โห…จนไม่รู้จะสรรหาคำอะไรมาพูด หลังรัฐประหารนักศึกษาน้อยมาก มีแต่มวลชนเสื้อแดงที่คอยสนับสนุนตลอด เพราะฉะนั้น การทำเพลงจึงอยู่ภายใต้ทัศนคติที่ว่า เราไม่ได้นำใคร แต่เราเป็นคนเท่ากัน “ฉันเข้าใจความเจ็บปวดที่เธอเจอนะ รวมถึงเข้าใจสภาพจิตใจที่ต้องต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ด้วย”
เครื่องมือสื่อสารเรื่องสังคม
ชูเวช ยังชวนคุยถึงประเด็นข่าวที่ครูทำร้ายร่างกายเด็กในโรงเรียน “ผมอยากแต่งเพลงที่พูดถึงนักเรียนที่โดนทำร้าย คิดไม่ออก แล้วก็ไม่กล้าดูคลิป กลัวจะร้องไห้” ระหว่างที่พูดคุยถึงความเจ็บปวดของปัญหาความรุนแรงต่อเด็กอยู่นั้น เขาก็หยิบปากกา กระดาษ มาจดเนื้อร้องที่เพิ่งนึกได้ เขาบอกว่า “ผมจะคิดเพลงอย่างนี้ คิดได้ประโยคนึง ก็ดีใจ จดไว้ก่อน เอาไปอวดคนในวง”
เนื้อเพลงนี้ร้องบนเวทีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันนั้น “เด็กอีกกี่คนที่ต้องผูกคอตาย เพราะความโหดร้ายของการศึกษา เด็กอีกกี่คนที่ต้องออกจากเรียนกลางคัน เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เด็กอีกกี่คนต้องก้มกราบรับทุนยอมขายความจนให้คนเวทนา เด็กอีกกี่คน…เด็กอีกกี่คน”
ท่วงทำนองของเพลงวงสามัญชน
หากจะให้นิยามแนวเพลงอย่างชัดเจนของวงสามัญชน พี่เจ เล่าว่า ถ้าในแง่แนวดนตรี ไม่มีแนวดนตรีเพื่อชีวิต เราคิดว่าแนวดนตรีเราหลากหลายมาก ตั้งแต่โฟล์ค (Folk) ไปจนถึงโพรเกรสซิฟร็อก (Progressive Rock) ขึ้นกับว่าแต่ละเพลงจะเป็นอะไร แต่ถ้าหมายถึงเนื้อเพลง เราก็ว่ามันคือเพื่อชีวิต เพลงแร็พ (Rap) ก็เพื่อชีวิต แค่เป็นแนวดนตรีแร็พ
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงหรือฟังเพลงของวงสามัญชนก็ยังอาจจะเข้าถึงได้ในวงจำกัด เพราะยังไม่ได้เผยแพร่ผ่านการดาวน์โหลดแบบดิจิทัล แต่สามารถหาฟังได้ทางยูทูป (Youtube) และตามงานกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้ไปเข้าร่วมก็ยังมีวางขายซีดีหรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Fanpage) ของวงสามัญชน
ค่อย ๆ เติบโต และสร้างคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน
เพลงของวงสามัญชนที่ยังไม่เผยแพร่ในวงกว้างมากนัก พี่เจ บอกกับเราว่า สงสารคนที่เป็นแฟนคลับของวง บางเพลงอยากฟังอีก แต่ก็ไม่รู้ว่าชื่อเพลง คือ อะไร หาฟังก็ไม่ได้ เนื้อเพลงในอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน อาจจะเพราะว่าเราเพิ่งจะรู้สึกว่าตนเองเป็นนักดนตรีเต็มตัวก็ปีนี้เอง
ตอนนั้น รู้สึกว่าเราเป็นแค่ Activist หรือนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่เล่นดนตรีเป็น จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือว่า อาจารย์ถนอม ชาภักดี ท่านเป็นศิลปิน เป็นนักวิจารณ์ศิลปะ และอาจารย์พิเศษคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อาจารย์ชวนเราไปเล่นดนตรีที่อินโดนีเซีย ได้ไปเห็นวงเมทัลมุสลิม เป็นเด็กผู้หญิงสามคนคลุมฮิญาบ โคตรเท่ คือเป็นวงที่เห็นว่าคนในชุมชนก็ไม่ยอมรับด้วย แต่เขาสู้มากเลย จนกลายเป็นสัญลักษณ์การของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่นั่น เราก็ไปเต้น ไปโห่ร้องกับเขา แม้ว่าฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่เรารู้สึกว่าต้องแบบนี้เลย
พอกลับมาจากอินโดนีเซีย ช่วงเดือนตุลาปีก่อน เราได้ประกาศว่ารับสมัครสมาชิก ได้สมาชิกใหม่ที่เป็นนักดนตรีอาชีพเข้ามา ความที่เราถ่อมตัวว่าไม่ได้เป็นนักดนตรีก็เลยทำให้เราไม่ได้หาญกล้าที่จะประชาสัมพันธ์ขนาดนั้น ก็ร้องเพลงตามมีตามเกิดกัน ถ้าคนร้องได้แสดงว่าไปม็อบบ่อย พี่เจบอกเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจ
การทำความเข้าใจโลกผ่านบทเพลง
ปัญหาของสังคมเป็นปัญหาที่เราต้องพูดถึง และพี่เจเลือกพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ผ่านบทเพลง การได้อยู่ในกลุ่มสลึง ซึ่งเป็นกลุ่มตนดนตรีที่สนใจเรื่องสังคมช่วยให้เขาหล่อหลอมความคิดต่อการมองโลก พี่เจ อธิบายต่อว่า สมัยเรียนกลุ่มสลึงเป็นคลังสารานุกรมเพลงเพื่อชีวิต พวกบทสนทนา การที่ได้ลงพื้นที่บ่อย ได้คุยกับเจ้าของปัญหา ทำให้เราได้ซึมซับและเรียนรู้ความเจ็บปวด เรื่องราว บทสนทนา คำต่อว่าที่มันจริงมาก สะเทือนมาก อีกทั้งการอยู่ในงานที่ต้องดีลกับฝ่ายรัฐด้วย ทำให้เราเข้าใจว่าทำไมเขาไม่ทำ แล้วก็ชีวิตตัวเองที่ไม่ได้เป็นคนที่ร่ำรวย เจอปัญหาต่าง ๆ ความเหลื่อมล้ำด้วยตัวเอง ก็จะรู้สึกและเข้าใจได้
เพลงอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
“อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากจะข่มตานอนโดยไม่กังวล อยากจะมีเวลาให้ได้ค้นหาตัวตน ให้ฉันมีชีวิตที่กำหนดเอง อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ อยากจะข่มตานอนโดยไม่กังวล อยากให้รัฐบาลเห็นค่าของคน เอาชนะความจนด้วยรัฐสวัสดิการ”
หนึ่งในเพลงที่พี่เจเพิ่งร้องในม๊อบที่ผ่านมาคือเพลง ‘อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้’ เขาบอกว่า ร้องเพลงนี้ที่ม็อบแล้วมีหลายคนเดินเข้ามาบอกว่าเหมือนชีวิตเขามาก พูดถึงประเทศไทยที่ไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับความเจ็บป่วยในชีวิต ได้เล่นเพลงนี้ครั้งแรกในงาน มีคนถามว่าอีก 10 ปี ข้างหน้าอยากเห็นอะไร เราก็บอกว่า อยากเห็นรัฐสวัสดิการ
ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้
ก่อนจากกันพี่เจได้แนะนำภาพยนตร์เรื่อง The Railway Man คือเรื่องราวเกี่ยวกับทหารผ่านศึก ตอนมาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแควที่ไทย ที่ชอบเรื่องนี้เพราะเรารู้สึกเยอะ แล้วบทสัมภาษณ์นี้ก็น่าจะเด็กนิเทศอ่าน อยากให้เด็กนิเทศ เด็กฟิล์มไปเก็บประวัติศาสตร์ อยากให้มีหนังแบบนี้ของไทยบ้าง
ความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ทำให้เราเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ทบทวน อ่านซ้ำอยู่เรื่อย ๆ เพราะเมื่อเราอ่านซ้ำเราจะเห็นแง่มุมใหม่ในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยู่เสมอ
ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะขอร้องให้ฝากอะไรมากมาย แต่พี่เจ-ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ ก็ไม่ได้ฝากวงดนตรีไว้เลย สามารถสนับสนุนวงสามัญชนได้ที่เฟซบุ๊ค แฟนเพจ (Facebook Fanpage) วงสามัญชน มีสินค้าของวงขายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อ กระเป๋าผ้า หรือซีดีเพลง
การที่จะทำให้สังคมเราดีกว่านี้ การที่มีจะชีวิตที่ดีกว่านี้ เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน ในวันนี้และมองไปในอนาคต เรายังคงเห็นการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม และบทเพลงก็เป็นอีกวิธีการสื่อสารหนึ่งที่ช่วยบันทึกเรื่องราว บอกเล่าความเป็นไป และบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
Reference & Bibliography
- วงสามัญชน Facebook Fanpage, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, www.facebook.com/pg/CommonerThailand
- วงสามัญชน Youtube Channel, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, https://www.youtube.com/channel/UClGKkeGQwj7-RoPU1wzoGGg/featured
- บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยลงในคอร์ด กับบทเพลงของวงสามัญชน, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, https://www.fungjaizine.com/interview/the-commoner
- รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, https://th.wikipedia.org/wiki/รัฐประหารในประเทศไทย_พ.ศ._2557
- Soundtrack of Life : เพลงขบวนนักศึกษา จากเพื่อมวลชนสู่ภูพานและพลัง 3 ประสาน, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, https://prachatai.com/journal/2015/10/61730
- คุยกับถนอม ชาภักดี : ศิลปะแห่งการต่อต้าน อำนาจรัฐ และความหมายของหอศิลปฯ, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม 2563, https://themomentum.co/tanom-chapakdi-interview
Additional Information
ผลงานชิ้นนี้