Who Am I หลายครั้งเราอาจตั้งคำถามนี้เพียงเพื่อค้นหาคำตอบให้กับตัวเองว่า เราเป็นใคร และเกิดมาเพื่ออะไร แต่สำหรับ โบว์-ชนิษฐา เลิศรุ่งโรจน์ นักศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประธานชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค และเจ้าของโครงการ Who Am I เธอตั้งคำถามนี้เพื่อชวนทุกคนค้นหาคำตอบถึงคุณค่าในตัวเองที่จะกลายเป็นความสุขของผู้อื่นด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ เรามีโอกาสได้เห็นโพสต์เกี่ยวกับโครงการ Who Am I ของชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผ่านการแชร์บนเพจ Bangkok University ครั้งแรกที่ได้เห็นก็รู้สึกว่าโครงการนี้มีพลังงานดีที่น่าสนใจมาก และนอกเหนือไปกว่านั้นคือเราไม่คุ้นหูกับชื่อชมรมเอาซะเลย จึงคิดว่าครั้งนี้ คงเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับเจ้าของโครงการ Who Am I และทำความรู้จักกับชมรมนี้มากขึ้น

จุดเริ่มต้นของโครงการ Who Am I

โบว์เล่าให้เราฟังว่า จุดเริ่มต้นของโครงการ Who Am I เริ่มจากการอยากทำเสื้อชมรม แต่เมื่อลองลงมือทำแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าจะส่งต่อประโยชน์ให้คนอื่นได้มากกว่านั้น เธอจึงลงมือเขียนโครงการเสนอกับทางมหาวิทยาลัย จากเสื้อชมรมจึงกลายเป็นโครงการทำเสื้อที่จะนำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปมอบให้กับโครงการ ‘ให้ธรรมเป็นทาน’ ซึ่งจะนำเงินไปช่วยเหลือน้องเด็กกำพร้ากว่า 2,000 ชีวิต ณ วัดสวนแก้ว จังหวัดอ่างทอง

ที่พิเศษไปมากกว่านั้น คือลายสกรีนบนเสื้อที่แปลกตากว่าเสื้อทั่วไปที่ทำให้เราตัดสินใจที่มาคุยกับโบว์ในครั้งนี้ คือการสกรีนคำถาม Who Am I ในรูปแบบอักษรเบรลล์ เพื่อชวนค้นหาคำตอบ โดยโบว์เองก็เริ่มต้นการทำเสื้อตัวนี้จากการค้นหาคำตอบให้ความทรงจำบางอย่างของเธอเช่นกัน

โบว์ได้ย้อนนึกถึงครั้งแรกเริ่มที่คิดจะทำเสื้อให้เราฟัง “เคยมีเหตุการณ์หนึ่งที่ได้เข้าไปอ่านคอมเมนต์ของโพสต์ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ ต้องบอกก่อนว่าปกติเวลาเห็นโพสต์อะไร จะไม่อ่านแค่โพสต์ แต่อ่านคอมเมนต์ด้วย เราไปเจอคอมเมนต์เกี่ยวกับเรื่องการบริจาคเงินว่า ถ้าคุณรวย มีเงิน ทำไมคุณถึงไม่เอาเงินมาบริจาคบ้าง แล้วก็มีคอมเมนต์ตอบกลับว่า เขารวยแล้วยังไง เขาก็ไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปให้คนจน ซึ่งตรงจุดนี้เราเข้าใจทั้งสองฝั่ง ก็คืออาจจะมีหลายคนที่อยากจะบริจาค แต่กำลังทรัพย์เขาไม่พอ เขามองว่าถ้าคนรวยมี ก็ช่วยบริจาคหน่อย แต่คนที่เขามี เขาก็อาจจะคิดในอีกแง่หนึ่งว่า กว่าเขาจะได้เงินมามันก็ยาก ทำไมเขาต้องเอาเงินไปให้คนอื่นด้วย”

“เราคิดว่าถ้าเราทำอะไรสักอย่าง สิ่งนี้มันน่าจะเป็นตัวจุดประกายให้คนได้ตระหนักและทบทวนอะไรบางอย่าง เราคิดว่าเสื้อ Who Am I ของเรามันจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไปเปลี่ยนจิตสำนึกหรือว่าจริยธรรมในใจคนตรงนี้ ให้เขาได้คิดถึงคนอื่นบ้าง คนที่ทำแบบเราไม่ได้อะไรเลย คือเราไม่เอาเข้าตัวเลยสักบาท หักต้นทุนแล้วก็คือทั้งหมดเอาไปบริจาค ซึ่งตัวเราก็ได้ในแง่ของการได้ทำสิ่งที่อยากทำ อย่างน้อยเราเป็นสื่อกลางในการทำตรงนี้”

การทำความเข้าใจตัวเอง ตั้งคำถามว่าตัวเองคือใคร ทำให้โบว์เรียนรู้ที่จะเข้าใจผู้อื่น Who am I จึงเป็นประโยคที่โบว์เลือกสกรีนลงบนเสื้อ “คำว่า Who Am I เป็นเหมือนการตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ตัวเราเป็นใคร ในแง่ของทั่วไป อาจให้คำตอบว่า เราเป็นนักศึกษา เราเป็นคน เราเป็นเด็ก หรือเราเป็นนั่นนี่ ตามบทบาทหน้าที่ แต่เราว่าคำตอบมันจะมีมากกว่านั้น ถ้าเรานึกถึงคนอื่นด้วย ”

อักษรเบรลล์กับการนึกถึงคนอื่นอย่างเท่าเทียม

นอกจากเรื่องของประโยค Who Am I ที่น่าสนใจแล้ว เรื่องของดีไซน์ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เราจึงถามโบว์ด้วยคำถามต่อไปว่า ทำไมลายสกรีนบนเสื้อถึงต้องเป็นอักษรเบรลล์

“เริ่มต้นจากเราชอบอักษรเบรลล์ ซึ่งพอกลายเป็นอักษรเบรลล์ มันไม่ได้เข้าถึงแค่คนทั่วไป แต่มันสื่อถึงการเข้าถึงได้ทุกคน แม้กระทั่งคนที่เขาไม่ได้ยินหรือมองไม่เห็น ซึ่งเขาไม่ได้สมบูรณ์ 100% แต่เขาก็สามารถค้นหาตัวตนของเขา และเขาก็สามารถส่งพลังต่อให้คนอื่นได้ และคงจะดีถ้าเขามีเสื้อที่คนทั่วไปทำ แต่ยังนึกถึงเขา น่าจะเป็นอะไรที่ทำให้เขามีความสุข หรือดีใจกับสิ่งเล็ก ๆ ตรงนี้ มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เราว่ามันมีความหมายในด้านจิตใจเยอะ”

ผลตอบรับของเสื้อ Who Am I

“ตอนแรกทำมาเพราะคิดว่าจะขายในสัปดาห์กิจกรรมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้โปรโมทใน Facebook ไม่ได้คิดว่าจะขายที่อื่น แต่กลัวว่าจะไม่มีคนมาซื้อ แล้วด้วยความที่ทุนมันแพง จะขายแพงกว่านี้ให้มันได้เงินบริจาคเยอะ ก็จะกลายเป็นว่าเดี๋ยวไม่มีคนซื้ออีก จึงเน้นปริมาณแล้วกัน ทีนี้ก็ลงโปรโมทในเฟซบุ๊กตัวเอง ให้พ่อให้แม่ช่วยแชร์ อาจารย์ก็ช่วยแชร์กันเยอะ กลายเป็นว่าไปทั่วประเทศ เพื่อนอาจารย์ก็อยากสั่ง เขาถามว่าส่งไปรษณีย์ได้ไหม เราก็บอกได้ กลายเป็นว่าเปิดขายออนไลน์ด้วยเลยแล้วกัน”

พลังของการคิดที่จะทำอะไรเพื่อผู้อื่นมักจะส่งผลที่ยิ่งใหญ่เสมอ โบว์อธิบายต่อด้วยสีหน้ามีความสุขว่า “เราไม่ได้คิดว่าเสื้อจะมาถึงขนาดนี้เลยนะ กะว่าขายได้ในมหาวิทยาลัยได้สัก 20-30 ตัว ก็ดีใจแล้ว แต่พอเริ่มมีการแชร์ไปมากขึ้น เราเข้าเพจไปดูตลอดเลยว่ามีใครแชร์บ้าง แชร์ไปแล้วเขามีคอมเมนต์อะไรบ้าง แล้วเราก็ไปตามกดไลก์ทุกอันเลย ผลตอบรับมันกลับมาดีมากเลย คนบอกว่าเสื้อสวย เราก็แบบดีใจ และเราก็ภูมิใจ ทำให้เราอยากทำเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก”

“ตอนนี้ยอด 100 กว่าตัวแล้ว แต่ยังไม่ได้สรุปเป็นตัวเลขกลม ๆ เพราะว่าสั่งตัดลอตแรกไป 65 ตัว ส่วนลอตสองตอนนี้ 40 กว่าตัวแล้ว เหลือลอตที่สามอีกรอบหนึ่ง เราใช้ระบบ Pre-order ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะผลิตมาเลย แต่กลัวว่า ถ้าเหลือมันจะเป็นค่าใช้จ่าย จึงทำเป็น Pre-order เพื่อที่จะไม่มีเหลือให้เสีย”

ทำสิ่งดี ๆ แบบที่ไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง

การสนทนากับโบว์ตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงตรงนี้ เรารับรู้ได้เลยว่าโบว์มีพลังงานดีบางอย่าง ที่ทำให้ให้เธอเลือกลงมือทำและยอมเหนื่อยในสิ่งที่ตัวเองแทบไม่ได้อะไรเลยนอกจากความสุขใจ เราจึงถามถึงจุดเริ่มต้นของเธอว่า เธอหัวใจเต้นแรงกับการทำอะไรเพื่อคนอื่นตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

“เมื่อตอนปี 2 ที่เราเพิ่งเข้ามาทำชมรม ก็มีกิจกรรมของสภากาชาดไทยเข้ามา อันนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากทำงานเพื่อสังคม ตอนไปทำกิจกรรมวันแรกเราอยากกลับบ้านมาก เพราะเหมือนกับว่าเขาให้เราไปเข้าค่ายลูกเสือ ต้องปฐมพยาบาล พันแขนนั่นนี่ เรารู้สึกว่ามันไม่สนุก แต่พออีกวันเขาพาเราไปทาสีที่โรงเรียนลิ้นจี่อุทิศ เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ซึ่งโรงเรียนนี้พีคมาก ตอนที่รู้ว่าเด็กที่อยู่ในโรงเรียนเป็นเด็กกำพร้าทั้งหมด ซึ่งมาจากมูลนิธิสองมูลนิธิ จำไม่ได้ว่าเป็นของมูลนิธิอะไร แต่เป็นเด็กกำพร้าผู้ชายกับเด็กกำพร้าผู้หญิงมาเรียนด้วยกันที่โรงเรียนแห่งนี้”

“วันที่ไปทาสีก็มีการนำขนมและเครื่องดื่มไปเลี้ยงน้องด้วย ซึ่งเราก็ไปอยู่ตรงแผนกอาหารที่คอยหยิบขนม และเอาเครื่องดื่มให้น้อง และเราได้เจอน้องคนหนึ่ง เขาเดินมาบอกว่าผมอยากกินแฟนต้าองุ่นครับ เราโอเค ตักให้เขาไป หันไปคุยกับเพื่อนสักพัก หันกลับมาอีกทีน้องกลับมาอีก แล้วน้องก็บอกว่าเอาแฟนต้าองุ่นอีกพี่ เราก็คิดว่าสงสัยคงอร่อย เราตักให้ สักพักหนึ่งน้องกลับมาอีกที”

“เราถามน้องว่าเมื่อกี้ นี่กินแล้วใช่ไหม เขาก็บอกว่า ครับ กินแล้ว แล้วเขาก็บอกว่าครั้งนี้ไม่เอาน้ำแข็งได้ไหมครับพี่ อยากได้น้ำอย่างเดียว จนน้องวนมาอย่างนี้อีก 3-4 รอบ เราก็หันไปพูดกับเพื่อนว่าน้องต้องเอาไปกรอกใส่ขวดแน่ ๆ เลย แล้วคือมันจริง เราเลยรู้สึกว่า ขวดนึงมันแค่ 20 กว่าบาท เราซื้อให้เขาได้เลยนะ แต่เขาต้องมาขอ และแอบเอาไปกรอกใส่ขวด เป็นอะไรที่มันสะเทือนใจเรามาก หลังจากนั้นเราชวนน้องไปเตะบอลด้วยกัน แล้วพอเราเห็นน้องหัวเราะออกมา มันเป็นความสุข แล้วมันรู้สึกว่าอยากจะทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ”

ชมรมที่เกิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่อยากจะทำอะไรเพื่อสังคม

อีกหนึ่งงานของโบว์คือการเป็นประธานชมรม เราได้ยินโบว์พูดถึง “ชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภค” อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการพูดถึงชมรมในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธออยากทำงานเพื่อสังคม เราจึงอยากรู้แล้วว่าชมรมนี้เริ่มต้นยังไง กำลังทำอะไร และต้องการสร้างอะไรให้กับสังคม

“ชมรมน่าจะเริ่มก่อตั้งมาพร้อมกับมหาวิทยาลัย แต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ อาจจะประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยดีด้วย แต่จุดเริ่มต้นของชมรมคือก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลุ่มจิตอาสา คำว่า ‘สร้างสรรค์สังคม’ ก็คือจิตอาสา และที่ต้องมีคำว่า ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ ต่อท้าย ก็เพราะว่าตอนนั้นได้เราได้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้ามาสนับสนุนด้วย”

โบว์เริ่มต้นเข้าชมรมจากการชักชวนของเพื่อนตอนปี 2 ก็อยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จากตำแหน่งเลขาชมรม รองประธานชมรม จนปีนี้ได้มาเป็นประธานชมรม ที่ผ่านมาชมรมยังไม่ค่อยมีกิจกรรมอะไรที่เป็นที่รู้จัก พอปีนี้ได้มีโอกาสเป็นประธานเลยอยากทำอะไรให้มันชัดเจน

“การสร้างสรรค์สังคมในความคิดเรา เราว่าเริ่มด้วยทำตัวเราให้มันโอเค เราทำดี สังคมก็จะดีไปเอง แต่สมมติถ้าเราบอกว่า เราอยากสร้างสรรค์สังคมแห่งการไร้ขยะ แต่ตัวเรายังทิ้งลงพื้น มันก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น การที่เราจะไปบอกให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าตัวเราเองยังไม่ทำ มันก็คงไม่มีใครทำ สร้างสรรค์สังคมในความหมายของเรา หรือในสิ่งที่เราปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มันก็คือ อยากให้สังคมเป็นยังไง เราก็ทำตัวแบบนั้น แค่นั้นเอง”

เป้าหมายต่อไปของชมรมสร้างสรรค์สังคมฯ ในฐานะประธานชมรมรุ่นปัจจุบัน “ชมรมเราไม่ใช่แค่จิตอาสา แต่เราอยากให้คนเปลี่ยนทัศนคติมากกว่า เราทำโครงการออกมาเพื่อให้คนเข้าใจถึงจุดประสงค์ของโครงการ และหวังว่าเขาอาจจะเริ่มมาคิดแบบเดียวกับเราบ้าง และลงมือทำไปพร้อมกัน โดยเริ่มต้นง่าย ๆ ที่ตัวเอง”

สถาปัตย์ไม่ได้สอนแค่ออกแบบ

เรารู้จักโบว์ในฐานะของประธานชมรมสร้างสรรค์สังคมและคุ้มครองผู้บริโภคกันมาพอสมควรแล้ว แต่อีกฐานะหนึ่งของโบว์คือการเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมีบางอย่างที่โบว์เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับการเรียนสถาปัตย์ซึ่งน่าสนใจมาก โบว์บอกกับเราว่าการเรียนคณะนี้ก็เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังการทำอะไรที่ต้องนึกถึงคนอื่นให้โบว์เช่นกัน

“เรียนสถาปัตย์เราไม่ใช่แค่ออกแบบอาคาร บ้าน หรือตึก สถาปัตย์เป็นเรื่องของแนวคิด และมันไม่ใช่การคิดแค่เพื่อตัวเองเท่านั้น มันเป็นการคิดถึงคนอื่นด้วย เพราะว่าการที่เราจะออกแบบอะไรสักอย่างหนึ่ง เราต้องคิดถึงคนที่เขาใช้ สิ่งที่เราออกแบบด้วย น่าจะเพราะว่าเรื่องพวกนี้ ทำให้เราชอบที่จะทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

เคยมีอาจารย์คนหนึ่งพูดกับโบว์ตอนที่เรียน “อาจารย์บอกว่าสถาปัตยกรรมเป็นตัวบังคับพฤติกรรมมนุษย์ ถ้าคุณออกแบบไม่ดี คุณภาพชีวิตของคนที่มาใช้ก็จะไม่ดี แต่ถ้าเราทำดี คุณภาพชีวิตเขาจะดี เราถามกลับไปว่า แล้วถ้าหนูทำ เท่าที่เขาอยากได้ คุณภาพชีวิตเขาจะถือว่าดีไหมคะ อาจารย์บอกว่า มันดีในแบบที่เขาอยากได้ แต่ว่าหน้าที่ของสถาปนิกที่ดีเราจะต้องทำให้ได้มากกว่าที่เขาต้องการ เราเรียนมาแล้ว เราเป็นนักออกแบบ เพราะฉะนั้นเราจะต้องออกแบบให้มันดีกว่าเดิม”

โบว์ทิ้งท้ายถึงการเล่าเรื่องการเรียนสถาปัตย์ ด้วยประโยคที่น่าจะขมวดรวมทุกอย่างได้เป็นอย่างดีว่า “เสื้อ Who Am I ที่เราทำนี้ เป็นเสื้อที่ตั้งใจออกแบบเพื่อให้คุณภาพชีวิตของน้อง ๆ กลุ่มหนึ่งดีขึ้นเช่นกัน”

Additional Information

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชา CJR411 Newspaper Workshop ภาคการศึกษาที่ 1/2 2562

Writer & Photographer

รองบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยออนไลน์ หลงใหลในการได้พบเจอและฟังเรื่องราวดี ๆ ของคนที่มีพลังงานดี เชื่อว่าพลังงานจากคนรอบตัวเหล่านี้คือวัตถุดิบชั้นดีที่เติมชีวิตให้สนุก